ยาแผนปัจจุบัน (Conventional medicine หรือ Modern medicine)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ยาแผนปัจจุบัน

“ยาแผนปัจจุบัน (Conventional medicine หรือ Modern medicine)” คือ ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือการบำบัดโรคสัตว์

ยาแผนปัจจุบันที่วางจำหน่ายในประเทศไทยมีมากมายไม่ต่ำกว่า 20,000 ตำรับยา เราสามารถจำแนกยาเหล่านี้ได้ในหลายลักษณะ เช่น การจำแนกตามกฎหมาย การจำแนกตามรูปแบบและวิธีการใช้ การจำแนกตามสรรพคุณของยา เป็นต้น

การจำแนกประเภทยาตามกฎหมาย

ยาแผนปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท/กลุ่ม/หมวดยา คือ

  1. ยาสามัญประจำบ้าน: คือ ยาที่ประชาชนสามารถเลือกใช้ได้เอง เป็นยาใช้ในเบื้องต้น รักษาอาการที่ไม่ร้ายแรง ยากลุ่มนี้จำหน่ายโดยไม่ต้องผ่านการควบคุมดูแลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งยาในกลุ่มนี้สามารถหาซื้อได้โดยทั่วไป

    ยาสามัญประจำบ้านจะต้องมีขนาดบรรจุและรายละเอียดบนฉลากตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีคำว่า”ยาสามัญประจำบ้าน” กำกับไว้บนฉลากอย่างเห็นได้ชัดด้วย

    ในปัจจุบันมียาสามัญประจำบ้านรวมทั้งสิ้น 42 ขนาน เช่น ยาเม็ดพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม ขนาดบรรจุ 10 เม็ด, ยาแก้ไอน้ำดำ ขนาดบรรจุ 60 ซีซี., ยาใส่แผลสดไธเมอโรซอล (Thimerosal) ขนาดบรรจุ 30 ซีซี. เป็นต้น

  2. ยาอันตราย คือ ยาแผนปัจจุบันที่มีอันตรายสูงกว่ายาสามัญประจำบ้าน การใช้ยานี้จึงต้องผ่านการดูแลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่น แพทย์หรือเภสัชกร

    ยาในกลุ่มนี้จะมีคำว่า “ยาอันตราย” ระบุไว้บนฉลากยาข้างภาชนะบรรจุ และจำหน่ายได้เฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันทำหน้าที่ควบคุมดูแล หรือจำหน่ายได้ในโรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือคลินิก ที่มีแพทย์แผนปัจจุบันประจำการอยู่

    ยาอันตรายมีมากมายหลายชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ ยาลดน้ำตาลในกระแสเลือด ยาต้านจุลชีพ (ยาปฏิชีวนะ) ต่างๆ เป็นต้น

  3. ยาควบคุมพิเศษ คือ ยาแผนปัจจุบันที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายแม้จะใช้อย่างถูกต้อง ยานี้จึงต้องผ่านการควบคุมดูแลในการใช้จากแพทย์โดยใกล้ชิด แพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้นที่มีอำนาจสั่งจ่ายยาควบคุมพิเศษ เนื่องจากแพทย์แผนปัจจุบันจะมีความรู้ว่า เมื่อใดมีความจำเป็นต้องใช้ยา และเมื่อใดสมควรจะต้องหยุดการใช้ยานั้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone), ยาเด๊ก ช่าเมทาโซน (Dexamethasone) เป็นต้น
  4. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและยาเสพติด คือ ยาแผนปัจจุบันที่ก่อให้เกิดการเสพติดได้ง่าย และมีผลเปลี่ยนแปลงสภาพทางจิตประสาทของผู้เสพ และมักจะมีผลกระทบโดยตรงต่อสังคมรอบข้าง เช่นเดียวกับยาควบคุมพิเศษ ที่แพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้นที่มีอำนาจสั่งจ่ายยาในกลุ่มนี้ ตัวอย่างได้ แก่ ยานอนหลับชนิดต่างๆ, มอร์ฟินซึ่งใช้เป็นยาแก้ปวด เป็นต้น
  5. ยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่มิใช่ยาอันตราย คือ ยาแผนปัจจุบันที่ค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความไม่เหมาะสมบางประการที่จะจัดเข้าเป็นยาสามัญประจำบ้าน ตัวอย่างได้แก่ ยาแก้ไข้หวัดสูตรผสมหลายตัวยา (เช่น ยาลดไข้ และยาลดน้ำมูก) และยาใช้ภายนอกหลายชนิดที่โฆษณาอย่างแพร่หลายโดยทั่วไป เป็นต้น

