ยาเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาเมทิลเฟนิเดตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาเมทิลเฟนิเดตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเมทิลเฟนิเดตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเมทิลเฟนิเดตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเมทิลเฟนิเดตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิลเฟนิเดตอย่างไร?
- ยาเมทิลเฟนิเดตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเมทิลเฟนิเดตอย่างไร?
- ยาเมทิลเฟนิเดตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- โรคลมหลับ หรือ ภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette syndrome)
- ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
บทนำ: คือยาอะไร?
เมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate หรือ Dexmethylphenidate) คือ ยาที่นำมารักษาอาการ โรคสมาธิสั้น และโรคลมหลับ โดยเป็นยาเม็ดใช้รับประทาน
จากการศึกษามากกว่า 50 ปี พบว่ายานี้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยหากมีการบริหารยาอย่างถูกต้อง มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1955(พ.ศ. 2498) และเริ่มนำมาใช้รักษาอาการสมาธิสั้นในปี ค.ศ. 1960(พ.ศ. 2503) จนเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมาทั้งในแถบ อเมริกา เม็กซิโก ยุโรป และเอเชีย สำหรับชื่อการค้าที่คุ้นเคยในประเทศไทย ได้แก่ Concerta, Ritalin, Methylphenidate Hexal, และ Rubiten
การศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ของยานี้ พบว่ายานี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารประมาณ 11 – 52% เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะจับกับพลาสมาโปรตีน 10 – 33% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยา ร่างกายต้องใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50%โดยผ่านไปกับปัสสาวะ
สำหรับประเทศไทย โดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุเมทิลเฟนิเดตอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 ไม่สามารถหาซื้อตามร้านขายยาทั่วไปได้ จะพบเห็นแต่ในสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ผู้ป่วยทีได้รับยานี้ ควรเคร่งครัดและมีวินัยของการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดการใช้ยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด
ยาเมทิลเฟนิเดตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเมทิลเฟนิเดตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาอาการโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder)
- รักษาโรคลมหลับ (Narcolepsy)
ยาเมทิลเฟนิเดตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เมทิลเฟนิเดตมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะกระตุ้นสมอง รวมถึงออกฤทธิ์ในลักษณะเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ (Indirect-acting sympathomimetic) จึงส่งผลช่วยบำบัดรักษาโรคตามสรรพคุณ
ยาเมทิลเฟนิเดตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมทิลเฟนิเดตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ด ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ด ชนิดออกฤทธิ์เนิ่นนาน (Sustained release) ขนาด 18, 27, และ 36 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาเมทิลเฟนิเดตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเมทิลเฟนิเดตมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับโรคลมหลับ: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 20 – 30 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน สามารถปรับขนาดรับประทานโดยอยู่ในช่วง 10 – 60 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): โรคนี้ไม่ค่อยพบในเด็ก จึงไม่มีข้อมูลการใช้ยาที่ชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็ก จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ข. สำหรับโรคสมาธิสั้น: เช่น
- เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทาน 5 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือ
- รับประทาน 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร หากจำเป็นสามารถปรับขนาด รับประทานเพิ่มขึ้นครั้งละ 5 – 10 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน ทั้งนี้ ระหว่างใช้ยาต้องพบแพทย์ตามนัดเสมอ เพราะอาจมีการปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือปรับเปลี่ยนเป็นตัวยาอื่น ถ้าการรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: การใช้ยานี้ และขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยาสูงกว่าในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป
- ผู้ใหญ่: ขนาดยา ขึ้นกับรูปแบบการจัดจำหน่ายของยาที่แพทย์เลือกใช้ (เช่น ชนิดออกฤทธิ์เนิ่นนาน หรือ ชนิดทั่วไป) และขึ้นกับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย ดังนั้นขนาดยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ:
