ยาแก้หวัด (Cold medication)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 24 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โรคหวัด (Common cold)
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ยาขับเสมหะ (Expectorants) และยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
- ยาแก้ไอ (Tips cough)
- ยาลดไข้ ยาแก้ไข้ (Antipyretics) และยาแก้ปวด (Analgesic or Pain Killer)
- ยาแก้หวัดหมายถึงยาอะไร?
- ยาแก้หวัดมีกี่ประเภท?
- ยาแก้หวัดมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยาแก้หวัดอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาแก้หวัดอย่างไร
- มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้หวัดอย่างไร?
- การใช้ยาแก้หวัดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาแก้หวัดในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาแก้หวัดในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้หวัดอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยาแก้หวัดหมายถึงยาอะไร?
โรดหวัด (Common cold) เป็นโรคที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน ร่วมกับมีภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายขณะนั้นอ่อนแอ จึงทำให้มีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว/ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โรคหวัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงน้อย หายเองได้ เมื่อผู้ป่วยได้รับการพักผ่อนมากเพียงพอ หรือสามารถใช้”ยาแก้หวัด(Cold medicine หรือ Cold drug)” ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาตามอาการที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ที่เรียกว่า “การรักษาประคับประคองตามอาการ” เพื่อลดความรุนแรงของอาการ และช่วยลดระยะเวลาที่มีอาการให้สั้นลงได้
ยาแก้หวัดมีกี่ประเภท?
ยาแก้หวัด แบ่งออกเป็นกลุ่ม/ประเภทต่างๆ เพื่อรักษาตามอาการ ได้ดังนี้
1. ยาลดน้ำมูก (First-generation antihistamines): เช่นยา คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine ย่อว่า CPM), บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine), ไตรโพรลิดีน (Triprolidine)
2. ยาแก้คัดจมูก (Nasal decongestant): ได้แก่
- ชนิดรับประทาน (Systemic nasal decongestants): เช่นยา ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine), ฟีนิลโพรพาโนลามีน (Phenyl propanolamine)
- ชนิดใช้เฉพาะที่ในจมูก (Topical nasal decongestants)ที่อยู่ในรูปแบบยาพ่นจมูก และยาหยอดจมูก: เช่นยา เอฟีดรีน (Ephedrine), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine), แนฟาโซลีน (Naphazoline), อ็อกซี่เมตาโซลีน (Oxymetazoline), ไซโลเมตาโซลีน (Xylometazoline), เตตระไฮโดรโซลีน (Tetrahydrozoline)
3. ยาแก้ไอ (Cough medicine): ได้แก่
- ยากดอาการไอ (Cough suppressant, Antitussive): เช่นยา เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan), โคเดอีน (Codeine), เลโวโดรโพรพิซีน (Levodropropizine), บูทาไมเรต (Butamirate)
- ยาละลายเสมหะ (Mucolytics): เช่น บรอมเฮกซีน (Bromhexine), แอมบรอกซอล (Ambroxol), อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine), คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine)
- ยาขับเสมหะ (Expectorant): เช่นยา กัวเฟนนีซีน หรือกลีเซอริลไกวอะโคเลต(Guaifenesin, Glyceryl guaiacolate), เทอร์ปินไฮเดรต (Terpin hydrate)
4. ยาลดไข้และบรรเทาปวด (Fever reducer and pain reliever): เช่นยา
- พาราเซตามอล หรือ อะเซตามิโนเฟน (Paracetamol, Acetaminophen)
- ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์/ยาแก้อักเสบ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) เช่นยา แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟ่น (Ibuprofen)
ยาแก้หวัดมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?
