ยาโรคจิต ยารักษาโรคจิต (Neuroleptics or Antipsychotics or Major tranquilizers)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 ตุลาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ยารักษาโรคจิตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยารักษาโรคจิตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยารักษาโรคจิตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยารักษาโรคจิตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยารักษาโรคจิตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคจิตอย่างไร?
- ยารักษาโรคจิตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายารักษาโรคจิตอย่างไร?
- ยารักษาโรคจิตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคจิต (Psychosis)
- อารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพล่า (Bipolar disorder)
- สมองเสื่อม (Dementia)
- Autism
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
บทนำ
ยาโรคจิต หรือยารักษาโรคจิต (Neuroleptics or Antipsychotics or Major tranquilizers) เป็นกลุ่มยาที่ถูกนำมาบำบัดอาการทางจิตประสาท อาการหลงผิด (Delusion) ประสาทหลอน (Hallu cination) และโรคจิตประเภทไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) ปัจจุบันยากลุ่มนี้ได้ขยายประสิทธิผลโดยนำไปรักษาโรคที่ไม่จัดอยู่ในประเภทโรคจิตอีกด้วย (Non-psychotic disorders) เช่น กรณีโรคสมองเสื่อม (Dementia) แต่ในกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมมักจะได้รับยารักษาโรคจิตเป็นทางเลือกหลังๆกล่าวคือ แพทย์จะใช้วิธีการรักษาอื่นก่อนเช่น ให้ยาวิตามินเสริม หรือรักษาอาการโรคที่เป็นต้นเหตุเช่น เนื้องอกสมอง มีของเหลวคั่งในสมองมาก/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ได้รับบาดแผลทางศีรษะ มีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 หรือสูบบุหรี่จัด เป็นต้น แม้แต่กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุแพทย์จะไม่ใช้ยารักษาโรคจิตเป็นทางเลือกแรกในการรักษาโรคสมองเสื่อม
ปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้ยารักษาโรคจิตมีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆเมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ประกอบกับมีรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยารักษาโรคจิตได้ถูกผลิตออกมาทั้งยารับประทานที่ออกฤทธิ์ได้นาน (Extended release form) รวมถึงกลุ่มยาฉีดที่ต้องใช้ในสถานพยาบาลซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยได้มากขึ้น ทำให้ธุรกิจของยารักษาโรคจิตขยายตัวอย่างรวดเร็ว
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้อยู่ที่สมองเป็นหลักโดยเฉพาะทำให้มีการปิดกั้นการทำงานของตัวรับ (Receptor) ในสมองที่มีชื่อว่า D2 receptors (Dopamine receptor) และส่งผลต่อสารสื่อประ สาทของสมองที่มีชื่อว่า Dopamine ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอาการป่วยทางจิต
ทางคลินิกอาจจัดกลุ่มยารักษาโรคจิตออกเป็น 2 หมวดใหญ่ๆดังนี้
1. ยารักษาโรคจิตในรุ่นที่ 1 หรือเรียกว่า Typical antipsychotics: ยากลุ่มนี้ยังแบ่งออกเป็นหมวดย่อยตามลักษณะโครงสร้างเคมีของตัวยาได้ดังนี้
1.1 Butyrophenones: เช่น Benperidol, Bromperidol, Droperidol, Haloperidol, Pipamperone, Timiperone
1.2 Diphenylbutylpiperidine: เช่น Fluspirilene, Penfluridol, Pimozide
1.3 Phenothiazines: เช่น Cyamemazine, Dixyrazine, Fluphenazine, Levomepromazine, Mesoridazine, Perazine, Pericyazine, Perphenazine, Pipotiazine, Promazine, Prochlorpera zine, Promethazine, Prothipendyl, Thioproperazine, Thioridazine, Trifluoperazine, Triflupro mazine
1.4 Thioxanthenes: Chlorprothixene, Clopenthixol, Flupentixol, Thiothixene, Zuclopenthixol
1.5 ตัวยาอื่นๆ: เช่น Clotiapine, Loxapine, Prothipendyl
2. ยารักษาโรคจิตรุ่นที่ 2 หรือที่เรียกว่า Atypical antipsychotics: เช่นรายการยาดังต่อไป นี้ Amisulpride, Amoxapine, Aripiprazole, Asenapine, Clozapine, Blonanserin, Iloperidone, Lurasidone, Melperone, Nemonapride, Olanzapine, Paliperidone, Perospirone, Quetia pine, Remoxipride, Risperidone, Sertindole, Trimipramine, Ziprasidone, Zotepine
