วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 มกราคม 2564
- Tweet
- บทนำ: วัยใกล้หมดประจำเดือนคืออะไร?
- ปัจจัยที่กระตุ้นให้หมดประจำเดือนเร็วมีอะไรบ้าง?
- อาการของวัยใกล้หมดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นวัยใกล้หมดประจำเดือนได้อย่างไร?
- แพทย์รักษากลุ่มอาการวัยใกล้หมดประจำเดือนอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรในวัยใกล้หมดประจำเดือน?
- ป้องกันเกิดอาการวัยใกล้หมดประจำเดือนได้หรือไม่?
- บรรณานุกรม
- ประจำเดือน (Menstruation)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- ภาวะช่องคลอดแห้ง (Vaginal dryness) / ภาวะร้อนวูบวาบในวัยหมดประจำเดือน (Hot flashes in postmenopause)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- ประจำเดือนผิดปกติ (Menstrual disorder)
บทนำ: วัยใกล้หมดประจำเดือนคืออะไร?
วัยใกล้หมดประจำเดือน หรือ วัยใกล้หมดระดู (Perimenopause หรือ Menopause transition) คือ ภาวะตามธรรมชาติที่เกิดในสตรีทุกคนซึ่งเมื่อถึงช่วงชีวิตที่มักอยู่ในวัยกลางคน รังไข่จะเริ่มทำงานถดถอยน้อยลงเพื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอย่างถาวร โดยในวัยใกล้หมดประจำเดือน/วัยใกล้หมดระดู การสร้างฮอร์โมนเพศหญิงของ รังไข่จะแกว่งไปแกว่งมาระหว่างการสร้างที่มากขึ้น หรือ ลดต่ำลง หรือ เป็นปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติทั้งปริมาณและความถี่ห่างของรอบประจำเดือนที่พยากรณ์ล่วงหน้าไม่ได้ ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ขาดสมาธิ นอนไม่หลับ อ้วนง่าย และอื่นๆอีกมากมายทั้งสุขภาพกายและจิตใจซึ่งคนไทยมักเรียกว่า ‘ผีเข้าผีออก’
วัยใกล้หมดประจำเดือน/วัยใกล้หมดระดู พบเกิดในสตรีเกือบทุกคนทุกเชื้อชาติทั่วโลก แต่สตรีบางคนก็ไม่มีอาการผิดปกติจากภาวะนี้(พบน้อยมากๆ) ทั่วไปเกิดในช่วงวัย 40-58 ปี(เฉลี่ยประมาณ 50 ปี) แต่อาจเกิดในวัยน้อยกว่านี้ได้โดยขึ้นกับสาเหตุ เช่น การรักษาโรคต่างๆด้วยการผ่าตัดรังไข่ออก(เช่น การรักษาโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ที่มีอาการรุนแรงและดื้อต่อการใช้ยาในสตรีอายุน้อยกว่า40ปี)
วัยใกล้หมดประจำเดือน มักเป็นอยู่นานประมาณ 2-5ปีก่อนหมดประจำเดือนถาวร(วัยหมดประจำเดือน) แต่บางคนอาจมีอาการต่ำกว่า2ปีหรือนานกว่า5ปี มีรายงานนานถึง8-10ปี และวัยนี้ก็ยังเป็นวัยที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ถึงแม้โอกาสจะน้อยกว่าวัยเจริญพันธ์ก็ตาม
อนึ่ง:ทางการแพทย์ให้คำจำกัดความ ’วัยหมดประจำเดือน’ คือ ‘สตรีวัยมากกว่า 50ปีขึ้นไปที่ไม่มีประจำเดือนติดต่อต่อเนื่องนานตั้งแต่1ปี/12เดือนขึ้นไปโดยสตรีกลุ่มนี้จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกแล้ว’ ซึ่งการจะวินิจฉัยวัยหมดประจำเดือนที่เกิดในสตรีวัยต่ำกว่า 50 ปีแพทย์มักยืนยันด้วยการตรวจระดับฮอร์โมนเพศหญิงในเลือด
อนึ่ง: ชื่ออื่นของ’วัยใกล้หมดประจำเดือน/วัยใกล้หมดระดู’ คือ Menopausal transition, และClimacteric ซึ่งชื่อนี้ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว
ปัจจัยที่กระตุ้นให้หมดประจำเดือนเร็วมีอะไรบ้าง?
