วิธีดูแลเด็กชัก (How to care for seizure)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เมื่อพูดถึงเรื่องอาการชัก (Seizure หรือ Convulsion) ในเด็กแล้ว โดยทั่วไปจะพบในเด็กที่มีไข้สูงโดยเฉพาะในเด็กเล็ก และอีกส่วนหนึ่งจะพบในเด็กที่มีปัญหาของโรคอื่นๆแล้วจึงมีปัญหาเรื่องชักตามมา เด็กกลุ่มนี้มักเป็นเด็กที่ป่วยเรื้อรัง อาจมีความผิดปกติแต่กำเนิดร่วมด้วย เช่น เด็กที่มีน้ำในโพรงสมองมาก (Hydrocephalus) แต่สำหรับเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 3 เดือนถึงไม่เกิน 6ปี มักจะมีอาการชักจากการมีไข้สูง โดยสาเหตุของไข้มักจะไม่หนีปัญหาจากโรคติดเชื้อ (ยกเว้นติดเชื้อทางสมอง) เช่น โรคหวัด โรคปอดบวม ท้องเสีย และอาการชักจากไข้สูง/ไข้ชัก (Febrile convulsion)

อาการชักจากไข้สูง มักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกที่เริ่มมีอาการไข้ อาการชักของเด็กจะสัมพันธ์กับการมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิที่พบอาจสูงได้ถึง 39-40 อง ศาเซลเซียส (Celsius) อาการชักจากไข้สูงที่มักเกิดในเด็กเล็ก เพราะเด็กเล็กยังมีเซลส์สมองที่พัฒนาไม่เต็มที่ จึงถูกกระตุ้นให้ปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติได้ง่ายจากการมีไข้

เด็กแต่ละคนจะมีอาการชักรุนแรงไม่เท่ากัน เชื่อว่า มีเหตุปัจจัยมาจากพันธุกรรม อาการชักจากไข้สูง มักจะไม่รุนแรง และไม่มีผลทำให้สมองพิการ ถ้าได้รับการดูแลที่เหมาะสม แต่ถ้าเด็กเกิดอาการชักบ่อยๆ อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสมองที่กำลังเจริญเติบโต และมีแนวโน้มที่จะเกิดเป็นโรคลมชัก (Epilepsy) ได้สูงกว่าเด็กทั่วไป

ถ้าเด็กอายุเกิน 6 ปีมีไข้แล้วเกิดอาการชัก แสดงว่าอาการชักที่เป็นอยู่ถูกกระตุ้นให้มีอา การโดยไข้ โอกาสที่เด็กคนนี้จะเป็นโรคลมชักในเวลาต่อมา มีได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว อาจเปอร์เซ็นต์มากถึง 90% เลยทีเดียว

 

ทำอย่างไรถ้าเด็กชัก?

วิธีดูแลเด็กชัก

ถ้าพบเห็นเด็กกำลังชัก สิ่งที่จะต้องทำเป็นอันดับแรกสำหรับ บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือ ครู อาจารย์ ที่รับผิดชอบ หรือ บุคคลทั่วไปคือ ต้องตั้งสติ อย่าตื่นตระหนกตกใจ จนทำอะไรไม่ถูก

ถ้าพบเด็กกำลังชักให้รีบอุ้มเด็กไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย สถานที่ที่ปลอดภัยในที่นี้หมายถึงสถานที่ไม่ได้ใกล้เครื่องจักรกล หรือพัดลม หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ สิ่งของที่จะล้มกระแทกเด็กได้ง่าย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไม่อยู่ใกล้ของมีคมทุกชนิด ไม่อยู่บนเตียงที่ไม่มีที่กั้น (ถ้าเป็นเด็ดอ่อน) เพราะเด็กอาจดิ้นไปกระแทกเกิดอันตรายบาดเจ็บซ้ำได้อีก สิ่งที่จะต้องปฏิบัติมีดังต่อไปนี้คือ

1.หาผ้าหรือหมอนนิ่มๆ มาวางรอบๆบริเวณที่เด็กชัก เพื่อกันเด็กกระแทกโดนพื้นผิวที่แข็ง ให้เด็กนอนหงาย จับเด็กนอนตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อเปิดทางเดินหายใจ และป้องกันสำลัก