ยาแก้หวัดมีรูปแบบจำหน่าย ดังนี้คือ
1. ยาลดน้ำมูก: อยู่ในรูปแบบ ยาเม็ด (Tablet), ยาแคปซูล (Capsule), ยาน้ำเชื่อม (Syrup), ยาฉีดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
2. ยาแก้คัดจมูก: อยู่ในรูปแบบ ยาเม็ด (Tablet), ยาน้ำใส (Solution), ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension), ยาน้ำเชื่อม (Syrup), ยาพ่นจมูก (Nasal spray), ยาหยอดจมูก (Nasal drop)
3. ยาแก้ไอ: อยู่ในรูปแบบ ยาเม็ด (Tablet), ยาแคปซูล (Capsule), ยาน้ำเชื่อม (Syrup), ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension), ยามิกซ์เจอร์ (Mixture)
4. ยาลดไข้และบรรเทาปวด/ยาแก้ปวด: อยู่ในรูปแบบ ยาเม็ด (Tablet), ยาน้ำเชื่อม (Syrup), ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาแผนปัจจุบันได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม
มีข้อบ่งใช้ยาแก้หวัดอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ยาแก้หวัด เช่น
1. ยาลดน้ำมูก: ใช้บรรเทาอาการน้ำมูกไหลจากโรคหวัด
2. ยาแก้คัดจมูก: เป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดอาการบวมของเยื่อเมือกในโพรงจมูก จึงสามารถบรรเทาอาการคัดจมูกในโรคหวัดได้
3. ยาแก้ไอ:
- ยากดอาการไอ: ใช้บรรเทาอาการไอที่ไม่มีเสมหะหรือไอแห้ง โดยออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนที่ทำให้เกิดอาการไอ
- ยาละลายเสมหะ และยาขับเสมหะ: ใช้บรรเทาอาการไอแบบมีเสมหะ โดยช่วยให้ความเหนียวของเสมหะลดลง ทำให้ร่างกายสามารถขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น
4. ยาลดไข้และบรรเทาปวด: ใช้บรรเทาอาการไข้หรือตัวร้อน และบรรเทาอาการปวด เช่น ปวดศีรษะ หรือปวดเมื่อยตามเนื้อตัว นอกจากนี้ยากลุ่ม NSAIDs ยังมีฤทธิ์บรรเทาอาการอักเสบได้ เช่น บรรเทา อาการ คออักเสบ หรือเจ็บคอ
มีข้อห้ามใช้ยาแก้หวัดอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาแก้หวัด เช่น
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
2. ห้ามใช้ยาลดน้ำมูก ในผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการกำเริบ โรคต้อหินชนิดมุมปิด โรคต่อมลูกหมากโต โรคความดันโลหิตสูง กระเพาะปัสสาวะอุดกั้น/ปัสสาวะขัด และโรคหลอดเลือดหัวใจ
3. ห้ามใช้ยาแก้คัดจมูก ในผู้ป่วยที่มีภาวะอัมพาต โรคความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง โรคลมชัก และห้ามใช้ยาแก้คัดจมูกชนิดยาพ่นจมูก หรือชนิดยาหยอดจมูกติดต่อกันนานเกิน 5 วัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการคัดแน่นจมูกมากขึ้นหลังจากหยุดยา
4. ห้ามใช้ยาแก้ไอ ในผู้ป่วยที่ระบบหายใจทำงานผิดปกติ และผู้ป่วยที่ได้รับยาที่มีผลต่อการทำงานของระบบประสาท เช่น ยากันชัก
5. ห้ามใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในผู้ที่มีแผลทะลุในระบบทางเดินอาหาร หรือมีเลือดออกระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคตับ โรคไต อย่างรุนแรง โรคไข้เลือดออก
มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้หวัดอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้หวัด เช่น
1. ระวังการใช้ยาลดน้ำมูกร่วมกับยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด ยานอนหลับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้มากขึ้น และระวังการใช้ในผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
2. ระวังการใช้ยาแก้คัดจมูกในผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคต้อหินชนิดมุมปิด โรคหัวใจ โรคจิต โรคต่อมลูกหมากโต โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคไซนัสอักเสบ
3. การใช้ยาแก้ไอ ต้องใช้ยาที่ถูกต้องตามลักษณะของอาการไอ เพื่อให้ยาได้ผลตามประสิทธิภาพ หากเลือกใช้ยาผิดจะยิ่งทำให้อาการไอแย่ลง ตัวอย่างเช่น ถ้าใช้ยากดอาการไอในอาการไอแบบมีเสมหะ อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขับเสมหะออกได้ ส่งผลให้มีเสมหะอุดกั้นบริเวณทางเดินหายใจ จนอาจเกิดภาวะหายใจลำบาก
4. ระวังการใช้ยา Paracetamol ในผู้ที่มีการทำงานของตับ หรือของไตผิดปกติ และผู้ที่เสพติดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. ระวังการเกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารจากการใช้ยากลุ่ม NSIADs ในผู้ป่วยดังต่อไปนี้ คือ ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นแผลหรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร, ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี, ใช้ยาในขนาดสูง, ใช้ยากลุ่ม NSIADs ร่วมกับยากลุ่ม Corticosteroids, ใช้ยากลุ่ม NSIADs ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ใช้ยากลุ่ม NSAIDs ร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป
การใช้ยาแก้หวัดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาแก้หวัดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
1. ยาลดน้ำมูก: เช่น Chlorpheniramine เป็นยาที่สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ แต่ควรใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น
2. ยาแก้คัดจมูกชนิดรับประทาน: เป็นยาที่ควรหลีกเลี่ยงในหญิงตั้งครรภ์ ควรเลือกเป็นยาใช้เฉพาะที่แทน และต้องใช้ในขนาดยาที่ต่ำที่สุด และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
