ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic nervous system)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ระบบประสาทซิมพาเทติกคืออะไร? มีผลต่อการทำงานของอวัยวะใด?

ระบบประสาทซิมพาเทติก/ ประสาทซิมพาเทติก(Sympathetic nervous system) คือ หนึ่งในระบบประสาทอัตโนมัติที่มีหน้าที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า/ตัวกระตุ้น/เหตุการณ์ที่อันตรายที่เกิดทันที่ฉับพลันโดยไม่ผ่านกระบวนการคิดและการสั่งการจากสมอง ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองทันทีเพื่อพร้อมที่จะ ‘สู้หรือหนี(Fight or Flight response)’จากตัวกระตุ้นนั้นๆ

ซึ่งกระบวนการตอบสนองที่เกิดรวดเร็วทันทีนี้จะเกิดโดยอัตโนมัติ ไม่ตั้งใจ, ร่างกาย/สมองควบคุมไม่ได้ ซึ่งเซลล์ประสาทของระบบประสาทซิมพาเทติกจะสั่งโดยตรงไม่ผ่านการคิดและสั่งจากสมอง(สั่งโดยอัตโนมัติ)ไปยังอวัยวะต่างๆที่ทำงานเพื่อปฏิกิริยา’การสู้หรือหนี’ที่สำคัญคือ ระบบหัวใจและหลอดเลือด, ตา , ระบบทางเดินหายใจ, รูขุมขน, ต่อมเหงื่อ , ระบบทางเดินอาหาร(ระบบย่อยอาหาร), ต่อมหมวกไต, ไต, กล้ามเนื้อทั้งกล้ามเนื้อลายและกล้ามเนื้อเรียบ

อนึ่ง:

  • การสั่งการของระบบประสาทซิมพาเทติก/ประสาทซิมพาเทติก คือ เซลล์ประสาทที่ไขสันหลังระดับกระดูกสันหลังอกช่วงประมาณT1 จนถึงช่วงประมาณกระดูกเอว L2-L3
  • ตัวกระตุ้น เช่น เผชิญสัตว์ร้าย, ไฟไหม้, ขโมยขึ้นบ้าน, ตกใจมาก, โกรธรุนแรง, กลัวสุดขีด

อาการที่พร้อมจะสู้หรือหนีเป็นอย่างไร?

ระบบประสาทซิมพาเทติก

อาการ/ปฏิกิริยาขานรับต่างๆที่เรียกว่า ‘สู้หรือหนี’ เกิดจากการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติก/ ประสาทซิทพาเทติก ได้แก่

  • ปฏิกิริยาขานรับจากระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง, หัวใจเต้นเร็วและแรง, หลอดเลือดขยาย, ซึ่งจะช่วยเพิ่มเลือดเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนของร่างกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ที่รวมถึงกล้ามเนื้อทุกชนิด
  • ปฏิกิริยาขานรับจากระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจเร็วและแรง เพื่อเพิ่มออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเช่นกัน
  • ปฏิกิริยาขานรับจากตา: เช่น หนังตาเบิกกว้าง, รูม่านตาขยาย เพื่อให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น
  • ปฏิกิริยาขานรับจากต่อมเหงื่อ: เหงื่ออกมาก เพื่อช่วยระบายความร้อนของร่างกายที่เกิดจากเพิ่มการทำงานของอวัยวะต่างๆ
  • หลอดเลือดผิวหนัง: หลอดเลือดผิวหนังจะหดตัว ส่งผลให้ผิวหนังซีดและเย็น
  • ปฏิกิริยาขานรับจากต่อมหมวกไต: ส่งผลเพิ่มการสร้างฮอร์โมน ‘อะดรีนาลีน’ ที่ช่วยกระตุ้นเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ, ขยายหลอดลมจากกระตุ้นการคลายตัวของกล้ามเนื้อหลอดลม, กระตุ้นกล้ามเนื้อหลอดเลือดให้คลายตัวส่งผลให้หลอดเลือดขยาย
  • ปฏิกิริยาขานรับจากรูขุมขนส่งผลให้เกิดขนลุก
  • ปฏิกิริยาขานรับจากไต: ไตจะสร้างเอนไซม์เรนินเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มความดันโลหิต
  • ปฏิกิริยาขานรับจากระบบทางเดินอาหาร: ลดการย่อยอาหาร, ลดการสร้างน้ำย่อย, ลดการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้, ลดการอยากอาหาร, ลดการสร้างน้ำลาย(ปากคอแห้ง)จึงลดพลังงานที่ต้องใช้ในกิจกรรมดังกล่าวเพื่อเพิ่มพลังงานให้กับอวัยวะระบบอื่นๆ
  • ปฏิกิริยาขานรับจากตับ: ตับจะสลายน้ำตาลที่สะสมเก็บไว้ในตับให้ออกมาในกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆเพื่อนำไปใช้เพิ่มพลังงานสำหรับการทำงานที่เพิ่มขึ้น
  • ปฏิกิริยาขานรับจากกระเพาะปัสสาวะ: กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะจากคลายตัวส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะขยายจึงรับปัสสาวะได้ในปริมาณมากขึ้นส่งผลให้ไม่มีการปวดปัสสาวะในช่วงมีตัวกระตุ้น

ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติอย่างไร?

เมื่อตัวกระตุ้นหมดไปหรือร่างกายจัดการกับตัวกระตุ้นได้แล้ว ร่างกายจะจัดการให้อวัยวะต่างๆที่ทำงานผิดปกตินั้นเหล่านั้นกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วอย่างอัตโนมัติเช่นกันเพื่อไม่ให้อวัยวะต่างๆเหล่านั้นทำงานเกินกำลังจนอาจเกิดการล้มเหลวจนเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายได้ ซึ่งการจัดการให้อวัยวะต่างๆเหล่านั้นกลับคืนสู่ภาวะปกติจะเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติอีกชนิดที่ต้านการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติก/ประสาทซิมพาเทติกโดยไม่ผ่านคำสั่งของสมองเช่นกันที่ชื่อว่า ‘ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก’

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sympathetic_nervous_system [2021,Feb27]
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK542195/ [2021,Feb27]
  3. https://youngdiggers.com.au/fight-or-flight [2021,Feb27]