2.คลายเสื้อผ้าบริเวณหน้าอกให้หลวม

3.ห้ามสอดวัตถุใดๆเข้าปากเด็กขณะชัก หรือ พยายามง้างปาก หรือ งัดฟันเด็ก เพราะอาจทำให้ฟันหักไปอุดทางเดินหายใจได้

4.อย่าพยายาม จับ หรือ กอดรัด ยึด ตรึงตัวเด็กไว้ ระหว่างการชัก เพราะอาจทำให้กระ ดูกหักได้

5.ให้สังเกต ลักษณะการชัก คือ ชักขณะหลับหรือตื่น ชักนานกี่นาที ขณะชักมีอาการกระ พริบตา เคี้ยวปาก พูดพึมพำ เกร็งกระตุกอวัยวะส่วนใด รู้สึกตัวหรือไม่ และหลังชักมีอาการอย่างไร เพื่อจะได้สามารถให้ข้อมูลแพทย์หรือผู้เกี่ยวข้องทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาเด็กต่อไป

 

ทำอย่างไรหลังเด็กหยุดชัก?

เมื่อเด็กหยุดชักแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือ จัดท่าเด็กให้นอนตะแคงรวมทั้งใบหน้า เพื่อป้อง กันการสำลักจากน้ำมูก น้ำลาย หรือ เสมหะ ถ้ามีเสมหะมากควรดูดออกด้วยลูกยางแดง ตรวจ สอบสุขภาพของช่องปาก สำรวจความเสียหายของเยื่อบุภายในช่องปากและลิ้น ถ้าเด็กมีไข้ หลังการชักต้องรีบเช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นทันที พร้อมทั้งให้ยาลดไข้เมื่อเด็กรู้สึก ตัวดีแล้ว เพื่อป้องกันการชักซ้ำ และที่สำคัญที่สุด ควรรีบนำเด็กไปโรงพยาบาลทันที

 

ยาที่รักษาอาการชักมีอะไรบ้าง?

ยาที่แพทย์ให้เพื่อควบคุมการชักนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็ก เด็กจำเป็นต้องรับ ประทานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เป็นเวลานานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีหลังการชักครั้งสุด ท้าย แม้ว่าเด็กจะไม่มีอาการชักอีกแล้วก็ตาม ห้ามเปลี่ยน หรือ หยุดยาเอง ต้องไปพบแพทย์ที่รักษาตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแพทย์ได้พิจารณาปรับขนาดของยา หรือเปลี่ยนยาตามความเหมาะสม เพราะเมื่อแพทย์จะหยุดยากันชัก จะลดขนาดของยาลงช้าๆ และต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน

ยาควบคุมการชักที่ใช้บ่อยในเด็กมีมากมายหลายชนิด จะขอกล่าวถึงยาที่เป็นที่นิยมใช้ ดังนี้

1.ยา ฟีโนบาร์บิทาล (Phenobarbital) เป็นยาที่ใช้มานาน ราคาถูก ใช้ได้ค่อนข้างปลอด ภัย ได้ผลดี สำหรับเด็กเล็ก ผลข้างเคียง ที่พบได้ คือ เด็กจะมีอาการง่วง ซึม เดินเซ หรือ อาจซุกซนมากขึ้น หรือบางราย อาจแพ้ยา มีผื่นขึ้นได้

2.ยา ฟินีโทอิน หรือ ไดแลนติน (Phenytoin หรือ Dilantin) ยาตัวนี้ เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับเด็กเช่นกัน มีราคาถูก ผลข้างเคียงที่พบได้คือ อาจมีผลต่อการทำงานของตับ ทำให้ขนดก มีภาวะซีดจากสารโฟเลตต่ำ อาจมีผลต่อกระดูก ในรายที่เด็กให้อาหารทางสายยาง ห้ามใช้ยาชนิดที่มีแคปซูลเคลือบหนา และแกะแคปซูลออกมาเพื่อละลายน้ำ และใส่เข้าทางสายยาง เพราะยา Dilantin ชนิดเคลือบหนาสำหรับให้เด็กทางปาก ต้องการให้ยาออกฤทธิ์ช้าๆ เป็นระยะเวลานาน ถ้าแกะออกและให้ทางสายยาง ยาจะออกฤทธิ์เร็วและแรง ทำให้เกิดผลข้างเคียงของยาได้สูง

