ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาเซฟาโลสปอรินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเซฟาโลสปอรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเซฟาโลสปอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเซฟาโลสปอรินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเซฟาโลสปอรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟาโลสปอรินอย่างไร?
- ยาเซฟาโลสปอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเซฟาโลสปอรินอย่างไร?
- ยาเซฟาโลสปอรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อดื้อยา ซูเปอร์บั๊ก (Superbug)
- หนองใน (Gonorrhea)
- เบต้า-แลคแทม (Beta-Lactam antibiotic)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
บทนำ
กลุ่มยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) เป็นยาปฏิชีวนะประเภท เบต้า-แลคแตม (B- Lactam antibiotic) โดยมีแหล่งกำเนิดมาจากเชื้อราที่รู้จักกันในชื่อว่า Cephalosporium โดยยา เซฟาโลสปอริน มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและชนิดแกรมลบ และถูกจำแนกออกเป็น 5 รุ่นย่อย (Generation) ดังนี้
รุ่นที่ 1 (First generation ): ใช้ได้ผลดีต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก แต่ต่อต้านแบคทีเรีย แกรมลบได้ในระดับกลางๆเท่านั้น ยาในกลุ่มนี้บางตัวถูกขับออกจากร่างกายได้เร็ว แต่บางตัวถูกขับออก ได้ช้าด้วยมีการจับกับโปรตีนในเลือดสูง หากใช้กับผู้ป่วยโรคไตต้องลดขนาดยาหรือปรับขนาดการ ใช้ให้น้อยลง ตัวอย่างยาในรุ่นนี้ ได้แก่ Cefacetrile, Cefadroxil, Cephalexin, Cefaloglycin, Ceftezole, Cefalonium, Cefaloridine, Cefalotin, Cefapirin, Cefatrizine, Cefazaflur, Cefazedone, Cefazolin, Cefradine Cefroxadine ในบรรดาเซฟาโลสปอรินรุ่นที่ 1 Cefazolin เป็นยาที่ใช้กันมากที่สุด
รุ่นที่ 2 (Second generation): ใช้ได้ผลดีต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้มากยิ่งขึ้น และยังใช้ได้ผลดีต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก ยาในรุ่นนี้อยู่ในร่างกายได้นานและมีการจับกับโปรตีนในเลือดสูง สามารถให้ยาคนไข้ได้วันละครั้งหรือ 2 ครั้งแล้วแต่รูปแบบของยา ที่มีทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายของการรักษาได้ระดับหนึ่ง หากใช้กับผู้ป่วยโรคไตต้องลดขนาดยาเช่นเดียวกับรุ่นที่ 1 ตัวอย่างยาในรุ่นนี้ ได้แก่ Cefaclor, Cefonicid, Cefprozil, Cefuroxime, Cefuzonam , Cefmetazole, Cefotetan, Cefoxitin, Cefoxitin, Cefotiam, loracarbef, Cephamycins, Cefmetazole, Cefminox, Cefotetan, Cefbuperazone
รุ่นที่ 3 (Third generation ): ใช้ได้ผลดีต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ อีกทั้งครอบคลุมเชื้อแบค ทีเรียที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อยากลุ่มเซฟาโลสปอรินรุ่น 1, 2 เช่น เชื้อแบคทีเรีย Enterobacter Serratia และเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas แต่ในเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกกลับมีผลตอบสนองน้อยลง ยารุ่นนี้นำมาใช้รักษาโรคหนองในเทียม รวมถึงโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะที่ซับซ้อนมากขึ้น ตัวอย่างยาในรุ่นนี้ ได้แก่ Cefcapene, Cefdaloxime, Cefdinir, Cefmenoxime, Cefditoren, Cefetamet, Cefixime, Cefodizime, Cefotaxime, Cefovecin, Cefpimizole, Ceftamere, Ceftibuten, Ceftiofur, Cefpodoxime, Cefteram, Ceftiolene, Ceftizoxime , Cefoperazone, Ceftazidime
รุ่นที่ 4 (Fourth generation): ใช้ได้ดีกับเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกเหมือนรุ่นที่ 1 และครอบคลุมถึงเชื้อแบคทีเรียที่มีความต้านทานกับยากลุ่มเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 อีกด้วย มีการนำยาในรุ่นนี้มารักษาการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง(เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ด้วยตอบสนองการรักษาได้ดี ตัวอย่างยาในรุ่นนี้ ได้แก่ Cefclidine, Cefepime, Cefluprenam, Cefoselis, Cefozopran, Cefpirome, Cefquinome
