ยาแก้ปวด (Analgesics)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ยาแก้ปวด

บทนำ

กลุ่มยาแก้ปวด/ ยาบรรเทาปวด/เจ็บ (Analgesics, อะนัลเจสิค หรือ Painkiller) หมายถึง ยาประเภทต่างๆที่ใช้รักษาบรรเทาอาการปวด ซึ่งอาการปวดมีหลายรูปแบบ เช่น ปวดหัว ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดท้อง ปวดข้อ ปวดหลัง ทั้งนี้ยาแก้ปวดบางชนิดยังมีฤทธิ์เป็นยาลดไข้ได้อีกด้วย เช่นยา พาราเซตามอล เป็นต้น

อาการปวดบางชนิดสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา เพียงพักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายจะกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อ อาการปวดก็ทุเลาลง

แต่อาการปวดบางอย่างต้องรีบรักษา เช่น ปวดหัวจากความดันโลหิตสูง, แต่ปวดเจ็บ/แน่นหน้าอกอาจส่ออาการเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ แบบนี้รอไม่ได้ ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

ในชีวิตประจำวันเมื่อมีอาการปวด/เจ็บ คนเราจะใช้วิธีการที่ง่ายและสะดวกในการบรรเทาปวด โดยกินยาแก้ปวดหรือยาบรรเทาปวดเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ ยาแก้ปวดอาจจำแนกได้เป็นกลุ่มง่าย ๆดังนี้

1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol): มีใช้ในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย จัดเป็น ยาสามัญประจำบ้าน หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง ไม่เป็นยาเสพติด (Non-narcotic analgesic) นอกจากนั้นยังมีฤทธิ์เป็นยาลดไข้ได้

2. ยาเอ็นเสด (NSAIDs) คือ ยาในกลุ่มต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่ยา สเตียรอยด์ โดยคำว่า เอ็นเสด/เอนเสดส์ ย่อมาจาก ‘Non-steroidal anti-Inflammatory drugs’ (นอนสเตียรอยดอล แอนตี้อินเฟลมมาตอรีดรัก) ซึ่งยาเอ็นเสดไม่เป็นยาเสพติด และหลายตัวยายังมีฤทธ์ใช้เป็นยาลดไข้ได้เช่นกัน ตัวอย่างยาเอ็นเสด ได้แก่ยา

  • ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
  • ไดโคฟีแนค (Diclofenac)
  • เมเฟนามิค (Mefenamic)
  • อินโดเมธาซิน (Indomethacin)
  • ไพโรซิแคม (Piroxicam)
  • ยานิมีซูไลด์ (Nimesulide)

3. ยาคอกทูอินฮิบิเตอร์ (COX-2 Inhibitors): เช่น ยาเซเลโคซิป ซึ่งไม่เป็นยาเสพติดเช่นกัน

4. กลุ่มยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวดชนิดเสพติด(Narcotic analgesic) : เช่นยา มอร์ฟีน (Morphine), โคเดอีน (Codeine)

ยาแก้ปวดรักษาอาการปวดได้อย่างไร?

กลไกการบรรเทาปวดของยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวด จะแตกต่างและเป็นคนละแบบกับยาชา เพราะยาชากำจัดทั้งความเจ็บปวดและทำให้ความรู้สึกถึงการสัมผัสของร่างกายสูญหายไปด้วยพร้อมๆกัน

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวด สามารถออกฤทธิ์ระงับปวดจากความรู้สึกที่สมอง หรือไม่ก็ออกฤทธิ์ที่อวัยวะที่มีอาการปวดโดยตรง ทั้งนี้ อาจแบ่งแนวทางการออกฤทธิ์ของยาแก้ปวดได้ดังนี้

1. ออกฤทธิ์ห้ามมิให้ร่างกายสร้างหรือหลั่งสารที่ก่อให้เกิดอาการปวด

2. ยังยั้งฤทธิ์ของสารบางชนิดในร่างกายที่หลั่งออกมาและทำให้รู้สึกปวด เช่น สาร โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เป็นต้น

3. ห้ามไม่ให้เม็ดเลือดขาวออกมาสร้างปฏิกิริยากับบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บจนก่อเกิดอาการปวด

ผลอันไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากยาแก้ปวดมีอะไรบ้าง?