3. กรดวาลโพรอิค (Valproic acid หรือ Depakin) ใช้ควบคุมการชักได้ทุกประเภท มีทั้งยาน้ำและยาเม็ด ผลข้างเคียงที่พบได้คือ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน มือสั่น อาจมีผมร่วง กินจุในระยะยามน้ำหนักจะเพิ่มง่าย ส่วนดีคือ ไม่มีผลต่อความประพฤติ ทำให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้น

4.คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine หรือ Tegetral) เป็นยาที่นิยมใช้มาก เพราะอัตราการเกิดผลข้างเคียงน้อยเมื่อต้องใช้ยานาน ผลข้างเคียงที่พบได้ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง/เวียนศีรษะ/วิงเวียน เห็นภาพซ้อน ท้องผูก เดินเซ ปากแห้ง

 

ทำอย่างไรจึงควบคุมการชักได้?

หัวใจสำคัญที่จะสามารถควบคุมการชักได้ มี 2 ปัจจัย หลัก คือ

  • การรับประทานยากันชักอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ต่อเนื่อง เคร่งครัด
  • และการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่ส่งเสริมให้เกิดอาการชัก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย หรือ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ มีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ดังต่อไปนี้

1. กำหนดตารางรับประทานยาควบคุมการชักอย่างแน่นอน สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของเด็ก เด็กจำเป็นต้องรับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี หลังมีอาการชักครั้งสุดท้าย หลีกเลี่ยงการใช้ยากันชักร่วมกับยาอื่นๆโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือหลีกเลี่ยงการหยุดยากันชักกะทันหัน

2. ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ส่งเสริมให้เกิดอาการชัก

  • ให้เด็กพักผ่อนอย่างพอเพียงทุกวัน หลีกเลี่ยงการอดนอน
  • ส่งเสริมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสงบ และเพลิดเพลินแก่จิตใจของเด็ก เช่น การปลูกต้นไม้ การสะสมแสตมป์ การนั่งสมาธิ งานฝีมือต่างๆ หลีกเลี่ยงการชมภาพยนตร์หรือเล่นเกมที่ทำให้เด็กตื่นเต้น ตกใจ กลัว
  • ส่งเสริมการออกกำลังกายที่ไม่หนักมาก ห้ามเล่นกีฬาที่หนักมาก ห้ามเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เช่น การปืนที่สูง การขับขี่ยวดยาน การว่ายน้ำต้องมีผู้ใกล้ชิดอยู่กับเด็กตลอดเวลา
  • ให้เด็กรับประทานอาหารอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการอดอาหาร
  • ให้เด็กอยู่ในสถานที่ร่มรื่น ไม่มีแสงจ้าเกินไป หรือมีแสงกระพริบของไฟฟ้า เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้
  • เด็กควรได้เข้ารับการศึกษาร่วมกับเด็กปกติ การเรียนของเด็กจะได้ผลดีหรือไม่ ขึ้น อยู่กับการควบคุมการชัก โดยทั่วไประดับสติปัญญาของเด็กจะเท่ากับเด็กทั่วๆไป

 

ป้องกันการชักซ้ำอย่างไร?

การป้องกันเด็กชักซ้ำ ควรป้องกันโดยให้เด็กรับประทานยาที่แพทย์ให้มาให้ครบถ้วนตรงเวลา ไม่หยุดยากันชักเอง ทั้งนี้อาจเป็นยาที่ให้รับประทาน หรือเป็นยาที่ใช้เหน็บทางทวารแล้ว แต่แพทย์สั่ง และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดการชักดังกล่าวแล้วในหัวข้อ การควบคุมการชัก

 

บรรณานุกรม

  1. พรทิพย์ ศิริบูรณ์พิพัฒนา( 2554).การพยาบาลเด็ก เล่ม 2. นนทบุรี:บริษัท ยุทธรินทร์ การพิมพ์จำกัด.
  2. อภิชัย ชัยดรุณ และประไพ ชัยดรุณ.(2547) คู่มือปฐมพยาบาลสำหรับเด็ก.พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ:นานมีบุ๊คส์.
  3. https://www.vejthani.com/th/2018/01/โรคลมชักในเด็ก/ [2019,Sept21]