การจำแนกประเภทยาตามรูปแบบและวิธีการใช้ยา

แบ่งยาแผนปัจจุบันตามรูปแบบและวิธีใช้ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ยาที่ใช้ภายใน และยาที่ใช้ภายนอก

ก. ยาที่ใช้ภายใน ยังแบ่งออกได้เป็น ยาเม็ด ยาฉีด ยาน้ำสำหรับรับประทาน

ข. ยาที่ใช้ภายนอก ยังแบ่งออกได้เป็น ยาครีม ยาขี้ผึ้ง/อ๊อยท์เม้นท์ (Ointment) ยาทิงเจอร์(Tincture, ยาที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วยประมาณ 60 - 70%) ยาหลอด ยาเหน็บ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีใช้ยาเหน็บช่องคลอด และเรื่อง วิธีใช้ยาเหน็บทวาร) ยาสวนทวาร (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาอีนีมา) ยาพ่น (เช่น ยาพ่นคอ ยาพ่นจมูก) เป็นต้น

ก. ยาที่ใช้ภายใน:

  1. ยาเม็ด ได้แก่ แค็ปซูล (CAPSULE), ยาเม็ดธรรมดา (TABLET), ยาเม็ดเคลือบ (COATED TABLET) เป็นต้น
  2. ยาฉีด มีทั้งในรูปของสารละลายและในรูปผงสำหรับละลายเมื่อต้องใช้ (เนื่องจากยานั้นสลาย ตัวง่ายเมื่ออยู่ในรูปของสารละลาย) ส่วนภาชนะที่ใช้บรรจุยาฉีดมี 2 ลักษณะ คือแอมฟูล (AMPOULE, หลอด) และ ไวอั้ล (VIAL, ขวด) ทั้งนี้ กระบวนการที่ใช้ผลิตยาฉีดมีความประณีตละเอียดรอบคอบระมัดระวังในเรื่องความสะอาด เพื่อป้องกันมิให้มีการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆจากภายนอก
  3. ยาน้ำสำหรับรับประทาน มีทั้งยาน้ำสำเร็จรูปและยาผงสำหรับผสมน้ำเมื่อถึงเวลาใช้ (น้ำสะอาดที่ใช้ผสมควรต้องมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้อง จะต้องไม่อุ่นหรือร้อนหรือเย็นเกินไป เนื่องจากความร้อน/ความเย็น อาจจะทำให้ตัวยาสลายตัว ประสิทธิภาพของยาจะลดลง) และเมื่อผสมแล้วยานั้นจะมีอายุไม่เกิน 7 วัน ยาน้ำสำหรับรับประทานนี้แบ่งตามลักษณะที่สังเกตได้เป็น
    • ยาน้ำใส ไม่มีตะกอน (Solution) ถ้ามีหลายตัวยาผสมกันมักเรียกว่า มิกซ์เจอร์ (Mixture), ถ้ามีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ 60 - 70 % ขึ้นไปมักเรียกว่า ทิงเจอร์ (Tincture, มีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าทิงเจอร์คือยาใส่แผลเท่านั้น อันที่จริงทิงเจอร์ที่รับประทานได้ก็มี เช่น ยาแก้ท้องเสีย Tincture opium), ถ้ามีน้ำเชื่อมผสมอยู่มักเรียกว่า ไซรับ (Syrup)
    • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) คือ ยาน้ำที่มีตัวยาที่ไม่สามารถละลายในสารละลายของยานั้นๆ เมื่อต้องการใช้จะต้องเขย่าให้ตะกอนยากระจายอย่างสม่ำเสมอก่อนรินยาทุกครั้ง
    • ยาอีมัลชั่น (Emulsion) คือ ยาน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำมัน (ที่รับประทานได้) ผสมอยู่ เช่นเดียวกับน้ำสลัดชนิดข้น บางครั้งอาจมีการแยกชั้นระหว่างน้ำกับน้ำมัน เมื่อต้องการใช้จะต้องเขย่าอย่างแรงให้เข้ากันก่อนรินยา

