รูขุมขนอักเสบ ปุ่มรากผมอักเสบ (Folliculitis)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 4 เมษายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- รูขุมขนอักเสบเกิดได้อย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดรูขุมขนอักเสบ?
- รูขุมขนอักเสบติดต่อได้ไหม?
- รูขุมขนอักเสบมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยรูขุมขนอักเสบได้อย่างไร?
- รักษารูขุมขนอักเสบอย่างไร?
- รูขุมขนอักเสบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- รูขุมขนอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองและป้องกันรูขุมขนอักเสบอย่างไร?
- เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- สิว (Acne)
- ตุ่มแพ้แมลงกัด (Insect bite reaction)
- โรคเอดส์ (AIDS)
- โรซาเซีย (Rosacea)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
บทนำ
รูขุมขนอักเสบ หรือ ต่อมขนอักเสบ หรือ ปุ่มรากผมอักเสบ (Folliculitis) คือการอักเสบที่เกิด ขึ้นกับรูขุมขน โดยเป็นได้ทั้งจากการติดเชื้อโรค หรือจากไม่มีการติดเชื้อโรคแต่เกิดจากการระคายเคืองที่รูขุมขนจากการบาดเจ็บหรือจากมีการอุดตันของรูขุมขน
รูขุมขน หรือ ต่อมขน หรือ ปุ่มรากผม (Hair follicle) คือเนื้อเยื่อที่เป็นส่วนประกอบของผิว หนัง ที่มีการสร้างขนหรือผม มีลักษณะเป็นถุงยาว (ภายในมีขนอยู่) อยู่ในผิวหนังชั้นหนังแท้ โดยปากถุงเปิดออกที่ผิวหนังชั้นนอกสุด (หนังกำพร้า) และต่อมไขมันของผิวหนังจะเปิดเข้าสู่รูขุมขนนี้
พบรูขุมขนมีอยู่ทั่วไปทั้ง ใบหน้า แขน ขา ลำตัว หนังศีรษะ ยกเว้นบริเวณมือเท้า โดยมีการกระจายของรูขุมขนอยู่ทั่วไป แต่มีความหนาแน่นแตกต่างกันในแต่ละบริเวณของร่างกาย โดยพบรูขุมขนหนาแน่นที่บริเวณ ใบหน้า แผ่นอก แผ่นหลัง ซึ่งคือผิวหนังบริเวณเดียวกันกับที่พบสิวได้บ่อย
รูขุมขน ยังเป็นทางออกของไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมัน ซึ่งหน้าที่ของรูขุมขนคือ เป็นทาง ออกของไขมันและของขนที่สร้างขึ้น รวมทั้งมีเส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกอยู่ที่ฐานของรูขุมขน
รูขุมขนอักเสบ เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ทั้งหญิงและชาย ทุกเพศ ทุกวัย ส่วนมากหายได้เองโดยไม่ได้มาพบแพทย์ จึงไม่มีการศึกษาสถิติการเกิดไว้อย่างชัดเจน
รูขุมขนอักเสบเกิดได้อย่างไร?
การอักเสบของรูขุมขน/รูขุมขนอักเสบ เกิดได้ทั้งจากการระคายเคืองที่รูขุมขน เช่น การบาด เจ็บที่ผิวหนังจากเสียดสีกับเสื้อผ้า การเกา การโกน การถอน การอุดตันรูขุมขนจากสารเคอราติน(Keratin) ของผิว, หรือจากการติดเชื้อโรค ทั้งจาก เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดรูขุมขนอักเสบ?
บุคคลที่มีความเสี่ยงในการเกิดรูขุมขนอักเสบ เช่น
- มีการระคายเคืองของรูขุมขนต่อเนื่อง เช่น ผู้ที่แว๊กขน (Hair wax, วิธีการหนึ่งในการถอนขนด้วยสารพาราฟิน) หรือผู้ที่โกนขนขาบ่อยๆ
- ผู้ที่ไม่ดูแลรักษาความสะอาดของมีดโกนหนวด มีดโกนขน
- ผู้ที่ใส่เสื้อผ้าแน่นคับ เสียดสีกับผิวหนังเป็นประจำ
- ผู้ที่ชอบแช่อ่างน้ำร้อนที่ไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างเพียงพอ
รูขุมขนอักเสบติดต่อได้ไหม?
รูขุมขนอักเสบ สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสเชื้อโรคต่างๆที่ทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบ เช่น
- จากเชื้อแบคทีเรียต่างๆที่ก่อการอักเสบ เช่น เชื้อติดอยู่ที่เครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดตัว) หรือในอ่างอาบน้ำ
- จากเชื้อรา ที่อาจติดอยู่ตามมีดโกนหนวด มีดโกนขน หากใช้ร่วมกับผู้ที่รูขุมขนติดเชื้อรา
- จากเชื้อไวรัส เช่น เริม หรือ หูดข้าวสุก ที่ติดมาจากการสัมผัสรอยโรคของผู้ป่วย
ดังนั้น การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) จึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการติดต่อจากเชื้อโรคต่างๆ และต้องไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น มีดโกน หวี ผ้าเช็ดตัว และร่วมกันกับ ตัดเล็บให้สั้น และล้างมือบ่อยๆเป็นประจำ
รูขุมขนอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการของรูขุมขนอักเสบคือ
- ผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มแดง มักพบกระจายหลายตุ่ม
- อาจมีหนองตามบริเวณรูขุมขน
- อาจมีอาการเจ็บ คัน ที่ตุ่มเหล่านี้
- พบตุ่มเหล่านี้ได้ทุกที่ที่มีรูขุมขน เช่น หนังศีรษะ บริเวณที่มีหนวด แผ่นอก แผ่นหลัง แขน ขา และที่อวัยวะเพศ
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
หากมี ตุ่มคัน ผื่น ที่ผิวหนัง ที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือที่สงสัยว่าเกิดจากรูขุมขนอักเสบ สามารถพบแพทย์ผิวหนัง/ไปโรงพยาบาลได้ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย รับคำแนะนำ และรับการรักษา
แพทย์วินิจฉัยรูขุมขนอักเสบได้อย่างไร?
