ยาเออร์โกตามีน (Ergotamine) คาเฟอร์กอท (Cafergot)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาเออร์โกตามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเออร์โกตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเออร์โกตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเออร์โกตามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเออร์โกตามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเออร์โกตามีนอย่างไร?
- ยาเออร์โกตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเออร์โกตามีนอย่างไร?
- ยาเออร์โกตามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic daily headache)
- ไมเกรน (Migraine)
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- อาการปวดศีรษะร้ายแรง:สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะ (Red Flag in Headache)
บทนำ
ยาเออร์โกตามีน (Ergotamine) หรือยาชื่อการค้าที่มักรู้จัก คือ ยาคาเฟอร์กอท (Cafergot ) เป็นสารเคมีกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloid: สารเคมีกลุ่มที่ประกอบด้วยไนโตรเจน/Nitrogen เป็นหลัก) สามารถสกัดได้จากเชื้อราที่มีชื่อว่า Claviceps purpurea ถูกนำมาใช้รักษาโรคไมเกรน โดยออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือด/เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณสมองเกิดการหดตัว หากร่างกายได้รับยานี้ในขนาดสูงมากๆ อาจได้รับอันตรายจากภาวะหลอดเลือดอุดตันหรือเกิดภาวะเนื้อตายด้วยขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะนั้นๆ
เออร์โกตามีน ยังมีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น จึงห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์เพราะอาจก่อให้เกิดการแท้งบุตรได้ และในบางโอกาสถูกนำมาใช้รักษาอาการเลือดออกในโพรงมดลูกหลังคลอดบุตรอีกด้วย
เมื่อร่างกายได้รับยาเออร์โกตามีนเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะถูกส่งไปที่อวัยวะตับเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับน้ำดีเป็นส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด และยาบางส่วนจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ
ในตลาดยาบ้านเรา มักจะมีการผสมสารคาเฟอีน/ กาเฟอีนเข้าไปในสูตรตำรับยา เพื่อเพิ่มฤทธิ์การหดตัวของหลอดเลือดที่บริเวณสมองโดยไม่ต้องเพิ่มตัวยาเออร์โกตามีน หรือจะกล่าวได้ว่า สารคาเฟอีนช่วยเสริมฤทธิ์ของการรักษาและในทางอ้อมเป็นการป้องกันการได้รับยาเออร์โกตามีนมากเกินไป
กฎหมายยาของประเทศไทยจัดเออร์โกตามีนอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยานี้ที่ปลอดภัยและเหมาะสมจึงควรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
ยาเออร์โกตามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาเออร์โกตามีน เช่น รักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน
ยาเออร์โกตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเออร์โกตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อผนังหลอดเลือดในบริเวณศีรษะโดยทำให้เกิดการหดตัว นอกจากนี้เออร์โกตามีนยังแข่งขันกับสารสื่อประสาทในสมองบางตัวที่ชื่อ ซีโรโตนิน (Serotonin) จึงเป็นเหตุสนับสนุนการหดตัวของหลอดเลือดบริเวณสมองอีกทางหนึ่ง ซึ่งจาก การหดตัวของหลอดเลือดที่พอดีและเหมาะสม จะส่งผลให้อาการปวดศีรษะจากไมเกรนทุเลาลง
ยาเออร์โกตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเออร์โกตามีนจัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น
- ยาเม็ด โดยมีส่วนประกอบของยาเออร์โกตามีน 1 มิลลิกรัม กับสารกาเฟอีน 100 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นสูตรตำรับที่พบมากที่สุดในตลาดยาของบ้านเรา
ยาเออร์โกตามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเออร์โกตามีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 2 เม็ด เมื่อมีอาการปวดไมเกรน หากอาการยังไม่ดีขึ้นทุก 30 นาที ให้รับประทานต่อจากยามื้อแรก 1 เม็ด โดยห้ามรับประทานยาเกิน 6 เม็ด/วัน และไม่เกิน 10 เม็ด/สัปดาห์ สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ การได้รับยาเกินขนาดต้องแก้ไขโดยทำให้อาเจียนหรือล้างท้อง
*****อนึ่ง:
- เออร์โกตามีนไม่เหมาะที่จะใช้รักษาไมเกรนชนิดเรื้อรัง ควรต้องหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาจากต้นเหตุนั้นๆ และก่อนการใช้ยานี้ควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายว่า มีสาเหตุการปวดจากไมเกรนจริงๆ มิใช่จากสาเหตุอื่น เช่น เนื้องอกสมอง อาการติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) หรือปวดศีรษะจากเครียด เป็นต้น
- ห้ามใช้ยานี้ใน เด็ก หญิงช่วงเตรียมตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเออร์โกตามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเออร์โกตามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทเช่น เออร์โกตามีนสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเออร์โกตามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาเออร์โกตามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเออร์โกตามีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น
- เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นช้า หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- มีความดันโลหิตสูง
- การนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆไม่เพียงพอ อาจจนถึงขั้นอาการเนื้อตายจากขาดเลือด
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น
- อาจพบอาการวิงเวียนคล้ายบ้านหมุน
- มีอาการชาตามร่างกายผสมกับการเสียวแปลบๆ
- และรู้สึกอ่อนเพลีย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบอาการบวม หรือ คันบริเวณผิวหนัง
มีข้อควรระวังการใช้ยาเออร์โกตามีนอย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้ยาเออร์โกตามีน เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาเออร์โกตามีน
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ ด้วยเออร์โกตามีนมีผลทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้นจึงเสี่ยงกับการแท้งบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยเออร์โกตามีนส่งผลยับยั้งการหลั่งฮอร์ โมนโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลั่งน้ำนมของมารดา อีกทั้งยังผ่านไปกับน้ำนมของมารดาได้ และสามารถทำให้ทารกมีอาการ อาเจียน ท้องเสีย ความดันโลหิตไม่สม่ำเสมอ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย ภาวะหลอดเลือดตีบตัน, ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือด (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย, โรคหลอดเลือดหัวใจ)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงระดับรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับและโรคไต
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยภาวะโลหิตจาง/ โรคซีด ด้วยอาจเกิดผลข้างเคียงของยาได้มากกว่าคนปกติ เช่น อาการชาตามร่างกาย เป็นต้น
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อี่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเออร์โกตามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเออร์โกตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเออร์โกตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเออร์โกตามีนร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว สามารถทำให้ระดับยาของเออร์โกตามีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หรือหากอาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะเนื้อตายเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงไม่พอจนกระทั่งหัวใจหยุดเต้น หากพบอาการตัวชา ตัวเย็น คลื่นไส้อาเจียน นิ้วมือซีด เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดศีรษะมาก ฯลฯ ให้หยุดการใช้ยาและรีบนำตัวส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่น Clarithromycin และ Erythromycin
- การใช้ยาเออร์โกตามีนร่วมกับยาต้านเศร้า อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน( Serotonin syndrome) ซึ่งจะมีอาการจิตหลอน/ประสาทหลอน รู้สึกสับสน มีอาการชัก หัวใจเต้นเร็วขึ้น มีไข้ เหงื่อออกมาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หากรุนแรงมากอาจมีอาการโคม่าและตายได้ ยาต้านเศร้าดังกล่าว เช่น Fluoxetine, Sertraline
- การใช้ยาเออร์โกตามีนร่วมกับกลุ่มยารักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีและกลุ่มยาต้านไวรัสตับอักเสบ-ซี สามารถเพิ่มปริมาณเออร์โกตามีนในกระแสเลือดให้มีระดับสูงขึ้น มีผลให้หลอดเลือดดำตีบหรือแคบลง และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ สามารถพบอาการอื่นอีก เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ตัวชา เจ็บกล้ามเนื้อ นิ้วมือซีด ฯลฯ หากมีอาการดังกล่าวควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
- ยาต้านเอชไอวี ดังกล่าว เช่นยา Nelfinavir, Ritonavir
- ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี เช่นยา Telaprevir
ควรเก็บรักษายาเออร์โกตามีนอย่างไร
สามารถเก็บยาเออร์โกตามีน เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิดพ้นแสงสว่าง แสงแดด และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
- และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาเออร์โกตามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเออร์โกตามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Avamigran (เอวาไมเกรน) | A. Menarini |
Cafergot (คาเฟอร์กอท) | Amdipharm |
Degran (ดีแกรน) | Ranbaxy |
Ergosia (เออร์โกเซีย) | Asian Pharm |
Gynaemine (กายเนมีน) | Sriprasit Pharma |
Hofergot (โฮเฟอร์กอท) | Pharmahof |
Migana (ไมกานา) | T. Man Pharma |
Neuramizone (นูรามิโซน) | Sriprasit Pharma |
Poligot-CF (โพลิกอต-ซีเอฟ) | Polipharm |
Polygot (โพลีกอต) | Pharmasant Lab |
Tofago (โทฟาโก) | T.O. Chemicals |
บรรณานุกรม
1. http://www.rxlist.com/cafergot-drug/indications-dosage.htm [2020,Feb22]
2. http://www.mims.com/Thailand/patientmedicine/generic/Ergotamine [2020,Feb22]
3. https://www.mims.com/USA/drug/info/ergotamine/?type=full&mtype=generic [2020,Feb22]
4. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Degran/?q=ergotamine&type=brief [2020,Feb22]
5. http://en.wikipedia.org/wiki/Ergotamine#Biosynthesis [2020,Feb22]
6. http://www.drugs.com/drug-interactions/ergotamine-index.html?filter=3&generic_only=[2020,Feb22]
7. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a601048.html#storage-conditions [2020,Feb22]