ข. ยาที่ใช้ภายนอก

  1. ครีม (Cream) เป็นยาที่มีตัวยาแทรกอยู่ในส่วนประกอบของน้ำกับน้ำมัน ครีมจะซึมผ่านผิวหนังได้ง่ายและเร็วและล้างออกได้ง่าย เช่น ครีมทาถูนวดแก้ปวดเมื่อย
  2. อ๊อยท์เม้นท์ (Ointment) เป็นยาที่มีตัวยาแทรกอยู่ในส่วนประกอบของน้ำกับน้ำมันเช่นกัน แต่ มีสัดส่วนของน้ำมันมากกว่า การดูดซึมผ่านผิวหนังช้ากว่าครีม ดังนั้น ตัวยาจะคงอยู่บนผิวหนังได้นานกว่า ขณะเดียวกันล้างออกได้ยากกว่าครีม เช่น ยาหม่อง
  3. ทิงเจอร์ เป็นยาทาที่มีตัวยาละลายในแอลกอฮอล์ประมาณ 60% ขึ้นไป เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน(Tincture iodine)
  4. ยาหยอด ได้แก่ ยาหยอดหู ยาหยอดตา ยาประเภทนี้ผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อโรค ดังนั้นเมื่อเปิดใช้แล้วจะเก็บรักษาได้ไม่เกิน 1 เดือน ทั้งนี้ ยาสำหรับหยอดตาถ้านำไปหยอดหู อาจทำให้ไม่ได้ผลเนื่องจากเจือจางเกินไป ส่วนยาหยอดหูถ้านำไปหยอดตาอาจเป็นอันตราย เนื่องจากเข้มข้นเกินไป อย่างไรก็ตาม มีผู้ผลิตยาหยอดบางชนิดสามารถหยอดได้ทั้งตาและหู ต้องสังเกตให้ดี
  5. ยาเหน็บ มีทั้งยาเหน็บช่องคลอดและยาเหน็บทวารหนัก มีรูปร่างเป็นเม็ดยาวรี อาจกลมหรือแบนก็ได้ เมื่อเหน็บแล้วให้ทิ้งค้างไว้ไม่ต้องดึงออกมา
  6. ยาสวนทวาร เป็นยาน้ำบรรจุในภาชนะพลาสติก มีท่อสำหรับสอดเข้าช่องทวารหนัก ก่อนใช้ต้องเจาะรูตรงปลายท่อก่อน รูปแบบนี้มักใช้กับยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก เวลาท้องผูก
  7. ยาพ่น มีลักษณะเป็นกระบอก มีส่วนที่ใช้กดตรงด้านบน เพื่อให้ยาข้างในพ่นออกมาเป็นฝอย เมื่อต้องการใช้จะต้องศึกษาวิธีใช้ในฉลากกำกับอย่างละเอียด ยาพ่น เช่น ยาพ่นขยายหลอดลมรักษาโรคหืด

การจำแนกยาตามสรรพคุณ

การจำแนกยาแผนปัจจุบันตามสรรพคุณ ในที่นี้จะยกมาพอสังเขปเฉพาะที่ใช้บ่อย (ถ้าหากจำแนกโดยละเอียดจะจัดแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆได้มากกว่านี้) ได้แก่

