ลำไส้ใหญ่พอง (Megacolon)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ลำไส้ใหญ่พอง(Megacolon/เมกาโคลอน) คือ โรค/ภาวะที่ลำไส้ใหญ่ขยายใหญ่ต่อเนื่องทั้งในส่วนกว้างและส่วนยาวของลำไส้ใหญ่ โดยการขยายพองใหญ่นี้ไม่ได้เกิดจากมีสิ่งอุดตัน/อุดกั้นในลำไส้ใหญ่ (เช่น มีก้อนเนื้อ หรือลำไส้ใหญ่ตีบแคบจากพังผืด) แต่การขยายพองนี้เกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบประสาทลำไส้ที่ควบคุมการบีบตัวเคลื่อนไหวตามธรรมชาติการทำงานของลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดอาการหลักคือ ปวดท้องเรื้อรัง และช่องท้องขยายใหญ่ต่อเนื่องจากมีแก๊สปริมาณมากสะสมกักคั่งในลำไส้ใหญ่ ซึ่งถ้าเคาะบนผนังหน้าท้องจะเกิดเป็นเสียงคล้ายเคาะกลอง

ลำไส้ใหญ่พอง/โรคลำไส้ใหญ่พอง/ภาวะลำไส้ใหญ่พอง พบทั่วโลก แต่พบน้อย ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานสถิติเกิดที่แน่นอน แต่พบว่า สามารถเกิดได้ทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ทั่วไป มักพบในวัยผู้ใหญ่ เพศหญิงและเพศชายเกิดใกล้เคียงกัน

ลำไส้ใหญ่พองมีกี่ชนิด?แต่ละชนิดมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ลำไส้ใหญ่พอง

ลำไส้ใหญ่พอง/โรคลำไส้ใหญ่พอง/ภาวะลำไส้ใหญ่พอง มีกลไกเกิดต่อเนื่องจากลำไส้ใหญ่ไม่สามารถทำงานบีบตัวขับออกสิ่งต่างๆในลำไส้ใหญ่ ได้แก่ กากอาหาร สารน้ำ สารคัดหลั่ง ที่รวมเรียกว่า ‘อุจจาระ’ ให้เคลื่อนที่ผ่านลำไส้ใหญ่เข้าสู่ทวารหนัก รวมถึงแก๊สที่สร้างจากแบคทีเรียและจากอุจจาระ เพื่อการขับออกจากร่างกายผ่านทางทวารหนัก

การที่ระบบประสาทลำไส้ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของผนังลำไส้ใหญ่ไม่ทำงานหรือทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้ลำไส้ใหญ่เกิดภาวะคล้ายลำไส้อุดตันทั้งๆที่ไม่มีก้อนเนื้ออุดกันหรือมีพังผืดรัดให้ตีบตัน ซึ่งการทำงานผิดปกติของระบบประสาทนี้ เกิดจากหลายสาเหตุ และการที่ลำไส้ใหญ่ขับอุจจาระและแก๊สออกไม่ได้ ส่งผลให้ลำไส้ใหญ่ขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ(พอง/โป่งพอง)จากมีแก๊สสะสมเพิ่มต่อเนื่องร่วมกับการยืดบางต่อเนื่องของผนังลำไส้ฯร่วมด้วย ส่งผลให้ขนาดลำไส้พองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนก่ออาการผิดปกติต่าง(กล่าวในหัวข้อ อาการฯ) ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้ลำไส้ใหญ่มีโอกาสแตก/ลำไส้ทะลุ, สารคัดหลั่งและอุจจาระจากลำไส้ใหญ่จึงไหลเข้าช่องท้องจนเกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบที่เป็นการอักเสบรุนแรง, และการทะลุ/ฉีกขาดของผนังลำไส้ฯนี้ยังเป็นเหตุให้มีเลือดออก/มีการตกเลือดในช่องท้อง, ซึ่งทั้ง2 กรณีดังกล่าวเป็นสาเหตุถึงตายได้

ลำไส้ใหญ่พอง/โรคลำไส้ใหญ่พอง/ภาวะลำไส้ใหญ่พอง แบ่งเป็น 3 ชนิด/กลุ่ม/ประเภทตามอาการ ได้แก่ ลำไส้ใหญ่พองเฉียบพลัน, ลำไส้ใหญ่พองเรื้อรัง, และลำไส้ใหญ่พองเป็นพิษ

