วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ หรือ วัคซีน หัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR vaccine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 14 มีนาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดวัคซีนควรทำอย่างไร?
- วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์อย่างไร?
- วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์อย่างไร?
- วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วัคซีน (Vaccine)
- โรคหัด (Measles)
- คางทูม (Mumps)
- โรคหัดเยอรมัน (German measles)
- วัคซีนหัดเยอรมัน (Rubella Vaccine)
บทนำ
วัคซีน เอ็ม เอ็ม อาร์(MMR ชื่อเต็มคือ Measles Mumps Rubella Vaccine) หรือ วัคซีน หัด คางทูม หัดเยอรมัน เป็นวัคซีนที่นำมาใช้ต่อต้านและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส 3 สายพันธุ์ ได้แก่ หัด(Measles)/ วัคซีนโรคหัด , คางทูม(Mumps)/ วัคซีนคางทูม, และหัดเยอรมัน(Rubella)/วัคซีนหัดเยอรมัน, สามารถฉีดวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์เข็มแรกให้เด็กทารกที่มีอายุ 9–15 เดือน จากนั้นเว้นระยะเวลาตามคำสั่งแพทย์จึงกลับมาฉีดวัคซีนนี้อีก 1 ครั้ง
นักวิทยาศาสตร์พบว่าการได้รับการฉีดวัคซีนนี้กระตุ้น 2 ครั้ง สามารถป้องกันการเป็นโรคหัดได้ 97%, โรคคางทูม 88%, และโรคหัดเยอรมัน 97%,
ในอดีตที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการผลิตวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ มนุษย์ต้องเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากโรคหัดสูงถึง 2.6 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันเมื่อมีการนำ วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ เข้ามาใช้ในระบบสาธารณสุข อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัดลดลงถึง 84%
ผลข้างเคียงที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีค่อนข้างน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ หรือปวด-บวมแดงบริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามทางการแพทย์ได้บันทึกสถิติการแพ้วัคซีนชนิดนี้อย่างรุนแรงโดยมีความเป็นไปได้ในอัตราประชากรที่ได้รับเอ็ม เอ็ม อาร์ 1:1,000,000 คน
เกณฑ์บางประการที่ถือเป็นข้อห้ามใช้วัคซีนชนิดนี้ อาทิ
- สตรีมีครรภ์: ด้วยมีความเสี่ยงและผลกระทบต่อเด็กทารกในครรภ์ แต่สตรีในภาวะให้นมบุตรยังสามารถรับการให้วัคซีนนี้ได้
- ผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคของระบบทางเดินหายใที่มีไข้ร่วมด้วย รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อต่างๆ
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคของระบบเลือด/โรคเลือด เช่น Leukemia ตลอดถึงผู้ป่วยเนื้องอกที่ต่อมน้ำเหลือง
- ผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในระยะเกินการเยียวยารักษา
ในประเทศไทย ได้มีข้อกำหนดให้ วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ อยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้วัคซีนนี้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ และจะพบเห็นการใช้ เอ็ม เอ็ม อาร์แต่ในสถาน พยาบาลเท่านั้น
วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ
- เป็นวัคซีนที่ใช้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 3 โรคในเข็มเดียว สามารถใช้ได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ คือ
- โรคหัด
- โรคคางทูม
- และโรคหัดเยอรมัน
วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
วัคซีน เอ็ม เอ็ม อาร์ เป็นวัคซีนที่ประกอบด้วยเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิด โรคหัด, คางทูม, และหัดเยอรมัน , ไวรัสดังกล่าวจะได้รับกระบวนการทำให้อ่อนแรงลงและจะถูกบรรจุเป็นปริมาณที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นภูมิต้านทานโรค(Live vaccine) หลังการฉีด วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์จะเกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันโรครวมทั้ง 3 ชนิด (หัด, คางทูม, หัดเยอรมัน) หลังการฉีดวัคซีนไปแล้ว 72 ชั่วโมง (3 วัน) พบว่า ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ในระดับที่ป้องกันการติดโรคดังกล่าวได้แล้ว
วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
1. ยาฉีดชนิดผงแห้งขนาด 0.5 มิลลิลิตร ที่มีองค์ประกอบด้วย
- เชื้อไวรัสโรคหัดชนิดมีชีวิต ตั้งแต่ 1,000 CCID50
- เชื้อไวรัสคางทูมชนิดมีชีวิต ตั้งแต่ 5,000 CCID50
- เชื้อไวรัสหัดเยอรมันชนิดมีชีวิต ตั้งแต่ 1,000 CCID50
2. น้ำกลั่นปราศจากเชื้อสำหรับผสมผงวัคซีนสำหรับเตรียมเป็นยาฉีด