  1. ยาต้านจุลชีพ ได้แก่ ยาต้านเชื้อไวรัส ยาต้านแบคทีเรีย และยาต้านเชื้อรา ซึ่งยาต้านแบคทีเรียมี 2 ประเภท คือ ยาปฏิชีวนะและยาต้านแบคทีเรียที่ได้จากการสังเคราะห์สารเคมี ยาปฏิชีวนะ คือ ยาต้านแบคทีเรียที่ผลิตจากเชื้อแบคทีเรียด้วยกันเอง
  2. ยารักษาโรคพยาธิ ได้แก่ ยาฆ่าพยาธิตัวกลม (เช่น พยาธิไส้เดือน) ยาฆ่าพยาธิตัวแบน (พยาธิตืดหมู พยาธิตืดวัว) บางชนิดฆ่าได้ทั้ง 2 ประเภท
  3. ยาแก้ปวด ยาลดไข้ เช่น แอสไพริน พาราเซตามอล ฯลฯ
  4. ยาลดอาการอักเสบ (มีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่า ยาต้านเชื้อแบคทีเรียคือยาในกลุ่มนี้ เนื่อง จากเมื่อยาต้านเชื้อแบคทีเรียทำลายเชื้อแบคทีเรียอย่างราบคาบแล้ว อาการอักเสบ (ที่เกิดจากการติดเชื้อ) อันประกอบด้วย อาการปวด บวม แดง จะลดลง) แต่การอักเสบอาจเกิดจากไม่ติดเชื้อได้ เช่น ในโรคออโตอิมมูน ดังนั้นยาต้านการอักเสบจึงมีหลายประเภท เช่น ยาปฏิชีวนะ (เฉพาะกรณีสาเหตุอักเสบจากติดเชื้อ) ยาเอ็นเสด และยาสเตียรอยด์
  5. ยาแก้แพ้ เช่น แพ้อากาศ (คัดจมูก น้ำมูกไหล) อาการแพ้ที่ปรากฏทางผิวหนัง (ผื่นคัน ลมพิษ)
  6. ยาวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ
  7. ยาที่ใช้ในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ท้องผูก เป็นต้น
  8. ยาที่ใช้ในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ ยาละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม เป็นต้น
  9. ยาที่ใช้ในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาปรับการเต้นของหัวใจ ยาขยายหลอดเลือด เป็นต้น
  10. ยาที่ใช้ในระบบประสาท เช่น ยาระงับประสาท/ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ยาแก้ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
  11. ยาที่ใช้ในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ยาขับปัสสาวะ
  12. ยาที่ใช้ในระบบอวัยวะเพศของสตรี เช่น ยาบีบมดลูก
  13. ยาที่ใช้ในระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ยารักษาเบาหวาน ยาสเตียรอยด์ และฮอร์โมนต่างๆ เป็นต้น

ข้อแนะนำการใช้ยาแผนปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาต่างๆโดยเฉพาะยาแผนปัจจุบัน โดยการเลือกซื้อด้วยตนเองหรือโดยการจ่ายจากแพทย์ผู้ตรวจ เราควรจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้ยา เพื่อให้ได้ผลในการรักษาเต็มที่ และเกิดผลเสียจากการใช้ยาน้อยที่สุดดังนี้ 1.ใช้ยาให้ถูกโรคหรือถูกขนาน, 2.ใช้ยาให้ถูกกับบุคคล, 3.ใช้ยาให้ถูกเวลา, 4. ใช้ยาให้ถูกวิธี, 5. ใช้ยาให้ถูกขนาด

  1. ใช้ยาให้ถูกโรคหรือถูกขนาน: ก่อนใช้ยาบำบัดหรือบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น ควรศึกษาก่อนว่าอาการนั้นเกิดจากสาเหตุใด และควรใช้ยาขนานใดให้ตรงกับการแก้ปัญหาหรือสาเหตุนั้น เช่น ปวดท้อง เป็นเพราะ ท้องผูก ท้องเสีย หรืออาหารไม่ย่อย เพราะการใช้ยาแก้ปวดท้องจากสาเหตุต่างๆจะไม่เหมือนกัน
  2. ใช้ยาให้ถูกกับบุคคล: ปฏิกิริยาการตอบสนองต่อยาในแต่ละบุคคลจะต่างกัน โดยเฉพาะต่างเพศหรือต่างวัย เด็กและผู้สูงอายุ จะตอบสนองต่อยาไว/มากกว่าบุคคลในวัยรุ่นหรือวัยกลางคน, ยาบางชนิดใช้ได้กับสตรีเท่านั้น, ยาบางชนิดห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และเด็ก เช่น เตตร้าไซคลิน (Tetracy cline) ดังนั้น จึงไม่ควรนำยาของบุคคลหนึ่งมาใช้กับอีกบุคคลหนึ่งที่ต่างเพศต่างวัยกัน หากจำเป็น ต้องศึกษาจากผู้รู้ก่อน (แพทย์ พยาบาล เภสัชกร)
  3. ใช้ยาให้ถูกเวลา: ช่วงห่างของเวลาในการใช้ยาแต่ละครั้ง ควรมีระยะเท่าๆกัน เช่น ถ้ายานั้นต้องใช้วันละ 4 ครั้ง เราอาจจะใช้ยานั้นเมื่อเวลา 7.00, 12.00, 17.00 และ 22.00 น. (ห่างกัน 5 ชั่วโมงทุกช่วง, ช่วงเวลานอนเป็นช่วงที่ต้องอนุโลม)