ยาทุกชนิดมีทั้งคุณและโทษ กลุ่มยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวดหากใช้ผิดเวลา ผิดขนาด ผิดวิธี ผิดคน อาจส่งผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้มากมาย

อาการไม่พึงประสงค์ฯจากยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวดที่พบบ่อย ได้แก่

  • เป็นพิษกับ ตับ ไต
  • ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
  • กระตุ้นความดันโลหิตให้สูงขึ้นในผู้ที่ป่วยมีโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว
  • อาจมีผลให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • นอกจากนี้ อาจพบอาการ/ผลข้างเคียงอื่นๆตามมา เช่น
    • ผื่นคัน
    • ปวดหัว
    • ง่วงนอน
    • หอบหืด

ยาแก้ปวดมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวดที่มีจำหน่ายใน ร้านยา โรงพยาบาล คลินิก มีหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น

  • ยากิน: เช่น ชนิดเม็ด ชนิดเม็ดที่เคลือบด้วยฟิล์มบางๆ ชนิดแคปซูล และชนิดยาน้ำเชื่อม
  • ยาใช้ภายนอก: เช่น ยาครีม เจล และยาพ่นเสปรย์
  • ยาฉีด: เช่น ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
  • ยาหยดเข้าทางหลอดเลือด: โดยเจือจางกับสารละลายน้ำเกลือก่อน

อนึ่ง: นอกจากจัดจำหน่ายในรูปแบบยาเดี่ยวแล้ว ยังมีการนำยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวดหลายตัวมาผสมรวมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพยา เช่น

  • นำยาพาราเซตามอลผสมร่วมกับยาโคเดอีน (Codeine) เป็นต้น

มีคำแนะนำเลือกใช้ยาแก้ปวดไหม?

การใช้ยาทุกชนิดรวมทั้งยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวดให้ได้ผลและปลอดภัยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกรเสมอ ซึ่งโดยทั่วไปมีคำแนะนำการเลือกใช้ยาแก้ปวด ดังนี้

  • อาการปวดจากปวดเมื่อยธรรมดา: ไม่ต้องใช้ยา เพียงแค่นอนพัก อาการก็จะดีขึ้นเอง
  • ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวด/ ยาบรรเทาปวดโดยที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับยานั้นๆ ง่ายที่สุดให้ปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาใกล้บ้าน
  • กรณีที่มีโรคประจำตัว ควรต้องระมัดระวังการใช้ยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวดต่างๆโดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ หรือเมื่อมีแผลในกระเพาะอาหาร, เพราะยาแก้ปวดหลายตัวจะส่งเสริมให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หรืออาจส่งผลถึงการทำงานของหัวใจ หรือก่อให้เกิดเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร(เลือดออกในทางเดินอาหาร)ได้
  • ยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวดจะถูกเปลี่ยนแปลงหรือทำลายโดยตับ และขับออกจากร่างกายทางไต ดังนั้น หากต้องใช้ยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวดในผู้ที่มีภาวะ ตับ และ/หรือ ไต ผิดปกติ (โรคตับ และ/หรือ โรคไต) ควรให้แพทย์เป็นผู้แนะนำการใช้ยาฯเท่านั้น
  • *การใช้ยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวดในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)โดยเฉพาะเด็กเล็กและในผู้สูงอายุ ควรต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือ เภสัชกร ด้วยบุคคลทั้ง 2กลุ่มมีสภาพร่างกายที่ทนต่อผลข้างเคียงของยาแก้ปวดได้ต่ำกว่าผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือในผู้ใหญ่ปกติ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแก้ปวด/ยาบรรเทาปวด) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน