วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Floater)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 15 เมษายน 2555
- Tweet
- วุ้นตาเสื่อมคืออะไร?
- วุ้นตาเสื่อมมีอาการอย่างไร?
- วุ้นตาเสื่อมมีสาเหตุจากอะไร?
- เมื่อมีอาการของวุ้นตาเสื่อมควรทำอย่างไร?
- ควรเตรียมตัวมารับการตรวจวุ้นตาเสื่อมอย่างไร?
- รักษาวุ้นตาเสื่อมอย่างไร?
- ผู้มีวุ้นตาเสื่อมควรปฏิบัติอย่างไร?
- ป้องกันวุ้นตาเสื่อมอย่างไร?
วุ้นตาเสื่อมคืออะไร?
วุ้นตาเสื่อม หรือ น้ำวุ้นตาเสื่อม หรือ น้ำวุ้นตาตกตะกอน (Vitreous floater หรือ Eye floater หรือ Floater) คือ ภาวะที่เกิดมีตะกอน อาจเป็นจุดเล็กๆ เป็นเส้นๆ และ/หรือเป็นวงๆ ซึ่งเกิดขึ้นในน้ำวุ้นตา (vitreous humor หรือ Vitreous humour) ที่ตามปกติจะใสไม่มีตะกอน กล่าวคือ ในภาวะปกติ น้ำวุ้นตาเป็นน้ำใส ไม่มีสี หนืดๆ คล้ายไข่ขาว ปราศจากหลอดเลือด โดยอยู่ในช่องตาส่วนหลังสุด (Vitreous cavity) เป็นเนื้อที่ 2/3 ของปริมาตรของลูกตาโดยประ มาณ (ต่างจากน้ำวุ้นส่วนหน้าที่เรียกว่า สารน้ำในลูกตา หรือ Aqueous humour) ซึ่งจะใสไม่มีความหนืดและอยู่ที่ส่วนหน้าของลูกตาในช่องที่เรียกว่า Anterior และ Posterior chamber)
น้ำวุ้นตานี้มีส่วนประกอบเป็นน้ำถึง 99% ที่เหลืออีกเพียง 1% เป็นโปรตีน กรด Hyaluro nic สาร Collagen ตลอดจน สารเกลือแร่ (Electrolyte) ต่างๆ สารเหล่านี้อาจเรียงเป็นเส้นใยบางๆ อาจพบเซลล์ได้บ้างเล็กน้อย ซึ่งทำให้น้ำวุ้นตามีลักษณะหนืดๆ
หน้าที่ของน้ำวุ้นตา บ้างก็ว่าไม่มีหน้าที่อะไร ที่สำคัญเพียงแต่ตัวน้ำวุ้นจะแนบกับจอตา เป็นส่วนทำให้จอตาแนบติดอยู่กับที่ ไม่หลุดออกมา บ้างก็ว่าอาจมีส่วนในการเลี้ยงส่วนอื่นของดวงตาอยู่บ้าง
วุ้นตาเสื่อมมีอาการอย่างไร?
วุ้นตา/น้ำวุ้นตาที่เสื่อม/ตกตะกอน อาจเป็นอณูเล็กๆ เป็นจุดจุดเดียว หลายจุด เป็นเส้น เป็นวงๆ และ/หรือเป็นเส้นหงิกๆงอๆ อณูเหล่านี้ เมื่อต้องแสงจากข้างหน้าดวงตา จะเกิดเป็นเงาทอดไปยังจอตา หรืออณูเหล่านี้ก่อให้เกิดการหักเหของแสงที่ผ่านมาจากส่วนหน้าดวงตากระ จายไปตกที่จอตาส่วนต่างๆ เกิดการรับรู้ว่ามีจุดมืดเกิดขึ้น และเนื่องจากอณูเหล่านี้อยู่ในน้ำวุ้นซึ่งเป็นน้ำ จึงมีการเคลื่อนไหวตามการขยับของลูกตา จึงทำให้เจ้าตัวรับรู้ว่ามีอะไรลอยไปมา แต่หากอณูเหล่านี้หยุดนิ่งอยู่กับที่ เงาที่ทอดตกที่จอตา ก็จะอยู่กับที่ เจ้าตัวอาจไม่รู้สึกว่ามีอะไรลอยไปมา
รูปร่างและขนาด ตลอดจนจำนวนของอณู ทำให้เจ้าตัวแปลออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ เช่น มีจุดลอยไปมา มีลักษณะเป็นลูกน้ำ เป็นแมลง หรือเป็นวงๆ ลอยอยู่ข้างหน้า บางครั้งอาจรู้สึกเหมือนมีแมลงบินอยู่ข้างหน้า อาจเห็น หรืออาจหายไป แต่จะเห็นชัดเมื่อมองผ่านพื้นเรียบ เช่น บนกระดาษสีขาว บนฝาผนัง ตลอดจนบนท้องฟ้าใส เป็นต้น
โดยทั่วไปการมองเห็นอะไรลอยไปมานี้ไม่ทำให้สายตามัวลง แต่อาจก่อให้เกิดความรำ คาญมากกว่า
วุ้นตาเสื่อมมีสาเหตุจากอะไร?
