วัคซีนไวรัสโรต้า (Rotavirus vaccine)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 18 สิงหาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ประเภทของวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า
- ข้อบ่งใช้และกลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า
- มีวิธีบริหารวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้ามีอะไรบ้าง?
- ตารางเวลาการรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า
- กรณีมารับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด หรือรับวัคซีนไม่ครบ
- มีวิธีการเก็บรักษาวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าอย่างไร?
- วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าที่จำหน่ายในประเทศไทยและบริษัทผู้ผลิต
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วัคซีน (Vaccine)
- โรคท้องร่วงจากไวรัสโรตา (Rotavirus infection)
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
- ท้องเสียในเด็ก (Acute diarrhea in children)
- วิธีกินผงละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ในเด็ก (Oral rehydration salt/ORS in children)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
บทนำ
เชื้อไวรัสโรต้า/โรตา (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วง/ท้องร่วง/ท้องเสียในเด็กเล็กอายุกว่า 5 ปี ที่สำคัญการติดเชื้อไวรัสโรต้าสามารถพบได้ทั่วโลก ทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และในประเทศที่กำลังพัฒนาเช่น ประเทศไทย โรคนี้พบได้ทุกฤดู โดยเฉพาะฤดูหนาวในประเทศเขตอบอุ่น และเขตร้อน เช่น ประเทศไทย โดยทั่วไป การติดเชื้อไวรัสโรต้าสามารถหายได้เอง แต่สาเหตุหนึ่งที่ผู้ป่วย/เด็กต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล คือ จากการถ่ายอุจจาระปริมาณมากจนเกิดการภาวะขาดน้ำ ซึ่งกรณีเช่นนี้ หากได้รับการรักษาไม่เหมาะสม และผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะช็อกถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการแสดงของการติดเชื้อไวรัสโรต้า คือ อาการ ท้องเสีย อาเจียน เกิดภาวะขาดน้ำ/สารน้ำและเกลือแร่ เด็กบางคนจะมีอาการปวดท้อง และมีไข้ เด็กที่ติดเชื้อนี้ประมาณครึ่งหนึ่งจะมีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย เช่น ไอ มีน้ำมูก
อาการท้องเสียส่วนใหญ่เป็นลักษณะถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ อาจมีมูกปนได้บ้าง แต่ไม่มีเลือดปน ภาวะขาดสารน้ำส่วนใหญ่อยู่ในระดับน้อยหรือปานกลาง ในผู้ป่วยส่วนน้อยอาจพบภาวะขาดสารน้ำ/ภาวะขาดน้ำระดับรุนแรงจนเกิดภาวะช็อก ลักษณะของอุจจาระของเด็กที่ท้องเสียจากโรคติดเชื้อนี้อาจมีกลิ่นเปรี้ยว เพราะไวรัสโรต้าจะทำลายเซลล์ชั้นบนของเยื่อบุลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นเซลล์ที่ผลิตเอนไซม์แลคเตส (Lactase) ที่เป็นเอ็นไซม์ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม ดังนั้นเมื่อเด็กขับถ่ายนมที่มีแลคโตสที่ไม่ย่อยออกมา อุจจาระจึงมีสภาพเป็นกรด/มีกลื่นเปรี้ยวจากสภาพอุจจาระที่เป็นกรด และจะทำให้อุจจาระเหลวเป็นน้ำ ซึ่งอาการจะดีขึ้นในเวลาประมาณเกือบ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขณะท้องเสีย การกินนมชนิดไม่มีน้ำตาลแลคโตสผสมอยู่ จะช่วยลดอาการท้องเสียลงได้
ทั่วไป การดูแลเด็กท้องเสียจากติดเชื้อไวรัสโรต้าเหล่านี้ ใช้วิธีรักษาตามอาการเด็ก คือ การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ รอจนเด็ก/ผู้ป่วยหายเอง