    การที่โดยทั่วไป กำหนดมื้ออาหารหลักในการใช้ยารับประทานก็เพื่อสะดวกแก่การจำยารับประทาน ส่วนใหญ่ (ที่ไม่ระบุว่าต้องรับประทานหลังอาหารทันที) ไม่จำเป็นต้องยึดมื้ออาหารเป็นหลักก็ได้ หากเราสามารถนับช่วงเวลาที่เหมาะสมเองได้ และมั่นใจว่าจะไม่ลืมรับประทานยา ทั้งนี้โดยพิจารณาว่าปริมาณยาในกระแสเลือดจะอยู่ในระดับที่สม่ำเสมอ ไม่ต่ำเกินไปจนไม่มีผลในการรักษา หรือสูงเกิน ไปจนเกิดพิษ

    สำหรับการรับประทานยาตามมื้ออาหาร ควรปฏิบัติดังนี้

    • “ก่อนอาหาร” ต้องรับประทานยานั้นก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง อย่างน้อยที่สุดคือครึ่งชั่วโมง ถ้าลืมรับประทานยาในช่วงดังกล่าว จะต้องรอจนรับประทานอาหารมื้อนั้นผ่านพ้นไปแล้วอย่างน้อย 1 ชั่วโมง (จึงจะรับประทานยา) นั่นคือ มุ่งหมายให้รับประทานยานั้นตอนท้องว่าง จะช่วยในการดูดซึมยาผ่านผนังกระเพาะอาหารเข้าสู่เส้นเลือดเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ไม่ถูกรบกวนด้วยอาหาร
    • “หลังอาหาร” จะรับประทานยานั้นภายหลังการรับประทานอาหารไปแล้วนานเท่าใดก็ได้แต่ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง (ไม่ควรให้ท้องว่าง) เช่น รับประทานยานั้นหลังจากเสร็จสิ้นการรับประทานอาหารทันทีหรือ 15 นาทีไปแล้วก็ได้ แสดงว่ายานั้นไม่มีผลเสียต่อกระเพาะอาหารและอาหารไม่มีผลต่อการได้รับยานั้นมาก
    • ถ้าระบุว่ารับประทาน “หลังอาหารทันที” จะต้องรับประทานยานั้นหลังเสร็จสิ้นการรับประทานอาหารทันทีเท่านั้น หรืออาจจะรับประทานยานั้นในระหว่างมื้ออาหาร (ที่เรียกว่ารับประทานยาพร้อมอาหาร) เหตุที่ต้องระบุเช่นนี้ เนื่องจากยานั้นมีฤทธิ์กัดกร่อนผนังกระเพาะ ซึ่งจำเป็นต้องใช้อาหารเป็นเกราะกำบังไว้ มิให้ยาสัมผัสกับผนังกระเพาะอาหารโดยตรง ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องรับประทานยาพวกนี้ในขณะที่ห่างจากเวลาอาหารมื้อต่างๆแล้ว เช่น มื้อก่อนนอน อาจกระทำได้โดยรับประทานของว่างหรือผลไม้ หรือถ้าไม่มี ให้ดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อเจือจางความเข้มข้นของยาให้ลดลง จะช่วยลดการระคายเคืองผนังกระเพาะอาหาร
    • การรับประทานยาเคลือบผนังกระเพาะอาหารหรือยาลดกรด เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ควรรับประทานหลังอาหารไปแล้วประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง หรือก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง เพื่อให้ยานี้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอาหารเป็นเครื่องกีดขวาง
    • การรับประทานยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก จะต้องมีความเข้าใจว่า ยานั้นจะออกฤทธิ์หลังจากรับประทานเข้าไปแล้ว 6 - 8 ชั่วโมง ดังนั้น หากต้องการให้เกิดการถ่ายอุจจาระในตอนเช้า จะต้องรับประทานยานี้ก่อนนอน หรือหากต้องการถ่ายอุจจาระตอนค่ำ จะต้องรับประทานยานี้ตอนเช้า เป็นต้น
    • การรับประทานยาแก้อาเจียน แก้ปวดท้อง มักนิยมให้รับประทานก่อนอาหารเป็นเวลาประมาณ 20 - 30 นาที เพื่อมิให้เกิดอาการเมื่อเริ่มรับประทานอาหารเข้าไป
    • การรับประทานยาขับปัสสาวะ (ใช้ในโรคความดันโลหิตสูง เพื่อลดปริมาณน้ำในร่างกายซึ่งจะมีผลให้ความดันโลหิตลดลง) นิยมให้มื้อเช้าหรือกลางวันเท่านั้น เนื่องจากถ้าให้มื้อเย็นจะทำให้คนไข้ต้องตื่นกลางดึกเพื่อลุกขึ้นมาปัสสาวะ ทำให้ร่างกายพักผ่อนได้ไม่เต็มที่
  4. ใช้ยาให้ถูกวิธี: การใช้ยารับประทานหรือยาฉีด ส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายให้ยานั้นเข้าสู่กระแสเลือด (ถ้าเป็นยารับประทาน) ยาจะถูกดูดซึมผ่านผนังกระเพาะอาหารเข้าสู่กระแสเลือด) หลังจากนั้นจะกระจายไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย และเข้าสู่จุดที่ต้องการออกฤทธิ์ ส่วนหนึ่งผ่านตับเพื่อผ่านกระบวน การทำลาย และขับออกทางน้ำดีในลำไส้ ในที่สุดก็ขับออกมากับอุจจาระ บางส่วนก็ขับออกทางปัสสาวะ เหงื่อ หรือน้ำคัดหลั่งต่างๆที่ระเหยได้ออกมาทางลมหายใจ
    • ยารับประทานบางชนิดออกฤทธิ์โดยไม่ถูกดูดซึมผ่านผนังกระเพาะอาหาร (ไม่เข้าสู่กระแสเลือด) เช่น ยาระบายพาริฟฟิน (Paraffin) ยาพวกนี้จะเคลื่อนผ่านไปยังลำไส้และขับถ่ายออกมากับอุจจาระ
    • ไม่ควรนำยาฉีดไปรับประทาน หรือใช้เป็นยาทาภายนอก เพราะนอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองเงินแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอันตรายหรือไม่ได้ผลในการรักษาด้วย
    • ยาเม็ดบางชนิดจะมีผลเสียต่อผู้ใช้ ถ้ามีการบดหรือทำให้แตกก่อนใช้ เช่นยาระบายบางชนิด แต่ขณะที่ยาเม็ดบางชนิดต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนพร้อมน้ำจึงจะได้ผลเต็มที่ เช่น ยาเม็ดสำหรับเคลือบแผลในกระเพาะอาหาร, ยาเม็ดบางชนิดต้องอมใต้ลิ้น (เช่น ยาขยายหลอดเลือดที่หัวใจ), ยาเม็ดบางชนิดต้องอมไว้ในปาก (เช่น ฟลูออไรด์เคลือบฟัน, ยาอมแก้เจ็บคอ) เป็นต้น
    • ไม่ควรนำยาเม็ดไปบดแล้วใช้เป็นยาทาภายนอก เพราะจะทำให้เกิดการดื้อยาหรือแพ้ยาได้ง่าย
    • การใช้ยาน้ำรับประทานให้ถูกวิธี ได้กล่าวไปบ้างแล้วในส่วนที่แนะนำรูปแบบของยาแผนปัจจุบัน
