วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer screening) โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer screening) และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer screening)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 10 สิงหาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- 1. การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก
- ใครคือผู้สมควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก? และควรตรวจบ่อยแค่ไหน?
- วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกทำอย่างไร?
- 2. การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม
- ใครคือผู้สมควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ?
- วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมทำอย่างไร? ต้องตรวจบ่อยแค่ไหน?
- 3. การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ใครคือผู้สมควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่? และควรตรวจบ่อยแค่ไหน?
- วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ หรือ โพลิพลำไส้ใหญ่ (Colorectal polyp)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer)
- มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
- การตรวจภาพรังสีเต้านม แมมโมแกรม (Mammogram)
- ลำไส้ใหญ่
- แป๊บสเมียร์: การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap- smear หรือ Pap test)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ลำไส้ทะลุ (Gastrointestinal perforation)
- การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง (Gential HPV in women)
บทนำ
ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง (Cancer screening หรือ Cancer early detection) ที่มีประสิทธิภาพที่สามารถลดอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเป็นที่ยอมรับของแพทย์ว่า ได้ประโยชน์ ผลการตรวจใช้พยากรณ์โรคได้ ผลข้างเคียงจากการตรวจน้อยมาก และคุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย มีในโรคมะเร็ง 3 ชนิด คือ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer screening) การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer screening) และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer screening)
สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา(American Cancer Society ย่อว่า ACS)แนะนำในปีค.ศ.2018 (พ.ศ. 2561)ในการตรวจคัดกรองมะเร็งทั้ง3ชนิดดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
1. การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก: ใครคือผู้สมควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก? และต้องตรวจบ่อยแค่ไหน?
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกดังนี้ คือ ให้เริ่มตรวจคัดกรองในผู้หญิงปกติทั่วไปทุกคนซึ่งมีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป โดย
ก. ช่วงอายุ21-29ปี: ให้ตรวจภายในร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า ‘แป๊บสเมียร์(Pap smear)ที่คนไทยมักเรียว่า ‘ตรวจแป๊บ หรือ ทำแป๊บ’ ต่อเนื่องทุก3 ปี โดยตรวจแป๊บสเมียร์ด้วยเทคนิคไหนก็ได้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ข. ช่วงอายุ30-65ปี: มีคำแนะนำเป็น 2 กรณีคือ
- ให้ตรวจภายในร่วมกับ การตรวจทั้งแป๊บสเมียร์และการตรวจหา ดีเอ็นเอ(DNA)ของไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก(อ่านเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง) โดยแนะนำตรวจต่อเนื่องทุก5 ปี หรือ
- ตรวจภายในร่วมกับการตรวจแป๊บสเมียร์เท่านั้น โดยวิธีนี้แนะนำตรวจต่อเนื่องทุก3ปี
ค.ช่วงอายุมากกว่า65ปีขึ้นไป: สามารถหยุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ในกรณีดังนี้
- ผู้ซึ่งตรวจแป๊บสเมียร์แล้ว ได้ผล’ปกติ’ต่อเนื่องตั้งแต่3 ครั้งขึ้นไปในช่วงปีล่าสุดของการตรวจ
- ผู้ตรวจแป๊บสเมียร์+ดีเอ็นเอของไวรัสเอชพีวี และได้ผลปกติต่อเนื่องตั้งแต่2ครั้งขึ้นไปในช่วงปีล่าสุดของการตรวจ
อนึ่ง:
- แป๊บสเมียร์ คือ การตรวจดูความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นการตรวจทางเซลล์วิทยา ซึ่งมี 2เทคนิค คือ