การติดต่อของเชื้อไวรัสโรต้า เกิดจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่มีเชื้อไวรัสโรต้าปนเปื้อน บางครั้งพบไวรัสนี้อยู่ตามของเล่น เมื่อเด็กหยิบเข้าปาก ก็อาจเกิดติดเชื้อได้ และโรคนี้อาจติดต่อทางการหายใจได้ด้วย ปัจจุบันพบว่า มีการติดต่อของเชื้อไวรัสโรต้าในโรงพยาบาล(Nosocomial transmission) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญและส่งผลกระทบต่อภาวะการเจ็บป่วยของเด็กโรคอื่นที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล
วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า/วัคซีนไวรัสโรต้า/วัคซีนไวรัสโรตา(Rotavirus vaccine) ที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นวัคซีนเชื้อเป็น(Live attenuated vaccine)คือวัคซีน ที่ทำให้เชื้อไวรัสโรต้าอ่อนฤทธิ์ลงจนไม่ก่อการติดโรค แต่มีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิค้มกันโรคนี้ของร่างกาย ซึ่งวิธีการให้วัคซีนนี้ คือ การรับประทาน วัคซีนนี้จะช่วยป้องกันเฉพาะโรคอุจจาระร่วง/ท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากสาเหตุอื่นได้(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ท้องเสียในเด็ก)
ภายหลังให้วัคซีนไวรัสโรต้าแก่เด็ก เด็กบางคนก็ยังอาจเกิดโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าได้ แต่อาการมักไม่รุนแรง
อนึ่ง ประเทศไทยมีแผนจะทำการบรรจุวัคซีนโรต้าเข้าในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ และเริ่มศึกษาทดลองใช้เพื่อขยายผลต่อ
ประเภทของวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า
ในอดีตช่วงปี พ.ศ. 2541 - 2542 มีการจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโรต้าชนิด Tetravalent Rhesus rotavirus vaccine มีชื่อการค้าว่า RotashieldTM ซึ่งผลิตจากเชื้อไวรัสโรต้าของลิงที่มีคุณสมบัติเหมือนไวรัสโรต้าสายพันธุ์ในมนุษย์ ต่อมาพบว่าวัคซีนชนิดนี้สัมพันธ์กับการเกิดภาวะลำไส้กลืนกัน(Intussusception)ที่ส่งผลให้เกิดลำไส้อุดตัน ซึ่งเกิดขึ้นในเด็กที่ได้รับวัคซีนชนิดดังกล่าวภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนนี้ ทางผู้ผลิตจึงได้หยุดจำหน่ายวัคซีนชนิดดังกล่าวไป
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ ที่มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูง โดยวัคซีนที่มีจำหน่ายในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่
1. วัคซีนชนิด Live attenuated human rotavirus vaccine มีชื่อการค้าว่า RotarixTM ผลิตจากเชื้อไวรัสโรต้าที่มีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง โดยเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดียวที่ได้จากมนุษย์ ทั้งนี้วัคซีน Rotarix สามารถเรียกว่าเป็น Monovalent vaccine(วัคซีนจากเชื้อชนิดเดียว)ได้ เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ผลิตจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวที่แยกได้จากมนุษย์ รูปแบบวัคซีนนี้เป็นยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน (Oral suspension) ขนาด 1.5 มิลลิลิตรต่อโด๊ส/Dose/ต่อการใช้ 1 ครั้ง บรรจุในหลอดยาพร้อมใช้ (Prefilled syringe)
2. วัคซีนชนิด Bovine-human reassortant rotavirus vaccine มีชื่อการค้าว่า RotaTeqTM ซึ่งถูกผลิตโดยการผสมกัน(Reassortment) ระหว่างเชื้อไวรัสโรต้าที่มีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงที่มีที่มาจากมนุษย์และจากวัว ทั้งนี้วัคซีน RotaTeq สามารถเรียกว่าเป็น Pentavalent vaccine เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ผลิตขึ้นจากเชื้อไวรัสโรต้าจำนวน 5 ชนิดที่ได้จากมนุษย์และจากวัว รูปแบบวัคซีนนี้ เป็นยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน (Oral suspension)เช่นกัน ในขนาด 2 มิลลิลิตรต่อโด๊ส บรรจุในหลอดพลาสติก