    • การใช้ยาภายนอก โดยทั่วไปไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดการดูดซึมผ่านเข้ากระแสเลือด แต่ต้องการให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่ เช่น ยาทาผิวหนัง ยาหยอดตา ยาหยอดหู เป็นต้น แต่ผิวหนังสามารถดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือดได้เช่นกัน ดังนั้น การใช้ยาทาภายนอกบ่อยๆควรคำนึงถึงอันตรายอันเกิดการสะสมเข้าสู่ภายในร่างกายด้วย การใช้ยาทาควรทาบางๆเท่านั้น นอกจากจะระบุเป็นอย่างอื่น ที่ต้องระมัดระ วังเป็นอย่างยิ่งคือ การพลั้งเผลอรับประทานยาภายนอก มีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากไม่สังเกตฉลากข้างภาชนะที่บรรจุว่า “ยาภายนอก ห้ามรับประทาน”
    • ยารับประทานบางชนิดจะต้องดื่มน้ำตามมากๆทั้งในขณะที่กลืนยาและระหว่างวันที่ใช้ยานั้นๆ เนื่องจากจะช่วยลดการทำลายเนื้อเยื่อของไตที่เกิดจากพิษของยา เช่น ยาซัลฟา (Sulfa, ยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง) เป็นต้น หรือเนื่องจากยานั้นต้องการปริมาณน้ำจำนวนมากในการออกฤทธิ์ เช่น ยาระบาย ประเภทที่พองตัวได้เมื่อถูกน้ำ เป็นต้น
    • ยาบางชนิดห้ามรับประทานพร้อมนม เนื่องจากจะขัดขวางการดูดซึมของตัวยาผ่านผนังกระเพาะอาการ เช่น ยาเตตร้าไซคลิน
    • ยาบางชนิดห้ามรับประทานพร้อมน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด เนื่องจากจะทำให้ตัวยาถูกทำลายลงได้ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะต่างๆ
    • ยาประเภทบำบัดหรือบรรเทาอาการที่มักระบุว่า ทุก 4 - 6 ชั่วโมง เวลามีอาการ ให้รับประทานเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องถ้าไม่มีอาการนั้นๆแล้ว หากรับประทานในขณะที่ไม่มีอาการจะมีผลเสียมากขึ้น เช่น ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ปวดศีรษะ ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ เป็นต้น
  5. ใช้ยาให้ถูกขนาด: ใช้ให้ตรงกับขนาดยาที่ระบุเท่านั้น การลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานขนาดเดิมทันทีเมื่อนึกได้โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
    • การใช้ยาต้านจุลชีพ ไม่ว่าจะเป็นยาภายในหรือยาภายนอก จะต้องใช้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจนยานั้นหมด ไม่ควรหยุดกลางคันแม้จะไม่มีอาการเจ็บป่วยใดๆแล้ว เนื่องจากอาจกลับเป็นขึ้นใหม่ และในครั้งต่อไปจะรักษายากขึ้น
    • การใช้ยาน้ำรับประทาน ควรใช้ช้อนตวงมาตรฐานที่ให้มากับยาเท่านั้น โดย
      1 ช้อนโต๊ะ = 15 ซีซี., 1 ช้อนชา = 5 ซีซี., ดังนั้น 1 ช้อนโต๊ะ = 3 ช้อนชา,
      โดยทั่วไป 2 ช้อนคาว = 1 ช้อนโต๊ะ, 1 แก้ว = 240 ซีซี.

