ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate, MTX)
- โดย ภญ. ดร. นิตย์สุภา วัฒนชัย
- 10 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาเมโธเทรกเซทมีสรรพคุณอย่างไร?
- ยาเมโธเทรกเซทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเมโธเทรกเซทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเมโธเทรกเซทมีขนาดการใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเมโธเทรกเซทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังในการใช้ยาเมโธเทรกเซทอย่างไร?
- ยาเมโธเทรกเซทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเมโธเทรกเซทอย่างไร?
- ยาเมโธเทรกเซทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- ดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index Category)
- ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง (Selfcare of neutropenia during cancer therapy)
บทนำ
ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) จัดเป็นยาที่เลือกใช้ลำดับแรก (First line) ของกลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (Disease modifying antirheumatic drugs หรือย่อว่า DMARDs ) ซึ่งใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ร่วมกับยาต้านอักเสบอื่นๆ
โดยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคที่มีความผิดปกติของการควบคุมภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย (Autoimmune disease/ โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง) ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆโดยเป็นการอักเสบชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ดังนั้นยาที่ใช้ในการรักษาจึงเป็นกลุ่มที่มีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้ทำงานลดลง รวมทั้งลดการสร้างสารก่อการอักเสบ (ชนิดไม่ได้เกิดจากติดเชื้อโรค) ต่างๆ
นอกจาก นี้ยาเมโธเทรกเซท ยังถูกนำมาใช้ในการรักษามะเร็งอีกด้วย
ยาเมโธเทรกเซทมีสรรพคุณอย่างไร?
ยาเมโธเทรกเซทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้
- รักษาโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- ใช้เป็นยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) โรคมะเร็งกระดูก (Osteosarcoma)
ยาเมโธเทรกเซทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเมโธเทรกเซท มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้าง ดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเซลล์ โดยยับยั้งเอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลตรีดักเทส (Dihydrofolate reductase, DHFR) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการเปลี่ยนไดไฮโดรโฟเลต (Dihydrofo late) ไปเป็นเตตระไฮโดรโฟเลต (Tetrahydrofolate) จึงยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของร่างกาย ดังนั้นจึงทำให้เซลล์มะเร็งตาย ซึ่งเซลล์ปกติในร่างกายที่แบ่งตัวเร็วเช่น ผม เซลล์เยื่อบุช่องปากอาจตายด้วยเช่นกัน
ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ฤทธิ์ที่สำคัญของยานี้ อาจไม่ใช่การยับยั้งเอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลตรีดักเทสเท่านั้น แต่ยาเมโธเทรกเซทสามารถยับยั้งเอนไซม์ได้หลายชนิดรวมทั้งเพิ่มการปลดปล่อย อะดีโนซีน (Adenosine) ซึ่งเป็นสารมีฤทธิ์ต้านอักเสบได้ดี อีกทั้งยาเมโธ เทรกเซทยังสามารถยับยั้งการกระตุ้นของทีเซลล์ (T cells) ซึ่งเป็นเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับ ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายจึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันฯทำงานลดลง
ยาเมโธเทรกเซทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมโธเทรกเซทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดรับประทาน ขนาด 2.5 และ 10 มิลลิกรัม
- ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 1,000 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 5,000 มิลลิกรัม/50 มิลลิลิตร
ยาเมโธเทรกเซทมีขนาดการใช้อย่างไร?
ยาเมโธเทรกเซทมีขนาดการใช้ เช่น
ก. ขนาดยาในผู้ใหญ่สำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์: เช่น รับประทานครั้งเดียวครั้งละ 7.5 มิล ลิกรัม/สัปดาห์ หรือรับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมงจำนวน 3 ครั้ง/สัปดาห์ โดยขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/สัปดาห์
ข. ขนาดยาในเด็กสำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์: เช่น รับประทานหรือฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อหนึ่งครั้ง/สัปดาห์ ขนาด 5 - 15 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย (Body surface area) หน่วยเป็นตา รางเมตร
ค. ขนาดยาในผู้ใหญ่สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma): เช่น
- สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดเบอร์กิต (Burkitt’s lymphoma) ระยะ 1 - 2: เช่น รับประทานวันละครั้งๆละ 10 - 25 มิลลิกรัม เป็นเวลา 4 - 8 วัน
- สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะ 3 : เช่น รับประทานวันละครั้งๆละ 0.625 - 2.5 มิลลิกรัม /กิโลกรัม โดยเป็นส่วนหนึ่งของยารักษามะเร็งสูตรผสม
ง. ขนาดยาในผู้ใหญ่สำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟบลาสชนิดเฉียบพลัน (Acute Lymphoblastic Leukemia): เช่น
- ขนาดยาเริ่มต้น 3.3 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกายเป็นตารางเมตร/วัน โดยให้ยาแบบรับ ประทานหรือฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ (โดยให้เป็นยาสูตรผสมร่วมกับยาเพรดนิโซโลน 60 มิลลิ กรัม/พื้นที่ผิวร่างกายเป็นตารางเมตร)
- ขนาดยาช่วงควบคุมอาการ (Maintenance of remission) 15 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่าง กายเป็นตารางเมตร โดยให้ยาแบบรับประทานหรือฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ 2 ครั้งต่อสัปดาห์
จ. ขนาดยาในผู้ใหญ่สำหรับโรคมะเร็งกระดูก ชนิด osteosarcoma : เช่น ขนาดยาเริ่มต้น 12 มิล ลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกายเป็นตารางเมตร โดยให้ยาแบบหยดทางหลอดเลือดดำ (Intravenous infusion) นาน 4 ชั่วโมง หากขนาดที่ให้ไม่เพียงพอที่จะทำให้ความเข้มข้นของยาสูงสุดในซีรั่มเป็น 1,000 ไมโครโมลาร์ เมื่อให้ยาเสร็จสามารถเพิ่มขนาดยาได้ถึง 15 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวกาย เป็นตารางเมตร และสามารถให้ยาในสัปดาห์ที่ 4, 5, 6, 7, 11, 12, 15, 16, 29, 30, 44, และ 45 หลังผ่าตัด
อนึ่ง:
- ขนาดยานี้ที่ใช้ในเด็กขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น อายุ น้ำหนักตัว พื้นที่ผิวของร่างกาย (Body surface area) ชนิดโรค ความรุน แรงโรค ค่าการทำงานของไขกระดูก และผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยา
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาเมโธเทรกเซทควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ควรแจ้งหากเป็นโรคตับ เช่น โรคตับแข็ง เนื่องจากยาเมโธเทรกเซทอาจก่อให้เกิด อาการข้างเคียงจากโรคตับได้เพิ่มมากขึ้น
- ควรแจ้งหากเป็นโรคไต เนื่องจากยาเมโธเทรกเซทอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากโรคไตได้เพิ่มขึ้น เช่น ไตวาย
- ควรแจ้งหากเป็นโรคไขกระดูกทำงานผิดปกปกติ เนื่องจากยาเมโธเทรกเซทอาจก่อ ให้เกิดการกดไขกระดูก (ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดลดลง)
- ควรแจ้งหากเป็นโรคปอด เช่น ปอดอักเสบ (ปอดบวม) เนื่องจากยาเมโธเทรกเซทอาจก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบในผนังถุงลม (Interstitial pneumonitis)
- ควรแจ้งเกี่ยวกับยาอื่นๆที่กำลังใช้อยู่ เพราะยาที่กำลังใช้อยู่อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาเมโธเทรกเซท
- ควรแจ้งเกี่ยวกับการใช้ วิตามิน อาหารเสริม และยาสมุนไพรที่ใช้อยู่ในขณะนี้หรือกำลังจะใช้ เพราะอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาเมโธเทรกเซท
- สุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือไม่หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เนื่องจากยาเมโธเทรกเซทสามารถผ่านรกและถูกขับออกทางน้ำนม ซึ่งอาจส่ง ผลข้างเคียงในทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเมโธเทรกเซท ให้ปฏิบัติตามที่แพทย์ผู้รักษาแนะนำซึ่งโดยทั่วไป เช่น
ก. กรณีที่รับประทานยาวันละครั้งเดียว:
- หากเวลาที่นึกขึ้นได้ไม่เกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลาเดิมที่เคยรับประทานยา ให้รับ ประทานยาทันที
- ถ้าเวลาที่นึกขึ้นได้เกินกว่า 12 ชั่วโมงไปแล้ว ให้เว้น/ข้ามการรับประทานยาในมื้อนั้นที่ลืมไป และให้เริ่มรับประทานยาในมื้อต่อไปตามเวลาที่แพทย์สั่งโดยไม่ต้องเพิ่มยาเป็น 2 เท่า
ข. กรณีที่รับประทานยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง:
- หากเวลาที่นึกขึ้นได้ไม่เกินกว่า 24 ชั่วโมงจากเวลาเดิมที่เคยรับประทานยาให้รับ ประทานยาทันที
- ถ้าเวลาที่นึกขึ้นได้เกินกว่า 24 ชั่วโมง ควรโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ผู้รักษา
ยาเมโธเทรกเซทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เมโธเทรกเซท ได้แก่
ก. ผลข้างเคียงที่สำคัญและรุนแรง เช่น
- กดไขกระดูกโดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- ทำให้เกิดโรคตับแข็ง (Cirrhosis)
- โรคตับอักเสบ (Hepatitis)
- โรคปอดอักเสบในผนังถุงลม (Interstitial pneumonitis)
- ไตวาย
ข. ส่วนผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น
- ผมร่วง,
- แผลที่เนื้อเยื่อเมือกต่างๆ (เช่น เยื่อเมือกบุช่องปาก ริมฝีปาก และลำไส้) ซึ่งอาการข้างเคียงเหล่านี้ สามารถบรรเทาด้วยการรับประทาน ยาโฟเลต (Folate)/ ยากรดโฟลิก ร่วมด้วย (ให้การรักษาโดยแพทย์)
มีข้อควรระวังในการใช้ยาเมโธเทรกเซทอย่างไร?
