รกเสื่อม (Placental insufficiency)

สารบัญ

รกเสื่อมคืออะไร?

ทารกในครรภ์ เจริญเติบโตได้เนื่องจากได้รับสารอาหาร ออกซิเจนจากแม่ ผ่านทางหลอดเลือดที่ประกอบกันเป็นรกและสายสะดือ ที่เชื่อมต่อระหว่างมารดาและตัวทารก หากรกทำงานไม่ปกติ หรือรกเสื่อม (Placental insufficiency) จะทำให้เลือดที่ส่งจากมารดาไปยังทา รกไม่เพียงพอให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตเต็มศักยภาพ หรือคือ ทารกเกิดมีภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (Intrauterine growth restriction) และอาจรุนแรงจนถึงทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้รกเสื่อม?

รกเสื่อม

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดรกเสื่อม ได้แก่

  • โรคประจำตัวของมารดา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งจะส่งผลให้หลอดเลือดในมารดา มีขนาดตีบแคบลง มีความต้านทานในหลอดเลือดสูง ส่งผลถึงการไหล เวียนเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ
  • การแข็งตัวของเลือดมากผิดปกติ ทำให้เกิดมีลิ่มเลือดไปอุดตามหลอดเลือดขนาดเล็ก ทำให้เลือดส่งไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ
  • มารดาสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ใช้สารเสพติด
  • ตั้งครรภ์เกินกำหนด
  • โรคของรกเอง เช่น เนื้องอกรก รกลอกตัวบางส่วน รกบางผิดปกติ และ/หรือ มีหินปูนเกาะรกมากเกินไป

รกเสื่อมมีผลต่อสตรีตั้งครรภ์อย่างไร?

ภาวะที่รกทำงานไม่ดี/รกเสื่อม มักไม่ค่อยมีผลต่อตัวสตรีตั้งครรภ์เอง แต่จะมีผลต่อทารกในครรภ์อย่างมาก ทำให้ทารกได้รับอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ ร่างกายและสมองเจริญ เติบโตไม่เต็มที่ (Intrauterine growth restriction) นอกจากนั้น เมื่อเลือดมาเลี้ยงทารกได้น้อย เลือดเลี้ยงไตของทารกจึงลดลงด้วย การขับปัสสาวะของไตทารกจึงลดลง ทำให้น้ำคร่ำมีปริมาณลดลง ส่งผลให้ทารกถูกกดเบียดทับจากน้ำหนักของมารดา และติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งหากรกเสื่อมอย่างรุนแรง จะทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้สูง

อุบัติการณ์การเสียชีวิตของทารกจากรกเสื่อม ไม่สามารถบอกตัวเลขได้แน่ชัด ตัวเลขที่มีรายงานน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะส่วนมากแพทย์มักไม่ได้ส่งรกไปตรวจทางพยาธิวิทยาหลังจากที่ทารกคลอด นอกจากมองเห็นชัดเจนว่า มีส่วนรกที่เห็นเป็นสีขาวชัดเจนจากการตายของเนื้อเยื่อของรก (Placental infarction)

สตรีตั้งครรภ์จะรู้ได้อย่างไรว่ามีรกเสื่อม?

เป็นเรื่องยาก ที่สตรีตั้งครรภ์จะรู้ว่ามีรกเสื่อมแล้วหรือไม่ เพราะส่วนมากไม่มีอาการผิด ปกติ สิ่งที่ทำได้คือ การสังเกตว่า ครรภ์โตตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ โดยสามารถสอบถามจากแพทย์เมื่อไปฝากครรภ์ หรือ สังเกตว่าครรภ์ที่เคยโตกลับไม่โตขึ้น และกลับเล็กลง และสตรีตั้ง ครรภ์ต้องคอยสังเกตการดิ้นของทารก ว่าลดลงหรือไม่ด้วย

แพทย์วินิจฉัยรกเสื่อมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะรกเสื่อม ได้โดย

  • ประเมินความเสี่ยงต่างๆ จากการสอบถามประวัติ เช่น โรคประจำตัว สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจร่างกาย ตรวจครรภ์ ติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และพบว่าขนาดของครรภ์เล็กกว่าที่ควรจะเป็นในอายุครรภ์นั้นๆ
  • ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) ครรภ์ พบว่าทารกตัวเล็กกว่าที่ควรจะเป็น หรือตรวจติดตามแล้ว ทารกไม่โตขึ้น ปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ และ/หรือ ลักษณะของรกไม่สอดคล้องกับอายุครรภ์

ดูแลรักษารกเสื่อมอย่างไร?

