ยาแก้ท้องผูก (Anticonstipation)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ท้องผูก เป็นอาการที่ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้ตามปกติ โดยปกติคนไทยเราขับถ่ายอุจจาระเฉลี่ยวันละ 1–2 ครั้ง(ถ้าเกิน 3 ครั้ง จะนับเป็นอาการท้องเสีย) หรืออาจกล่าวง่ายๆว่า อาการท้องผูก คือ ขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า

ท้องผูกมีสาเหตุจากอะไร?

ยาแก้ท้องผูก

สาเหตุของท้องผูก แบ่งเป็นจากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • อาหารและน้ำดื่ม: การรับประทานอาหารที่มีกากใย (ใยอาหาร)น้อย, ดื่มน้ำน้อย หรืออยู่ในช่วงควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
  • ยาหลายกลุ่มทำให้ท้องผูกได้ เช่น
    • ยาในกลุ่มโคเดอีน/Codeine (อนุพันธ์ของฝิ่น ซึ่งเป็นยาชนิดหนึ่ง ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด และ บรรเทาอาการไอ)
    • ยาขับปัสสาวะ
    • ยาต้านเศร้า
    • ยาแก้แพ้
    • ยาต้านการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ
    • ยากันชัก
    • ยาลดกรดที่มีกลุ่มสารอลูมิเนียม (Aluminium)เป็นองค์ประกอบ
  • ระบบการเผาผลาญของร่างกาย เกลือแร่ และ/หรือ ฮอร์โมน เช่น
    • ภาวะมีระดับแคลเซียมในเลือดสูง
    • ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)
    • โรคเบาหวาน
  • ความผิดปกติของโครงสร้างและหน้าที่ของลำไส้ใหญ่ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่, มีแผลบริเวณปากทวารหนัก
  • อาการทางจิตประสาท บางคนกลัวการถ่ายอุจจาระที่ส้วมสาธารณะ เช่น ในห้างสรรพสินค้า กลัวความเจ็บปวดจากการขับถ่ายดัวยภาวะเป็นริดสีดวงทวาร หรือ อั้นอุจจาระเป็นประจำ เช่น จากยังทำธุระอื่นๆไม่เสร็จ

มีวิธีรักษาอาการท้องผูกอย่างไร?

การรักษาอาการท้องผูก ง่ายที่สุดต้องค้นหาสาเหตุให้พบและแก้ที่ต้นเหตุ การพึ่งยา ซึ่งคือ ยาแก้ท้องผูก(Anticonstipation) หรือ ยาระบายอ่อน (Laxative) หรือ นิยมเรียกว่า “ยาถ่าย” อาจจะเป็นผู้ช่วยตอนปลายเหตุแล้ว และถึงกระนั้นการใช้ยาเหล่านี้ยังมีลำดับขั้นตามอายุและโรคอื่นๆที่ผู้ป่วยมีอยู่ และให้ผลในการรักษาแตกต่างกัน ขึ้นกับสาเหตุ และความรุนแรงของอาการท้องผูก ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ แต่ถ้าซื้อยาแก้ท้องผูกกินเอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยา

ยาแก้ท้องผูกออกฤทธิ์ได้อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแก้ท้องผูก สามารถแบ่งเป็นข้อๆได้ดังนี้ เช่น

  • เพิ่มเนื้ออุจจาระให้มีมากขึ้น จนเกิดการกระตุ้นให้อยากขับถ่าย ซึ่งยากลุ่มนี้ได้จากสารที่สกัดจากเมือกของเปลือกต้นไม้ และนำมาทำในรูปแบบยารับประทาน
  • เพิ่มการดูดน้ำเข้าลำไส้และช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้น
  • ทำให้อุจจาระนิ่ม และเคลื่อนตัวไปยังลำไส้ใหญ่ส่วนปลายได้ง่าย
  • หล่อลื่น และทำให้อุจจาระสามารถเคลื่อนตัวไปในลำไส้ใหญ่ได้ดีขึ้น
  • กระตุ้นให้กล้ามเนื้อบริเวณผนังลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่เคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งยากลุ่มนี้นิยมใช้กันมาก การใช้จนติดเป็นนิสัย ทำให้ต้องเพิ่มขนาดยารับประทานอยู่เรื่อยๆ เพราะยาขนาดเดิมเมื่อรับประทานบ่อยๆ จะใช้ไม่ได้ผล ซึ่ง ก่อให้เกิดผลเสีย ดังจะกล่าวถึงต่อไป
  • เพิ่มแรงดันในลำไส้ โดยสวนทวารด้วยน้ำเกลือที่ใช้สวนทวารหนัก

ผลอันไม่พึงประสงค์จากยาแก้ท้องผูกมีอะไรบ้าง?