มีข้อควรระวังในการใช้ยาเมโธเทรกเซท เช่น
- ไม่ควรใช้ยาเมโธเทรกเซทในผู้ที่แพ้ยาเมโธเทรกเซท
- ควรใช้ยาเมโธเทรกเซทตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- หากรับประทานยานี้เกินขนาดให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยด่วน
- หากมีอาการผิดปกติใดๆขณะใช้ยานี้ ให้หยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล เช่น มีผื่น คลื่นไส้-อาเจียน มาก
- ไม่ควรซื้อยาอื่นรับประทานเองขณะใช้ยาเทโธเทรกเซท เนื่องจากยาบางชนิดมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาเมโธเทรกเซท ซึ่งอาจทำให้เพิ่มความเป็นพิษของยาเมโธเทรกเซทได้ หรือทำให้ระดับยาเมโธเทรกเซทต่ำกว่าระดับที่ใช้ในการรักษา
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มี โรคตับ โรคปอด โรคไต โรคเกี่ยวกับการทำงานของไขกระดูกผิดปกติ
- ในระหว่างรับประทานยานี้ควรดื่มน้ำมากๆประมาณวันละ 8 - 12 แก้ว เพื่อลดและป้อง กันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับไต
- ยาเมโธเทรกเซทถูกจัดตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ให้อยู่ในกลุ่มเอ็กซ์ (Pregnancy Category X) คือ มีพิษก่อความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ ดังนั้นไม่ควรใช้ยาเมโธเทรกเซทในระหว่างตั้งครรภ์
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาเมโธเทรกเซท) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเมโธเทรกเซทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมโธเทรกเซทมีอันตกริยาระหว่างยา/ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลลิน (Penicillins): เนื่องจากยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลลินอาจลดการขจัดออกของยาเมโธเทรกเซททางไต จึงทำให้มีระดับยาเมโธเทรกเซทในร่างกายสูงขึ้นจนอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาเมโธเทรกเซทสูงจนเป็นอัตรายได้
- ยาปฏิชีวนะโค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole): เนื่องจากยาโค-ไตรม็อกซาโซลอาจเสริมฤทธิ์การกดไขกระดูกของยาเมโธเทรกเซท
- ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์/เอ็นเสด (NSAID, Non-steroidal anti-inflam matory drug) เช่นยา แอสไพริน (Aspirin) เนื่องจากมีรายงานว่า ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตีย รอยด์ลดการกำจัดยาเมโธเทรกเซททางไต จึงทำให้อาจเกิดอาการข้างเคียงจากยาเมโธเทรกเซทในการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ ซึ่งอาจมีการใช้ยาเมโธเทรกเซทร่วมกับยาแก้อักเสบชนิดไม่ ใช่สเตียรอยด์ ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องใช้ยาเมโธเทรกเซทในขนาดต่ำลง เพื่อป้องกันการเกิดอาการข้างเคียงจากยาเมโธเทรกเซท
ควรเก็บรักษายาเมโธเทรกเซทอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเมโธเทรกเซท เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง 25 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
- เก็บยาในที่แห้ง พ้นแสงแดด
- ควรเก็บรักษายาให้มิดชิด พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
ยาเมโธเทรกเซทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมโธเทรกเซท มีชื่อยาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทที่ผลิต |
---|---|
Emthexate (เอมเทกเซท) | Pharmachemie/Teva |
Methotrexat-Ebewe (เมโธเทรกซัด-อีบีวี) | Sandoz |
Neometho (นีโอมีโท) | Boryung Pharma |
Trexate (เทรกเซด) | Venus Remedies |
Methotrexate Remedica (เมโธเทรกเซท เรมีดิคา) | Remedica |
Metrex (เมเทรก) | Dae Han New Pharm |
Onkomet (ออนโคเมท) | Klab |
บรรณานุกรม
1. วีรพล คู่คงวิริยพันธุ์. ยาออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน (Immunomodulating agents) ใน เภสัชวิทยา สำหรับนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพเล่ม 3. หน้า 71-74. วีรพล คู่คงวิริยพันธุ์ ศิริมาศ กาญจนวาศ และ ลัดดาวัลย์ เส็งกันไพร. ขอนแก่น : โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา, 2557.
2. http://www.drugs.com/methotrexate.html[2021,Jan9]
3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/methotrexate?mtype=generic [2021,Jan9]
4. https://www.rxlist.com/trexall-drug.htm [2021,Jan9]
5. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-3441/methotrexate-anti-rheumatic-oral/details [2021,Jan9]
6. http://110.164.68.234/chemo/images/files/list/Methotrexate-tablets.pdf [2021,Jan9]