จุดมุ่งหมายหลักของการดูแลรักษาภาวะรกเสื่อม คือ ให้ทารกในครรภ์ปลอดภัยมากที่สุด และให้คลอดในระยะเวลาที่ปลอดภัยมากที่สุด

  • หากสามารถตรวจพบสาเหตุได้ชัดเจน แพทย์จะให้การรักษาที่สาเหตุ เช่น รักษาภาวะความดันโลหิตสูง โดยต้องให้ยาควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม และ/หรือ หากเป็นเบาหวาน ก็ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี
  • งดทำงานหนัก พักผ่อนให้เพียงพอ หากจำเป็นอาจต้องนอนพักในโรงพยาบาล
  • รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร เพื่อช่วยให้รกได้รับสาร อาหารอย่างพอเพียง เพื่อการเจริญเติบโตของรกอย่างปกติ และ/หรือเพื่อชะลอการเสื่อมของรก
  • มีการประเมินสุขภาพทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ การตรวจครรภ์ และการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซ่าวด์) ครรภ์ ทุก 2-4 สัปดาห์ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของรก ดูปริมาณน้ำคร่ำ ตรวจและติดตามอัตราการเต้นของหัวใจทารก (Non stress test)
  • พิจารณาให้คลอด ถ้าพบว่าอายุครรภ์มากพอ และพบว่าการอยู่ในครรภ์มารดาจะเป็นอัน ตรายมากกว่าคลอดทารกออกมาเลี้ยงดูภายนอก

สามารถป้องกันรกเสื่อมได้หรือไม่?

ในกรณีที่มีโรคประจำตัวนั้น การรักษาโรคประจำตัว จะเป็นทางป้องกันรกเสื่อมที่ดีมากอยู่แล้ว นอกจากนั้น คือ การป้องกันการตั้งครรภ์เกินกำหนด โดยที่แพทย์จะชักนำให้เกิดการคลอดเมื่ออายุครรภ์ไม่เกิน 41 สัปดาห์ เป็นวิธีที่จะทำให้ลดโอกาสให้ทารกต้องเผชิญกับภาวะรกเสื่อม หากยังอยู่ในครรภ์ต่อไป แต่บ่อยครั้งที่แพทย์ไม่สามารถหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รกเสื่อมเร็วกว่าปกติได้ จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะป้องกันภาวะรกเสื่อมในกรณีนี้

หากครรภ์แรกมีรกเสื่อม การตั้งครรภ์ที่สองจะเกิดรกเสื่อมอีกหรือไม่?

หากมารดามีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับหลอดเลือด หรือที่ส่งผลถึงหลอดเลือด (เช่น โรค เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง) และได้รับการรักษา ควบคุมอย่างดี โอกาสจะเกิดรกเสื่อมก็จะลดลง แต่หากโรคประจำตัวไม่ได้รับการแก้ไข ภาวะรกเสื่อมนี้ก็จะกลับมาเกิดได้อีกในครรภ์ต่อๆ ไป

มารดาควรดูแลตนเองหลังคลอดอย่างไร?

การดูแลตนเองหลังคลอดของมารดาที่มีรกเสื่อม จะเหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ระยะหลังคลอด) แต่ที่ต้องให้ความสำคัญ คือ หากมีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุให้รกเสื่อม ควรต้องรักษาควบคุมให้เต็มที่

ตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้เมื่อไร?

เพื่อให้สุขภาพทารกในครรภ์ต่อไปมีความแข็งแรงเต็มที่ มารดาที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ควรรีบรักษาควบคุมโรคประจำตัวเหล่านั้นให้ได้ดี และเมื่อมีการวางแผนจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาโรคประจำตัวเหล่านั้นว่า ร่างกายพร้อมหรือไม่ โรคต่างๆควบคุมได้ดีหรือยัง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดรกเสื่อมลงได้ สตรีที่วางแผนตั้งครรภ์จะได้มีความมั่นใจมากขึ้น

ทารกที่คลอดจากภาวะรกเสื่อม มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

หากรกเสื่อมไม่มาก ทารกในครรภ์จะมีการปรับตัวระดับหนึ่ง ซึ่งบางครั้งสามารถเจริญ เติบโตได้ตามปกติ หลังคลอดจะเหมือนเด็กปกติทั่วไป

แต่หากรกเสื่อมเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเกิดเป็นเวลานาน ทารกจะมีการเจริญเติบ โตช้า เจริญไม่เต็มศักยภาพตามที่ควรจะเป็น ทารกเหล่านี้จะตัวผอม แต่สัดส่วนศีรษะเหมือนเด็กปกติ เพราะร่างกายจะพยายามให้สมองได้รับเลือดอย่างเพียงพอ จึงทำให้สมองถูกกระทบหลังสุด ทารกกลุ่มนี้หลังคลอดจะมีพัฒนาการปกติเหมือนเด็กทั่วไป เพราะสมองไม่ถูกกระทบ กระเทือน

แต่หากรกเสื่อมแบบรุนแรงหรือเฉียบพลัน ทารกมักไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จึงเสียชีวิตในครรภ์ได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ทารกเสียชีวิตในครรภ์)

บรรณานุกรม

  1. http://emedicine.medscape.com/article/404098-overview [2013,Dec13].
  2. http://www.healthline.com/health/placental-insufficiency [2013,Dec13].