วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 7 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีกลไกการทำงานอย่างไร?
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีข้อบ่งใช้และมีขนาดและวิธีการบริหารวัคซีนอย่างไร?
- กลุ่มบุคคลใดที่ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่?
- มีข้อห้ามอะไรบ้างในการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่?
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง?
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีวิธีเก็บรักษาอย่างไร?
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- วัคซีน (Vaccine)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โรคหวัด (Common cold)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
บทนำ
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นได้บ่อย ในประเทศไทยพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่คิดเป็น 30% ของผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยพบได้มากใน ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชื่ออินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza Virus) ที่ติดต่อจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่งได้จากผ่านการไอ จาม เสมหะ หรือการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ๋ ซึ่งจะมีอาการแสดงเช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มีน้ำมูก หรือคัดจมูก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมหรือร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ โรคไข้หวัดใหญ่อาจนำไปสู่การเกิดปอดบวมและการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ได้
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆคือ
- กลุ่มที่ 1: เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่มเอ (Influenzavirus A): โดยมีสัตว์ปีกเป็นตัวแพร่กระจาย ในประเทศที่ทำเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมสัตว์ปีกจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของเชื้อในกลุ่มนี้ เชื้อไวรัสในกลุ่มนี้มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อมนุษย์มากที่สุด ซึ่งเคยมีการแพร่ระบาดมาแล้วในอดีตเช่น สายพันธุ์เอชไฟว์เอ็นวัน (H5N1) หรือคือไข้หวัดนกที่แพร่ระบาดในราวปี พ.ศ. 2547, สายพันธุ์เอชวันเอ็นวัน (H1N1) ในปี พ.ศ. 2551 หรือที่เรียกว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009, และไข้หวัดหมู
- กลุ่มที่ 2: เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่มบี (Influenzavirus B): เป็นเชื้อไวรัสที่มีการแพร่กระ จายน้อยกว่ากลุ่มที่ 1 ส่วนใหญ่มีมนุษย์เป็นพาหะหรือผู้แพร่เชื้อ
- กลุ่มที่ 3: เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่มซี (Influenzavirus C): มีหนึ่งสายพันธุ์เท่านั้น พบ การติดต่อได้ในคน สุนัข และสุกร/หมู โดยทั่วไปแล้วมีการแพร่กระจายได้น้อยมากและอาการของโรคไม่รุนแรง จึงไม่มีการนำเชื้อไวรัสประเภทนี้มาใช้เป็นวัคซีน
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine หรือ Flu vaccine หรือ Flu shot) เป็นวัคซีนที่แนะนำการฉีดสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีระบบภูมิคุ้มกันฯที่ต่ำกว่าบุคคลทั่วไปเช่น ในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป สตรีตั้งครรภ์ เด็กเล็ก คนอ้วน/โรคอ้วน ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ (เช่น เบาหวาน) รวมถึงบุคลากรทางด้านสาธารณสุข โดยฉีดปีละ 1 ครั้งเนื่องจากในแต่ละปีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีการกลายพันธุ์เล็กน้อย ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกจะทำการเลือกสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดโรคในปีถัดไปมาใช้ทำเป็นวัคซีน ดังนั้นการได้รับวัคซีนในปีที่ผ่านมาอาจไม่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในปีต่อไปได้ และการใช้วัคซีนจากปีก่อนหน้าในการฉีดอาจทำให้การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ของวัคซีนเป็นไปอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มี 2 รูปแบบคือ
- วัคซีนชนิดเชื้อเป็น ((Live Attenuated Vaccine) ซึ่งเป็นการนำไวรัสมาทำให้อ่อนฤทธิ์ ลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ แต่มีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯได้ มาใช้เป็นวัคซีนบริหาร/ ให้วัคซีนผ่านการพ่นทางจมูก ซึ่งยังไม่มีการนำมาใช้ในประเทศไทย
- อีกรูปแบบหนึ่งคือวัคซีนเชื้อตาย (Killed vaccine) หรือวัคซีนที่สกัดได้จากชิ้นส่วนของไวรัสที่มีความสามาถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันในประเทศไทย
นอกจากการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่แล้วนั้น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังช่วยลดภาระด้านการคลังของประเทศ ลดอัตราการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ได้ อย่างไรก็ดีไม่มีวัคซีนใดที่ป้องกันโรคได้ 100 เปอร์เซนต์ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของทุกคน
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีกลไกการทำงานอย่างไร?
