สตีเว่น จอห์นสัน (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 19 มิถุนายน 2561
- Tweet
จากคนที่เคยแข็งแรงระดับนักกีฬา แต่วันหนึ่งโชคชะตากลับเล่นตลก เลือกให้เขาเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว จนต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มิหนำซ้ำพอกลับมาเดินได้ ความโชคร้ายก็มาเยือนอีกครั้ง เมื่อเขาต้องประสบกับโรคแพ้ยาอย่างรุนแรง “สตีเว่น จอห์นสัน” (Steven Johnson syndrome) ที่ในคนจำนวน 1 ล้านคน มีอัตราการพบได้เพียง 7 คนเท่านั้น และวันนี้เขากลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง เพราะกล้าที่จะก้าวออกมา “วิ่ง”
ตอนนี้ทั้งสองโรคก็สงบแล้ว แต่ผลพวงจากโรคแพ้ยาที่ได้รับก็ยังอยู่ มันไม่มีทางหาย ยังมีอาการผิดปกติอยู่ เพราะเซลล์ทุกอย่างที่ตายจากการลุกลามมันฟื้นไม่ได้ ผิวกลับไปดีเหมือนเดิมไม่ได้ ตาก็จะไม่มีน้ำตาตลอดไป น้ำลายก็เช่นกัน กินเผ็ดไม่ได้ ทุกอย่างบอบบางไปหมด ดังนั้น การใช้ชีวิตมันเปลี่ยนไป ปัจจัยในการดำรงชีวิตก็เปลี่ยนไป ต้องเรียนรู้ชีวิตใหม่ทั้งหมด
ทุกวันนี้เขามีความสุขมาก การเป็นโรคทำให้เขาได้เห็นสัจธรรม เห็นความไม่แน่นอนของชีวิต เขากล่าวว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องใหญ่ ความรู้สึกต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ มันทำให้เราทุกข์มากกว่าปัญหาที่แท้จริง เขาได้เข้าใจทั้งตัวเองและคนรอบข้าง เพราะเขาเคยเป็นคนที่ถูกตัดสินมาก่อน เลยมองโลกได้กว้างขึ้น ต่อให้พรุ่งนี้เขาต้องป่วยอีก เขาก็ยังมีความสุข เขาจะรักษาเท่าที่รักษาได้ จะทำเท่าที่ทำได้ เพราะถึงแม้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไงก็ขอให้เป็นเรื่องของปลายทาง
กลุ่มอาการสตีเว่นจอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome = SJS) เป็นโรคที่พบยาก เป็นความผิดปกติอย่างรุนแรงที่เกิดกับผิวหนังและเยื่อบุส่วนต่างๆ (Mucous membranes) มักเกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายที่ตอบสนองผิดปกติต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น ยาหรือเชื้อโรค
สตีเว่นจอห์นสันเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยการรักษาจะมุ่งเป้าไปที่การกำจัดสาเหตุ ควบคุมอาการ และลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน (2-4 สัปดาห์) ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะ
อาการของสตีเว่นจอห์นสัน ได้แก่
- เป็นไข้
- เจ็บผิวหนังไปทั่วโดยอธิบายไม่ได้
- ผิวหนังเป็นผื่นสีแดงหรือสีม่วง โดยเริ่มที่ลำตัวแล้วกระจายไปอย่างรวดเร็วที่ใบหน้าและแขนขา (มักจะใช้เวลากระจายตัวสูงสุดอยู่ที่ 4 วัน)
- มีตุ่มเป็นแผลที่ผิวหนังหรือเยื่อบุในปาก จมูก ตา และ อวัยวะเพศ ทำให้เจ็บบริเวณที่เป็น เช่น เจ็บปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก ไอ
- เลือดออกกะปริบกะปรอยที่ผิวหนัง (Shed Skin) หลังจากมีตุ่มขึ้น
โดยก่อนหน้าที่จะมีผื่นขึ้นหลายวัน จะมีอาการนำคล้ายไข้หวัด กล่าวคือ
- เป็นไข้
- เจ็บปากและคอ
- อ่อนเพลีย
- ไอ
- ปวดข้อ
- แสบตา
แหล่งข้อมูล:
- “วิ่ง” เปลี่ยนชีวิต!! “ณัฐพล เสมสุวรรณ” มะเร็งเลือกเขา แต่เขาเลือกสู้!https://mgronline.com/goodhealth/detail/9610000055612 [2018, June 18].
- Stevens-Johnson syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/stevens-johnson-syndrome/symptoms-causes/syc-20355936 [2018, June 18].
- Stevens-Johnson Syndrome (SJS). https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/stevens-johnson-syndrome#1 [2018, June 18].
- Stevens-Johnson syndrome. https://www.nhs.uk/conditions/stevens-johnson-syndrome/ [2018, June 18].
- Stevens–Johnson syndrome / toxic epidermal necrolysis. https://www.dermnetnz.org/topics/stevens-johnson-syndrome-toxic-epidermal-necrolysis/ [2018, June 18].