ยูเรียครีม (Urea Cream)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยูเรีย (Urea) เป็นสารเคมีที่ถูกค้นพบเมื่อต้นศตวรรษที่ 18 อยู่ในปัสสาวะของมนุษย์ และ พัฒนาการสังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ในเชิงอุตสาหกรรมเคมี เกษตรกรรม การผลิตวัตถุระเบิด ใช้ในห้อง ทดลอง และใช้เป็นยาในวงการแพทย์ โดยพัฒนาเป็นรูปแบบของยาครีมเพื่อทาผิวหนังป้องกันการสูญเสียน้ำ นอกจากนี้ยังนำมาใช้กับอีกหลายอาการโรค เช่น สะเก็ดเงิน กลาก ผื่นคันจากอา การผิวแห้ง ผื่นผิวหนังเรื้อรัง เชื้อราที่เล็บ และโรคผิวหนังเกล็ดปลา

ยูเรียครีมที่พบเห็นในตลาดยาบ้านเรา มีความเข้มข้นอยู่ที่ 10% และ 20% ในบางสูตรตำรับจะมีการผสมยาสเตียรอยด์บางตัว เช่น Triamcinolone เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา หรือผสมกับยาต้านเชื้อรา เช่น Clotrimazole เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันของผิวหนัง

ยูเรียครีมเป็นยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน การใช้ยาควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ หรือขอคำปรึกษาจากเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง


ยายูเรียครีมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยูเรียครีม

ยายูเรียครีมมีสรรพคุณรักษาและป้องกันผิวหนังแห้ง เพิ่มความชุ่มชื้นกับผิวหนัง รักษาอาการผื่นคันของผิวหนัง รักษาอาการผิวหนังหนาและหยาบกระด้าง

ยายูเรียครีมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยายูเรียครีมจะช่วยดูดซับน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังในชั้นนอกสุดของหนังกำพร้า(Stratum Corneum) เป็นเหตุให้บรรเทาอาการระคายเคืองและผื่นคันได้

ยายูเรียครีมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยายูเรียครีมมีรูปแบบจัดจำหน่าย ดังนี้

  • รูปแบบยาครีม 10% และ 20%
  • รูปแบบยาครีมผสมกับตัวยาอื่น เช่น Triamcinolone Clotrimazole เป็นต้น

ยายูเรียครีมมีวิธีการใช้อย่างไร?

ยายูเรียครีมใช้ทาผิวหนังวันละ 2 – 3 ครั้ง ความถี่และระยะเวลาของการใช้ยาขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ผู้ทำการรักษา

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยายูเรียครีม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทาเฉพาะที่ชนิดใดหรือไม่
  • มีโรคผิวหนังชนิดเรื้อรังอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ และ
  • ระยะเวลาของอาการโรคเป็นมานานกี่วัน

ยายูเรียครีมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ชองยายูเรียครีม คือ ในบางคนอาจพบอาการข้างเคียงหลังใช้ยายูเรีย เช่น ระคายเคืองผิวหนังในบริเวณที่ทายา หรือแสบร้อนเล็กน้อย อาจขึ้นผื่นคัน หากเข้าตาจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อลูกตา หรือสูดดมก็สามารถเกิดการระคายเคืองในช่องทางเดินหายใจได้เช่นกัน

มีข้อควรระวังการใช้ยายูเรียครีมอย่างไร?

ยายูเรียครีม

  • ห้ามเผลอรับประทาน
  • ห้ามใช้ทาบริเวณตาหรือทาลูกตา
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยายูเรียครีมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน


ยายูเรียครีมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยังไม่พบว่า ยูเรียครีมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่น

ควรเก็บรักษายายูเรียครีมอย่างไร?

ควรเก็บยายูเรียครีมในอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius) โดยเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยายูเรียครีมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยายูเรียครีมในประเทศไทย มีชื่อการค้าอื่นและชื่อบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
DiabeDerm (ไดเอบีเดอร์ม) Bangkok Lab & Cosmetic
Nutraplus (นูทราพลัส) Galderma
U10 MedMaker (ยู10 เมดเมกเกอร์) 2M (Med-Maker)
U20 MedMaker (ยู10 เมดเมกเกอร์) 2M (Med-Maker)
UO Cream (ยูโอ ครีม) YSP Industries
Urea in 0.1% TA 10% (ยูเรีย อิน 0.1% ทีเอ 10%) Fagron

บรรณานุกรม

1 http://www.drugs.com/cdi/urea-cream.html [2014,April27].
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Urea [2014,April27].
3. http://en.wikipedia.org/wiki/Urea#Safety [2014,April27].
4. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=urea [2014,April27].
5. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/DiabeDerm/?q=urea&type=brief [2014,April27].
6. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Nutraplus/?q=urea&type=brief [2014,April27].