ลูวโคโวริน (Leucovorin)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 13 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ยาลูวโคโวรินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาลูวโคโวรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาลูวโคโวรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาลูวโคโวรินมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาลูวโคโวรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาลูวโคโวรินอย่างไร?
- ยาลูวโคโวรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาลูวโคโวรินอย่างไร?
- ยาลูวโคโวรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โฟลิก กรดโฟลิก (Folic acid)
- วิตามินบีรวม (B-complex vitamins)
- Fluorouracil
- Tegafur
- ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate, MTX)
บทนำ
วิตามินเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกายโดยช่วยส่งเสริมการทำงานของเซลล์หรือ ของอวัยวะต่างๆของร่างกายให้เป็นปกติ กรดโฟลิก (Folic acid หรือวิตามินบี 9) จัดเป็นสารในกลุ่มวิตามินบี (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิตามินบีรวม) ที่มีความสำคัญต่อร่างกายอีกชนิดหนึ่งโดยเป็นตัวช่วยสนับสนุนการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารรหัสพันธุกรรม/สารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA), การควบคุมการสร้างกรดอะมิโน (Amino Acid) ในเซลล์รวมไปถึงการพัฒนาและการเจริญเติบโตของเซลล์
กรดโฟลิกที่เรารับประทานนั้นไม่อยู่ในรูปที่สามารถออกฤทธิ์ได้ ต้องผ่านกระบวนการภายในร่างกายให้ได้มาซึ่งสารในรูปออกฤทธิ์ และยังมียาบางชนิดมีการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ กรดโฟลิก (Antifolate) เพื่อยับยั้งการแบ่งเซลล์และยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอเช่น ยาเมโธเทรกเซต (Methotrexate) ยาไพริเมธามีน (Pyrimethamine) ยาไทรเมโธพริม (Trimethoprim) เป็นต้น โดยยาดังกล่าวเหล่านั้นจะไปยับยั้งเอนไซม์ชื่อ ไดไฮโดรโฟเลตรีดักเทส (Dihydrofolate Reductase; DHFR) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนให้กรดโฟลิกไปอยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์ได้
การได้รับยาที่มีฤทธิ์ต้านการทำงานของกรดโฟลิกเกินขนาดเช่น ยาเมโธเทรกเซต อาจนำไปสู่ภาวะการขาดกรดโฟลิก ทางเภสัชกรรมจึงได้มีการพัฒนา ”ยาลูวโคโวริน (Leucovorin หรือ Leucovorin calcium หรือ Leucovorin sodium)” หรือชื่ออื่นๆอีกคือ “ยากรดโฟลินิก (Folinic acid หรือ Sodium folinate หรือ Calcium folinate)” หรือ “Citrovorum factor” หรือ “5-formyl tetrahydrofolate” ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ของกรดโฟลิกในรูปออกฤทธิ์ได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยเอนไซม์ DHFR และแพทย์ได้นำยาลูวโคโวรินมาใช้ในการแก้พิษจากยาหรือจากสารเคมีที่ต้านการทำงานของกรดโฟลิก นอกจากนี้ยังพบว่ายาลูวโคโวรินยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการรักษาของยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) และยาเทกาเฟอร์ (Tegafur) จึงมีการนำยาทั้งสองชนิดนี้มาใช้ร่วมกับยาลูวโคโวรินในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคมะเร็งบางชนิดอีกด้วยเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่
ยาลูวโคโวรินจัดเป็นยาจำเป็นที่ควรมีในบัญชีรายชื่อยาจำเป็นขององค์การอนามัยโลก (WHO Model List of Essential Medicines) และจัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายของไทยที่ต้องใช้ภายใต้การความดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น
ยาลูวโคโวรินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาลูวโคโวรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ดังต่อไปนี้เช่น
ก. ใช้แก้พิษยาหรือพิษสารเคมีที่ต้านการทำงานของกรดโฟลิกเช่น ยาเมโธเทรกเซต (Methotre xate) ยาไทรเมโธพริม (Trimethoprim) และยาไพริเมธามีน (Pyrimethamine)
ข. ใช้แก้พิษที่เกิดจากผู้ป่วยได้รับยาเมโธเทรกเซตเกินขนาด
ค. ใช้ร่วมกับยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer)
ง. ใช้รักษาภาวะโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ผิดปกติที่เกิดจากการขาดกรดโฟลิก(Megaloblastic Anemia) ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยากรดโฟลิกชนิดรับประทานได้
นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาลูวโคโวรินในข้อบ่งใช้อื่นๆที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยารักษา(Unlabeled Use) เช่น
ก. ใช้เป็นยาเสริมการรักษาในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเมธานอล (Methanol, แอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่มีความเป็นพิษสูงที่ไม่สามารถนำมาบริโภคได้)
ข. ใช้ป้องกันการเกิดพิษต่อระบบเลือดจากยาไพริเมธามีน (Pyrimethamine) ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เอชไอวี/HIV
ยาลูวโคโวรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กรดโฟลิกมีความสำคัญในการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ/DNA และอาร์เอ็นเอ/RNA รวมไปถึงการสนับสนุนการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์
เมื่อร่างกายได้รับกรดโฟลิกจากแหล่งภายนอกเช่นอาหารแล้ว กรดโฟลิกซึ่งอยู่ในรูปไม่ออกฤทธิ์จะถูกเปลี่ยนเป็นสารรูปออกฤทธิ์โดยเอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลตรีดักเทส (Dihydrofolate Reductase; DHFR) ซึ่งยาบางชนิดออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกได้โดยการยับยั้งเอน ไซม์ DHFR เช่น ยาเมโธเทรกเซต โดยทำให้กรดโฟลิกไม่สามารถเปลี่ยนเป็นรูปออกฤทธิ์ได้ เมื่อได้รับยาบางชนิดเหล่านี้เกินขนาดหรือเกิดพิษของยาเหล่านี้ เซลล์ของร่างกายจึงขาดกรดโฟลิกในรูปที่ออกฤทธิ์ได้
ยาลูวโคโวรินหรือยากรดโฟลินิกเป็นอนุพันธุ์ของกรดเททราไฮโดรโฟลิก (Tetrahydrofolic Acid) ซึ่งเป็นกรดโฟลิกในรูปที่พร้อมออกฤทธิ์ เมื่อมีการใช้ยาลูวโคโวริน ตัวยาจะมีฤทธิ์เสมือนเป็นกรดโฟลิกที่ออกฤทธิ์ได้ทันที ทำให้ระดับกรดโฟลิกในเซลล์ที่ต้องใช้ในกระบวนการแบ่งเซลล์หรือในการสังเคราะห์สารพันธุกรรมกลับคืนมาเป็นปกติในผู้ป่วยที่ขาดกรดโฟลิกในรูปออกฤทธิ์
นอกจากนี้ยังพบว่ายาลูวโคโวรินยังช่วยให้เอนไซม์ไทมิดีเลตซินเทส (Tymidylate syn thase, เอนไซม์ช่วยในการสร้างสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ) มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) และอนุพันธุ์ของยาฟลูออโรยูราซิลเช่น ยาเทกาเฟอร์ (Tegafur) ได้อีกด้วย
ยาลูวโคโวรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลูวโคโวรินที่มีการจัดจำหน่ายในประเทศไทย มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์และขนาดความแรงของยาดังต่อไปนี้
ก. ยาชนิดน้ำปราศจากเชื้อชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือด (Sterile Solution for Injection) ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (10 mg/mL)
ข. ยาชนิดยาเม็ดรับประทาน (Tablet) ขนาดความแรง 15 มิลลิกรัมต่อเม็ด
ยาลูวโคโวรินมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ขนาดการรับประทาน/การใช้ยาลูวโคโวรินขึ้นกับหลายปัจจัยเช่น ข้อบ่งใช้ ภาวะของโรค น้ำหนักตัว และพื้นที่ผิวกาย (Body surface area) ของผู้ป่วยซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดยาให้กับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
การให้ยาลูวโคโวรินเป็นได้หลายรูปแบบเช่น การฉีดทั้งการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous; IV) การหยดเข้าหลอดเลือดดำ (IV Infusion) การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular; IM) และรูปแบบยาเม็ดรับประทาน การพิจารณาการใช้รูปแบบเภสัชภัณฑ์ใดในการให้ยานี้แก่ผู้ป่วยขึ้น กับข้อบ่งใช้และภาวะของผู้ป่วยเช่นกันซึ่งจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาลูวโคโวริน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรเช่น
- ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยาต่างๆทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพร โดยเฉพาะหากกำลังใช้ยาต้านชัก (เช่น ยาฟีโนบาร์บีทัล/Phenobar bital, ยาฟีไนทอยด์/Phenytoin, ยาพริมิโดน/Primidone), ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะเช่น ยาซัลฟาเมโธซาโซล-ไทรเมโธพริม (Sulfamethoxazole-Trimetroprim) ที่มีชื่อเรียกอื่นๆอีกเช่น แบคทริม/Bactrim, เซปทรา/Septra
- ประวัติโรคโลหิตจาง (Anemia) เนื่องจากขาดวิตามินบี 12 (Vitamin B 12) หรือมีปัญหาด้านการดูดซึมวิตามินบี 12 ประวัติโรคไต หรือมีของเหลว/น้ำคั่งในช่องอก
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาลิวโคโวรินให้รับประทานโดยทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้เวลากับมื้อยาถัดไปแล้วให้ข้ามไปทานยามื้อถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาลูวโคโวรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลูวโคโวรินมักก่อผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) ได้น้อยเช่น ท้องเสีย ซึ่งหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือมีแนวโน้วว่าจะรุนแรงขึ้นให้รีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/รีบมาโรงพยาบาลก่อนนัด
อย่างไรก็ดีหากผู้ป่วยรับประทานยานี้แล้วพบว่าเกิดอาการแพ้ยาเช่น มีผื่นคัน ริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา หรือใบหน้า บวม ร่วมกับอาการหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ยาลูวโคโวรินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลูวโคโวรินเช่น
- ไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ไม่ใช้ยานี้เพื่อรักษาภาวะโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่กว่าปกติที่เกิดจาก การขาดวิตามินบี 12 (Megaloblastic Anemia)
- การใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยานี้เอง
- ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เพื่อรักษาภาวะที่ได้รับยาเมโธเทรกเซต (Methotrexate) เกินขนาด ควรได้รับการตรวจเลือดวัดระดับยาเมโธเทรกเซตต่อเนื่องตลอดการรักษาจนกว่าระดับยาเมโธเทรกเซตในเลือดจะต่ำกว่า 0.05 ไมโครโมลต่อลิตร (Micromole/liter)
- ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ร่วมกับยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) ควรได้รับการตรวจเลือดที่เรียกว่า ซีบีซี (CBC: Complete Blood Count) การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของไต (Kidney Function Test) และดูค่าเกลือแร่ (อิเล็กโตรไลต์/Electrolytes) อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลูวโคโวริน) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาลูวโคโวรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลูวโคโวรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆดังต่อไปนี้เช่น
ก. หลีกเลี่ยงการใช้ยาไทรเมโธพริม (Trimethoprim)/ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยาราลทิเทรกเซด (Raltitrexed/ยารักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง) ร่วมกับยาลูวโคโวริน เนื่องจากยาลูวโคโวรินจะไปหักล้างฤทธิ์ของยาทั้งสองทำให้ยาทั้งสองไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ
ข. ยาลูวโคโวรินจะเพิ่มฤทธิ์ของยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) และยาเทกาเฟอร์(Tegafur) ซึ่งเป็นยารักษาโรคมะเร็งเมื่อมีการใช้ร่วมกัน อาจต้องมีการเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยาฟลูออโรยูราซิลและยาเทกาเฟอร์มากขึ้น ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาฟลูออโรยูราซิลหรือ ยาเทกาเฟอร์ร่วมกับยาลูวโคโวรินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยาทั้งสองก็ได้ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
ค. ยาลูวโคโวรินจะทำให้ฤทธิ์หรือประสิทธิภาพของยาต้านชักลดลง เช่น ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin) ยาฟอสฟีไนทอยด์ (Fosphenytoin) ยาพริมิโดน (Primidone) ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาลูวโคโวรินต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ แพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนยาเมื่อมีความจำเป็นตามความเหมาะสม
ควรเก็บรักษายาลูวโคโวรินอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาลูวโคโวรินดังนี้เช่น
- เก็บรักษายาลูวโคโวรินในภาชนะบรรจุที่มากับตัวยาจากผู้ผลิต
- เก็บยาให้มิดชิด ปิดฝาให้สนิท
- เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงเก็บยาในที่ที่มีแสงแดดส่องโดยตรงหรือที่ที่มีความชื้นสูงเช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำ ห้องครัว
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาลูวโคโวรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลูวโคโวรินมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กรดโฟลินิก (Folinic Acid) หรือชื่อดั้งเดิมคือ ซิโทรโวรุมแฟกเตอร์ (Citrovorum factor) ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในทางเภสัชกรรมจะใช้ในรูปของเกลือต่างๆ เช่น เกลือแคลเซียม ตัวยาจะมีชื่อว่า แคลเซียมโฟลิเนต (Calcium Folinate) หรือลูวโคโวรินแคลเซียม (Leucovorin Calcium) มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายในประเทศไทย ดังต่อไปนี้เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ฟีแล็กซิส (Filaxis) | บริษัท เฟรเซนีอุส คาบี (ไทยแลนด์) จำกัด |
ลูวโคเร็กซ์ (Leucorex) | บริษัท อาร์เอ็กซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด |
แคลเซียมโฟลิเนต (Calcium Folinate) | บริษัท อินโดไชน่า เฮลท์ แคร์ |
ไบโอวอริน (Biovorin) | ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภิญโญฟาร์มาซี |
ลูวโคโวริน แคลเซียม อินเจคชั่น ยู.เอส.พี. (Leucovorin Injection U.S.P.) | บริษัท เฟรเซนีอุส คาบี (ไทยแลนด์) จำกัด |
ไนริน (Nyrin) | บริษัท เคนยากุ (ประเทศไทย) จำกัด |
คาโฟเนต (Cafonate) | บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด |
บรรณานุกรม
- American Pharmacists Association. Leucovovin Calcium, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:1201-3.
- Leucovorin. Chemocare. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Leucovorin.aspx [2016,April 23]
- MIMS Thailand https://www.mims.com/thailand/drug/info/calcium%20folinate/ [2016,April 23]
- Leucovorin. Drugbank http://www.drugbank.ca/drugs/DB00650 [2016,April 23]
- Summary of Product Characteristic. Sodiofolin 50 mg/ml, solution for injection. http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/4363 [2016,April 23]
- WHO Model List of Essential Medicines. http://apps.who.int/iris/bitstream/10665/93142/1/EML_18_eng.pdf?ua=1 [2016,April 23]
- ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา http://wwwapp1.fda.moph.go.th/consumer/conframe.asp [2016,April 23]