อนึ่ง ได้มีการศึกษาถึงประสิทธิผลของวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพบว่า ทั้งRotarixTM และ RotaTeqTM มีประสิทธิผลที่ดีในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า และมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ไม่แตกต่างกัน
กลไกการทำงานของวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ คือ วัคซีนฯจะเสริมสร้างให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ ที่เรียกว่าเป็นภูมิคุ้มกันแบบ Active immunization วัตถุประสงค์ของการให้วัคซีนนี้ คือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้า และถึงแม้ว่าวัคซีนนี้จะป้องกันโรคนี้ไม่ได้ทั้งหมดในเด็กทุกคนที่ได้รับวัคซีนนี้ แต่ก็ทำให้ความรุนแรงของโรคนี้ลดลงได้
ข้อบ่งใช้และกลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า
ข้อบ่งใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าคือ เพื่อให้ร่างกายเด็กสร้างภูมิคุ้มกันโดยตรงต่อโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า(Primary immunization) ซึ่งจะเริ่มให้วัคซีนนี้ เฉพาะในเด็กช่วงอายุ 2 – 4 เดือน สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้ยังเป็นวัคซีนทางเลือก แต่กำลังดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อบรรจุวัคซีนนี้เข้าในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติ ที่เด็กทารกทุกคนจะได้รับวัคซีนนี้ฟรีจากสถานพยาบาลของรัฐ
ส่วนกลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้านี้ คือ เมื่อรับประทานวัคซีนที่ประกอบด้วยเชื้อไวรัสโรต้าชนิดเชื้อเป็นที่ถูกทำให้อ่อนกำลังเข้าไปแล้ว เชื้อไวรัสโรต้าที่อ่อนกำลังนี้จะเพิ่มจำนวนในลำไส้เล็ก และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโรต้าแก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ ที่เรียกว่าเป็นภูมิคุ้มกันแบบ Active immunization ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดการติดเชื้อนี้ หรือช่วยลดความรุนแรงของอาการหากเกิดการติดเชื้อนี้
มีวิธีบริหารวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าอย่างไร?
วิธีบริหาร/วิธีให้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า จะโดย ให้เด็กรับประทานวัคซีนนี้
สำหรับวัคซีนชนิด RotarixTM มีวิธีการบริหารโดยใช้อุปกรณ์สำหรับให้ยา/ให้วัคซีน(Oral applicator) ที่มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์ของวัคซีนฯ จากนั้นให้วัคซีนในบริเวณด้านในกระพุ้งแก้มของเด็กด้วยอุปกรณ์ให้ยานี้
สำหรับวัคซีนชนิด RotaTeqTM มีวิธีการบริหารโดยทำการเปิดฝาชนิดบิดของวัคซีนนี้ จากนั้นให้วัคซีนจากหลอดวัคซีนที่บริเวณด้านในกระพุ้งแก้มของเด็ก
กรณีเด็กอาเจียนวัคซีนออกมาทันทีภายหลังการได้วัคซีนนี้ แนะนำให้เด็กรับประทานวัคซีนซ้ำ และมารับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครั้งต่อไปตามตารางเวลาที่กำหนด แต่หากเด็กเกิดอาเจียนภายหลังรับประทานวัคซีนนี้ ไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องให้วัคซีนนี้รับประทานซ้ำอีกครั้ง
วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าทั้ง 2 ชนิด (RotarixTM, RotaTeqTM) สามารถให้พร้อมกับวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV,Oral polio vaccine)ได้ หรือหากให้ในเวลาห่างกัน สามารถให้ห่างกันเป็นเวลาเท่าใดก็ได้ ซึ่งมีบางรายงานพบว่า การให้วัคซีนโรต้าและวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน(OPV) พร้อมกัน อาจทำให้ระดับของภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อโรต้าไวรัสที่เกิดขึ้น ต่ำกว่าการให้วัคซีนทั้ง 2 ชนิด แยกจากกัน แต่อย่างไรก็ตามพบว่าประสิทธิผลในการป้องกันโรคต่อไวรัสโรต้าไม่ได้ลดลง
มีข้อห้ามใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เช่น
