ยาโรคไทรอยด์ (Thyroid medication)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาโรคไทรอยด์

ยาไทรอยด์หมายถึงอะไร?

ยาโรคไทรอยด์ หรือยารักษาโรคไทรอยด์ หรือ เรียกสั้นๆว่า ยาไทรอยด์(Thyroid medication หรือ Thyroid drug หรือ Antithyroid drug) เป็นยาที่ใช้รักษาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ในภาวะที่ “ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน(Hyperthyroidism) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวะ/โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือภาวะ/โรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง หรือ ภาวะ/โรคไทรอยด์ฮอร์โมนเกิน(Hyperthyroidism หรือ Thyrotoxicosis),” และอีกกรณีคือ ใน “ภาวะ/โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หรือภาวะ/โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย หรือภาวะ/โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือภาวะ/โรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือภาวะ/โรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน(Hypothyroidism)”

ยาไทรอยด์แบ่งเป็นกี่กลุ่ม?

ยาโรคไทรอยด์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามภาวะของโรคไทรอยด์/โรคต่อมไทรอยด์ ได้แก่ กลุ่มยาที่ใช้รักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ไทรอยด์ฮอร์โมนสูง , และกลุ่มยาที่ใช้รักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน/ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ

ก.กลุ่มยาที่ใช้รักษาภาวะ/โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ:

1. ยาต้านไทรอยด์ (Thioamide antithyroid drugs): เช่นยา โพรพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil, PTU), เมไธมาโซล (Methimazole, MMI), คาร์ไบมาโซล (Carbimazole)

2. สารกัมมันตรังสีไอโอดีน/น้ำแร่รังสีไอโอดีน (Radioactive Iodine) ได้แก่ ไอโอดีน- 131 (Iodine-131, 131I) อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “น้ำแร่รังสีไอโอดีน”

3. ยาที่ใช้เพื่อการรักษาเสริม (Adjunctive therapy): เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่างๆของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เช่น อาการใจสั่น/หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น เช่นยา

  • ยาปิดกั้นตัวรับเบต้า (Beta Blockers): เช่นยา โพรพราโนลอล (Propranolol), เมโทโพรลอล (Metoprolol), อะทีโนลอล (Atenolol)
  • ยาปิดกั้นฤทธิ์แคลเซียม (Calcium channel blockers): เช่นยา เวอราพามิล (Verapamil), ดิลไทอะเซม (Diltiazem)
  • ยาในกลุ่มไอโอไดด์(Iodide): เช่น โพแทสเซียมไอโอไดด์ หรือสารละลายลูกอล (Potassium iodide หรือ Lugol’s solution), สารละลายอิ่มตัวยิ่งยวดของโพแทสซียมไอโอไดด์ (Supersaturated potassium iodide solution, SSKI)
  • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids): เช่นยา เดกซาเมทาโซน (Dexamathasone)

ข. ยาที่ใช้รักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: ได้แก่ ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน (Thyroid hormone replacement therapy) เช่นยา เลโวไทรอกซีน (Levothyroxine, L-thyroxine), ไลโอไทโรนีน (Liothyronine), ไลโอทริกซ์ (Liotrix), สารสกัดไทรอยด์ (Desiccated thyroid หรือ Thyroid extract)

ยาไทรอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไทรอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

ก. ยาที่ใช้รักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ: อยู่ในรูปแบบ เช่น ยาเม็ด (Tablet), ยาแคปซูล (Capsule), ยาน้ำเชื่อม (Syrup), ยาน้ำใส (Solution), ยาฉีด (Injection), ยาสวนทวาร (Enema), ยาเหน็บทวาร (Suppository)

ข. ยาที่ใช้รักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: อยู่ในรูปแบบ เช่น ยาเม็ด (Tablet), ยาแคปซูล (Capsule), ยาฉีด (Injection)

มีข้อบ่งใช้ยาไทรอยด์อย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาไทรอยด์ ดังนี้