ปัจจัยกระตุ้นให้หมดประจำเดือนเร็วขึ้นกว่าสตรีทั่วไป ที่ส่งผลให้เกิดวัยใกล้หมดประจำเดือน/วัยใกล้หมดระดูเร็วขึ้นตามไปด้วย ได้แก่
- มีประวัติสตรีในครอบครัวหมดประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย น้อยกว่าคนทั่วไป
- สูบบุหรี่
- มีโรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดรังไข่ออกในวัยเจริญพันธ์(วัยมีประจำเดือนปกติ) เช่น โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่, การผ่าตัดรังไข่เพื่อลดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมในผู้มีพันธุกรรมชนิด บีอาร์ซีเอ วัน (BRCA1), บีอาร์ซีเอ ทู(BRCA2), มะเร็งรังไข่, มะเร็งปากมดลูก ที่เกิดในวัยเจริญพันธ์,
- การได้รับยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งในวัยเจริญพันธ์
- การได้รับการฉายรังสีรักษาในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อยรักษามะเร็งต่างๆในอุ้งเชิงกรานในวัยเจริญพันธ์ เช่น มะเร็งไส้ตรง
อาการของวัยใกล้หมดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?
อาการของวัยใกล้หมดประจำเดือน/วัยใกล้หมดระดูมีหลากหลาย โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงค่อยๆลดลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงที่สร้างจากรังไข่จากการทำงานของเซลล์รังไข่ค่อยๆเสื่อมถอยตามธรรมชาติตามวัยที่เพิ่มสูงขึ้น(เช่นเดียวกับเซลล์ทุกชนิดของร่างกาย)เพื่อเข้าสู่การหยุดทำงาน/วัยหมดประจำเดือน ซึ่งเหตุการณ์นี้ กระทบถึงการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองกลุ่มมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของรังไข่ด้วย ซึ่งการปรับสมดุลของฮอร์โมนทั้งจากรังไข่และจากต่อมใต้สมองนี่เองที่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติได้หลากหลายอาการมากทั้งด้านร่างกายและด้านอารมณ์/จิตใจ
ก. อาการที่พบในสตรีทุกคน: ได้แก่ ประจำเดือนมาผิดปกติ โดยรอบเดือน แกว่งไปมา ไม่สม่ำเสมอ ได้แก่
- ระยะเวลาระหว่างรอบประจำเดือน: อาจเร็วขึ้นโดยน้อยกว่า25วัน หรืออาจมากกว่าประมาณ35วัน ซึ่งอาการดังกล่าวมักพบใน’ระยะแรกของการเริ่มวัยใกล้หมดประจำเดือน(Early perimenopause)’ แต่ถ้าระยะรอบประจำเดือนนานมากกว่า 60วันขึ้นไปซึ่งมักพบใน’ระยะหลังของวัยใกล้หมดประจำเดือน(Late perimenopause)’ และระยะรอบประจำเดือนก็จะค่อยๆถอยห่างออกไปเรื่อยๆ(มักพบในระยะหลังของวัยใกล้หมดประจำเดือน)จนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนซึ่งจะต่างกันในแต่ละสตรี ทั่วไปประมาณ 2-4ปี แต่บางคนอาจนาน 8-10ปี ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้ สตรีเหล่านั้นยังสามารถตั้งครรภ์ได้ถึงแม้โอกาสจะน้อยกว่าในวัยมีประจำเดือนปกติก็ตาม ดังนั้นทั่วไปในสตรีกลุ่มนี้ กรณีไม่ต้องการมีบุตรแพทย์มักแนะนำ ‘ยังคงต้องใช้การคุมกำเนิดเช่นเดียวกับในวัยมีประจำเดือนปกติ’
- ปริมาณประจำเดือน: บางครั้งมากกว่าปกติ(มักพบในระยะแรกของวัยใกล้หมดประจำเดือน) บางครั้งน้อย บางครั้งปกติ บางครั้งหายไปเลย พยากรณ์ล่วงหน้าไม่ได้