นอกจากนี้ยังมียาอีกกลุ่มถูกจัดรวมให้เป็นได้ทั้งยารุ่นที่ 1 และยารุ่น 2 อาจจะเป็นผลมาจากเหตุผลของการออกฤทธิ์ของตัวยาเป็นสำคัญ ตัวอย่างของยากลุ่มนี้เช่น Carpipramine, Clocapra mine, Molindone, Mosapramine, Sulpiride, Sultopride, Veralipride
ข้อแตกต่างระหว่างยารุ่นที่ 1 Typical antipsychotics และ ยารุ่นที่ 2 Atypical antipsy chotics คือ
- Typical antipsychotics จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Dopamine
- ในขณะที่ Atypical antipsychotics จะยับยั้งการทำงานของ Dopamine และยังส่งผลต่อระดับของสารสื่อประสาทอีกตัวที่มีชื่อว่า Serotonin ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกายของผู้ป่วยโรคจิตอีกด้วย
ซึ่งจะเลือกใช้ยารักษาโรคจิตตัวไหนนั้นขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาและการตอบสนองของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
การใช้ยากลุ่มรักษาโรคจิตให้เห็นประสิทธิผลอาจต้องใช้เวลานานประมาณ 1 เดือนเป็นอย่างต่ำ ซึ่งก็น่าเพียงพอที่จะวิเคราะห์ออกว่ายาที่ใช้อยู่เหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่ อาจมีคำถามจากญาติผู้ป่วยว่าต้องใช้ยาเป็นเวลานานเท่าใด อาจตอบในแนวทางกลางๆว่า ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยว่าดีขึ้นจนเหมาะสมที่แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาหยุดการใช้ยาหรือยัง ความเห็นของแพทย์ผู้รักษาจะช่วยตัดสินใจว่าสมควรให้ใช้ยาต่อหรือให้หยุดการใช้ยา ดังนั้นการจะใช้ยารัก ษาโรคจิตชนิดใดและใช้นานเท่าไรนั้นขึ้นกับลักษณะอาการของผู้ป่วย อายุ ความรุนแรง และระยะของโรคเป็นสำคัญ ผู้ป่วยต้องใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามปรับเปลี่ยนหรือซื้อหายามารับประทานเองโดยเด็ดขาด
ยารักษาโรคจิตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยารักษาโรคจิตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดรักษาอาการของโรคจิตเภท (Schizophrenia) เช่น อาการหลงผิดหรือมีภาวะประสาทหลอน
- รักษาอาการโรคอารมณ์สองขั้ว/ไบโพลาร์ (Bipolar disorder) โรคอารมณ์แปรปรวน (Mania)
- รักษาโรคสมองเสื่อม/จิตเสื่อม (Dementia)
- รักษาภาวะซึมเศร้าขั้วเดียว (Unipolar depression)
- รักษาอาการอื่นๆเช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder) โรคเครียดจากเหตุสะเทือนใจ (Posttraumatic stress disorder) บุคลิกภาพแปรปรวน (Personality disorders) โรคทูเร็ตต์ (Tourette’s syndrome, โรค/กลุ่มอาการที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ) และโรคออทิซึม (Autism)
ยารักษาโรคจิตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
อาจแบ่งกลไกการออกฤทธิ์ของยารักษาโรคจิตตามกลุ่มหรือรุ่นของยาได้ดังนี้
ก. ยารุ่นที่ 1/Typical antipsychotics: จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานที่ตัวรับ D2 receptors ในสมอง ส่งผลรบกวนการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Dopamine ส่งผลให้เกิดสมดุลของสารสื่อประสาทที่เหมาะสมทำให้อาการผู้ป่วยพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
ข. ยารุ่นที่ 2/Atypical antipsychotics: จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานที่ตัวรับ D2 receptors ในสมองเช่นเดียวกับกลุ่ม Typical antipsychotics ส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของสาร Dopamine ในสมอง และยังออกฤทธิ์ต่อตัวรับอีกจำพวกที่มีชื่อว่า Serotonin receptors (5-hydroxytryptamine/5-HT receptor) โดยเฉพาะตัวย่อยๆที่มีชื่อเรียกว่า 5-HT2A และ 5-HT2C receptors ส่งผลให้อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่เรียกว่า Extrapyramidal side effect (การเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อ/ของร่างกาย) ลดน้อยลงและยังทำให้อาการทางจิตของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย
การออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัวยาจะมีความแตกต่างกันทั้งนี้มาจากโครงสร้างทางเคมีของตัวยาที่ต่างกัน ประกอบกับการออกฤทธิ์ที่ตำแหน่งตัวรับใดในสมอง ยังรวมไปถึงระยะเวลาของการกำจัดตัวยาเหล่านี้ของร่างกาย และการจับตัวรวมกันระหว่างโปรตีนในเลือดกับตัวยาเหล่านี้ที่แตกต่างกัน ซึ่งล้วนส่งผลให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้สั้นหรือยาวนานและมีความแตกต่างกันออกไปในการออกฤทธิ์
ยารักษาโรคจิตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยารักษาโรคจิตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาชนิดรับประทานทั้งชนิดเม็ด-แคปซูล และยาน้ำ
- ยาฉีด
ยารักษาโรคจิตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยารักษาโรคจิตย่อมขึ้นกับลักษณะของอาการโรครวมถึงอายุ ความแข็งแรง โรคประจำตัวของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งรวมถึงมีหลายกรณีที่แพทย์ผู้รักษาต้องสั่งจ่ายยาอื่นๆในการร่วมรักษาด้วย ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และไม่ควรปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานด้วยตนเอง
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยารักษาโรคจิต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยารักษาโรคจิตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยารักษาโรคจิตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยารักษาโรคจิตให้ตรงเวลาเสมอ
ยารักษาโรคจิตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยารักษาโรคจิตมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
ก. อาการข้างเคียงจากยากลุ่มรุ่นที่ 1/Typical antipsychotics มีดังนี้เช่น วิงเวียน มีอาการ ตัวสั่น ปากแห้ง ท้องผูก ตาพร่า อารมณ์แปรปรวน คัดจมูก น้ำหนักเพิ่ม ตึงคัดเต้านม มีน้ำนมไหล ประจำเดือนมาผิดปกติ (ในสตรี) กล้ามเนื้อเกร็งตัว/เป็นตะคริว
ข. อาการข้างเคียงของยากลุ่มรุ่นที่ 2/Atypical antipsychotics จะมีความแตกต่างออก ไปเล็กน้อยเช่น ทำให้น้ำหนักเพิ่ม เสี่ยงกับภาวะเบาหวาน มีอาการสั่น ง่วงนอน อ่อนแรง ความรู้สึกทางเพศถดถอย ประจำเดือนมาผิดปกติ (ในสตรี) เกิดอาการน้ำนมไหล เป็นต้น
ทั้งนี้อาการข้างเคียงต่างๆดังกล่าวอาจเกิดได้มากขึ้นตามปริมาณยาที่ร่างกายได้รับเข้าไป ซึ่งอาจควบคุมบรรเทาอาการข้างเคียงต่างๆได้โดย
- ควบคุมการบริโภคอาหารอย่างเหมาะสมเช่น รับประทานอาหารที่ไขมันต่ำ หวานน้อย รับประทานอาหารที่มีกากใยมาก ลดภาวะกินจุกจิก
- การลุก เดิน นั่ง ให้ทำในกิริยาอาการช้าๆเพื่อป้องกันอาการวิงเวียน เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคจิตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคจิตเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับในระยะรุนแรง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยที่มีภาวะไขกระดูกไม่ทำงาน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำหรือโรคความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะโคม่า
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจแบบเรื้อรัง
- การใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง ด้วยยาหลายตัวห้ามใช้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะเป็นผู้คัดเลือกตัวยาได้อย่างเหมาะสมให้กับผู้ป่วย
- การใช้ยาทุกตัวมีระยะเวลาของการรักษา หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 เดือนหลังจากการใช้ยาควรกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยารักษาโรคจิตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยารักษาโรคจิตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยารักษาโรคจิตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยา Chlorpromazine ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs มีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Haloperidol ร่วมกับยานอนหลับหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สามารถทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้ สมควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Bromperidol ร่วมกับยา Levodopa อาจเป็นสาเหตุให้เกิดผลข้างเคียงที่สูงขึ้นของ ยา Bromperidol ติดตามมาได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยา Pimozide ร่วมกับยากลุ่ม SSRIs อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติในการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้นซึ่งมีสาเหตุจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองหรือที่เรียกว่า Extrapyramidal side effects หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายารักษาโรคจิตอย่างไร?
ควรเก็บยารักษาโรคจิตตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้ เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยารักษาโรคจิตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยารักษาโรคจิตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Clopaze (โคลแพซ) | Pharminar |
Cloril (โคลริล) | Atlantic Lab |
Clozamed (โคลซาเมด) | Medifive |
Clozaril (โคลซาริล) | Novartis |
Clozapin (โคลซาปิน) | Central Poly Trading |
Halomed (ฮาโลเมด) | Medifive |
Halo-P (ฮาโล-พี) | P P Lab |
Haloperidol GPO (ฮาโลเพอริดอล จีพีโอ) | GPO |
Halopol (ฮาโลพอล) | General Drugs House |
Halox (ฮาล็อกซ์) | Ranbaxy |
Haricon (ฮาริคอน) | Condrugs |
Haridol (ฮาริดอล) | Atlantic Lab |
Haridol Decanoate (ฮาริดอล เดคาโนเอด) | Atlantic Lab |
H-Tab (เฮท-แทป) | Pharmaland |
Polyhadon (โพลีฮาดอน) | Pharmasant Lab |
LARAP (ลาแรพ) | La Pharma |
MOZEP (โมเซพ) | Intas |
NEURAP (นูแรพ) | Torrent |
NOTIC (โนติค) | Sunrise |
ORAP (โอแรพ) | J & J (Ethnor) |
PIMOZ (พิมอซ) | Swiss Biotech |
R-ZEP (อาร์-เซพ) | Reliance |
Neuris (นูริส) | NeuPharma |
Risperdal Consta (ริสเพอร์ดอล คอนสตา) | Janssen-Cilag |
Risperdal/Risperdal Quicklet (ริสเพอร์ดอล/ริสเพอร์ดอล ควิกเลท) | Janssen-Cilag |
Risperidone GPO (ริสเพอริโดน จีพีโอ) | GPO |
Ama (เอมา) | Atlantic Lab |
Ammipam (แอมมิแพม) | MacroPhar |
Chlopazine (คลอปาซีน) | Condrugs |
Chlorpromazine GPO (คลอโพรมาซีน จีพีโอ) | GPO |
Chlorpromed (คลอโพรเมด) | Medifive |
Matcine (แมทซีน) | Atlantic Lab |
Plegomazine (พลีโกมาซีน) | Chew Brothers |
Pogetol (โพจีทอล) | Cental Poly Trading |
Prozine (โพรซีน) | Utopian |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Antipsychotic [2015,Oct10]
- http://www.nhs.uk/conditions/dementia-guide/pages/dementia-treatment.aspx [2015,Oct10]
- http://knowledgex.camh.net/amhspecialists/resources_families/antipsychotics_upm/Pages/types.aspx [2015,Oct10]
- http://knowledgex.camh.net/amhspecialists/resources_families/antipsychotics_upm/Pages/starting_stopping.aspx [2015,Oct10]
- http://downloads.lww.com/wolterskluwer_vitalstream_com/sample-content/9780781762632_abrams/samplechapter1.pdf [2015,Oct10]