ยาไมเกรน ยาต้านไมเกรน (Antimigraine drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาไมเกรน

ยาต้านไมเกรนหมายถึงยาอะไร?

ยาต้านไมเกรน หรือ ยาไมเกรน(Antimigraine drugs หรือ Antimigraine medication) หมายถึง ยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบฉับพลัน หรือใช้เพื่อป้องกัน อาการ ลดความถี่ และลดความรุนแรงของการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน

ยาต้านไมเกรนแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ยาต้านไมเกรนแบ่งเป็นประเภทต่างๆตามกลุ่มฤทธิ์ยาได้ดังนี้

ก. ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบฉันพลัน/เฉียบพลัน (Drugs for acute migraine attack): ได้แก่

1. ยาแก้ปวด/ ยาลดไข้ ทั่วไป (Simple analgesics): ได้แก่ยา พาราเซตามอล (Paracetamol) หรืออะเซตามิโนเฟ่น (Acetaminophen)

2. ยาแก้ปวดและยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs): เช่น แอสไพริน (Aspirin),ไอบูโพรเฟ่น (Ibuprofen), นาพร็อกเซน (Naproxen), คีโตโรแลค (Ketorolac), ไดโคฟีแนค (Diclofenac), อินโดเมทาซิน (Indomethacin), เซเลค็อกสิบ (Celecoxib), อีโทริค็อกสิบ (Etoricoxib)

3. ยาแก้ปวดชนิดผสม (Combination analgesics): ได้แก่ ยาสูตรผสมระหว่างพาราเซตามอล แอสไพริน และคาเฟอีน/กาเฟอีน (Paracetamol + Aspirin + Caffeine), ยาสูตรผสมระหว่างพาราเซตามอลและฟีโนบาร์บิทาล (Paracetamol + Phenobarbital)

4. ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids): เช่นยา มอร์ฟีน (Morphine), ทรามา ดอล (Tramadol), โคดีอีน (Codeine)

5. ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนกลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์ (Ergot alkaloids): ได้แก่ เออร์กอตามีน (Ergotamine) ซึ่งมักผสมกับยาอื่น เช่น คาเฟอีน (Caffeine), ไดไฮโดรเออร์กอตามีน (Dihydroergotamine)

6. ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนกลุ่มทริปแทน (Triptans): เช่นยาซูมาทริปแทน (Sumatriptan), นาราทริปแทน (Naratriptan), โซลมิทริปแทน (Zolmitriptan)

ข. ยาป้องกันการเกิดอาการไมเกรน (Drugs used in the prophylaxis of migraine): ได้แก่

1. ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับเบต้า (Beta blockers): เช่นยา โพรพาโนลอล(Propranolol), อะทีโนลอล (Atenolol), เมโทโพลอล (Metoprolol), นาโดลอล (Nadolol), ทิโมลอล (Timolol), ไบโซโพรลอล (Bisoprolol)

2. ยาแก้/ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants, TCA): เช่นยา อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline), นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline), อิมิพรามีน (Imipramine)

3. ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นช่องแคลเซียม (Calcium channel blockers): เช่นยา เวอราปามิล (Verapamil), ดิลไทอะเซม (Diltiazem)

4. ยากันชัก (Antiepileptic drugs): เช่นยา กาบาเพนติน (Gabapentin), วาลโปรเอท (Valproate)/ หรือกรดวาลโปรอิก (Valproic acid), โทพิราเมท (Topiramate)

5. ยาต้านตัวรับซีโรโทนิน (Serotonin antagonist): เช่น เมทิเซอร์ไจด์ (Methysergide), ไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine)

6. โบทูไลนุม ทอกซิน ชนิดเอ(Botulinum Toxin type A, BOTOX)

ค. ยารักษาเสริมสำหรับอาการปวดศีรษะไมเกรน(Adjuvant therapy for migraine): ได้แก่

  • ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน (Antiemetic drugs): เช่นยา ดอมเพอริโดน (Domperidone), เมโทโคลพาไมด์ (Metoclopramide), โปรคลอเพอราซีน (Prochlorperazine), คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine)

ยาต้านไมเกรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาต้านไมเกรนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาเหน็บทวารหนัก (Suppositories)
  • ยาน้ำใส ชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
  • ยาพ่นจมูก (Nasal spray)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาต้านไมเกรนอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาต้านไมเกรน เช่น

1. ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบฉันพลัน: ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน ทั้งชนิดที่มีและไม่มีอาการเตือนล่วงหน้าก่อนการปวดศีรษะ(Aura)

2. ยาป้องกันการเกิดอาการไมเกรน: ซึ่งนอกจากใช้สำหรับป้องกันแล้ว ยังสามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามใช้ของกลุ่มยาบรรเทาอาการปวดในข้อ1 และ/หรือในผู้ป่วยที่ทนอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้ปวดไมเกรนบางชนิดไม่ได้ หรือในผู้ที่อาการปวดศีรษะไมเกรนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

3. ยาที่ใช้รักษาเสริม: โดยใช้บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการปวดศีรษะ ไมเกรน

มีข้อห้ามใช้ยาต้านไมเกรนอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาต้านไมเกรน เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ และห้ามใช้ยา Sumatriptan และ Naratriptan ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม Sulphonamides เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาชนิดรุนแรงได้

2. ห้ามใช้ยากลุ่ม Ergot alkaloids และยากลุ่ม Triptans ในผู้ที่ป่วยไมเกรนที่ป่วยร่วมด้วยกับโรคที่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดส่วนปลาย, โรคหลอดเลือดอุดตัน, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูงแบบที่ยังควบคุมไม่ได้, มีภาวะช็อก, ตับมีการทำงานบกพร่อง, ไตวายอย่างรุนแรง

3. ห้ามใช้ยากลุ่ม Ergot alkaloids ร่วมกับยาที่มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ (Enzyme Inhibitor) เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Macrolides, ยาต้าน HIV กลุ่ม Protease Inhibitors, ยาต้านเชื้อรากลุ่ม Azoles เนื่องจากยาเหล่านี้จะเพิ่มระดับยาของกลุ่ม Ergot alkaloids ในเลือด ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยากลุ่มErgot alkaloidsได้สูงขึ้น

4. ห้ามใช้ยากลุ่มที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว เช่น ยากลุ่ม Triptans, ยากลุ่ม Ergot alkaloids หรืออนุพันธ์ เช่น Methysergide, Serotonin receptor agonists, นิโคติน/Nicotine (ทั้งจากยาและการสูบบุหรี่) ร่วมกัน เพราะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเกิดการหดตัวนานขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายแย่ลง หลอดเลือดแดงส่วนปลาย(ส่วนแขนขา)ขาดเลือด (ผู้ป่วยจะมีอาการมือชา เท้าชา) และทำให้เกิดเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆตายจากขาดเลือด (Gangrene)

5. ห้ามใช้ยากลุ่ม Triptans ร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส (Monoamine oxidase inhibitors, MAOIs) เพราะอาจทำให้ระดับยากลุ่ม Triptans ในเลือดเพิ่มขึ้นจนเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้นหากต้องการใช้ยาร่วมกัน ต้องใช้ยากลุ่ม Triptans หลังจากหยุดยากลุ่ม MAOIs แล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไมเกรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไมเกรน เช่น

1. ไม่ควรใช้ยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนในการป้องกันอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไมเกรนสัมพันธ์กับรอบเดือน/รอบประจำเดือน ซึ่งสามารถใช้ยานี้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน และใช้ต่อเนื่องจนถึงวันสุดท้ายของการมีประจำเดือน

2. ไม่ควรรับประทานยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนบ่อยๆ หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจเกิดภาวะถอนยาเมื่อหยุดยา ส่งผลให้กลับมามีอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างรุนแรง (Rebound headache) หากมีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยากลุ่มที่ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย

3. ยากลุ่ม Ergot alkaloids ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา โดยอาการที่พบได้บ่อยคือ คลื่นไส้ อาเจียน จึงสามารถใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการดังกล่าวได้

4. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Triptans ร่วมกับยารักษา/ยาต้านโรคซึมเศร้ากลุ่ม Selective serotonin re-uptake inhibitor (SSRIs) หรือกลุ่ม Serotonin noradrenaline re-uptake inhibitors (SNRIs) เพราะอาจทำให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ผู้ป่วยและญาติควรเฝ้าสังเกตความผิดปกติของผู้ป่วย เช่น ภาวะความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไป กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ(เช่น กระตุกผิดปกติ) หากมีอาการรุนแรง ควรหยุดยานั้นๆ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