1.ห้ามใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าซ้ำอีก กรณีที่เคยได้รับวัคซีนชนิดดังกล่าวแล้วเกิดอาการแพ้รุนแรง ที่เรียกว่า อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) โดยอาการ คือ เกิดผื่นคันตามร่างกาย อาการหายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก บางกรณีอาจมีความดันโลหิตตก/ความดันโลหิตต่ำ เรียกอาการที่มีภาวะความดันโลหิตตกร่วมด้วยนี้ว่า อะนาไฟแลกซิส ช็อก (Anaphylacitc shock) หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น เด็กควรได้รับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลทันที และหลีกเลี่ยงการได้รับวัคซีนชนิดดังกล่าวในครั้งถัดไป แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนนี้ เด็กต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้แล้วเท่านั้น
2. ห้ามใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดรุนแรง ที่เรียกว่า Severe Combined Immune Deficiency หรือย่อว่า SCID
3. ห้ามใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าในเด็กที่มีประวัติ ลำไส้กลืนกัน(Intussusception)
4. ข้อห้ามใช้เพิ่มเติมสำหรับวัคซีนชนิด RotarixTM คือ ห้ามใช้สำหรับเด็กที่มีภาวะระบบทางเดินอาหารผิดปกติแต่กำเนิดที่ยังไม่ได้รับการรักษา (Uncorrected congenital malformation of the GI tract)
5. ไม่ควรให้โด๊สแรกของวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าทั้ง 2 ชนิดนี้ในเด็กอายุเกินกว่ากำหนด (ช่วงอายุที่แนะนำให้ได้รับวัคซีน คือ เด็กอายุ 2 - 4 เดือน) เนื่องจากอายุของเด็กที่เกินอายุที่กำหนด (5-12 เดือน) จะเป็นช่วงอายุที่เด็กมีโอกาสเกิดลำไส้กลืนกัน (Intussusception)ได้มากที่สุด ทำให้มีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีที่จะทำให้เด็กที่ได้วัคซีนนี้โด๊สแรก มีโอกาสเกิดปัญหานี้มากขึ้น และเด็กที่อายุมากกว่า 1ปี มักจะเคยติดเชื้อนี้มาก่อน(โดยมักมีอาการไม่รุนแรง ที่อาการหายได้เองจากรักษาอาการท้องเสียที่เกิดขึ้นตามอาการ จึงมักไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อนี้) เด็กจึงมักมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้แล้วเป็นส่่วนใหญ่ ดังนั้นวัคซีนป้องกันไวรัสเชื้อโรต้า จึงมักไม่มีความจำเป็นในกรณีเด็กอายุเกินกว่า 1 ปี
มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เช่น
1. ยังไม่มีการศึกษาถึงความปลอดภัยและประสิทธิผลการใช้วัคซีนนี้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดรุนแรง(Severe combined immunodeficiency syndrome หรือ SCID) เช่น ผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง เด็กที่กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosupressive drugs) หรือ เด็กที่เพิ่งได้รับเลือด/ผลิตภัณฑ์จากเลือดชนิดอิมมูโนโกลบุลิน(Immunoglobulin) ภายใน 42 วัน แต่ผู้ป่วยเด็กโรคเหล่านี้สามารถให้วัคซีนโรต้าได้ เพราะวัคซีนโรต้าเป็นเชื้อไวรัสที่อ่อนฤทธิ์กว่าการติดเชื้อนี้ตามธรรมชาติมาก ซึ่งเด็กเหล่านี้มีโอกาสติดเชื้อตามธรรมชาติสูงอยู่แล้ว วัคซีนนี้จึงมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโรต้าตามธรรมชาติที่รุนแรงกว่า แต่ทั้งนี้ต้องให้วัคซีนนี้ในช่วงอายุที่แนะนำ คือ 2-4 เดือน
2. กรณีเด็กที่เกิดจากมารดาติดเชื้อเอชไอวี สามารถรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าได้อย่างปลอดภัยและได้ผลดี แม้เด็กจะติดเชื้อเอชไอวีก็ตาม
3. ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนนี้ในเด็กโต หรือในผู้ใหญ่ ที่รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ และหญิงระยะให้นมบุตร เพราะเป็นช่วงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสโรต้าแล้ว