- ใช้เซลล์จากปากมดลูกและจากช่องคลอดส่วนติดปากมดลูกที่แพทย์ป้ายมา แล้วป้ายลงในแผ่นแก้ว หลังจากนั้นจึงตรวจทางเซลล์วิทยา เรียกเทคนิคนี้ว่า ‘เทคนิคทั่วไป(Conventional pap test)’ ซึ่งเทคนิคนี้ ตรวจได้ทุกโรงพยาบาลของไทย
- อีกเทคนิคคือ Liquid based pap test: เป็นการตรวจทางเซลล์วิทยาเช่นกัน แต่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเทคนิคแรกมาก และให้บริการตรวจได้เฉพาะบางโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้นเพราะต้องใชเทคโนโลยีสูง โดยต่างกันที่ จะใช้เซลล์ฯจำนวนมากกว่าที่ได้จากการแช่เซลล์ฯที่แพทย์ป้ายออกมา ใส่ในสารละลายในหลอดแก้ว แล้วปั่นให้ได้ปริมาณเซลล์ที่มากพอ แล้วจึงนำไปตรวจย้อมดูเซลล์มะเร็งด้วยกล้องจุลทรรศน์เช่นเดียวกับวิธีทั่วไป
- การตรวจหาDNAของไวรัสเอชพีวี เป็นการตรวจเทคโนโลยีสูง มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และตรวจได้เฉพาะบางโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น
- ผู้ที่ผ่าตัดมดลูกทั้งหมด(รวมปากมดลูก)ออกไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- กรณีผลตรวจผิดปกติ แพทย์จะแนะนำผู้ป่วยเป็นแต่ละกรณีไปว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไร
- กรณีเป็นผู้หญิงในกลุ่มเสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูก(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทวามเรื่อง มะเร็งปากมดลูก) การตรวจคัดกรองขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์เป็นกรณีๆไป
- ผู้หญิงที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว ก็ยังคงต้องตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูกด้วยตาราง การตรวจเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้ว ทั้งนี้เพราะวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้ผลป้องกันโรคได้เพียงประมาณ 70% เท่านั้น
วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกทำอย่างไร?
วิธีตรวจคัดกรองฯคือ วิธีตรวจที่เรียกว่า แป๊บสเมียร์ หรือ แป๊บเทส (Pap smear หรือ Pap test) ซึ่งตรวจได้โดยแพทย์ตรวจภายในจากการสอดใส่เครื่องมือ (ตามขนาดของช่องคลอดของแต่ละคน การตรวจจึงเพียงก่อการระคายเล็กน้อย) ผ่านทางช่องคลอด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มอง เห็นปากมดลูกและภายในช่องคลอดได้ด้วยตาเปล่า ทั้งนี้โดยผู้ถูกตรวจนอนในท่านอนหงาย ยกเท้าทั้งสองขึ้นพาดบนที่พาดเท้าเพื่อเปิดอวัยวะเพศภายนอกให้แพทย์สามารถตรวจได้ชัดเจน
เมื่อมองเห็นปากมดลูกแล้ว แพทย์จะใช้เครื่องมือเล็กๆป้ายเอาเซลล์จากปากมดลูกเพื่อนำ ไปตรวจทางเซลล์วิทยาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านพยาธิวิทยา กระบวนการทั้งหมดที่กล่าวแล้ว เรียกว่า การตรวจแป๊บสเมียร์ หรือแป๊บเทส ซึ่งเทคนิคการตรวจเซลล์มีทั้งเทคนิคมาตรฐานทั่วไป และเทคนิคที่ก้าวหน้ากว่า แต่ส่วนใหญ่บ้านเราจะใช้เทคนิคมาตรฐานซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า และผลลัพธ์ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
การตรวจแป๊บสเมียร์เป็นการตรวจแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ตรวจได้เลยที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอก เพียงแต่เมื่อไปโรงพยาบาล ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าประสงค์จะตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้แนะนำแพทย์ให้เอง ซึ่งโดยทั่วไปมักให้การตรวจโดยแพทย์สาขาสูตินรีเวชและสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
การตรวจแป๊บสมียร์จะทราบผลได้ประมาณ 3 - 10 วันหรือนานกว่านั้นขึ้นกับจำนวนผู้ป่วย และพยาธิแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาล
อนึ่ง ทั่วไปแพทย์แนะนำตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในช่วงไม่มีประจำเดือน คือ ช่วงประมาณ 4-5วันหลังมีประจำเดือนจนถึงประมาณ 7 วันก่อนมีประจำเดือนเพื่อไม่ให้เซลล์ปนเปื้อนเลือดที่รวมถึงสารคัดหลั่งจากช่องคลอด/ปากมดลูกที่จะมากขึ้นในช่วงนั้น
2. การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม:
ใครคือผู้สมควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม?