ข. อาการอื่นๆ: สตรีส่วนใหญ่มีอาการเหล่านี้ ส่วนน้อยไม่มีอาการ บางรายอาการมาก บางรายอาการน้อย และไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ ได้แก่
- อาการทางกาย: ได้แก่
- ร้อนวูบวาบ: เป็นอาการพบบ่อยมาก มีอาการนานประมาณ 1-5นาที จะเกิดช่วงไหนของวันก็ได้ ทั้งกลางวันและกลางคืน พยากรณ์เวลาเกิดไม่ได้ ซึ่งอาการมักตามด้วยรู้สึกหนาวและเหงื่ออกมาก
- เหงื่อออกกลางคืน
- มีปัญหาในการนอน: มักนอนไม่หลับ หลับๆตื่น เป็นอาการพบบ่อยมากเช่นกัน
- ภาวะช่องคลอดแห้ง: เป็นภาวะพบบ่อยถึงประมาณ 80%ของวัยนี้ ที่จะส่งผลให้เกิดอาการ คัน แสบ ระคายเคืองช่องคลอด, เกิดโรคเชื้อราในช่องคลอดง่าย, ช่องคลอดอักเสบง่าย, เจ็บช่องคลอดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ส่งผลถึงปัญหาในชีวิตคู่
- ปวดหัวเรื้อรัง มักพบในระยะแรกของวัยใกล้หมดประจำเดือน
- เต้านมบวมตึง(คัดเต้านม) อาจร่วมกับน้ำหนักตัวเพิ่ม ซึ่งมักพบในระยะแรกของวัยใกล้หมดประจำเดือน
- มีปัญหาในการนอน มักนอนไม่หลับ
- วิงเวียนศีรษะ/ บ้านหมุน
- ผิวแห้ง คัน
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
- ท้องผูก
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- เจ็บเต้านม
- รู้สึกใจสั่นง่าย เป็นลมง่าย
- กระดูกบาง กระดูกพรุน
- น้ำหนักตัวเพิ่ม อ้วนลงพุง
- อาการทางอารมณ์/จิตใจ:
- อารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย หงุดหงิดง่าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หลายคนเรียก ‘ผีเข้าผีออก’
- ซึมเศร้า
- วิตกกังวล กลัวโดยไม่มีเหตุผลที่ควร เครียด สับสน
- ความจำสั้น
- สมาธิลดลง
- หมดไฟในการทำงาน ในชีวิต
- อารมณ์และความต้องการทางเพศลดลง
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ ’ ที่ทำให้ท่านกังวล หรือที่มีอาการมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
* อนึ่ง: กรณีมีความผิดปกติของประจำเดือนซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคอื่นได้ ที่สำคัญ คือ มะเร็งปากมดลูก หรือ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือประจำเดือนผิดปกติ ควรรีบพบสูตินรีแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยว่า มีสาเหตุจากอะไร อย่าด่วนสรุปเองว่าเกิดจากวัยใกล้หมดประจำเดือน/วัยใกล้หมดระดู
แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นวัยใกล้หมดประจำเดือนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยว่าอาการต่างๆน่าเป็นจากวัยใกล้หมดประจำเดือน/วัยใกล้หมดระดูได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ อายุ อาการต่างๆโดยเฉพาะประวัติประจำเดือน ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว การผ่าตัดรังไข่ การใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง/ช่องท้องน้อย
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจภายใน
- อาจมีการตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนต่างๆทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
แพทย์รักษากลุ่มอาการวัยใกล้หมดประจำเดือนอย่างไร?