หมายเหตุ: จะเห็นได้ว่าข้อแนะนำดังกล่าว จะเอ่ยถึงการรับประทานยาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นวิธีที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลการรักษาได้มากกว่ายาที่ใช้ภายนอก ทั้งนี้กรณีต่างๆเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ผู้ใช้ยาจะต้องศึกษาจากซองยา ฉลากยา หรือจากผู้จ่ายยาก่อนใช้ยาทุกชนิด

อันตรายจากการใช้ยา

ยาทุกชนิดมีอันตราย แม้แต่วิตามินหรือที่เข้าใจกันว่าเป็นยาบำรุง หากรับประทานเกินขนาดหรือพร่ำเพรื่อ อันตรายจากการใช้ยามักเกิดจากการใช้ยาผิด (ผิดโรค, ผิดบุคคล, ผิดเวลา, ผิดวิธี, ผิดขนาด) และพิษของยา (เมื่อใช้ถูกทุกประการ) ซึ่งอันตรายที่เกิดขึ้นได้แก่

  1. การแพ้ยา อาการที่ปรากฏมีตั้งแต่อาการทางผิวหนัง เป็นผื่นคัน ลมพิษ ผิวเกรียมไหม้ ปากไหม้ บวม หอบ หยุดหายใจ จนถึงตายได้ อาการจะปรากฏเฉพาะบางคนและเฉพาะบางชนิดของยาเท่านั้น ถ้ามีการแพ้ยาให้หยุดใช้ยานั้นทันที และปรึกษาบุคลากรสาธารณสุขด่วนทันที
  2. อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง/ผลไม่พึงประสงค์) ของยา เช่น ยาลดน้ำมูก มีฤทธิ์ไม่พึงประสงค์คือ ทำให้ง่วงนอนด้วย ดังนั้น ควรศึกษาอาการข้างเคียงเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้วย มีอุบัติเหตุจำนวนไม่น้อยที่ผู้ขับขี่ยวดยานหรือผู้ทำงานที่เสี่ยงอันตรายต้องประสบเนื่องจากรับประทานยาลดน้ำ มูกนี้
  3. การติดยา ซึ่งเมื่อขาดยาจะทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น หรือการเสพยาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา นานก็จะก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงเพิ่มขึ้น
  4. พิษของยาโดยตรงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่
    • พิษต่อตับ เช่น พาราเซตามอล
    • พิษต่อไต เช่น ซัลฟา
    • พิษต่อกระเพาะอาหาร เช่น แอสไพริน สเตียรอยด์ (Prednisolone, Dexamethasone)
    • พิษต่อหูชั้นใน เช่น ยาปฏิชีวนะชื่อ กานามัยซิน (Kanamycin), สเตร็บโตมัยซิน (Streptomycin)
    • พิษต่อการสร้างเม็ดเลือด เช่น คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol)
    • พิษต่อทารกในครรภ์ได้แก่ ยาเกือบทุกชนิด แม้กระทั่งวิตามินที่เกินขนาด ฯลฯ

การเก็บรักษายา

ไม่ว่ายาแผนปัจจุบันหรือยาสมุนไพร การเก็บรักษาก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้ยานั้นไม่เสื่อม สภาพก่อนเวลาอันสมควร ซึ่งยาเสื่อมสภาพนั้นนอกจากจะไม่ให้ผลการรักษาแล้ว บางชนิดยังสามารถ ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้อีกด้วย แสงสว่าง แสงแดด ความชื้น ความร้อน จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ยาเสื่อมสภาพ ดังนั้น การเก็บรักษาควรปฏิบัติดังนี้

  • เก็บในภาชนะที่แห้งปิดสนิท
  • เก็บในที่มืด ควรเก็บยาในตู้ทึบหรือเก็บในภาชนะทึบแสง
  • เก็บในที่มีความชื้นน้อย ไม่ควรเก็บในห้องอับชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว หรือห้องที่มีการปลูกต้นไม้ ควรเก็บในห้องที่มีการถ่ายเทอากาศได้สะดวก
  • เก็บในที่เย็น หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอากาศร้อน
  • เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ดังนั้น การเก็บในตู้เย็นจะเป็นแหล่งที่เหมาะสมที่สุด (แต่ไม่ควรเก็บในช่องแข็ง) เพราะนอกจากจะเย็นแล้ว สภาพภายในยังแห้งและมืดอีกด้วย แต่ถ้าไม่มีตู้เย็นก็ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างบน

หมั่นตรวจดูว่า ยาหมดอายุหรือยัง โดยสังเกตบนฉลากข้างภาชนะจะระบุคำว่า “หมดอายุ” หรือ “Expiry Date” หรือ “Expiration Date” หรือ “Exp. Date” หรือ “Used before” ตามด้วย วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ, แต่ถ้ายานั้นระบุ “วันผลิต” หรือ “Manufacturing Date” หรือ “Mfd. Date” หรือ “Mfg. Date” ตามด้วยวัน เดือน ปี ที่ผลิต ก็ไม่ควรเก็บยานั้นไว้เกิน 3 ปีนับแต่วันผลิต

ยาบางชนิดอาจเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ดังนั้น ถ้ายานั้นมีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิมก็ไม่ควรใช้อีกต่อไป เช่น แคปซูลแตก สี กลิ่น เปลี่ยน จับตัวเป็นก้อน (กรณียาผง) เป็นต้น

บรรณานุกรม

1. http://dnfe5.nfe.go.th/ilp/sc31-1/sc31-1-3.htm [2014,Aug16].