ACSค.ศ. 2018 แนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมดังนี้
- แนะนำเริ่มตรวจคัดกรองต่อเนื่องทุกปี ด้วยการตรวจแมมโมแกรม(Mammogram, การตรวจภาะรังสีเต้านม)เริ่มที่อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปถึง54ปี แต่สามารถปรึกษาแพทย์ขอคัดกรองได้ตั้งแต่ อายุ 40 ปีที่แพทย์จะพิจาณาเป็นรายๆไป
- อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ว่าจะตรวจแมมโมแกรมทุก 6เดือนหรือทุก1 ปี และควรตรวจต่อเนื่องไปตลอดชีวิตตราบใดที่สุขภาพยังแข็งแรงและแพทย์ประเมินแล้วว่าอายุขัยน่าจะอยู่ได้นานตั้งแต่10ปีขึ้นไป
อนึ่ง:
- แพทย์หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรป ยังคงมีความเห็นว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม ควรเริ่มที่อายุ 50 ปี และถ้าผลตรวจต่อเนื่องเป็นปกติและเป็นหญิงที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งเต้านม)แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจทุก2 ปีได้
- ในประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแปลผล แพทย์มักแนะนำตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมร่วมกับตรวจอัลตราซาวด์นม
- อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคนิคในปัจจุบัน การตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านมให้ผลผิดพลาดได้ประมาณ 5-10%
- ควรตรวจแมมโมแกรมในช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ7วัน เนื่องจากในช่วง7วันก่อนมีประจำเดือน เต้านมจะบวมและไวต่อการเจ็บปวด จึงทำให้ในการตรวจฯ เครื่องตรวจอาจไม่สามารถกดบีบเต้านมลงได้จนถึงจุดบางที่สุดของเต้านม
- การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม นอกจากการตรวจด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์แล้ว แพทย์ทุกประเทศยังแนะนำการตรวจคัดกรองโดยการตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง โดยผู้หญิงทุกคน เริ่มตั้งแต่วัยที่พอเข้าใจและสามารถดูแลตนเองและสอนให้ดูแลตนเองได้ โดยทั่วไปมักเริ่มที่อายุ 18 - 20 ปี และควรตรวจสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดชีวิตตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทำอย่างไร? ต้องตรวจบ่อยแค่ไหน?
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมมี 4 วิธีสำคัญคือ ตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง, แพทย์เป็นผู้ตรวจคลำเต้านม, การตรวจภาพรังสีเต้านม หรือ แมมโมแกรม (Mammogram หรืออีกชื่อ คือ Mastography), และการตรวจอัลตราซาวด์เต้านม ซึ่งในการตรวจคัดกรองควรต้องปฏิบัติทั้ง 4 วิธี ดังนี้
ก. การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง คือ การใช้ฝ่ามือตนเองคลำบนเต้านมด้านตรงข้าม อาจตรวจในท่านั่ง ท่านอนหงาย หรือขณะกำลังอาบน้ำ การตรวจที่เพิ่มความถูกต้องคือ เต้านมต้องแผ่ขยายแบนราบกับผนังหน้าอก ดังนั้นในขณะตรวจจึงควรต้องยกแขนขึ้นเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบ แล้วใช้ฝ่ามือคลำเบาๆบนเต้านม กดเบาๆลงบนผนังหน้าอก เมื่อพบก้อนเนื้อหรือสงสัยสิ่งผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยละเอียดขึ้น ในการคลำให้สลับยกมือและคลำเต้านมทีละข้าง ควรบีบหัวนมเบาๆ เมื่อพบมีน้ำเลือดควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพราะอาจเกิดจากเต้านมอักเสบหรือโรคมะเร็งเต้านม(ปกติจะไม่มีอะไรออกจากหัวนมหรือได้เพียงน้ำใสๆนิดหน่อย)