- ควรรับประทานยาเมทิลเฟนิเดตในช่วงท้องว่าง หรือรับประทานก่อนอาหาร 30 – 45 นาที หากเป็นยาชนิดออกฤทธิ์เนิ่นนาน (Sustained release) อาจรับประทานก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- *การรับประทานยานี้เกินขนาด อาจพบอาการดังนี้ อาเจียน ตัวสั่น กล้ามเนื้อกระตุก จิตหลอน/ประสาทหลอน หัวใจเต้นเร็ว รูม่านตาขยายกว้าง ใจสั่น เหงื่อออกมาก *หากพบอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- *ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมทิลเฟนิเดต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทิลเฟนิเดต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเมทิลเฟนิเดต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาเมทิลเฟนิเดตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเมทิลเฟนิเดตสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เกิดการอักเสบของหลอดเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงบริเวณสมอง
- ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ชีพจรเต้นผิดปกติ
- หัวใจเต้นเร็ว
- ซึมเศร้า
- วิงเวียน
- ง่วงนอน หรือ นอนไม่หลับ
- มีไข้
- ปวดหัว
- หงุดหงิด
- ผิวหนังอักเสบ
- ผมร่วง
- ลมพิษ ผื่นคัน
- กดการเจริญเติบโตในเด็ก
- ปวดท้อง, เบื่ออาหาร, ท้องเสีย
- คลื่นไส้อาเจียน
- น้ำหนักลด
- ซีด
- ตับวาย
- การมองภาพผิดปกติ
- มีอาการไอ
- ไซนัสอักเสบ
- มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิลเฟนิเดตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิลเฟนิเดต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะจิตใจสับสน กระสับกระส่าย ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยด้วยอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยรับประทานยากลุ่ม MAO inhibitors / MAOI / เอมเอโอไอ ควรหยุดใช้ยากลุ่ม MAOI เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน, จึงรับประทานเมทิลเฟนิเดต
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยไทรอยด์ฮอร์โมนสูง(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน), ผู้ที่อยู่ในภาวะวิตกกังวล, ผู้ป่วยด้วยกลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette’s syndrome)
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์, หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- การใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องสั่งใช้ยาโดยแพทย์เท่านั้น และต้องดูแลเด็กใกล้ชิด
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติติดเหล้า ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตประเภทอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) หรือผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก
- ระหว่างการใช้ยานี้ให้ระวังเรื่องการขับขี่ยานพาหนะ หรือการควบคุมอุปกรณ์ เครื่องจักรกล ด้วยยาอาจก่อให้เกิดอาการง่วงนอน
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทิลเฟนิเดตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเมทิลเฟนิเดตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมทิลเฟนิเดตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเมทิลเฟนิเดต ร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูง อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิตด้อยประสิทธิภาพลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาเมทิลเฟนิเดต ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดการกดการทำงานของสมองและส่งผลต่อการรักษา จึงห้ามรับประทานยาเมทิลเฟนิเดตร่วมกับแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
- การใช้ยาเมทิลเฟนิเดต ร่วมกับยากันชัก เช่นยา Phenytoin อาจทำให้ความเข้มข้นของยากันชักในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนอาจได้รับผลข้างเคียงจากยากันชักเพิ่มขึ้น แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษายาเมทิลเฟนิเดตอย่างไร?
ควรเก็บยาเมทิลเฟนิเดต: เช่น
- เก็บยาระหว่างอุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาเมทิลเฟนิเดตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมทิลเฟนิเดต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Concerta (คอนเซอร์ตา) | Janssen-Cilag |
Methylphenidate Hexal (เมทิลเฟนิเดต เฮ็กซอล) | Salutas Pharma |
Ritalin (ริทาลิน) | Novartis |
Rubifen (รูบิเฟน) | Lab Rubio |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Methylphenidate [2022, Aug6]
- https://www.drugs.com/methylphenidate.html [2022, Aug6]
- https://www.drugs.com/dosage/methylphenidate.html#Usual_Adult_Dose_for_Attention_Deficit_Disorder [2022, Aug6]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=methylphenidatte [2022, Aug6]
- https://www.mims.com/hongkong/drug/info/ritalin-ritalin%20la?type=full [2022, Aug6]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/methylphenidate?mtype=generic [2022, Aug6]
- https://www.cdc.gov/ncbddd/tourette/data.html [2022, Aug6]