วุ้นตา/น้ำวุ้นตาเสื่อมมีสาเหตุจาก
- น้ำวุ้นตาเสื่อมและหดตัว (Vitreous syneresis) แรกเกิดน้ำวุ้นจะหนืดจากการรวม ตัวของสาร Collagen ของ Protein และสารอื่นๆที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นน้ำ แต่เป็นส่วนเป็นเส้นใยบางๆ ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนที่เป็นเส้นใยจะจับตัวกันหนาขึ้น ร่วมกับมีการหดตัวของน้ำวุ้นตาที่เหลือ จึงทำให้เส้นใยดังกล่าวมีขนาดใหญ่ และเห็นชัดขึ้น ลอยไปมา โดยพบมากในผู้สูงอายุ กล่าวกันว่า พบได้กว่า 50% ของคนอายุมากกว่า 70 ปี ของคนสายตาสั้นมากๆ และของผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางดวงตา ซึ่งเส้นใยเหล่านี้ หากเกิดขึ้นและลอยอยู่บริเวณขอบๆของดวงตา เจ้าตัวจะไม่มีอาการ แต่หากเส้นใยเหล่านี้มาอยู่บริเวณตรงกลางดวงตา ที่แสงผ่านเข้าจอตา เจ้าตัวจึงจะเกิดอาการขึ้น
- ในภาวะปกติ น้ำวุ้นตานาบอยู่กับจอตาอย่างหลวมๆ แต่ส่วนหลังสุดที่อยู่รอบๆจาน /ขั้วประสาทตา (Optic disc) จะนาบแน่นกว่าบริเวณอื่น เมื่อน้ำวุ้นเสื่อม จะมีบางส่วนกลายเป็นน้ำใสๆ ส่วนที่หนืดเป็นใยรวมตัวกัน ดึงน้ำวุ้นที่เกาะที่ขั้วประสาทตาหลุดออกมา แล้วน้ำวุ้นที่ใสเป็นน้ำจะเข้าไปแทนที่ ทำให้เกิดภาวะที่เรียกกันว่า PVD (Posterior vitreous detachment) ทำให้เจ้าตัวอาจเห็นเป็นวงลอยไปมาได้
- ในการพัฒนาของการเกิดลูกตาคนเราตั้งแต่อยู่ในครรภ์นั้น ภายในน้ำวุ้นตามีหลอดเลือดที่เรียกว่า Hyaloid artery หลอดเลือดนี้ต้องหดหายไปก่อนเด็กคลอด แต่ในบางคน การหดหายของหลอดเลือดไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กที่เกิดมาอาจยังมีติ่งของหลอดเลือดนี้หลงเหลืออยู่ ซึ่งภายในหลอดเลือดมีเม็ดเลือดแดง จึงอาจหลุดออกมาในวุ้นตาได้
- อาจมีสารเคมีบางตัวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเส้นใย Synchysis scintillans ในน้ำวุ้น เกิดเป็นผลึกของแคลเซียม (Asteroid hyalosis) หรือของไขมันคอเลสเตอรอล/Cholesterol ลอยไปมาในน้ำวุ้นได้
- มีรายงานว่าการใช้ยาบางตัวอาจก่อให้เกิดน้ำวุ้นตาเสื่อมตกตะกอนได้ เช่น Zovi rax (ยารักษาโรคเริม โรคงูสวัด และโรคอีสุกอีใส) อาจทำให้เกิดน้ำวุ้นตาเสื่อมตกตะกอนได้