- ควรสังเกตผื่นคันเรื้อรังบนหัวนม หัวนมบุ๋มผิดไปจากเดิม ผิวเต้านมผิดไปจากเดิม เช่น คล้ายหนังหมูหรือบวมแดงร้อน ทั้งหมดอาจเป็นอาการของมะเร็งเต้านมได้
- ควรคลำหรือสังเกตรักแร้ทั้งสองข้างด้วยว่า มีก้อนเนื้อผิดปกติหรือไม่ เพราะโรคมะเร็งเต้านมลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ได้สูงโดยเฉพาะรักแร้ด้านเดียวกับรอยโรค
- การตรวจคลำเต้านมควรตรวจคลำทีละข้างพร้อมตรวจคลำรักแร้ ทั้งนี้การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองทำได้บ่อยตามต้องการ แต่อย่างน้อยเดือนละครั้ง ซึ่งเมื่อพบก้อนเนื้อหรือสงสัยสิ่งผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจวินิจฉัยละเอียด ในการคลำฯให้สลับยกมือและคลำเต้านมทีละข้าง
ข. การตรวจเต้านมโดยแพทย์ จะด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพียงแต่ผู้ให้การตรวจเป็นแพทย์ ซึ่งในช่วงอายุ 20 - 39 ปีควรให้แพทย์ตรวจทุก 3 ปีเมื่อตรวจตนเองแล้วปกติ แต่เมื่อมี่ความกังวลหรือคิดว่าอาจมีสิ่งผิดปกติ ควรพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ ส่วนเมื่อพบมีสิ่งผิดปกติ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเองว่าควรทำอย่างไร? แต่เมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปควรพบแพทย์ตรวจคลำเต้านมทุกปีโดยเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพประจำปี
ค. การตรวจภาพรังสีเต้านม เป็นการตรวจภาพเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์เทคนิคเฉพาะเต้านม(Mammography machine) เพื่อตรวจภาพหินปูน ภาพก้อนเนื้องอกธรรมดา และภาพก้อนเนื้อมะเร็ง ซึ่งในบ้านเรานิยมตรวจควบคู่กับการตรวจภาพเต้านมด้วยอัลตราซาวด์ ทั้งนี้แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง การตรวจภาพรังสีเต้านม(Mammogram)
ง. การตรวจภาพเต้านมด้วยอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจเต้านมที่ใช้หัวเครื่องตรวจเฉพาะในการตรวจเต้านม แต่เทคนิคการตรวจทั่วไปคล้ายกับที่ได้กล่าวแล้วในบทความในเว็บ haamor.com แนะนำอ่านเพิ่มเติมในบทความนั้น บทความเรื่อง อัลตราซาวด์ โดยเป็นการตรวจดูก้อนผิดปกติที่รวมถึงถุงน้ำต่างๆ แต่ไม่สามารถตรวจภาพหินปูนชนิดต่างๆที่รวมถึงหินปูนมะเร็งได้ ภาพหินปูนฯตรวจได้เฉพาะจากแมมโมแกรมเท่านั้น
3. การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่:
ใครคือผู้สมควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และควรตรวจบ่อยแค่ไหน?
ACS ค.ศ. 2018 แนะนำให้บุคคลทั่วไปทั้งหญิงและผู้ชาย ควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป(ก่อนปีค.ศ. 2018/ พ.ศ.2561, แนะนำตรวจคัดกรองเริ่มที่อายุ50ปี)ถึงอายุ75ปี ทั้งนี้ความถี่ของการตรวจคัดกรองขึ้นกับวิธีตรวจคัดกรอง
วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่มีหลายวิธี การจะเลือกวิธีใด ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ร่วมกับความประสงค์ของผู้ป่วย และขีดความสามารถในการให้บริการของแต่ละโรงพยาบาล วิธีตรวจต่างๆ ได้แก่
- FIT (Fecal Immunochemical test) คือการตรวจอุจจาระเพื่อหาว่ามีเลือดออกในลำไส้ใหญ่หรือไม่ โดยวิธีนี้ใช้เทคโนโลยีสูงกว่าการตรวจอุจจาระเทคนิคทั่วไป เพราะสามารถแยกได้ว่า ผลบวกของการตรวจไม่ได้เกิดจากยาหรือจากอาหาร ซึ่งถ้าตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยจะต้องตรวจติดตามผลต่อเนื่องทุก1ปี