ก. ยาที่ใช้รักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ : ข้อบ่งใช้ ได้แก่

  • ยาต้านไทรอยด์: ใช้รักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษโดยทั่วไป
  • สารกัมมันตรังสี/น้ำแร่รังสีไอโอดีน: ใช้รักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษในกรณีที่คนไข้กลับมาเป็นซ้ำหลังการรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ หรือหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ในการรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ, ใช้ทำลายเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด, ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยา/กินยาต้านไทรอยด์
  • ยากลุ่มBeta Blockers และ Calcium channel blockers: เป็นยาที่ใช้ลดอาการและลดอาการแสดงต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น เหงื่อออกมาก วิตกกังวล
  • ไอโอไดด์: ใช้ก่อนการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ที่เป็นพิษ เพื่อให้เลือดมาเลี้ยงต่อมไทรอยด์ลดลง ช่วยให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
  • ยากลุ่ม Corticosteroids: ใช้รักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษระยะ รุนแรง ที่เรียกว่า ต่อมไทรอยด์เป็นพิษวิกฤติ (Thyroid Crisis)

ข. ยาที่ใช้รักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน : ข้อบ่งใช้ ได้แก่ ใช้เป็นฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนในภาวะร่างกายขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

มีข้อห้ามใช้ยาไทรอยด์อย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาไทรอยด์ ดังนี้ เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ

2. ยาโรคไทรอยด์ต้องใช้ให้ถูกต้องตามภาวะของโรค ตัวอย่างเช่น ห้ามใช้ ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนในภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

3. ห้ามหยุดยาเหล่านี้ หรือเพิ่ม ลดขนาดยาเหล่านี้เอง เพราะอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล หรือกลับมาเป็นโรคซ้ำได้

4. ห้ามใช้ยาต้านไทรอยด์ในผู้ป่วยที่ มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Agranulocytosis) มีตับวายเฉียบพลัน และมีการอักเสบของหลอดเลือด/หลอดเลือดอักเสบ

มีข้อควรระวังในการใช้ยาไทรอยด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาไทรอยด์ ดังนี้ เช่น

1. ผู้ป่วยที่ได้รับสารกัมมันตรังสีไอโอดีน ไม่ควรอยู่ใกล้ เด็ก และใกล้หญิงตั้ง ครรภ์ ตามระยะเวลาที่แพทย์ พยาบาล แนะนำ เพราะอาจมีรังสีปลดปล่อยออกมาจากร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้

2. การใช้ยา Levothyroxine ร่วมกับยาอื่นๆต่อไปนี้ อาจทำให้ระดับของยา Levothyroxine ในเลือดลดลงจนขาดประสิทธิภาพในการรักษา เช่นยา Sucrafate, Cholestyramine, Rifampicin และยายับยั้งการหลั่งกรด/ยาลดกรด กลุ่ม Proton pump inhibitors เป็นต้น

การใช้ยาไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ คือ

ก. ยาที่ใช้รักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ:

  • ยาที่ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรคือ กลุ่มยาต้านไทรอยด์ ได้แก่ Propylthiouracil เพราะยานี้ผ่านออกจากรกและน้ำนมได้น้อย ในทางกลับกัน ยา Methimazole เป็นยาที่ต้องระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะยาผ่านออกจากรกได้ และอาจทำให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กําเนิด (Congenital hypothyroidism)ได้
  • สารกัมมันตรังสีไอโอดีน เป็นยาที่ห้ามใช้ทั้งในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และต้องระวังการใช้ในผู้หญิงที่วางแผนตั้งครรภ์ภายใน 4-6 เดือนข้างหน้า เพราะยานี้ อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

ข. ยาที่ใช้รักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: ยาที่ใช้เป็นตัวเลือกแรก ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร คือยา Levothyroxine โดยแพทย์จะตรวจติดตามการเจริญเติบโตรวมถึงขนาดต่อมไทรอยด์ของทารกในครรภ์สม่ำเสมอ