- ยังมีตะกอนที่เกิดจากสาเหตุต่างๆอีก แต่พบได้น้อยกว่า 5 ข้อแรก เช่น อาจมีเซลล์ต่างๆ ได้แก่ เม็ดเลือดแดงที่มาจากหลอดเลือดที่จอตาฉีกขาด หลอดเลือดที่ผิดปกติในผู้ป่วย เบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) ในผู้ป่วยจอตาเสื่อม (Age related macular degeneration) ตลอดจนเม็ดเลือดขาวที่มาจากการอักเสบภายในดวงตาทั้งจากโรคม่านตาอัก เสบ การอักเสบภายในดวงตา (Endophthalmitis) การอักเสบจากอุบัติเหตุมีบาดแผลทำให้ดวงตาทะลุ นอกจากนี้อาจมีอณูสีเล็กๆ (Pigmented granule) ที่มาจากอณูสีในเนื้อเยื่อชั้นของจอตา หรือแม้แต่เซลล์มะเร็งที่หลุดมาจากมะเร็งตาในเด็ก/มะเร็งจอตา (Retinoblastoma) ฯลฯ
อนึ่ง ในบรรดาสาเหตุต่างๆที่ทำให้เกิดน้ำวุ้นเสื่อมตกตะกอนใน 5 ข้อแรก เป็นภาวะ/ประ เภทไม่อันตราย เรียกกันว่า Benign vitreous Floater เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ส่วนในข้อ 6 เรียก ว่า Pathologic vitreous floater หรือเป็นประเภทอันตรายต้องหาสาเหตุและต้องรักษาต้นเหตุ
เมื่อมีอาการของวุ้นตาเสื่อมควรทำอย่างไร?
เมื่อมีอาการของวุ้นตาเสื่อม ควรต้องรีบพบจักษุแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรัก ษาที่เหมาะสมเมื่อกรณีสาเหตุเกิดจากภาวะ/ประเภทอันตรายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เช่น เบาหวานขึ้นตา หรือ จอตาฉีกขาด
ควรเตรียมตัวมารับการตรวจวุ้นตาเสื่อมอย่างไร?
ผู้ที่มาด้วยอาการของวุ้นตาเสื่อมจำเป็นต้องรับการตรวจน้ำวุ้นตาและจอตาอย่างละเอียด การตรวจเริ่มจากตรวจส่วนหน้าของลูกตาก่อน ตามด้วยการขยายม่านตาด้วยยาหยอดตาขยายม่านตา เพื่อที่จะได้ดูน้ำวุ้นตาและจอตาให้ได้ทุกมุม เพราะการมีน้ำวุ้นเสื่อมตกตะกอนอาจเกิดร่วมหรือเป็นเหตุให้เกิดจอตาฉีกขาดได้ โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะต้องดูว่ามีการฉีกขาดของจอตาที่บริเวณใดหรือไม่ การมีน้ำวุ้นตาตกตะกอนอาจพบจอตาฉีกขาดได้ประมาณ 15% แต่หากน้ำวุ้นตาตกตะกอนร่วมกับมีเม็ดเลือดแดงในวุ้นตา มีโอกาสจะพบจอตาฉีกขาดได้ถึง 75% ซึ่งหากพบจอตาฉีกขาด จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์เพื่อป้องกันการลอกของจอตา
อนึ่ง ผู้ที่มารับการตรวจ ซึ่งแพทย์ต้องตรวจโดยใช้ยาหยอดขยายม่านตา จะทำให้มีอา การตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้เป็นเวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง จึงไม่ควรขับรถมาตรวจเอง และไม่ใช้สายตาในการมองใกล้ประมาณ 2-4 ชั่วโมง สำหรับผู้สูงอายุควรมีญาติมาเป็นเพื่อนด้วย
รักษาวุ้นตาเสื่อมอย่างไร?