ก. ลำไส้ใหญ่พองเฉียบพลัน(Acute megacolon หรือ Colonic pseudo obstruction): คือลำไส้ใหญ่พองที่ก่ออาการเฉียบพลัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น

  • มีความผิดปกติในระดับเกลือแร่ในเลือด
  • มีความผิดปกติในการสันดาป(Metabolism)ของร่างกาย เช่น ในโรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หรือ โรค/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (โรค-อาการ-ภาวะ)
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่นยา กลุ่ม Anticholinergic, กลุ่ม Opioids, ยาจิตเวชบางชนิด
  • ลำไส้ใหญ่อักเสบจากติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคบิดมีตัว, ลำไส้ใหญ่ติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Clostridium difficile, ลำไส้ใหญ่ติดเชื้อปรสิต(โรคติดเชื้อปรสิต)ที่เรียกว่าโรค Chagas disease

ข. ลำไส้ใหญ่พองเรื้อรัง(Chronic megacolon): เป็นลำไส้ใหญ่พองที่มีอาการเรื้อรังต่อเนื่อง ซึ่งมีหลายสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น

  • เป็นโรคผิดปกติแต่กำเนิด(Congenital megacolon)ที่ลำไส้ใหญ่ไม่มีระบบประสาทที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ อาจเกิดตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ เช่น โรคที่เรียกว่า โรคลำไส้ใหญ่พองในเด็ก
  • โรคติดเชื้อปรสิตที่เรียกว่าโรค Chagas disease ซึ่งให้อาการได้ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • โรคพาร์กินสัน
  • โรคเบาหวาน
  • โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน
  • โรคไขสันหลัง
  • โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง
  • มีความผิดปกติในการสันดาป(Metabolism)ของร่างกาย เช่น ในโรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หรือ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ซึ่งเป็นสาเหตุลำไส้ใหญ่พองได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง
  • แพทย์อาจหาสาเหตุไม่พบ(Idiopathic megacolon)

ค. ลำไส้ใหญ่พองเป็นพิษ(Toxic megacolon): เป็นชนิดที่มีความรุนแรงโรคสูง เกิดจากผนังลำไส้ใหญ่มีการอักเสบต่อเนื่อง ซึ่งการอักเสบนี้ทำให้เกิดแก๊สต่อเนื่องในลำไส้ใหญ่และอักเสบลุกลามเข้าไปถึงระบบประสาท/ปมประสาท โดยมักมีการติดเชื้อของลำไส้ใหญ่ร่วมด้วย และมีโอกาสเกิดลำไส้ทะลุสูงกว่าชนิดอื่นๆ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้เช่น

  • โรคโครห์น
  • ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • ลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง
  • โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
  • ไตวาย
  • ภาวะร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (โรคซีโอพีดี)

อนึ่ง: ลำไส้ใหญ่พอง เมื่อแบ่งตามสาเหตุหลัก แบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

  • กลุ่มเกิดจากพันธุกรรมผิดปกติ: คือกลุ่มมีความผิดปกติแต่กำเนิดจากพันธุกรรมผิดปกติ
  • กลุ่มเกิดผิดปกติภายหลังเมื่อเติบโตแล้ว(Acquired megacolon) ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรมโดยตรง ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น
    • ลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ
    • ลำไส้ใหญ่พองเป็นพิษ
    • โรคผิดปกติทางระบบประสาท
    • โรค/ภาวะผิดปกติจากการสันดาปของร่างกาย
    • ไม่ทราบสาเหตุ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ดังได้กล่าวใน ‘ข้อ ก.’

ลำไส้ใหญ่พองมีอาการอย่างไร?