อนึ่ง หลังจากได้รับวัคซีนนี้แล้ว อาจพบเชื้อไว้รัสโรต้าจากวัคซีน ขับถ่ายออกมาในอุจจาระได้หลายวัน โดยพบว่า การใช้วัคซีน RotarixTM จะพบไวรัสฯในอุจจาระได้มากและนานกว่าการใช้วัคซีน RotateqTM อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคจากการได้รับเชื้อไวรัสฯในวัคซีนนี้จากอุจจาระของเด็กที่ได้รับวัคซีน ซึ่งยืนยันได้จากการศึกษาในสมาชิกในครอบครัวของเด็กที่ได้รับวัคซีนนี้ แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรระมัดระวังการสัมผัสเชื้อไวรัสนี้จากเด็กที่เพิ่งได้รับวัคซีนนี้ด้วย เพราะอาจติดเชื้อนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาถึงโอกาสเกิดโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้าที่เกิดจากการสัมผัสหรือการได้รับเชื้อจากอุจจาระของเด็กที่เพิ่งได้รับวัคซีนนี้
4. การบริหาร/การให้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าทำโดยการรับประทานทางปากเท่านั้น ห้ามบริหารวัคซีนนี้ด้วยวิธีการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือเข้ากล้ามเนื้อโดยเด็ดขาด
อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้ามีอะไรบ้าง?
ถ้าให้วัคซีนไวรัสโรต้าตามขนาด วิธีการบริหารยา และอายุ ตามที่แนะนำ ปฏิกิริยา/อาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ภายหลังเด็กได้รับวัคซีนนี้ เช่น มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร ท้องเสียเล็กน้อย อาเจียนไม่รุนแรง งอแง มีลมในท้องมาก ซึ่งอาการจะหายไปเองภายใน 1-2วันหลังได้รับวัคซีน แต่ถ้าอาการเหล่านี้รุนแรง ควรรีบนำเด็กไปโรงพยาบาลด่วน
เนื่องจากมีข้อห้ามใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าในเด็กที่มีประวัติลำไส้กลืนกัน แต่จากการศึกษาภายหลังวัคซีนถูกจำหน่ายในท้องตลาด (Post marketing) พบว่าการให้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าทั้ง 2 ชนิด (RotarixTM และ RotaTeqTM) เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลำไล้กลืนกันได้ แต่โอกาสเกิดน้อยมาก ดังนั้นหาเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนนี้ที่ช่วยลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตของเด็กจากอุจจาระร่วงอย่างรุนแรงจากเชื้อไวรัสโรต้า กับการเกิดภาวะลำไส้กลืนกันแล้ว วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าก็ถือว่ามีความคุ้มค่ามากกว่า ดังนั้น ทางการแพทย์ จึงยังคงแนะนำให้เด็กควรได้รับวัคซีนนี้ต่อไป แต่ควรรับวัคซีนในช่วงอายุที่แนะนำเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะลำไส้กลืนกัน
ตารางเวลาการรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า
เด็กปกติทั่วไป ที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครั้งที่ 1 (โด๊สแรก, First dose) คือ อายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป โดยอายุมากที่สุดที่ยังสามารถได้รับวัคซีนครั้งที่ 1 คือ อายุ 14 สัปดาห์ เนื่องจากไม่มีข้อมูลความปลอดภัย หากเริ่มรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ครั้งที่ 1 ที่อายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์ หรือเกิน 15 สัปดาห์
ตารางเวลาในการบริหาร/การให้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เช่น
1. วัคซีนชนิด RotarixTM หรือ Monovalent vaccine ให้บริหารวัคซีนชนิดนี้ทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 4 เดือน โดยควรบริหารวัคซีนทั้ง 2 ครั้งนี้ให้ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ กรณีบริหารวัคซีนครั้งที่ 2 ล่าช้าไป แนะนำให้บริหารวัคซีนทันทีที่นึกขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ไม่บริหารวัคซีนล่าช้าจนเกินอายุ 8 เดือน (สัปดาห์ที่ 32)