แนวทางการรักษาวุ้นตาเสื่อมคือ
- การเกิดน้ำวุ้นตาเสื่อมตกตะกอนที่ไม่อันตราย ซึ่งเป็นกรณีที่พบเป็นส่วนใหญ่ มัก จะก่อให้เกิดความรำคาญที่มีอะไรลอยมารบกวน แต่ไม่ทำให้สายตามัวลง นานเข้าอาจชินไปเอง หรือตะกอนหลบไปจากแนวสายตา อาการจะดีขึ้นเอง จึงไม่จำเป็นต้องรักษา
- หากพบจอตาฉีกขาดร่วมด้วย ต้องรับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ หรือจี้เย็น (Cryo therapy) เป็นการปิดรูรั่วที่จอตาที่ขาด เพื่อไม่ให้น้ำวุ้นตาเซาะไปตามรูที่ขาด อันจะทำให้จอตาหลุดลอกออกมา ทำให้ตามัวและตาบอดได้
- หากน้ำวุ้นตาตกตะกอนชนิดอันตรายในข้อ 6 ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย ต้องรักษาตามสาเหตุ เช่น ถ้าเป็น เบาหวานขึ้นตา ควรรักษาโดยการคุมโรคเบาหวาน ร่วมกับการรักษาจอตาด้วยแสงเลเซอร์ ถ้าเป็นจากโรคจอตาเสื่อมที่เกิดจากหลอดเลือดเกิดใหม่ที่จอตา (Neovascu larization) ต้องขจัดหลอดเลือดที่ผิดปกติด้วยเลเซอร์หรือด้วยยา ถ้าเกิดจากเม็ดเลือดขาวจากการอักเสบภายในดวงตา ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะ หรือในบางราย อาจต้องลงเอยด้วยการทำผ่าตัดน้ำวุ้นตา (Vitrectomy)
ผู้มีวุ้นตาเสื่อมควรปฏิบัติอย่างไร?
-
ผู้มีวุ้นตาเสื่อมประเภทไม่เป็นอันตราย: ภาวะนี้เป็นภาวะที่ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา แต่ควรสังเกตตัวเอง หากมีภาวะดังต่อไปนี้ ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพราะมักเกิดจากสาเหตุที่ทำให้เกิดวุ้นตาเสื่อมประเภทอันตราย
- จุดลอยดังกล่าวมีจุดใหม่ลอยมากขึ้น
- มีแสงระยับคล้ายแสงแฟลซ (Flash)
- สายตามัวลง
- มีอาการคล้ายมีม่านบังดวงตาเป็นแถบๆ
- ผู้มีวุ้นตาเสื่อมประเภทมีอันตราย: ควรปฏิบัติตามจักษุแพทย์ และพยาบาลจักษุแนะ นำอย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
ป้องกันวุ้นตาเสื่อมอย่างไร?
การป้องกันวุ้นตาเสื่อม คือ หากเกิดจากภาวะเสื่อมตามธรรมชาติแล้ว มักจะไม่มีวิธีป้อง กัน แต่หากเกิดจากที่ทราบสาเหตุดังกล่าวในหัวข้อสาเหตุและเป็นสาเหตุที่ป้องกันได้ ก็มีวิธีป้องกันตามแต่สาเหตุนั้นๆ เช่น การป้องกัน การดูแลรักษาควบคุม โรคเบาหวาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการมีสุขภาพทั่วไปที่ดี อาจจะป้องกัน หรือชะลอการเสื่อมของวุ้นตาลงได้บ้าง
- มีบางรายงานแนะนำใช้ยาประเภทบำรุงร่างกายเป็นวิตามิน/อาหารประเภทสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ (Antioxidant) แต่ยังไม่มีการพิสูจน์แน่ชัดว่าได้ผลจริง โดยทั่วไปการรับ ประทานอาหารครบทุกหมู่ (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณเหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน) นำมาซึ่งร่างกายแข็งแรงน่าจะเพียงพอ
- ไม่สูบบุหรี่ งด/เลิกบุหรี่เมื่อสูบอยู่
- มีการออกกำลังกายที่พอดีกับสุขภาพสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่างๆที่จะส่งผลถึงดวงตา
- หากมีโรคทางกายเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ต้องควบคุมให้ดี
Updated 2013, July 17