*หมายเหตุ: CCID50 = Cell Culture Infectious Dose
วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีขนาดการบริหารยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดวัคซีนขนาด 0.5 มิลลิลิตร เข็มแรกเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง เว้นเวลาไป 28 วันแล้วกลับมาฉีดกระตุ้นอีก 1 เข็ม
- เด็กอายุตั้งแต่ 12–15 เดือน: ฉีดวัคซีนขนาด 0.5 มิลลิลิตร เข็มแรกเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง และเว้นระยะเวลาจนเด็กมีอายุ 4–6 ปี จึงกลับมาฉีดกระตุ้นอีก 1 เข็ม
* อนึ่ง:
- การเตรียมวัคซีนนี้สำหรับฉีด โดยเจือจางวัคซีน 0.5 มิลลิลิตรด้วยน้ำกลั่น ปราศจากเชื้อที่บรรจุมาพร้อมกับวัคซีนปริมาณ 0.7 มิลลิลิตร เขย่าจนเข้ากันดีแล้วฉีดให้ผู้ป่วย
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคลมชัก วัณโรค รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่รับประทานอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจน ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดวัคซีนควรทำอย่างไร?
กรณีลืมหรือไม่สามารถมารับการฉีดวัคซีนนี้ตามที่แพทย์นัดหมาย ควรโทรแจ้งแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการนัดหมายการฉีดวัคซีนครั้งใหม่
วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา/จากวัคซีน (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ
- ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น อาจมีอาการวิตกกังวล
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการ ปวด บวม บริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉีดยา เกิดผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยา/แพ้วัคซีนนี้
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์
- ระวังการฉีดวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ที่มีระดับเกล็ดเลือดต่ำ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด และควรมารับการฉีดวัคซีนตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้วัคซีนที่หมดอายุ
- ห้ามเก็บวัคซีนที่หมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามฉีดวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ขณะที่ได้รับยาบางชนิด เช่นยา Fluorouracil, Rituximab, Sarilumab, Vincristine, เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อจากวัคซีนตามมา
- ห้ามฉีดวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ ขณะที่ได้รับยากลุ่ม Corticosterone เพราะจะทำให้ความสามารถการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนลดลง
- หลีกเลี่ยงการทดสอบ ทูเบอร์คูลิน (Tuberculin test เป็นการทดสอบว่าผู้ป่วย ติดเชื้อวัณโรคหรือไม่) ขณะที่ได้รับการฉีดวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ มาใหม่ๆ ด้วยจะทำให้ผลทดสอบทูเบอร์คูลินผิดเพี้ยนไป
ควรเก็บรักษาวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์อย่างไร?
ควรเก็บรักษาวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ เช่น
- เก็บวัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์ในอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บวัคซีนในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บวัคซีนในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บวัคซีนในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บวัคซีนให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บวัคซีนที่หมดอายุ ไม่ทิ้งวัคซีนลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
วัคซีนเอ็ม เอ็ม อาร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
เอ็ม เอ็ม อาร์มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
M-M-R II (เอ็ม-เอ็ม-อาร์ ทู) | MSD |
Measles, Mumps & Rubella Vaccine SII (มีเซลส์ม,มัมป์ส แอนรูเบลลา วัคซีน เอสทู) | Serum Institute of India |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/vaccine%2c%20mmr/?type=brief&mtype=generic [2019,Feb23]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/measles%2c%20mumps%20and%20rubella%20vaccine%20sii/?type=brief[2019,Feb23]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/m-m-r%20ii/?type=brief[2019,Feb23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/MMR_vaccine[2019,Feb23]
- https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/mmr/public/index.html[2019,Feb23]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/measles-virus-vaccine-mumps-virus-vaccine-rubella-virus-vaccine,m-m-r-ii-index.html?filter=3#V[2019,Feb23]