รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 ธันวาคม 2558
- Tweet
- รังสีวิทยา (Radiology) รังสีวินิจฉัย (Diagnostic Radiology) ฉายาเวชศาสตร์ (Imaging Medicine) รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (Therapeutic Radiology and Oncology) และ เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การใส่แร่
- การตรวจภาพรังสีเต้านม แมมโมแกรม (Mammogram)
- เอกซเรย์: การถ่ายภาพเอกซเรย์ (X-ray imaging)
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray Computerized Tomography) / ซีทีสแกน (CT-scan)
- เพทสะแกน หรือ เพท-ซีทีสะแกน (PET scan หรือ PET-CT Scan)
- การสะแกนกระดูก โบนสะแกน โบนสแกน (Bone scan)
- น้ำแร่รังสีไอโอดีน (Radioiodine)
รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค (Ionizing radiation) คือ รังสีเอกซ์ (X-ray) รังสีแกมมา (Gamma ray) และรังสีบีตา/รังสีเบตา (Beta ray) ซึ่งเป็นรังสีประเภทคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic radiation) จัดอยู่ในกลุ่มย่อยประเภทรังสีไอออนไนซ์ (Ionizing radiation หรือ Ionising radiation) ซึ่งต่างจากรังสีหรือแสงประเภทอื่น โดยเป็นรังสีที่ทำให้เซลล์เกิดความเสียหายบาดเจ็บและตายจากการแตกตัวเป็นประจุลบและประจุบวกของโมเลกุลต่างๆของเซลล์ที่ได้รับรังสี ในขณะที่รังสีหรือแสงอื่นๆ (Non-ionizing radiation หรือ Non-ionising radiation) ทำให้เซลล์บาดเจ็บเสียหายจากพลังงานของรังสี/แสงนั้นๆโดยไม่มีการแตกตัวเป็นประจุบวกและลบจึงก่อความเสียหายต่อเซลล์น้อยกว่ารังสีไอออนไนซ์มาก
อนึ่งรังสีที่ใช้ในการตรวจและรักษาโรค เป็นการตรวจและรักษาทางการแพทย์ที่ให้การตรวจและรักษาโดยหน่วยงานทางการแพทย์ที่เรียกว่า “รังสีวิทยา (Radiology)” เรียกแพทย์ที่ทำงานด้านนี้ว่า “รังสีแพทย์ (Radiologist)” ซึ่งประกอบด้วย 3 หน่วยงานหลักคือ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์
- รังสีวินิจฉัย ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่าแผนกเอกซเรย์ซึ่งให้การตรวจโรคด้วยเอกซเรย์ (เช่น การถ่ายภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะด้วยเอกซเรย์ธรรมดา และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสะแกน หรือ แคทสะแกน/CT-scan, Computerized tomography หรือ CAT scan, Computerized axial tomography) และคลื่นแม่เหล็กเอมอาร์ไอ/MRI (Magnetic resonance imaging) และยังให้การตรวจและรักษาโรคด้วยการถ่ายภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆด้วยรังสีในขณะเจาะ/ดูด/ให้ยาเพื่อให้รู้ตำแหน่งโรคที่แม่นยำเพิ่มขึ้นเช่น การเจาะ/ดูดเซลล์จากก้อนเนื้อต่างๆ (เช่น ก้อนเนื้อในปอด ในต่อมไทรอยด์ หรือในตับ) หรือการสวนท่อขนาดเล็กๆเข้าหลอดเลือดเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคต่างๆ เรียกสาขาย่อยนี้ว่า “รังสีร่วมรักษา (Interventional radiology)” ทั้งนี้ในภาพรวมเรียกแพทย์ทางรังสีวินิจฉัยว่า “รังสีวินิจฉัยแพทย์”
- รังสีรักษา (Radiation oncology หรือ Therapeutic radiology and oncology) คือ การแพทย์ที่นำรังสีมาใช้เพื่อการรักษาโรคมะเร็งและโรคบางชนิดที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง เช่น เนื้องอกต่างๆหรือโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ซึ่งเรียกแพทย์ทางรังสีรักษาว่า “รังสีรักษาแพทย์”
- เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear medicine) คือ การตรวจและรักษาโรคโดยใช้น้ำ แร่รังสี (น้ำยาแร่รังสี) เช่น น้ำแร่รังสีไอโอดีนที่ใช้ตรวจและรักษาโรคของต่อมไทรอยด์ การตรวจกระดูกทั้งตัวที่เรียกว่า โบนสะแกน/Bone scan หรือการตรวจค้นหาการแพร่กระจายของโรคมะเร็งไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายที่เรียกว่า เพ็ทสะแกน/PET scan) โดยเรียกแพทย์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ว่า “เวชศาสตร์นิวเคลียร์แพทย์”
บรรณานุกรม
1. http://www.epa.gov/radiation/understand/ionize_nonionize.html[2015,Nov28].
Updated 2015, Nov 28