รังสีวิทยา (Radiology) รังสีวินิจฉัย (Diagnostic Radiology) ฉายาเวชศาสตร์ (Imaging Medicine) รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (Therapeutic Radiology and Oncology) และ เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 6 มิถุนายน 2556
- Tweet
- รังสีวิทยา เป็นศาสตร์หนึ่ง หรือ สาขาวิชาหนึ่งทางการแพทย์ ที่นำรังสี ส่วนใหญ่เป็นรังสีประเภทไอออนไนซ์/Ionizing radiation ที่มักเรียกทั่วไปว่า รังสีเอกซ์ หรือ เอกซเรย์ (X-ray) เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยและเพื่ช่วยในการรักษาโรค (อ่านเพิ่มเติมใน รังสีที่ใช่ตรวจและรักษาโรค)
การแพทย์ทางรังสีวิทยา จะแบ่งเป็น 3 หน่วยงานหลัก คือ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์
- รังสีวินิจฉัย (Diagnostic radiology) คือ การแพทย์ที่ให้การถ่ายภาพเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆด้วยรังสี โดยทั่วไป เป็นรังสีเอกซ์ เช่น เอกซเรย์ และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังมีการใช้รังสีประเภทที่ไม่ใช่รังสีเอกซ์ เช่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอมอาร์ไอ) และอัลตราซาวด์ รังสีวินิจฉัยยังแบ่งย่อยเป็นอีกหลายสาขาวิชา เช่น รังสีร่วมรักษา ประสาทวิทยารังสี เป็นต้น โดยในปัจจุบัน บางคนเรียกแผนกนี้ว่า “ฉายาเวชศาสตร์ (Imaging Medicine)” ทั้งนี้แพทย์ที่ทำงานด้านรังสีวินิจฉัยจะเป็นแพทย์เฉพาะทาง เรียกว่า แพทย์รังสีวินิจฉัย รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา เป็นการแพทย์ที่ให้การรักษาโรคต่าง (โดยประมาณ 80% ของผู้ป่วย เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง) ด้วยรังสีเอกซ์ที่มีพลังงานสูง กว่าที่ทางรังสีวินิจฉัยใช้วินิจฉัยโรคหลายสิบเท่า ด้วยวิธีการฉายรังสี และการใส่แร่ (อ่านเพิ่มเติมใน บทความเรื่อง รังสีรักษา) ซึ่งแพทย์สาขานี้ เป็นแพทย์เฉพาะทาง เรียกว่า รังสีรักษาแพทย์ หรือ แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
- เวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นการแพทย์ที่นำสารกัมมันตรังสีที่มักอยู่ในรูปแบบของของเหลวมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย และในการรักษาโรค โดยการฉีดยาสารกัมมันตรังสีเข้าร่างกายทางหลอดเลือดดำ หรือ โดยการกินน้ำแร่รังสี เช่น การตรวจเพทสะแกน การสะแกนกระดูก และการรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีน เป็นต้น ทั้งนี้แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์เป็นแพทย์เฉพาะทาง เรียกว่า แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์