อาการของลำไส้ใหญ่พอง ได้แก่

  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรื้อรัง
  • ช่องท้องค่อยๆขยายใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง และถ้าเคาะช่องท้องจะได้เสียงเหมือนตีกลองจากมีแก๊สมากมายในลำไส้
  • ปวดท้องเรื้อรัง ซึ่งอาการปวดท้องกระจายได้ทั่วช่องท้องไม่ได้ปวดเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง
  • อาจคลำได้ก้อนในท้องจากก้อนอุจจาระที่ตกค้างสะสมในลำไส้ใหญ่
  • เมื่อมีการติดเชื้อของลำไส้ใหญ่ร่วมด้วย หรือ ลำไส้ใหญ่พองเป็นพิษ อาการที่เพิ่มขึ้น คือ
    • มีไข้ สูงตั้งแต่ 37.6องศาเซลเซียส(OC)ขึ้นไป
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • ปวดท้องมาก
    • อาจอุจจาระเป็นเลือด หรืออุจจาระเหลว ถึงท้องเสีย
    • ปวดท้อง/ปวดทวารเมื่อถ่ายอุจจาระแต่ละครั้ง
    • ตรวจเลือดพบ เกลือแร่ชนิดโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
    • ความดันโลหิตต่ำ
    • อาจมีภาวะซีด
    • ในที่สุดจะเกิด ภาวะช็อก จนเป็นสาเหตุถึงตายได้

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ’หัวข้ออาการฯ’ โดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยลำไส้ใหญ่พองได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยลำไส้ใหญ่พอง ได้จาก

  • ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการโรคประจำตัว/ปัจจัยเสี่ยง การกินยาต่างๆ ประวัติโรคในครอบครัว
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจวัดสัญญาณชีพ ตรวจคลำ เคาะ ช่องท้อง และใช้หูฟังฟังเสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้
  • การสืบค้นต่างๆตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC ดูภาวะซีด และการติดเชื้อ
    • ตรวจเลือดดูระดับเกลือแร่ในเลือด
    • เอกซเรย์ภาพช่องท้อง ที่จะเห็นลำไส้ใหญ่โป่งพองและภายในเต็มไปด้วยแก๊ส และกากอุจจาระ
    • การตัดชิ้นเนื้อที่ไส้ตรงเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยากรณีสงสัยสาเหตุจากพันธุกรรม
    • อาจมีการตรวจวัดความดันในลำไส้ด้วยเทคนิคและเครื่องมือเฉพาะทาง
    • อาจมีการเอกซเรย์กลืนสารทึบแสงเพื่อดูการบีบตัวเคลื่อนไหวของลำไส้
    • ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ซึ่งแพทย์จะเลือกตรวจเฉพาะกรณีสงสัยอาการเกิดจากลำไส้อุดตันจากก้อนเนื้อหรือจากการตีบแคบจากพังผืด

รักษาลำไส้ใหญ่พองอย่างไร?

แนวทางการรักษาลำไส้ใหญ่พอง คือ การระบายแก๊สและสารคัดหลั่งรวมถึงอุจจาระออกจากลำไส้ใหญ่, การรักษาสาเหตุ, และการรักษาตามอาการ (การรักษาประคับประคองตามอาการ)

ก. การระบายแก๊สและสารคัดหลั่งรวมถึงอุจจาระออกจากลำไส้ใหญ่: ซึ่งมีหลายวิธี ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

  • กรณีอาการไม่มากและอาการคงตัว การรักษา เช่น
    • ใช้ยาต่างๆ เช่น ยาแก้ท้องผูก, ยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ใหญ่/ยากระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ /ยาพาราซิมพาโทมิเมติก
    • ปรับเปลี่ยนรูปแบบอาหาร เพิ่มอาหารมีกากใยสูง
    • ฝึกนิสัยการขับถ่าย
    • ล้วงอุจจาระ/ระบายสารคัดหลั่งในลำไส้ออกทางทวารหนัก
  • กรณีอาการมาก การรักษาจะเป็นการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ อาจผ่าตัดออกบางส่วน หรือต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่ใหญ่ออกทั้งหมด ขึ้นกับพยาธิสภาพของลำไส้ใหญ่และดุลพินิจของแพทย์

ข. การรักษาควบคุมสาเหตุ: ที่จะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การรักษา โรคโครห์น, โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง, โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ, โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง, โรคภูมิต้านตนเอง , การให้สารเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำกรณีสาเหตุจากเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคเหล่านี้ ที่รวมถึงการรักษาได้จากเว็บhaamor.com)