3. เมื่อหญิงตั้งครรภ์มีอาการไอแบบมีเสมหะ สามารถใช้ยา Acetylcysteine, Bromhexine, Ambroxol, เป็นยาตัวเลือกแรก ในขณะที่ถ้ามีอาการไอแห้งๆ/อไม่มีเสมหะ สามารถใช้ยา Dextromethorphan, Codeine ได้ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้เมื่อใกล้คลอด เพราะอาจทำให้ทารกเกิดอาการถอนยา หรือเกิดการกดการหายใจของทารก(Respiratory depression)ได้
4. ยาลดไข้และบรรเทาปวด สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเลือกยา Paracetamol เป็นตัวเลือกแรก และใช้ยากลุ่ม NSIADs ได้แก่ Aspirin, Ibuprofen เป็นตัวเลือกถัดไป แต่ไม่ควรใช้ยากลุ่ม NSIADs ในไตรมาสที่ 1 และ 3 ของอายุครรภ์ เพราะอาจกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และก่อภาวะเลือดออกง่ายของมารดาได้
การใช้ยาแก้หวัดในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาแก้หวัดในผู้สูงอายุควรเป็น ดังนี้ เช่น
1. ระวังการใช้ยาลดน้ำมูกและยาแก้คัดจมูกในผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้ป่วยสูงอายุมียารักษาโรคประจำตัวหลายชนิด จึงอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาต่างๆกับยาแก้หวัดกลุ่มนี้ได้ และระวังการใช้ยแก้หวัดกลุ่มนี้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
2. ระวังการใช้ยาแก้ไอในผู้สูงอายุ เนื่องจากยังมีข้อมูลการศึกษาด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่มากพอ หากผู้สูงอายุมีอาการไอเป็นเวลานาน ควรพาไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะอาการไออาจมีสาเหตุจากโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคหวัด ตัวอย่างเช่น โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เป็นต้น
3. ยาลดไข้และบรรเทาปวดที่ควรเลือกใช้เป็นตัวเลือกแรกในผู้สูงอายุ คือยา Paracetamol และใช้ยากลุ่ม NSIADs ได้แก่ Aspirin, Ibuprofen เป็นตัวเลือกถัดไป เพราะในผู้สูงอายุ ยากลุ่ม NSIADs จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากยาได้มากกว่าวัยอื่นๆ โดยเฉพาะ การเป็นแผลหรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร
การใช้ยาแก้หวัดในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาแก้หวัดในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
1. ไม่ควรใช้ยาลดน้ำมูกในเด็ก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอ หากเด็กเล็กมีน้ำมูกมาก แนะนำให้ผู้ปกครองใช้ลูกยางแดงดูดออก และในเด็กโต ควรสอนให้สั่งน้ำมูกออกเอง
2. ยาแก้คัดจมูก เป็นยาที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี นอกจากนี้สามารถเลือกใช้วิธีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัย บรรเทาอาการคัดจมูกและน้ำมูกเหนียวข้นได้ดี
3. ในเด็กที่มีอาการไอแบบมีเสมหะ สามารถใช้ยา Guaifenesin เป็นยาตัวเลือกแรก ยานี้สามารใช้ได้ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ร่วมกับดื่มน้ำเปล่าสะอาดเยอะๆ เพื่อลดความเหนียวข้นของเสมหะ ในขณะที่ ถ้ามีอาการไอแห้งๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากดอาการไอในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี
4. ยาลดไข้และบรรเทาปวดที่ควรเลือกใช้เป็นตัวเลือกแรกในเด็ก คือ Paracetamol สำหรับยากลุ่ม NSAIDs ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Aspirin เพื่อลดไข้ในเด็กอายุที่ต่ำกว่า 12 ปี เพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการ Reye's syndrome
มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้หวัดอย่างไร?
มีอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาแก้หวัด เช่น
1. ยาลดน้ำมูก: ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด นํ้าหนักตัวเพิ่ม
2. ยาแก้คัดจมูก: ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว/ใจสั่น ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย วิตกกังวล มือสั่น นอนไม่หลับ ปัสสาวะไม่ออก
3. ยาแก้ไอ: ทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มึนงง สับสน
4. Paracetamol: ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ (Hepatotoxicity)/ตับอักเสบ
5. ยากลุ่ม NSIADs: ทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องเสีย เกิดแผลและเลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกง่ายและหยุดช้า ไตวาย
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแก้หวัด) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- สมาคมเภสัชกรรมชุมชน. แนวทางการใช้ยาบรรเทาอาการหวัดในร้านยาอย่างสมเหตุผล ฉบับปี 2558 http://www.pharcpa.com/files/2558/07/แนวทางการใช้ยาบรรเทาอาการหวัดในร้านยาอย่างสมเหตุผล%20ฉบับปี%202558.pdf [2016,Nov5]
- วสุ ศุภรัตนสิทธิ. รับมือโรคหวัดอย่างไรให้เหมาะสม http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/188/รับมือโรคหวัดอย่างไรให้เหมาะสม/ [2016,Nov5]
- ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจในเด็ก http://www.thaipediatrics.org/attchfile/CPG1.pdf. [2016,Nov5]
- Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007.
- Mayo Foundation for Medical Education and Research. Cough And Cold Combinations (Oral Route) http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/cough-and-cold-combinations-oral-route/before-using/drg-20061164 [2016,Nov5]