- HSgFOBT (High sensitivity guaiac based fecal occult blood test) เป็นการตรวจอุจจาระเพื่อหาว่ามีเลือดออกจากลำไส้ใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีสูงกว่าการตรวจอุจจาระวิธีทั่วไป วิธีนี้จะให้ผลตรวจเฉพาะเจาะจงว่า เลือดที่ตรวจได้จากอุจจาระเป็นเลือดออกจากลำไส้ใหญ่ไม่ใช่จากยา หรือ อาหาร เช่นกัน ซึ่งถ้าตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยจะต้องตรวจติดตามผลต่อเนื่องทุก1ปี
- Mt-s DNA test (Multi target stool DNA test) คือ การตรวจอุจจาระประเภทใช้เทคนีโลยีสูงอีกวิธี เพื่อตรวจหา DNA/ดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งถ้าตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยจะต้องตรวจติดตามผลต่อเนื่องทุก 3 ปี
- Colonoscopy คือ ส่องกล้องตรวจทุกส่วนของลำไส้ใหญ่ ข้อดีคือ ถ้าพบรอยโรคสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาได้ และ/หรือถ้าพบติ่งเยื่อเมือกลำไส้ใหญ่ก็สามารถตัดออกได้เช่นกัน แต่วิธีนี้จะยุ่งยากมากกว่า ต้องใช้ยาสลบ/ ยานอนหลับ และมีผลข้างเคียงมากกว่าจาก ลำไส้ทะลุจากเครื่องมือ และ/หรือจากกการตัดชิ้นเนื้อ รวมถึงอาจมีเลือดออกมากจากแผลตัดชิ้นเนื้อ และต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจ(ปัจจุบัน กำลังมีการฝึกฝนให้พยาบาลที่ได้รับการฝึกฝนแล้วเป็นผู้ตรวจคัดกรองแทนแพทย์ เพื่อให้คิวการตรวจเร็วขึ้น) ซึ่งถ้าตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยควรต้องตรวจติดตามผลต่อเนื่องทุก 10 ปี(เดิมแนะนำตรวจติดตามทุก5ปี)
- CTC( CT colonography หรือ Computed tomography colonoscopy) อีกชื่อคือ VC(Virtual colonoscopy) คือการตรวจช่องท้องดูลำไส้ใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงของเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งถ้าตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยจะต้องตรวจติดตามผลต่อเนื่องทุก 5 ปี และถ้าพบรอยโรค ต้องมีการตรวจส่องกล้องฯเพื่อการตัดชิ้นเนื้อ และ/หรือตัดติ่งเนื้อ
- (FS)Flexible sigmoidoscopy คือ การส่องกล้องตรวจเมื่อแพทย์สงสัยรอยโรคตั้งแต่ ตำแหน่งลำไส้ใหญ่ส่วนลำไส้คด(Sigmoid colon)ลงมา ซึ่งได้แก่ ลำไส้คด ไส้ตรง และทวารหนัก ซึ่งการตรวจจะซับซ้อนน้อยกว่าการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทุกส่วน(Colonoscopy) ซึ่งถ้าตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยจะต้องตรวจติดตามผลต่อเนื่องทุก 5 ปี
อนึ่ง
- ในชายและหญิงที่อายุ 76-85 ปี แพทย์จะแนะนำการตรวจคัดกรองรวมถึงวิธีตรวจคัดกรองฯเป็นแต่ละรายผู้ป่วย ขึ้นกับ อายุขัยผู้ป่วย สุขภาพ โรคประจำตัวผู้ป่วย
- ในชายหญิงอายุมากกว่า85ปี แพทย์มักไม่แนะนำการตรวจคัดกรองฯ
วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำอย่างไร?
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้ง 6 วิธีดังกล่าวตอนต้น เป็นการนัดตรวจและมีการเตรียมตัวล่วงหน้าซึ่ง แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นผู้นัดหมายผู้ป่วยร่วมกับการให้คำแนะนำในการเตรียมตัว ที่จะแตกต่างกันในแต่ละวิธี