การใช้ยาต้านไมเกรนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านไมเกรนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็น ดังนี้ เช่น

1. เมื่อหญิงตั้งครรภ์มีอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบฉันพลันสามารถเริ่มใช้ยาแก้ปวดต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ Paracetamol, ยากลุ่ม NSIADs รุ่นเก่าที่มีการใช้มานานแล้ว เช่น Ibuprofen, Diclofenac, Naproxen และ Aspirin แต่ห้ามใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ (ตั้งครรภ์เดือนที่ 7-9) เพราะยาจะออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของมดลูก จึงทำให้คลอดช้าและอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดไหลไม่หยุดหลังคลอด(ภาวะตกเลือดหลังคลอด) และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids เพราะยานี้จะกดการหายใจและทำให้เกิดการติดยานี้ในทารกแรกเกิด

2. หากหญิงตั้งครรภ์มีอาการปวดศีรษะไมเกรนรุนแรง สามารถใช้ยาแก้ปวดไมเกรนกลุ่ม Triptans ได้ เช่น Sumatriptan, Zolmitriptan แต่ห้ามใช้ยากลุ่ม Ergot alkaloids ในหญิงตั้งครรภ์ตลอดอายุครรภ์ เพราะยานี้ เร่งการบีบตัวของมดลูก (Oxytoxic drug) และมีผลต่อการหดตัวของหลอดเลือดของรกและของสายสะดือของทารกในครรภ์ส่งผลให้ทารกขาดเลือดได้

3. ยาป้องกันการเกิดไมเกรนที่สามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์ได้ ได้แก่ ยากลุ่ม Beta blockers (เช่น Metoprolol, Propranolol, Bisoprolol) และยาต้านเศร้า/ยาโรคซึมเศร้า(เช่น Amitriptyline, Nortriptyline) แต่ไม่ควรใช้ยากันชักในหญิงตั้ง ครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

4. ยารักษาเสริมเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการปวดศีรษะไมเกรนที่ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ คือยา Metoclopramide โดยแพทย์จะเลือกใช้เป็นยาอันดับแรก

การใช้ยาต้านไมเกรนในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านไมเกรนในผู้สูงอายุควรเป็น ดังนี้ เช่น

1. เมื่อผู้สูงอายุมีอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบฉันพลันสามารถเริ่มใช้ยาแก้ปวดต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ Paracetamol, ยากลุ่ม NSIADs ที่ควรเลือกใช้คือ Celecoxib, Etoricoxib เพราะยาเหล่านี้ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่อระบบทางเดินอาหารได้น้อยกว่ายาNSAIDs ตัวอื่นๆ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือเกิดแผลในทางเดินอาหาร และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

2. ควรระวังการใช้ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนกลุ่ม Triptans และยากลุ่ม Ergot alkaloids ในผู้สูงอายุ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

3. ยาป้องกันการเกิดไมเกรนที่สามารถใช้ในผู้สูงอายุได้ ได้แก่ ยากลุ่ม Beta blockers เช่นยา Metoprolol, Propranolol, และยากันชัก เช่นยา Topiramate แต่ไม่ควรใช้ยาต้านซึมเศร้า เช่น Amitriptyline ในผู้สูงอายุ เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น วิตกกังวล สับสน กายใจไม่สงบ นอนไม่หลับ

4. ยารักษาเสริมเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการปวดศีรษะไมเกรนที่ใช้ได้ในผู้สูงอายุ คือยา Domeperidone ไม่ควรใช้ยา Metoclopramide, Chlorpromazine, เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ง่วงซึม และเกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว

การใช้ยาต้านไมเกรนในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านไมเกรนในเด็กควรเป็น ดังนี้ เช่น

1. เมื่อเด็กมีอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบฉันพลัน สามารถเริ่มใช้ยาแก้ปวดต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ยา Paracetamol, ยากลุ่ม NSIADs เช่นยา Ketorolac, Naproxen, Indomethacin ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids เพราะยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาเพียงพอในการใช้กับเด็ก และสามารถใช้ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนกลุ่ม Triptans หรือ Dihydroergotamine ได้ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

2. ยาป้องกันการเกิดไมเกรนที่ใช้ได้ผลดีในเด็ก คือ ยากลุ่ม Beta blockers และกลุ่ม Serotonin antagonist

3. ยารักษาเสริมเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการปวดศีรษะไมเกรนที่ควรเลือกใช้ในเด็ก ได้แก่ยา Prochlorperazine, Metoclopramide

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต้านไมเกรนเป็นอย่างไร?

มีอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาต้านไมเกรน ดังนี้ เช่น

1. ยา Paracetamol: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ง่วงซึม สับสน การทำงานของตับผิดปกติ

2. ยากลุ่ม NSAIDs: ทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องเสีย เกิดแผลในทางเดินอาหาร เลือดออกในทางเดินอาหาร ยับยั้งการรวมตัวกันของเกล็ดเลือดส่งผลทำให้เลือดหยุดไหลช้า บวมน้ำ ไตวาย

3. ยาระงับปวด/ยาแก้ปวด Opioids: ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม มึนงง ท้องผูก หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ ติดยา กดการหายใจ ประสาทหลอน

4. ยากลุ่ม Ergot alkaloids: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ และอาการไม่พึงประสงค์จากยาชนิดรุนแรง ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายขาดเลือด (Ergotism) ทำให้เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้าซึ่งนำไปสู่การเกิดเนื้อตาย ดังนั้น หากเกิดอาการดังกล่าว ควรหยุดยานี้และรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

5. ยากลุ่ม Triptans: ทำให้เกิดอาการ มึนงง ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้า อ่อนแรง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดโคโรนารี(Coronary artery)ที่หัวใจหดตัว

6. ยาแก้/ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก: ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง เวียนศีรษะ สับสน นอนไม่หลับ ประสาทหลอน ปากแห้ง ตาพร่า ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด

7. ยากลุ่ม Beta blockers: ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำโดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยได้รับยานี้ครั้งแรก หรือมีการปรับขนาดยาเพิ่ม อาการอื่นๆ ได้แก่ หัวใจเต้นช้า มึนงง เหนื่อยล้า อ่อนแรง ภาวะบวมน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

8. ยากลุ่ม Calcium channel blockers: ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ มีอาการบวมที่อวัยวะต่างๆ เช่น ข้อเท้าหรือเท้า การมองเห็นหรือการได้ยินเปลี่ยนแปลงไป

9. ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน: ทำให้ ง่วงซึม สับสน ความดันโลหิตต่ำ เกิดความผิดปกติที่สมองชนิดเอ็กทาร์พิรามิดัล/ชนิดเกี่ยวกับการเคลื่นไหวของกล้ามเนื้อ (Extrapyramidal side effects) เช่น ภาวะลูกตาจ้องตรึง เดินตัวแข็ง กล้ามเนื้อแข็ง มือสั่น เป็นต้น

10. ยากันชัก: ได้แก่ ยา Gabapentin ทำให้ง่วงนอน ง่วงซึม เวียนศีรษะ น้ำหนักตัวเพิ่ม, ยา Valproate ทำให้ มือสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ผมร่วง น้ำหนักตัวเพิ่ม ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ, ยาTopiramate ทำให้มึนงง เดินเซ ความคิดช้า การพูดผิดปกติเช่น ทำให้คนไข้นึกคำไม่ออกหรือใช้คำผิด น้ำหนักตัวลด นิ่วในไต ต้อหิน เหงื่อออกน้อย

11. ยากลุ่ม Serotonin antagonist: ทำให้รู้สึกไม่สบาย ง่วงซึม มึนงง ปวดท้อง นอกจากนี้ยา Cyproheptadine ยังทำให้เกิดอาการ ปากแห้ง ตาพร่า ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก

12. ยา Botulinum Toxin type A: ทำให้เกิดอาการ ปวด กดเจ็บ แสบร้อนบริเวณที่ฉีดยา กลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงกับที่ฉีดยาเป็นอัมพาตเมื่อฉีดยาผิดตำแหน่ง

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาต้านไมเกรน) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Hershey, L.A. and Bednarczyk, E.M. Treatment of Headache in the Elderly. Current Treatment Options in Neurology 15 (2013) : 56-62.
  2. Robertson, W.C., and others. Migraine in Children. [Online]. 2016. Available from : http://emedicine.medscape.com/article/1179268-overview [2017,February 16]
  3. Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.
  4. รัตนา แต้ศิริ. การจัดการกับอาการปวดศีรษะไมเกรน. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล 17 (มกราคม – เมษายน 2550). 67-76.
  5. กิติยศ ยศสมบัติ. Comprehensive Pharmacy Review. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นานนะภงค์, 2555.