2. วัคซีนชนิด RotaTeqTM หรือ Pentavalent vaccine ให้บริหารวัคซีนชนิดนี้ทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน, ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 4 เดือน และครั้งที่ 3 เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน โดยควรบริหารวัคซีนแต่ละครั้งให้ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ กรณีบริหารวัคซีนครั้งที่ 3 (ครั้งสุดท้าย) ล่าช้าไป แนะนำให้บริหารวัคซีนทันที ที่นึกขึ้นได้ อย่างไรก็ตามไม่บริหารวัคซีนล่าช้าจนเกินอายุ 8 เดือน (สัปดาห์ที่ 32)
กรณีมารับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด หรือรับวัคซีนไม่ครบ
กรณีเด็กได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครั้งที่ 1 แล้ว แต่ไม่สามารถรับวัคซีนฯครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด การได้รับวัคซีนฯเข็มที่ 2 หรือ ที่3 ที่ล่าช้า มีหลักการให้ ดังนี้
- หากนึกขึ้นได้ว่าต้องได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครั้งที่ 2 หรือ ที่3 ในช่วงที่เด็กอายุยังน้อยกว่า 8 เดือน สามารถให้วัคซีนครั้งที่ 2 หรือ ที่3 ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นรับวัคซีนใหม่ตั้งแต่ครั้งแรก
- หากนึกขึ้นได้ว่าต้องได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครั้งที่ 2 หรือ 3ในช่วงที่เด็กอายุเกินกว่า 8 เดือนแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนครั้งที่ 2 หรือ ที่3 ที่ลืมไป เนื่องจากไม่มีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลของการใช้วัคซีนนี้ในช่วงอายุเกินกว่า 8 เดือน ทั้งนี้อาจขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแลเด็กพิจารณา
มีวิธีการเก็บรักษาวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าอย่างไร?
วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นวัคซีนรูปแบบเป็นยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน(Oral suspension) มีวิธีการเก็บรักษา คือ เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา(อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส/Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง เพราะจะทำให้เชื้อที่ออกฤทธิ์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกิดเสื่อมคุณภาพ ควรเก็บวัคซีนนี้ในบรรจุภัณฑ์เดิมที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงสว่าง และควรพิจารณาใช้วัคซีนนี้ภายหลังการเปิดวัคซีนนี้ทันที วัคซีนส่วนที่เหลือที่ยังไม่ได้ใช้ให้พิจารณาทิ้งไป
วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าที่จำหน่ายในประเทศไทยและบริษัทผู้ผลิต
วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า สามารถช่วยป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากสาเหตุอื่นได้ และภายหลังให้วัคซีนนี้แก่เด็ก ยังอาจเกิดโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าได้อีก แต่อาการมักไม่รุนแรง โดยวัคซีนนี้ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามชนิดของการผลิตวัคซีน ดังข้อมูลในตาราง
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
- TIMS (Thailand). MIMS. 137th ed. Bangkok: UBM Medica; 2014
- กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, เกษวดี ลาภพระ, จุฑารัตน์ เมฆมัลลิกา, ฐิติอร นาคบุญนำ และอัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2556. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา; 2556
- โอฬาร พรหมาลิขิต, อัจฉรา ตั้งสภาพรพงษ์ และอุษา ทิสยากร. วัคซีน 2015. กรุงเทพฯ: นพชัยการพิมพ์; 2558
- Rotavirus. available at www.immunize.org/asktheexperts/expert_rota.asp [2016,July23]
- Rotavirus vaccine. available at www.nhu.uk/ [2016,July23]