แนวทางการรักษาวัยใกล้หมดประจำเดือน/วัยใกล้หมดระดู ได้แก่
ก. กรณีอาการน้อย ไม่เป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน: ไม่จำเป็นต้องมีการรักษาเพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่แพทย์จะให้คำอธิบายและแนะนำ
- ในเรื่องอาการของวัยใกล้หมดประจำเดือน
- ให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อให้มีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดี เพราะเป็นวัยเสี่ยงเกิดโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เรียกว่า’โรคเอนซีดี’ ที่สำคัญคือ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม กระดูกพรุน ร่วมกับแนะนำการตรวจคัดกรองโรคต่างๆดังกล่าว (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆเหล่านี้ได้จากเว็บhaamor.comที่รวมถึงวิธีตรวจคัดกรอง, วิธีดูแลตนเอง, วิธีป้องกัน)
- แนะนำ ‘ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต’ เพื่อลดอาการและเพื่อป้องกันโรคในกลุ่มเอนซีดี ที่สำคัญ เช่น
- รับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหารอย่างน้อยทุกวัน, ลดอาหารแป้ง น้ำตาล เค็ม ไขมัน, เพิ่มผัก ผลไม้
- ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- กินแคลเซียมเสริมอาหารตามคำแนะนำของแพทย์
- สังเกตว่าบริโภคอะไรแล้วกระตุ้นให้’เกิดอาการรุนแรง’ ให้หลีกเลี่ยง หรือจำกัดสิ่งนั้น เช่น บุหรี่ ช็อกโกแลต สุรา ชา กาแฟ อาหารเค็ม
- ปรึกษา แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เสมอเมื่อต้องการบริโภค สมุนไพร วิตามิน เกลือแร่/แร่ธาตุ เสริมอาหาร
ข. กรณีมีอาการฯจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน: การรักษาได้แก่
- การให้ยาฮอร์โมน หรือยาต่างๆเพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมน
- ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดศีรษะ, ยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ/ปวดข้อ,ยานอนหลับ, ยาคลายเครียด
- ซึ่งการใช้ยาต่างๆจะต้องร่วมกับการดูแลตนเองและการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตดังกล่าวใน’ข้อ ก.’
ดูแลตนเองอย่างไรในวัยใกล้หมดประจำเดือน?
การดูแลตนเองในวัยใกล้หมดประจำเดือน/วัยใกล้หมดระดู เช่นเดียวกับดังได้กล่าวใน ’หัวข้อ การรักษาฯ ข้อย่อย ข้อ ก.’ ร่วมกับ
- กรณีพบแพทย์/มาโรงพยาบาลแล้ว:
- ควรต้องปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง
- มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อยังไม่เคยพบแพทย์ หรือพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- ควรพบแพทย์เสมอเมื่อมีประจำเดือนผิดปกติ เพราะดังกล่าวแล้วว่า อาจเป็นอาการของ มะเร็งปากมดลูก หรือ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
- เมื่ออาการต่างๆแย่ลงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้-อาเจียนทุกครั้งที่กินยา
- กังวลในอาการ
ป้องกันเกิดอาการวัยใกล้หมดประจำเดือนได้หรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดวัยใกล้หมดประจำเดือน/วัยใกล้หมดระดูเพราะเป็นอาการเกิดตามธรรมชาติของสตรีทุกคน แต่การดูแลตนเองดังได้กล่าวใน’หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’ ก็มักช่วยให้อาการฯต่างๆบรรเทาลงจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติ
บรรณานุกรม
- Agnieszka Bień, et al. Int. J. Environ. Res. Public Health 2015; 12: 3835-3846
- Nanette Santoro. J Womens Health (Larchmt). 2016 Apr 1; 25(4): 332–339
- Samar R. El Khoudary , et al. The Journal of The North American Menopause Society 2019; 26(10):1213-1227
- https://www.menopause.org.au/hp/information-sheets/1057-perimenopause [2020,Dec26]
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15224-menopause-perimenopause-and-postmenopause [2020,Dec26]
- https://www.health.harvard.edu/womens-health/perimenopause-rocky-road-to-menopause [2020,Dec26]
- https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/perimenopause [2020,Dec26]
- https://www.menopause.org/for-women/menopauseflashes/menopause-symptoms-and-treatments/menopause-101-a-primer-for-the-perimenopausal [2020,Dec26]