ยาไอโซซอร์ไบด์ (Isosorbide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 14 ตุลาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ยาไอโซซอร์ไบด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาไอโซซอร์ไบด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไอโซซอร์ไบด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไอโซซอร์ไบด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไอโซซอร์ไบด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโซซอร์ไบด์อย่างไร?
- ยาไอโซซอร์ไบด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไอโซซอร์ไบด์อย่างไร?
- ยาไอโซซอร์ไบด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- เจ็บหน้าอก (Chest pain)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
บทนำ
เป็นเวลานานพอสมควรที่ยาไอโซซอร์ไบด์ (Isosorbide หรือ Isosorbide mononitrate หรือ Isosorbide dinitrate) ถูกนำมาใช้เป็น ยาขับปัสสาวะ และมีการประยุกต์ใช้กับอาการโรค/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) และโรคต้อหิน (Glaucoma)
อนุพันธุ์ของไอโซซอร์ไบด์ในรูปอื่น เช่น Isosorbide dinitrate และ Isosorbide mono nitrate ถูกนำมาใช้รักษาภาวะเจ็บหน้าอกเนื่องจากหัวใจขาดเลือด (Angina หรือ Angina pec toris) ด้วยมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว
นอกจากนี้ยาไอโซซอร์ไบด์ยังนำมาใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น Hydralazine เพื่อบำบัดรักษา โรคความดันโลหิตสูง
เมื่อร่างกายได้รับยาไอโซซอร์ไบด์เข้าสู่กระแสเลือด ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในประมาณ 20 นาที ฤทธิ์ของการรักษาอยู่ได้นานถึง 8 - 10 ชั่วโมง และต้องใช้เวลาประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง ในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยส่วนใหญ่ผ่านไปกับปัสสาวะ
สำหรับประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุยานี้ในรูปแบบยาเม็ดและยาอมใต้ลิ้นลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ผู้ทำการรักษาเท่านั้น
ยาไอโซซอร์ไบด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไอโซซอร์ไบด์มีสรรพคุณ ดังนี้
- ใช้บำบัดรักษาอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจ (Angina)
- ใช้รักษาโรคหัวใจล้มเหลว
ยาไอโซซอร์ไบด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไอโซซอร์ไบด์มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยจะกระตุ้นให้หลอดเลือดเกิดการคลายตัว รวม ถึงลดแรงดันของหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricular pressure) ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการทนต่อแรงดันของหลอดเลือดแดง จึงมีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
ยาไอโซซอร์ไบด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไอโซซอร์ไบด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- จัดจำหน่ายในรูปแบบยาแคปซูลขนาด 20, 60 มิลลิกรัม/แคปซูล
- จัดจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดขนาด 10, 20, 50, 60 มิลลิกรัม/เม็ด
- จัดจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดชนิดอมใต้ลิ้นขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
- จัดจำหน่ายในรูปแบบยาสเปรย์ขนาด 1.25 มิลลิกรัม/การใช้ 1 ครั้ง
- จัดจำหน่ายในรูปแบบยาฉีดขนาด 10 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร
ยาไอโซซอร์ไบด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
สำหรับยาไอโซซอร์ไบด์ชนิดที่เป็นสารประกอบของ Isosorbide mononitrate ซึ่งเป็นยาที่นำมาใช้เป็นส่วนใหญ่
ก. ผู้ใหญ่:
- รักษาโรคหัวใจขาดเลือด:
รับประทาน 30 - 60 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือ
รับประทาน 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือ
รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว:
รับประทาน 30 - 60 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือ
รับประทาน 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือ
รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
ข. เด็ก: ยังไม่มีการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ:
- ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดการรับประทานยานี้ในผู้ป่วยด้วยโรคตับ โรคไต ชนิดที่ไม่รุนแรงมากนัก
- สำหรับผู้สูงอายุควรเริ่มต้นรับประทานยานี้ในขนาดที่ต่ำๆก่อน
