ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 สิงหาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- ยาเพรดนิโซโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเพรดนิโซโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเพรดนิโซโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเพรดนิโซโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเพรดนิโซโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเพรดนิโซโลนอย่างไร?
- ยาเพรดนิโซโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเพรดนิโซโลนอย่างไร?
- ยาเพรดนิโซโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- ยาหยอดหู (Ear drops)
- กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- ต้อกระจก (Cataract)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
บทนำ
ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) จัดเป็นสารสังเคราะห์กลุ่ม Glucocorticoid นำมาใช้ทางการแพทย์โดยมีวัตถุประสงค์ต้านการอักเสบ เช่น ยับยั้งการอักเสบอันมีสาเหตุจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย การอักเสบของกระดูก อาการหอบในโรคหืด ภาวะภูมิแพ้/โรคภูมิแพ้ต่างๆ อาทิ ผื่นคันทางผิวหนัง นอกจากนี้ยังถูกนำไปช่วยบำบัดรักษาอาการของโรคมะเร็งในเม็ดเลือด/มะเร็งเม็ดเลือดขาว
ทั้งนี้การใช้ยาที่ขนาดต่างๆ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ด้วยยานี้มีผลข้างเคียงมากมาย โดยเฉพาะผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ระบบทางเดินอาหาร ระบบการทำงานของเกล็ดเลือด อีกทั้งยังมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นอีกมากมาย ดังนั้น ยานี้จึงจัดเป็นยาควบคุมที่ต้องมีแพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย ไม่สามารถซื้อหาได้เองตามร้านขายยาทั่วไป
ยาเพรดนิโซโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
สรรพคุณ/ ข้อบ่งใช้ ของยาเพรดนิโซโลน เช่น
- รักษาและบรรเทาอาการอักเสบของผิวหนังในรูปแบบยาครีมและยารับประทาน /ยาแก้อักเสบ
- รักษาการอักเสบของลำไส้เล็ก/ลำไส้เล็กอักเสบ
- รักษาการอักเสบของ ตา – หู ในรูปแบบของ ยาหยอดตา และยาหยอดหู
- ป้องกันและบำบัดอาการภูมิแพ้/โรคภูมิแพ้ และโรคหืด
- ทำเป็นยาใช้เฉพาะที่ในการรักษาริดสีดวงทวาร
- รักษาโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
ยาเพรดนิโซโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เพรดนิโซโลน จะยับยั้งการเคลื่อนตัวของเซลเม็ดเลือดขาว ที่มีหน้าที่ต้านการติดเชื้อแบคทีเรีย (Polymorphonuclear Leukocytes) ที่ผ่านมาทางหลอดเลือดฝอย อีกทั้งกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เพื่อไม่ให้มีการทำลายอวัยวะที่เจ็บป่วยอยู่ ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้ลดการอักเสบ และทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น
ยาเพรดนิโซโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
การจัดจำหน่ายยาเพรดนิโซโลน มีหลายรูปแบบ เช่น
- ยาเม็ดรับประทานขนาด 5 มิลลิกรัม
- ยาครีมชนิดทาขนาดความเข้มข้น 0.5%
- ยาหยอดหู ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.5% โดยอาจมียาปฏิชีวนะเป็นส่วนผสมร่วมด้วย
ยาเพรดนิโซโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาเพรดนิโซโลน เช่น
- ขนาดรับประทานของผู้ใหญ่เพื่อต้านการอักเสบอยู่ในช่วง 5-60 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1-4ครั้ง/วัน
- ขนาดรับประทานของเด็กต้องคำนวณจากน้ำหนักตัวโดยแพทย์ผู้ทำการรักษา
อย่างไรก็ตาม ขนาดของยารับประทานขึ้นอยู่กับอาการของโรคและสภาพร่างกายของผู้ ป่วย ทั้งนี้แพทย์เท่านั้นจะเป็นผู้พิจารณาปรับขนาดการรับประทานและสั่งจ่ายยาได้อย่างเหมาะ สม
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเพรดนิโซโลน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพรดนิโซโลน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเพรดนิโซโลน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยาเพรดนิโซโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์จากยา/ ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง จากยาเพรดนิโซโลน เช่น
- ทำให้มีอาการบวม ด้วยยานี้ โดยก่อให้เกิดการเพิ่มของเกลือโซเดียมในร่างกาย
- ประจำเดือนมาผิดปกติ
- มีขนขึ้นดกทั้งตัวรวมทั้งใบหน้าด้วย
- กระดูกพรุน
- ต้อกระจก
- สิว
- ผิวหนังบาง
- กล้ามเนื้อลีบ จึงมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ความต้านทานต่อการติดเชื้อโรคต่ำลงจึงติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาเพรดนิโซโลนอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยา เพรดนิโซโลน ได้แก่
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่กำลังให้กำเนิดบุตร
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคต้อหิน เพราะจะทำให้อาการของโรคเหล่านี้กำเริบมากขึ้น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อรา ด้วยจะทำให้เชื้อโรครุกลามและมีจำ นวนมากขึ้น แต่กลับซุกซ่อนอาการจากติดเชื้อโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว
- ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยในโรคต่างๆหลายโรค เพราะยานี้สามารถทำให้อาการของโรคดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น เช่น
- โรคหัวใจ
- โรคไต
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคกระดูกพรุน
- ผู้ป่วยอาการโรคจิต
- โรคต้อกระจก
- โรคเบาหวาน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง การใช้ยาทุกชนิด ที่รวมถึงยาเพรดนิโซโลน ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาสมุนไพร ต่างๆ ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด รวมทั้ง เมื่อจะซื้อยาใช้เอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
ยาเพรดนิโซโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปฏิกิริยาระหว่างยาของยาเพรดนิโซโลนกับยาอื่นๆ เช่น
- ไม่แนะนำให้ใช้ วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษ ขณะที่รับประทานยาเพรดนิโซโลน ด้วยอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคดังกล่าวจากวัคซีนฯ อีกทั้งอาจทำให้ร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนฯได้ไม่ดีเท่าที่ควร จนไม่เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน
- การใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) บางกลุ่ม ร่วมกับ ยาเพรดนิโซโลน สามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้เส้นเอ็นอักเสบได้ ทั้งนี้มีแนวโน้มที่จะเกิด ขึ้นในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ยาต้านเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว เช่น Ciprofloxacin และ Ofloxacin เป็นต้น
- การใช้ยาแก้ปวดบางกลุ่มร่วมกับยาเพรดนิโซโลน สามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดผลข้าง เคียง เช่น เลือดออกผิดปกติ ปวดท้องรุนแรง เวียนศีรษะ และมีลักษณะของอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอยจากมี เลือดออกในทางเดินอาหาร กลุ่ม ยาแก้ปวดดังกล่าว เช่น Ibuprofen และ Celecoxib เป็นต้น
ควรเก็บรักษายาเพรดนิโซโลนอย่างไร?
ควรเก็บยาเพรดนิโซโลน เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius)
- เก็บยาให้พ้นจากแสง / แสงแดด และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
- และควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาเพรดนิโซโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตยาเพรดนิโซโลน เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Clinipred (คลีนิเพรด) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Di-Adreson F (ได-อดรีซัน เอฟ) | MSD |
Exopred (อีโซเพรด) | Allergan |
Farakil (ฟาราคิล) | Chew Brothers |
Fortisone (ฟอร์ทิโซน) | The Forty-Two |
Inf-Oph (อินฟ์-ออฟ) | Seng Thai |
Levoptin Simplex (ลีวอฟทิน ซิมเพลกซ์) | Archifar |
Mysolone-N (มายโซโลน-เอน) | Okasa Pharma |
Neosolone-C (นีโอโซโลน-ซี) | Chew Brothers |
Neosolone-G (นีโอโซโลน-จี) | Chew Brothers |
Neosolone-Y (นีโอโซโลน-วาย) | Chew Brothers |
Neozolone (นีโอโซโลน) | British Dispensary |
Opredsone (โอเพรดโซน) | Greater Pharma |
Polypred (โพลีเพรด) | Pharmasant Lab |
Pred Oph Ear Drops | Seng Thai |
Pred Oph Eye Drops | Seng Thai |
Predcap (เพรดแคป) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Predex (พริเดกซ์) | Takeda |
Pred-Forte/Pred-Mild (เพรด-ฟอร์ท/เพรด-มายด์) | Allergan |
Predi K.B. (เพรดิ เค บี) | K.B. Pharma |
Predisole (พริดิโซน) | P P Lab |
Predman (เพรดแมน) | T. Man Pharma |
Predmycin P (เพรดมายซิน พี) | Allergan |
Prednisolone Atlantic (เพรดนิโซโลน แอทแลนติค) | Atlantic Lab |
Prednisolone BJ Benjaosoth (เพรดนิโซโลน บีเจ เบญจโอสถ) | BJ Benjaosoth |
Prednisolone Charoen Bhaesaj (เพรดนิโซโลน เจริญ เภสัช) | Charoen Bhaesaj Lab |
Prednisolone Chew Brothers (เพรดนิโซโลน ชิว บาร์เทอร์) | Chew Brothers |
Prednisolone GPO (เพรดนิโซโลน จีพีโอ) | GPO |
Prednisolone Greater Pharma (เพรดนิโซโลน เกรทเตอร์ ฟาร์มา) | Greater Pharma |
Prednisolone Medicine Products (เพรดนิโซโลน เมดิซิน โพรดักซ์) | Medicine Products |
Prednisolone Medicpharma (เพรดนิโซโลน เมดิคฟาร์มา) | Medicpharma |
Prednisolone Pond’s Chemical (เพรดนิโซโลน พอนด์’ส เคมิคอล) | Pond’s Chemical |
Prednisolone Suphong Bhaesaj (เพรดนิโซโลน สุพง เภสัช) | Suphong Bhaesaj |
Prednisolone T.P. (เพรดนิโซโลน ที.พี) | T P Drug |
Prednisolone Vesco Pharm (เพรดนิโซโลน เวสโก ฟาร์มา) | Vesco Pharma |
Predsomed (เพรดโซเมด) | Medicpharma |
Presoga (พรีโซกา) | Utopian |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=prednisolone [2019,Aug3]
- https://www.medicinenet.com/prednisolone_solutionsyrup-oral/article.htm [2019,Aug3]
- https://www.drugs.com/dosage/prednisolone.html#Usual_Pediatric_Dose_for_Immunosuppression [2019,Aug3]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/floxin-iv-with-prednisone-1741-3087-1936-0.html [2019,Aug3]