แพทย์สามารถวินิจฉัยรูขุมขนอักเสบได้จาก
- ประวัติอาการ
- ประวัติการมีปัจจัยเสี่ยง (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง)
- การตรวจดูรอยโรค
- และอาจจำเป็นต้องส่งหนองจากรอยโรค เพื่อการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาชนิดของเชื้อโรคที่เฉพาะเจาะจงว่าเกิดจากเชื้อโรคชนิดใด แต่โดย ทั่วไปสาเหตุที่พบบ่อย คือจากเชื้อ แบคทีเรีย กลุ่ม Staphylococcus
รักษารูขุมขนอักเสบอย่างไร?
การรักษารูขุมขนอักเสบคือ
- ฟอกทำความสะอาดบริเวณรอยโรคด้วยสบู่ฆ่าเชื้อ เช้าเย็น เมื่ออาบน้ำ
- ทายาปฏิชีวนะชนิดทา ที่บริเวณรอยโรค วันละ 2 ถึง 3 ครั้ง เช่น ยา 2% Mupirocin, Bacitracin
- การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่นยา Dicloxacillin พิจารณาเป็นรายๆไป ในกรณีที่รอยโรคกว้างและ/หรือมีการอักเสบระดับลึกในรูขุมขน
- เลี่ยงการโกนขนบริเวณที่เกิดการอักเสบอย่างน้อย 1 เดือนเพื่อลดการระคายเคืองที่จะทำให้รูขุมขนอักเสบกลับเป็นซ้ำ
รูขุมขนอักเสบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
การติดเชื้อซ้ำๆและ/หรือการติดเชื้อในระดับลึกของรูขุมขน อาจทำให้เกิดเป็นแผลเป็นตามมาได้ ซึ่งการติดเชื้อในระยะแรกที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา และไม่กำจัดปัจจัยที่ทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบ จะทำให้เกิดการอักเสบซ้ำๆ และเป็นสาเหตุของการอักเสบของรูขุมขนระดับลึก
รูขุมขนอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โดยทั่วไป รูขุมขนอักเสบมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หายเสมอ แต่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ทั้งนี้ขึ้นกับการกำจัดปัจจัยก่อโรคหลังการรักษา เช่น หากยังใช้มีดโกนอันเดิมที่มีเชื้อราอยู่ก็กลับเป็นซ้ำได้อีก, หากยังใส่เสื้อผ้ารัดแน่นที่ทำให้เกิดการเสียดสีบริเวณเดิมซ้ำๆก็กลับเป็นรูขุมขนอักเสบบริเวณเดิมซ้ำได้อีก และการเกิดซ้ำนี้สามารถเกิดได้ทั้งในรูขุมขนที่เดิมหรือที่ใหม่ ขึ้นกับปัจ จัยการกระตุ้นให้เกิด
อนึ่ง รอยโรคที่อักเสบ โดยทั่วไปมักหายภายใน 2 สัปดาห์หลังการรักษา ส่วนรอยดำหลังการอักเสบ (เป็นปฏิกิริยาของผิวหนังต่อการอักเสบ ที่เป็นสิ่งที่พบได้เสมอ) สามารถอยู่ได้หลายเดือน ซึ่งจะค่อยๆจางไป
ดูแลตนเองและป้องกันรูขุมขนอักเสบอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเกิดรูขุมขนอักเสบ จะเช่นเดียวกับการป้องกันไม่ให้เกิดรูขุมขนอักเสบ ซึ่งได้แก่
- การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล (สุขบัญญัติแห่งชาติ) และการไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วม กับผู้อื่น
- เปลี่ยนใบมีดโกนที่ใช้โกนขนเป็นประจำ หรือแช่ใน 70% Alcohol เป็นเวลา 1 ชม.ทุกวัน เพื่อลดการเติบโตของแบคทีเรีย
- ล้างมือบ่อยๆเป็นประจำ
- ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดแน่น
- ตัดเล็บสั้น ไม่ เกา แกะ แคะ ผิวหนัง ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือรอยถลอก
- ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคเช่น อ่างอาบน้ำ อุปกรณ์กีฬา ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ
เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?
พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ หากรอยโรคมีอาการลุกลามขึ้น หรือมีไข้ และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ
บรรณานุกรม
1. ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร . Dermatology 2020:ชื่อบท.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
2. Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine :chapter.eight edition.McGraw-Hill.2012
3. https://emedicine.medscape.com/article/1070456-overview#showall [2020,March28]
4. https://emedicine.medscape.com/article/1070456-treatment [2020,March28]