ยาไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 ตุลาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาไพราซินาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาไพราซินาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไพราซินาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไพราซินาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไพราซินาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไพราซินาไมด์ย่างไร?
- ยาไพราซินาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไพราซินาไมด์ย่างไร?
- ยาไพราซินาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วัณโรค (Tuberculosis)
- ไอโซไนอาซิด (Isoniazid)
- ยาไรแฟมพิน/ไรแฟมพิซิน (Rifampin/Rifampicin)
- วัณโรคปอดในเด็ก (Childhood tuberculosis)
บทนำ
ยาไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide) เป็นยาที่ใช้รักษาวัณโรค โดยต้องใช้ร่วมกับยารักษาวัณโรคตัวอื่น เช่น Isoniazid, Rifampicin ทั้งนี้ไพราซินาไมด์ไม่ได้ถูกใช้เพื่อรักษาวัณโรคปอดเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปรักษาวัณโรคซึ่งมีการติดเชื้อที่บริเวณเยื่อหุ้มสมองอีกด้วย ข้อบ่งใช้ของยานี้ค่อนข้างจะเจาะจงกับเชื้อวัณโรคที่มีชื่อว่า Mycobacterium bovis และ Mycobacterium leprae
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า หลังรับประทาน ไพราซินาไมด์จะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารมากกว่า 90% เมื่อยาเข้ากระแสเลือด จะถูกลำเลียงไปที่ตับเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี ร่างกายต้องใช้เวลา 9 - 10 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปพร้อมกับน้ำปัสสาวะ
ไพราซินาไมด์ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งและดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น อีกทั้งต้องมีคำแนะนำกับผู้ป่วยอย่างเคร่งครัดและถือเป็นข้อปฏิบัติที่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง จึงจะมีประสิทธิผลในการเยียวยาวัณโรคให้หายขาดได้
ยาไพราซินาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร
ยาไพราซินาไมด์มีสรรพคุณใช้รักษาวัณโรคทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่
ยาไพราซินาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไพราซินาไมด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Fatty acid synthase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำให้แบคทีเรียสังเคราะห์กรดไขมันสำหรับตัวเอง นอกจากนี้ไพราซินาไมด์ยังเข้าไปจับกับโปรตีนชนิด Ribosomal protein S1 มีผลยับยั้งกระบวนการ Trans-translation (กระบวนการสร้างโปรตีนในแบคทีเรีย) ด้วยกลไกข้างต้น จึงส่งผลทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตในที่สุด
ยาไพราซินาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไพราซินาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาไพราซินาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไพราซินาไมด์มีขนาดรับประทานดังนี้
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 20 - 35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 กรัม/วัน
- เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัว ความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์
***** หมายเหตุ: ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไพราซินาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไพราซินาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไพราซินาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาไพราซินาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไพราซินาไมด์อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น มีอาการปวดข้อ ก่อให้เกิดโรคเกาต์กำเริบโดยลดการขับกรดยูริคออกจากร่างกาย เป็นพิษกับตับ นอกจากนี้ ผลข้างเคียงอื่นที่ยังอาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผื่นคัน ลมพิษ ปัสสาวะขัด ไตอักเสบ และมีไข้
มีข้อควรระวังการใช้ยาไพราซินาไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไพราซินาไมด์ดังนี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไพราซินาไมด์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเกาต์
- ไพราซินาไมด์อาจก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ โรคเกาต์กำเริบ ควรแนะนำให้ผู้ผู้ป่วยทราบเมื่อต้องใช้ยานี้ ต้องติดตามอาการโรคดังกล่าว และต้องหยุดการใช้ยานี้หากพบว่ามีอาการของโรคตับและโรคเกาต์กำเริบ
- ระมัดระวังในการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยาไพราซินาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไพราซินาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไพราซินาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้
- การใช้ยาไพราซินาไมด์ร่วมกับยารักษาวัณโรคตัวอื่น เช่น Rifampicin อาจก่อความเสี่ยงเกิดความเป็นพิษกับตับ (ตับอักเสบ) หากต้องใช้ยาร่วมกัน ควรควบคุมติดตามเฝ้าระวังโดยการตรวจผลเลือดที่จะบอกภาวะหน้าที่ของตับว่ายังปกติหรือไม่
- การใช้ยาไพราซินาไมด์ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เช่น Cyclosporine อาจส่งผลให้ฤทธิ์ของการรักษาของ Cyclosporine ด้อยประสิทธิภาพลง ควรปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาไพราซินาไมด์ร่วมกับยารักษาโรคข้อรูมาตอยด์ เช่น Methotexate จะทำให้ตับทำงานผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาไพราซินาไมด์อย่างไร?
ควรเก็บยาไพราซินาไมด์ที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาไพราซินาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไพราซินาไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Pyramide (ไพราไมด์) | Pharmasant Lab |
Pyrazinamide Atlantic (ไพราซินาไมด์ แอทแลนติก) | Atlantic Lab |
Pyrazinamide GPO (ไพราซินาไมด์ จีพีโอ) | GPO |
Pyrazinamide Lederle (ไพราซินาไมด์ ลีเดอเริล) | Wyeth |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Pyrazinamide [2014,Sept 20]
2 http://mims.com/Thailand/drug/search/?q=Pyrazinamide [2014,Sept 20]
3 http://www.drugs.com/drug-interactions/pyrazinamide.html [2014,Sept 20]
4 http://www.mims.com/USA/drug/search/?q=pyrazinamide [2014,Sept 20]
5 http://www.mims.com/Thailand/Drug/info/Pyrazinamide%20Atlantic/?type=brief [2014,Sept 20]