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีกลไกการทำงานโดย วัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายให้เกิดการสร้างสารภูมิคุ้มกันฯต่อต้านโรคไข้หวัดใหญ่ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนนี้ และความสามารถในการปกป้องโรคไข้หวัดใหญ่ของวัคซีนนี้อยู่ในช่วงระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีข้อบ่งใช้และมีขนาดและวิธีการบริหารวัคซีนอย่างไร?
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีข้อบ่งใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯของร่างกายเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยองค์การอนามัยโลกจะทำการคัดเลือกไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 - 4 สายพันธุ์ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดการแพร่ระบาดในแต่ละปี มาใช้เป็นวัคซีน ดังนั้นการรับวัคซีนชนิดเดิมหรือการรับวัคซีนของปีก่อนหน้าจึงไม่เป็นที่แนะนำเนื่องจากอาจทำให้การป้องกันโรคไม่เต็มประสิทธิภาพ
ในช่วงปี พ.ศ. 2559 - 2560 (ค.ศ. 2016 - 2017) องค์การอนามันโลกได้คัดเลือกเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์มาใช้ในการผลิตวัคซีน สำหรับกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ (รวมถึงประเทศไทย) ได้แก่
- เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่มเอ (Influenzavirus A) สายพันธุ์ A/California/7/ 2009 ของสายพันธุ์เอชวันเอ็นวัน (H1N1), และ A/Hong Kong/4801/2014 ของสายพันธุ์เอชทรีเอ็นทู (H3N2)
- เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่มบี (Influenzavirus B) สายพันธุ์ B/Brisbane/60/ 2008
ในประเทศไทยวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นรูปแบบยาชีววัตถุ (Biotechnology drug) ประเภทยาฉีด ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular, IM) ครั้งละขนาดยา 0.5 มิลลิลิตรปีละ 1 ครั้ง แนะนำให้ฉีดก่อนช่วงเข้าฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน
ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน อาจจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นภูมิอีกครั้งภายหลังการฉีดครั้งแรก ขนาดวัคซีนโดยทั่วไปที่แนะนำคือ สำหรับ
- เด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 3 ปี แนะนำขนาดยา 0.25 - 0.5 มิลลิลิตร/ครั้งการฉีดวัคซีน
- เด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปฉีดครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร
โดยการฉีดกระตุ้นภูมิต้องห่างจากการฉีดครั้งแรกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์
กลุ่มบุคคลใดที่ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่?
กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงและควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย มีอาการรุนแรงเมื่อเกิดการติดเชื้อ หรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ง่าย ได้แก่
- สตรีตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์
- เด็กเล็กช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 - 3 ปี
- ผู้ที่อายุต่ำกว่า 19 ปีแต่มีการใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการ อักเสบ ปวด เป็นเวลานาน
- ผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป
- คนอ้วน (ดรรชนีมวลร่างกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร)
- ผู้พิการทางสมอง
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่น โรคระบบทางเดินหายใจเช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เช่น โรคเอชไอวี ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ)
- ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันฯเช่น การใช้ยาเสตียรอยด์ชนิดฉีดหรือรับประทานในระยะยาว ผู้ป่วยที่ใช้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น
- ผู้อยู่อาศัยในสถานพักฟื้นหรือบ้านพักคนชรา
- เจ้าหน้าที่บริการด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่บริการสังคม
อย่างไรก็ดีบุคคลทั่วไปที่มีความประสงค์รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถกระทำได้โดยอาจติดต่อสถานพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้าน
มีข้อห้ามอะไรบ้างในการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่?
มีข้อห้ามใช้วัคซีนใข้หวัดใหญ่ใน
- ผู้ที่แพ้ยา/แพ้วัคซีนนี้หรือส่วนประกอบของวัคซีนนี้โดยเฉพาะผู้ที่แพ้ไข่ โปรตีนจากไก่ ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในกระบวนการผลิตวัคซีนเช่น ยานีโอมัยซิน (Neomycin) และยาโพลีมัยซิน (Polymyxin)
- ผู้ที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน
- ผู้ป่วยโรคกิลเลน-บารร์เร่ ซินโดรม (Guillain-Barre Syndrome) หรือโรคที่ความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย
- ผู้ที่มีไข้ เจ็บป่วย หรือไม่สบายในวันที่จะรับวัคซีนนี้ ควรเลื่อนนัดออกไปก่อน และกลับมาฉีดเมื่ออาการดีขึ้น
- ผู้ที่เพิ่งหายจากการเจ็บป่วยมาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์หรือเพิ่งออกจากโรงพยาบาล ได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง?
วัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) เช่น มีอาการปวดบวม บริเวณที่ฉีดมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวหลังจากการรับวัคซีนนนี้ บางรายอาจพบอาการท้องเสีย อ่อนเพลีย มีห้อเลือดหรือคันบริเวณที่ฉีด ซึ่งส่วนมากจะหายเป็นปกติภายใน 1 - 2 วัน หากอาการดังกล่าวไม่ทุเลาลงหรือมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
อาการเป็นลม หมดสติชั่วครู่ อาจเกิดขึ้นได้หลังการรับวัคซีน ผู้รับวัคซีนควรนั่งหรือนอนประมาณ 15 นาทีภายหลังการรับวัคซีน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเป็นลมหรืออาการบาดเจ็บจากการเป็นลมได้
ผู้รับวัคซีนควรเฝ้าระวังอาการแพ้ยา/แพ้วัคซีนที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ มีผื่นคันขึ้นตามตัว ใบหน้า ลำคอบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นภายใน 2 - 3 นาทีถึง 2 - 3 ชั่ว โมงภายหลังการรับวัคซีน หากเกิดอาการดังกล่าวขึ้นต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
ผู้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรตระหนักว่า ไม่มีวัคซีนใดที่สามารถป้องกันโรคได้ 100% ผู้รับวัคซีนนี้ยังคงต้องดูแลตนเองให้แข็งแรงและมีสุขลักษณะที่ดีอยู่เสมอ
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีวิธีเก็บรักษาอย่างไร?
โดยทั่วไปวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส(Celsius) โดยเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่มากับผู้ผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแสงสว่าง/แสงแดดส่องถึงโดยตรง
อย่างไรก็ดีแต่ละสถานพยาบาลอาจมีนโยบายการเก็บรักษายาต่างๆรวมถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่แตกต่างกันออกไป จึงควรสอบถามจากฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลนั้นๆถึงวิธีการเก็บรักษาวัคซีนนี้ที่ถูกต้อง
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตอะไรบ้าง?
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย มีวัคซีน/ยาชื่อการค้าและผู้ผลิต/จัดจำหน่าย ดังต่อไปนี้
บรรณานุกรม
- Centers for Disease Control and Prevention. Flu Vaccination. http://www.cdc.gov/flu/protect/keyfacts.html [2016,June18]
- Ministry of Health, Singapore. Influenza https://www.moh.gov.sg/content/moh_web/home/diseases_and_conditions/i/influenza.html [2016,June18]
- Summary of Product Characteristics. Enzira Suspension for injection, pre-filled syringe/Influenza vaccine (split virion, inactivated) PH. Eur. http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/20070 [2016,June18]
- Summary of Product Characteristics. Fluarix Tetra. http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/27537 [2016,June18]
- MIMS Thailand. Vaccine, influenza virus inactivated https://www.mims.com/thailand/drug/info/vaccine%2c%20influenza%20virus%20inactivated/?type=brief&mtype=generic [2016,June18]
- Vaxigroip® Consumer Medicine Information. http://www.medsafe.govt.nz/consumers/cmi/v/vaxigrip.pdf [2016,June18]
- จันทนา ห่วงสายทอง. วัคซีนไข้หวัดใหญ่.. ที่นี่มีคำตอบ. บทความเผยแพร่ความรู่สู่ประชาชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/259วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่นี่มีคำตอบ [2016,June18]
- ชนเมธ เตชะแสนศิริ. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีดอย่างไรให้เหมาะสม. สมาคมผู้วัจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ (Prema) http://www.prema.or.th/patient.php?CId=1&Id=84&menu= [2016,June18]
- รายงานข้อมูลวัคซีน. Influenza (Flu) Vaccine (Inactivated or Recombinant): วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย: สิ่งที่ควรทราบ http://www.immunize.org/vis/thai_flu_inactive.pdf [2016,June18]
- สุพรรณิการ์ ประทีปจรัสแสง. ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 2011-2012. ยากับคุณ. http://www.yaandyou.net/content-view.php?conid=534 [2016,June18]
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ส่วนสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/drgdrug [2016,June18]