โดยการตรวจอุจจาระ จะให้การตรวจโดยพยาธิแพทย์ การตรวจทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะเป็นแพทย์ทางรังสีวินิจฉัย ส่วนการส่องกล้องฯ อาจตรวจด้วยอายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารหรือศัลยแพทย์ระบบทางเดินอาหาร การตรวจวิธีต่างๆถึงแม้จะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงแต่การเตรียมตัวในการตรวจไม่ยุ่งยากรวมถึงเป็นการตรวจที่มักไม่มีผลข้างเคียงหรือถ้ามีก็มีอาการน้อยมาก ไม่มีอันตราย หายได้เองใน1-2วัน เรียกว่า เป็น ‘Non invasive test หรือ Non invasive procedure’ และเป็นการตรวจแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล แต่ยกเว้นการส่องกล้องตรวจ ที่จะเป็นการตรวจที่ซับซ้อนที่สุด และอาจมีอันตรายได้มากกว่าการตรวจวิธีอื่นถึงแม้จะเป็นการตรวจแบบผู้ป่วยนอกเช่นกัน จึงเรียกว่าเป็น ‘Invasive test หรือ Invasive procedure’ เช่น จากการใช้ยาสลบ/ยานอนหลับ แผลตัดชิ้นเนื้อเลือดออก และ/หรือติดเชื้อ รวมถึงอาจเกิดลำไส้ทะลุถึงแม้โอกาสเกิดจะน้อยมากก็ตาม
ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่าง ขั้นตอนการตรวจคัดกรองฯเฉพาะ การส่องกล้อง โดยผู้ป่วยต้องจำกัดอาหารกากใยสูงล่วงหน้าอย่างน้อย 3 - 7 วันหรือตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ เพื่อป้องกันการผิดพลาดในการแปลผลตรวจจากการตกค้างของอุจจาระในลำไส้ และยังต้องหยุดยาบางชนิด (อย่างน้อย 1 - 2 สัปดาห์หรือตามแพทย์แนะนำ) ที่เป็นสาเหตุให้เลือดออกได้ง่ายเพื่อป้องกันเลือดออกในช่วงตัดชิ้นเนื้อ และต้องมีการกินยาระบายล่วงหน้า เพื่อล้างอุจจาระให้หมดจากลำไส้ ทั้งนี้แพทย์/พยาบาลผู้ให้การตรวจ จะแนะนำและมีคู่มือแนะนำเสมอ
ในวันตรวจมักจำเป็นต้องงดอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อย 7 - 8 ชั่วโมงและอาจต้องสวนทวารหนัก/ลำไส้ใหญ่กรณีลำไส้ฯยังไม่สะอาดพอ
ในการตรวจแพทย์จะฉีดยานอนหลับเข้าหลอดเลือดดำ หลังจากนั้นสอดกล้องซึ่งติดอยู่ในท่อขนาดเล็กผ่านทางทวารหนัก โดยความยาวของท่อขึ้นกับความยาวของลำไส้ใหญ่ ท่อจะประกอบด้วยกล้องให้แพทย์เห็นภาพและถ่ายภาพได้ มีไฟฉายเพิ่มความสว่างในการมองเห็น มีมีดเล็กๆเพื่อตัดชิ้นเนื้อและติ่งเนื้อเมือก และมีท่อสำหรับใส่ลมเพื่อขยายลำไส้ใหญ่ให้แพทย์เห็นภาพ ชัดยิ่งขึ้น
ในขณะตรวจเราจะไม่รู้สึกตัวจากยานอนหลับ เมื่อตรวจเสร็จซึ่งใช้เวลาตรวจประมาณ 30 -60 นาที อาจรู้สึกแน่นท้องบ้างจากการค้างบางส่วนของลมที่ใส่เข้าไป บางคนอาจคลื่นไส้จากผลข้างเคียงของยานอนหลับ หลังจากการนอนพักจนตื่นดีแล้ว แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ ซึ่งในการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ควรมีญาติที่บรรลุนิติภาวะแล้วมาเป็นเพื่อนด้วยเสมอ เพราะภายหลังได้ยานอนหลับ ถึงแม้จะตื่นดีแล้วเรามักยังคงมึนงงหรือวิงเวียน ญาติจะได้ช่วยดูแลและไม่ควรขับรถเองเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากการวิงเวียนจากยานอนหลับ
ผลข้างเคียงจากการตรวจส่องกล้องมีน้อยมาก แต่ที่อาจพบได้ ได้แก่ การติดเชื้อในลำไส้/ลำไส้ใหญ่อักเสบ เลือดออกเมื่อมีการตัดชิ้นเนื้อ และที่พบได้น้อยที่สุดคือ ลำไส้ทะลุ
*ดังนั้นเมื่อกลับบ้านแล้ว มีไข้หรืออุจจาระเป็นเลือดหรือปวดท้อง ควรรีบมาโรงพยาบาล
อนึ่ง ทั่วไปแพทย์จะแจ้งผลตรวจในเบื้องต้นให้ทราบ แต่ผลตรวจที่แน่นอนมักทราบหลังจากได้ผลชิ้นเนื้อแล้ว ทั้งนี้ประมาณ 1 - 2 สัปดาห์
บรรณานุกรม
- American Cancer Society. CA Cancer J Clin. https://onlinelibrary.wiley.com/journal/15424863 [2018,July21]
- https://www.cancerinstitute.org.au/cervical-screening-nsw/your-cervical-screening-appointment/preparing-for-my-appointment [2018,July21]
- https://www.cdc.gov/cancer/breast/basic_info/screening.html [2018,July21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Virtual_colonoscopy [2018,July21]