การใช้ยาแก้ท้องผูกมีผลอันไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่อผู้ใช้แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับ ชนิดของยา, สภาวะร่างกายผู้ใช้ยา, อายุ, และขนาดยาที่รับประทาน, อาจแบ่งผลไม่พึงประสงค์ของยาแก้ท้องผูกเป็น 2 ประเภท คือ

ก. ประเภทแรก: เป็นกลุ่มของผู้ที่เริ่มใช้ยาหรือใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ อาจพบผลไม่พึงประสงค์ฯตามแต่ละชนิดของยาที่ใช้รักษา เช่น ท้องอืด รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง, บางตำรับจะทำให้รู้สึกระคายเคืองในช่องท้อง ปวดเกร็ง หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเมื่อหยุดใช้ยา อาการต่างๆเหล่านี้ก็จะดีขึ้น

ข. ประเภทที่สอง: เป็นกลุ่มที่ใช้ยาแก้ท้องผูกต่อเนื่อง อาจใช้ยาติดต่อกันเป็นอาทิตย์หรือเป็นแรมเดือน ผลไม่พึงประสงค์ฯที่ติดตามมา ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้ เช่น ทำให้เสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย เช่น

  • ภาวะมีเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ และ/หรือไตทำงานผิดปกติได้ หรือ
  • บางตำรับของยาแก้ท้องผูก จะทำให้ลำไส้ลดการเคลื่อนตัวตามธรรมชาติและต้องได้รับยาขนาดที่มากขึ้นๆไปเรื่อยๆ จึงจะกระตุ้นการบีบตัวเพื่อไล่อุจจาระได้ จึงเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยาเพิ่มขึ้น
  • นอกจากนั้น บางครั้งพบว่า การใช้ยาแก้ท้องผูกเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดแผลในลำไส้ จึงเกิดภาวะเลือดออกหรือตกเลือด ซึ่งจะพบเห็นได้จากการมีเลือดปนมากับอุจจาระที่ถูกขับออกมา

ยาแก้ท้องผูกมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแก้ท้องผูกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายมากมาย อาทิเช่น

  • เป็นผงบรรจุซองหรือกระป๋อง
  • เป็นยาน้ำแขวนตะกอน
  • เป็นยาละลายน้ำเชื่อม
  • เป็นยาเม็ดเคลือบน้ำตาล
  • เป็นยาเหน็บทวาร

มีคำแนะนำเลือกใช้ยาแก้ท้องผูกไหม?

การเลือกใช้ยาแก้ท้องผูก ควรเลือกยาที่เลียนแบบกลไกทางธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น ยากลุ่มที่เพิ่มปริมาณเนื้ออุจจาระ

แต่ทั้งนี้เมื่อท้องผูก ควรสังเกตว่า ขาดการบริโภค ผัก ผลไม้ หรือเปล่า, ดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่, ออกกำลังเคลื่อนไหวร่างกายบ้างหรือเปล่า, เพราะทั้งสามปัจจัยเป็นสาเหตุหลักของการท้องผูก เลือกแก้ไขด้วยวิธีการเหล่านั้นก่อนพึ่งยา

แต่เมื่อท้องผูกเรื้อรัง ถึงแม้ปรับตัวแล้วก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพื่อได้รับการดูแลรักษาที่สมควรกับเหตุ จะปลอดภัยกว่าซื้อยาบริโภคเอง หรือ อย่างน้อย ถ้าจะซื้อยากินเอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาเสมอ

อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิดที่รวมถึงยาแก้ท้องผูกทุกชนิด ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. นพ. สมชาย ลีลากุศลวงศ์. (2551). แนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรคท้องผูก ท้องเสีย และ IBS (ดีวีดี). กรุงเทพฯ: โรงแรมสยามซิตี้
  2. http://www.mims.com [2019,Nov30]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Laxative [2019,Nov30]
  4. https://www.drugs.com/drug-class/laxatives.html [2019,Nov30]
  5. https://www.drugs.com/condition/constipation.html [2019,Nov30]