รอยดำหลังผิวหนังอักเสบ (Post inflammatory hyperpigmentation)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 14 มีนาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- รอยดำหลังผิวหนังอักเสบเกิดได้อย่างไร?
- รอยดำหลังผิวหนังอักเสบติดต่ออย่างไร?
- รอยดำหลังผิวหนังอักเสบมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยรอยดำหลังผิวหนังอักเสบได้อย่างไร?
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
- รักษารอยดำหลังผิวหนังอักเสบอย่างไร?
- รอยดำหลังผิวหนังอักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- รอยดำหลังผิวหนังอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันรอยดำหลังผิวหนังอักเสบอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- สิว (Acne)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)
- มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)
- แผลเป็นนูน (Keloid)
- ผิวแห้ง (Dry skin)
- ครีมกันแดด (Sunscreen)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
รอยดำหลังผิวหนังอักเสบ(Post inflammatory hyperpigmentation ย่อว่า พีไอเอช/PIH) คือ การเกิดรอยดำหลังผิวหนังเกิดการอักเสบที่มักเกิดขึ้นตามมาโดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวสีเข้ม เช่น ชาวเอเชีย หรือ ชาวแอฟริกันอเมริกัน
สาเหตุ: รอยดำหลังผิวหนังอักเสบ พบเกิดตามหลังการอักเสบของผิวหนังได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- รอยถลอกจากการบาดเจ็บ
- ผื่นแพ้ต่างๆ เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
- การรักษาโรคที่ผิวหนัง เช่นการทำเลเซอร์
- การอักเสบจากการแพ้ยา
- เกิดตามหลังการเกิดสิว/การรักษาสิว
- การได้รับแสงแดดโดยตรงต่อเนื่อง
- การตั้งครรภ์ และ
- บางครั้งอาจหาสาเหตุไม่พบ
อนึ่ง: รอยดำหลังผิวหนังอักเสบ พบได้บ่อย พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง และในทุกช่วงอายุ
รอยดำหลังผิวหนังอักเสบเกิดได้อย่างไร?
เมื่อเกิดการอักเสบ เซลล์ผิวหนังจะมีการสร้างสารเคมีเกี่ยวกับปฏิกิริยาการอักเสบขึ้น ซึ่งสารเหล่านี้จะกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดสีเมลานิน (Melanin) ทำให้มีการสร้างเม็ดสีเพิ่ม จึงเกิดเป็นรอยดำหลังการอักเสบ/รอยดำหลังผิวหนังอักเสบขึ้น
รอยดำหลังผิวหนังอักเสบติดต่ออย่างไร?
รอยดำหลังผิวหนังอักเสบไม่ใช่โรค ดังนั้นจึงไม่มีการติดต่อไม่ว่าจะด้วยวิธีใด เช่น การสัมผัส หรือ การใช้ของใช้ร่วมกัน
รอยดำหลังผิวหนังอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบได้จากภาวะรอยดำหลังผิวหนังอักเสบคือ
- ผิวหนังตำแหน่งที่เกิดอักเสบเมื่อการอักเสบหายไป จะเกิดเป็นรอยดำสีน้ำตาลเข็ม หรือ สีดำตามมา ตัวอย่างเช่น หลังการเกิดสิวอักเสบ จะมีรอยดำตรงตำแหน่งที่เป็นสิวตามมา
- รอยดำนี้
- ไม่ก่ออาการเจ็บ/ปวด
- ไม่ตกสะเก็ด
- ไม่ลุกลาม
- ไม่ทำให้เกิดพังผืด หรือ แผลเป็น
- ไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง
- แต่จะดำคล้ำขึ้นเมื่อได้รับแสงแดดโดยตรงต่อเนื่อง
แพทย์วินิจฉัยรอยดำหลังผิวหนังอักเสบได้อย่างไร?
โดยส่วนมาก แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นภาวะรอยดำหลังผิวหนังอักเสบจาก
- การสอบถามประวัติของผิวหนังอักเสบ
- การตรวจรอยโรคด้วยการดูและการคลำ และ
- การตรวจร่างกาย
ทั้งนี้ ถ้าประวัติอาการ, ผลจากการตรวจรอยโรค, การตรวจร่างกาย, ชัดเจน ก็สามารถวินิจฉัยได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การตัดชิ้นเนื้อ
แต่สำหรับกรณีที่ไม่สามารถบอกสาเหตุเกิดได้ชัดเจน แพทย์ต้องมีการวินิจฉัยแยกโรคจากโรคผิวหนังอื่นๆ แพทย์อาจต้องทำการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
หากเกิดรอยดำหลังผิวหนังอักเสบ สามารถพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อรับคำแนะนำและการรักษาได้กรณี เช่น
- กังวลใจในด้านภาพลักษณ์ หรือ
- เมื่อมีความผิดปกติอื่นๆของรอยดำ/รอยโรคร่วมด้วย เช่น คันมาก และ/หรือ
- รอยดำขยายใหญ่ขึ้น หรือเกิดเป็นก้อนเนื้อ และ/หรือ
- มีเลือดออกเรื้อรังที่รอยดำ และ/หรือ
- มีต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงกับรอยดำโตและคลำได้
รักษารอยดำหลังผิวหนังอักเสบอย่างไร?
โดยทั่วไปรอยดำจะค่อยๆจางหายไปเองโดยไม่จำเป็นต้องมีการรักษา เพราะไม่ใช่โรค และไม่ใช่ภาวะผิดปกติ แต่เป็นภาวะปกติที่ร่างกายตอบสนองต่อการมีผิวหนังอักเสบ
อย่างไรก็ตาม ถ้ากังวลหรือเพื่อผลในด้านภาพลักษณ์ การรักษารอยดำหลังผิวหนังอักเสบคือ การรักษาด้วยยาทาและ/หรือวิธีการรักษาทางผิวหนังอื่นๆร่วมกับการดูแลตนเอง เช่น
- ทาครีมกันแดด: การทาครีมกันแดดบริเวณที่มีรอยดำหลังการอักเสบ จะช่วยป้องกันไม่ให้รอยนี้ดำมากขึ้นและช่วยให้รอยดำจางลงไวขึ้น
- มีการใช้ยาทาหลายชนิดเพื่อลดการเกิดรอยดำหลังการอักเสบ เช่นยา Hydroquinone, Azelaic acid, Lactic acid, Tretinoine
- การลอกหน้าด้วยกรดชนิดอ่อน เช่น Glycolic acid peeling
- การรักษาด้วยการทำเลเซอร์ เช่น Fractional carbondioxide laser, Q - switch laser
*อนึ่ง:
- แพทย์จะเลือกรักษาด้วยยาตัวใดหรือด้วยวิธีใดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ที่ประเมินจากหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของรอยโรค, ตำแหน่งที่เกิดรอยโรค, สาเหตุ, ลักษณะของผิวดั่งเดิม, และอายุของผู้ป่วย
- การใช้ยา: ไม่ควรซื้อยาใช้เองยกเว้นครีมกันแดด ควรเป็นยาจากคำแนะนำของแพทย์ หรือจากเภสัชกร เพราะตัวยาต่างๆล้วนมีผลข้างเคียงต่อผิวหนัง จนอาจทำให้อาการเลวลงกว่าเดิม
รอยดำหลังผิวหนังอักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ และหัวข้อ การรักษาฯ’ว่า รอยดำเป็นภาวะตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง ยกเว้นที่ส่งผลด้านภาพลักษณ์ความสวยงาม
รอยดำหลังผิวหนังอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ และหัวข้อ การรักษาฯ’ ว่า รอยดำหลังผิวหนังอักเสบนี้เป็นภาวะตามธรรมชาติจึงสามารถจางหายได้เอง โดยทั่วไปจะจางหายไปในเวลาประมาณ 6 - 12 เดือนโดยไม่ก่อให้เกิด พังผืด, แผลเป็น, หรือเปลี่ยนเป็นมะเร็งผิวหนัง ซึ่งการรักษาและดูแลตนเอง จะช่วยให้สีจางลงและหายไปได้ไวขึ้น
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเกิดรอยดำหลังผิวหนังอักเสบได้แก่
- หลีกเลี่ยงไม่ให้รอยดำถูกแสงแดดโดยตรงต่อเนื่อง
- ทาครีมกันแดดเมื่อต้องออกแดด
- ทายาที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำให้ถูกต้อง
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อกังวลในอาการ หรือ เมื่อมีอาการผิดปกติที่รอยดำ/รอยโรค เช่น รอยโรคขยายใหญ่ขึ้น และ/หรือมีเลือดออกเรื้อรัง และ/หรือคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตใกล้กับรอยโรค
ป้องกันรอยดำหลังผิวหนังอักเสบอย่างไร?
ป้องกันรอยดำหลังผิวหนังอักเสบได้โดย
- ป้องกันการอักเสบมากขึ้นของผิวหนังโดยไม่แกะเกาสิว, ไม่แกะเกาผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง, เพราะจะทำให้เกิดอักเสบมากขึ้น ทิ้งเป็นรอยดำหลังการอักเสบได้มากขึ้น
- เมื่อมีโรคผิวหนังต่างๆ ควรต้องดูแลผิวหนังตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างถูก ต้อง
- ใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวที่อ่อนโยนต่อผิวเพื่อรักษาสุขภาพผิว ไม่ให้ผิวมันหรือผิวแห้งเกิน ไป เช่น การใช้สบู่อาบน้ำด้วยสบู่เด็กอ่อน, การไม่อาบน้ำด้วยน้ำที่อุ่นจัด
- หลีกเลี่ยงแสงแดดจัดโดยตรงอย่างต่อเนื่องโดยใช้เครื่องป้องกัน เช่น ร่ม หมวก เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และรู้จักใช้ครีมกันแดดชนิดมีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอเมื่อต้องออกแดด
- ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ ใช้เฉพาะที่จำเป็น และจำให้ได้ว่าเคยแพ้ยาอะไร เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้ยาและเพื่อไม่ใช้ยานั้นซ้ำอีก
บรรณานุกรม
- ปรียากุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020: พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
- Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine :chapter.eight edition.McGraw-Hill.2012
- https://emedicine.medscape.com/article/1069191-overview#showall [2021,March13]