ค. การรักษาตามอาการ: คือการรักษาทางอายุรกรรมทั่วไปตามอาการแต่ละผู้ป่วย เช่น ให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดดำกรณีกินอาหารได้น้อยและ/หรือมีภาวะขาดน้ำ, การให้เลือดกรณีมีภาวะซีด, การให้สูดดมออกซิเจนกรณีมีปัญหาทางการหายใจ

ลำไส้ใหญ่พองมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากลำไส้ใหญ่พอง มักก่อให้เกิดอาการรุนแรง มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี และอาจเป็นสาเหตุถึงตายได้ เช่น

  • ลำไส้ทะลุ(ลำไส้ใหญ่ทะลุ) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบรุนแรงจากติดเชื้อแบคทีเรียจากอุจจาระและสารคัดหลังจากลำไส้ใหญ่ไหลเข้าช่องท้อง
  • เลือดออกมากจากแผลผนังลำไส้ใหญ่ทะลุ/ฉีกขาดจนเกิดภาวะซีดรุนแรงที่ตามมาด้วยภาวะช็อก
  • ลำไส้บิดเกลียว(Volvulus)จนลำไส้ขาดเลือด ส่งผลต่อเนื่องให้ลำไส้ฯติดเชื้อรุนแรง และลำไส้ทะลุ
  • การติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ฯรุนแรงลุกลามเป็นภาวะติดเชื้อในกระเลือด

ลำไส้ใหญ่พองรุนแรงไหม?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของลำไส้ใหญ่พองขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ

  • ความรุนแรงของอาการ:
    • ถ้าอาการไม่มาก การพยากรณ์โรคดี แพทย์รักษาควบคุมโรคได้ดี
    • ถ้าอาการมากโดยเฉพาะเมื่อมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น การพยากรณ์โรคแย่ มีโอกาสถึงตายสูง
  • สาเหตุ: ถ้ารักษาควบคุมสาเหตุไม่ได้ การพยากรณ์โรคแย่
  • โรคประจำตัว: ถ้ามีโรคประจำตัวเรื้อรัง และโดยเฉพาะดูแลรักษาควบคุมโรคนั้นๆได้ไม่ดี การพยากรณ์โรคแย่
  • สุขภาพโดยรวมก่อนเกิดภาวะลำไส้ใหญ่พอง: ถ้าสุขภาพแย่ การพยากรณ์โรคแย่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

ดังนั้น การพยากรณ์โรคในภาวะลำไส้ใหญ่พองในผู้ป่วยแต่ละรายจึงต่างกันมาก แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคได้เหมาะสมเป็นแต่ละรายผู้ป่วย

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะลำไส้ใหญ่พอง คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำอย่างเคร่งครัด
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • ดูแลเรื่องอาหารอย่างเคร่งครัดตาม แพทย์ พยาบาล โภชนากร แนะนำ
  • ดูแล รักษา ควบคุม โรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี
  • ไม่ซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง เช่น ช่องท้องขยายโตมากขึ้น ปวดท้องมากขึ้น
    • มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น มีไข้ หรือ อุจจาระเป็นเลือด
    • มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

ป้องกันลำไส้ใหญ่พองได้อย่างไร?

ลำไส้ใหญ่พองเป็นภาวะป้องกันได้เพียงบางสาเหตุ เพราะสาเหตุส่วนใหญ่เป็นสาเหตุป้องกันไม่ได้ เช่น จากพันธุกรรม, โรคลำไส้ใหญ่อักเสบที่เกิดจากหลากหลายสาเหตุ, โรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ช่วยลดโอกาสเกิดของโรคนี้ลงได้ ที่สำคัญ เช่น

  • ใช้ยาต่างๆเฉพาะเท่าที่จำเป็นตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ดูแลรักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี
  • และเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติที่เกิดต่อเนื่อง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยโรคและการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆที่จะช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิผลขึ้น

บรรณานุกรม

  1. Cuda,T. et al .BMC Gastroenterology (2018): https://bmcgastroenterol.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12876-018-0753-7 [2021,Aug7]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Megacolon [2021,Aug7]
  3. https://www.amboss.com/us/knowledge/Megacolon [2021,Aug7]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/180955-overview#showall [2021,Aug7]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/181054-overview#showall [2021,Aug7]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/180872-overview#showall [2021,Aug7]