- ควรรับประทานยาไอโซซอร์ไบด์ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมงหรือประมาณ 2 ชั่วโมง หลังอาหาร เพื่อทำให้การออกฤทธิ์เกิดได้เต็มประสิทธิภาพ
- การใช้ยานี้ชนิดอมใต้ลิ้นหรือยาสเปรย์ ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ ส่วนยาฉีดแพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ใช้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไอโซซอร์ไบด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไอโซซอร์ไบด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรืออาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไอโซซอร์ไบด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาไอโซซอร์ไบด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไอโซซอร์ไบด์สามารถทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดัง นี้ เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ วิงเวียน ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อน เพลีย ปากแห้ง เจ็บหน้าอก ปวดหลัง บวมน้ำ ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด และอาหารไม่ย่อย
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโซซอร์ไบด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโซซอร์ไบด์ดังนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคโลหิตจาง ผู้ ป่วยด้วยภาวะมีปริมาณเลือดและของเหลวน้อยในร่างกาย (Hypovolaemia) ผู้ป่วยโรคหัวใจล้ม เหลวด้วยเหตุมีการอุดกั้นของระบบหลอดเลือด ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงเนื่อง จากมีบาดแผล หรือผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ผู้ที่มีร่างกายอยู่ในภาวะขาดสารอาหาร ผู้ที่มีภาวะอุณหภูมิของร่าง กายต่ำ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะความดันโลหิตต่ำอยู่แล้ว
- อาจเกิดการดื้อยานี้เมื่อใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอโซซอร์ไบด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไอโซซอร์ไบด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไอโซซอร์ไบด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้
- การใช้ยาไอโซซอร์ไบด์ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อาจก่อให้เกิดภาวะความดันโล หิตต่ำ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาไอโซซอร์ไบด์ร่วมกับยาลดความดันหลอดเลือดแดงในปอด (Pulmonary hy pertension) เช่น Tadalafil จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างมาก ควรเลี่ยงที่จะใช้ร่วม กัน
- การใช้ยาไอโซซอร์ไบด์ร่วมกับยาต้านฮีสตามีน (Histamine) เช่น Promethazine จะไป เพิ่มฤทธิ์ของการลดความดันโลหิต และอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป หากพบอาการข้างต้น ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ (พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด) เพื่อปรับแนวทางการรักษา
ควรเก็บรักษายาไอโซซอร์ไบด์อย่างไร?
ควรเก็บยาไอโซซอร์ไบด์ภายใต้อุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บ ยาให้พ้นแสงแดดและความชื้น ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาไอโซซอร์ไบด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไอโซซอร์ไบด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Corodil (โคโรดิล) | T.O. Chemicals |
Hartsorb (ฮาร์ทซอร์บ) | Siam Bheasach |
Imdex (อิมเด็กซ์) | CCM Pharma |
Ismo-20 (อีสโม-20) | Riemser |
Isobide (ไอโซไบด์) | Patar Lab |
Isobinate (ไอโซไบเนท) | General Drugs House |
Isoket (ไอโซเคท) | Schwarz Pharma |
Isoket 0.1% IV (ไอโซเคท 0.1% ไอวี) | Schwarz Pharma |
Isoket Spray (ไอโซเคท สเปรย์) | Schwarz Pharma |
Isopen-20 (ไอโซเพน-20) | Siam Bheasach |
Isorem (ไอโซเรม) | Remedica |
Isosorbide Dinitrate GPO (ไอโซซอร์ไบด์ ไดไนเตรท จีพีโอ) | GPO |
Isotrate (ไอโซเตรท) | Berlin Pharm |
Monolin/Monolin SR (โมโนลิน/โมโนลิน เอสอาร์) | Berlin Pharm |
Monosorb (โมโนซอร์บ) | GPO |
Monotrate (โมโนเตรท) | Sun Pharma |
Solotrate 20 (โซโลเตรท 20) | Zydus Cadila |
Sorbinate SR 60 (ซอร์ไบเนท เอสอาร์ 60) | Zydus Cadila |
Sornil (ซอร์นิล) | Utopian |
บรรณานุกรม
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/37#item-8409[2017,Sept23]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Isosorbide[2017,Sept23]
- http://mims.com/Thailand/drug/search/?q=isosorbide[2017,Sept23]
- http://www.drugs.com/dosage/isosorbide-mononitrate.html[2017,Sept23]
Updated 2017,Sept23