การใช้ยาไทรอยด์ในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาไทรอยด์ในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

ก. ยาที่ใช้รักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ: ยาที่ใช้ในผู้สูงอายุ คือ ยาต้านไทรอยด์ และสารกัมมันตรังสีไอโอดีน แต่ต้องคอยเฝ้าระวังการทำงานของหัวใจ เพราะอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากยานี้ในระยะยาว คือ ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ที่จะส่งผลให้หัวใจเต้นช้า ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคหัวใจเป็นโรคร่วม

ข. ยาที่ใช้รักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: ยาที่ใช้เป็นตัวเลือกแรก คือยา Levothyroxine โดยแพทย์จะเริ่มจากขนาดยาต่ำๆก่อน แล้วค่อยๆปรับขนาดยาให้สูงขึ้น เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยสูงอายุสามารถปรับตัวกับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่เพิ่มขึ้นได้ เพราะหากระดับฮอร์โมนไทรอยด์เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป อาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและต่อระบบประสาทส่วนกลางของผู้สูงอายุได้

นอกจากนี้ ยังควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุได้ เช่น ภาวะเจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มึนงง นอนไม่หลับ เป็นต้น

การใช้ยาไทรอยด์ในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาไทรอยด์ในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

ก. ยาที่ใช้รักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ: ยาที่ใช้ได้ในเด็ก คือยาต้านไทรอยด์ ในขณะที่สารกัมมันตรังสีไอโอดีน ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้

ข. ยาที่ใช้รักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: ยาใช้เป็นตัวเลือกแรก คือยา Levothyroxine นอกจากนี้ในเด็กที่มีภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน แต่ยังไม่มีอาการแสดงใดๆ ก็ควรได้รับการรักษาด้วยยานี้เช่นกัน เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดความผิดปกติในการเจริญเติบโต เพื่อช่วยส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามวัยได้อย่างสมบูรณ์

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาไทรอยด์เป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาไทรอยด์ ที่พบได้ เช่น

1. ยาต้านไทรอยด์: อาจทำให้เกิดพิษต่อตับ/ตับอักเสบ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกิดการอักเสบของหลอดเลือด/หลอดเลือดอักเสบ ผื่นคันตามตัว ปวดข้อ มีไข้

2. สารกัมมันตรังสีไอโอดีน/น้ำแร่รังสีไอโอดีน: อาจทำให้มีอาการบวม เจ็บ ที่ต่อมไทรอยด์, เกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

3. ไอโอไดด์: อาจทำให้มี ไข้สูง ผื่นคัน เยื่อตาอักเสบ เจ็บเหงือกและฟัน มีน้ำลายหลั่งมาก

4. ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน: อาจทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว

สรุป

  • เมื่อมีการใช้ยาไทรอยด์ ผู้ป่วยควรต้องทราบว่า เป็นการรักษาโรค/ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ไทรอยด์ฮอร์โมนสูง หรือ โรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไทรอยด์) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. สมทรง ลาวัณย์ประเสริฐ. ยาที่ออกฤทธิ์คล้าย และต้านฮอร์โมนธัยรอยด์ (Thyroid and antithyroid drugs. กรุงเทพมหานคร: คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553. (อัดสําเนา)
  2. กิติยศ ยศสมบัติ. Comprehensive Pharmacy review. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: นานนะภงค์; 2554.
  3. วัลยา จงเจริญประเสริฐ. การดูแลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการทำงานของต่อมไทรอยด์ http://med.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/Patients%20with%20thyroid%20dysfunction.pdf [2016,Nov12]
  4. เจษฎา ใจพรหม และธีระ ทองสง. ภาวะการทำงานผิดปกติของต่อมธัยรอยด์ในสตรีตั้งครรภ์ http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=842:thyroid-disorders-in-pregnancy&catid=45&Itemid=561 [2016,Nov12]
  5. American Thyroid Association. Thyroid Disease in the Older Patient http://www.thyroid.org/thyroid-disease-older-patient/ [2016,Nov12]