รุ่นที่ 5 (Fifth generation): ใช้ได้ดีกับเชื้อแบคทีเรียที่มีการดื้อยาทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบ ตัวอย่างยาในรุ่นนี้ ได้แก่ Ceftobiprole, Ceftaroline
หมายเหตุ:
ยาบางตัวในกลุ่มเซฟาโลสปอรินได้ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ หมวดยาอันตราย มีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง คำเตือนที่แตกต่างกันออกไป การใช้ยาที่ปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วย จึงต้องอยู่ภายในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ยาเซฟาโลสปอรินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเซฟาโลสปอรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังและส่วนที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน (Soft-tissue) ตามร่าง กาย
- รักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะทั้งชนิดที่ไม่ซับซ้อนและซับซ้อน เช่น จากโรคหนองในเทียม ทั้งนี้ขึ้นกับรุ่นของยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน
- รักษา การติดเชื้อแบคทีเรียของเยื่อหุ้มสมอง/เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง
- รักษาการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง/ปอดอักเสบ/ปอดบวม
- ป้องกันการติดเชื้อระหว่างการผ่าตัด
ยาเซฟาโลสปอรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มเซฟาโลสปอรินคือ ตัวยาจะรบกวนการสังเคราะห์เปปทิโด ไกลแคน (Peptidoglycan) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ในแบคทีเรีย ส่งผลให้แบค ทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายในที่สุด ยาในกลุ่มนี้ยังสามารถทนต่อเอนไซม์เบต้าแลคแตมของแบคทีเรีย ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ได้อีกด้วย (จึงใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาเพนิซิลลิน) จากกลไกที่กล่าวมาจึงทำให้ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ตามสรรพคุณ
ยาเซฟาโลสปอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซฟาโลสปอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาผงชนิดน้ำเชื่อม ขนาดความแรง 100, 125, และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาผงชนิดน้ำเชื่อม ขนาดความแรง 36 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาแคปซูลขนาด 100, 250, 400, และ 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาฉีดขนาด 500 มิลลิกรัม, 750 มิลลิกรัม, 1 กรัม, 1.5 กรัม, และ 2 กรัม
ยาเซฟาโลสปอรินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาเซฟาโลสปอรินขึ้นอยู่กับ การตอบสนองของอาการโรคต่อยาเซฟาโลสปอรินแต่ละรุ่น ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป อีกทั้งขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละรายที่มีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด แพทย์เท่านั้นจึงเป็นผู้ปรับขนาดการให้ยานี้ ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดรับประทานหรือยาฉีดก็ตาม
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเซฟาโลสปอริน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟาโลสปอรินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเซฟาโลสปอริน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาเซฟาโลสปอรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มเซฟาโลสปอรินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีอาการท้องเสีย
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ผื่นคัน
- สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายถูกรบกวน
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- ช่องปากหรืออวัยวะเพศมีการติดเชื้อรา
- ไตอักเสบ
- มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- มีไข้
- ลมพิษ
*****อนึ่ง: ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาเพนิซิลิน (Penicillin) ก็สามารถแพ้ยาในกลุ่มเซฟาโล สปอรินได้เช่นเดียวกัน
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟาโลสปอรินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟาโลสปอริน เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้แพ้ยากลุ่มเซฟาโซลิน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเพนิซิลิน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะ ไต และ/หรือ ตับ ทำงานผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มเซฟาโลสปอรินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเซฟาโลสปอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซฟาโลสปอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- สามารถทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเหล่านั้นเปลี่ยนไป หรืออาจส่งผลให้คนไข้ ได้รับพิษหรือมีอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยาต่างๆติดตามมามากขึ้น ซึ่งยาบางกลุ่มที่ไม่สมควรใช้ร่วมกับยากลุ่มเซฟาโลสปอริน เช่นยา
- Calcium acetate ยาใช้ในผู้ป่วยล้างไต
- Calcium chloride ยาใช้ช่วยในการรักษาสมดุลของเกลือแร่ร่างกาย
- Calcium gluceptate ยาใช้ช่วยในการรักษาสมดุลของเกลือแร่ร่างกาย
- Calcium gluconate ยารักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ
- สารละลายน้ำเกลือ เช่น Lactated ringers solution /Ringer’s solution
- Heparin (ยาต้านการแข็งตัวของเลือด)
- การใช้ยากลุ่มเซฟาโลสปอรินร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือร่วมกับการสูบบุหรี่ สามารถรบกวนฤทธิ์การรักษาของยาเซฟาโลสปอริน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มจำพวกผสมแอลกอฮอล์ และเลี่ยงการดูดบุหรี่ในระหว่างที่มีการใช้ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน
ควรเก็บรักษายาเซฟาโลสปอรินอย่างไร?
สามารถเก็บยาเซฟาโลสปอริน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาเซฟาโลสปอรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซฟาโลสปอริน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cedax (ซีแดกซ์) | MSD |
Cef-3 (เซฟ-3) | Siam Bheasach |
Cef-4 (เซฟ-4) | Siam Bheasach |
Cefadin (เซฟาดิน) | Atlantic Lab |
Cefamax (เซฟาแม็กซ์) | Siam Bheasach |
Cefamezin (เซฟาเมซิน) | Astellas Pharma |
Cefazillin (เซฟาซิลลิน) | T P Drug |
Cefazol (เซฟาซอล) | General Drugs House |
Cefazolin Meiji (เซฟาโซลิน เมจิ) | Meiji |
Cefclor T P (เซฟคลอร์ ทีพี) | T P Drug |
Cef-Dime (เซฟ-ไดม์) | Millimed |
Cefmandol (เซฟแมนดอล) | General Drugs House |
Cefobid IM/IV (เซโฟบิด ไอเอ็ม/ไอวี) | Pfizer |
Cefodime (เซโฟไดม์) | L. B. S. |
Cefomic (เซโฟมิก) | L. B. S. |
Ceforan (เซโฟแรน) | General Drugs House |
Cefox (เซฟอกซ์) | Utopian |
Cefoxin (เซโฟซิน) | M & H Manufacturing |
Cefozone (เซโฟโซน) | Atlantic Lab |
Cefspan (เซฟสแปน) | Astellas Pharma |
Ceftime (เซฟไทม์) | Utopian |
Ceftrex (เซฟเทร็กซ์) | Biolab |
Ceftriaxone T P (เซฟไทรอะโซน) | T P Drug |
Ceftriphin (เซฟทริฟิน) | General Drugs House |
Cefurim (เซฟูริม) | General Drugs House |
Cefurox (เซฟูร็อกซ์) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Cefute Forte (เซฟิวท์ ฟอร์ด) | T P Drug |
Cefxitin (เซฟซิทิน) | Siam Bheasach |
Cefzolin (เซฟโซลิน) | Utopian |
Cef-Zone (เซฟ-โซน) | Millimed |
Celex (เซเล็กซ์) | Millimed |
Cephalexyl (เซฟาเลซิล) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Cephin (เซฟิน) | General Drugs House |
Claforan (คลาฟอแรน) | sanofi-aventis |
Claraxim (คลาราซิม) | Siam Bheasach |
Clorotir (คลอโรเทีย) | Sandoz |
C-Tri T (ซี-ไทร ที) | Emcure Pharma |
Distaclor (ดีสแทคลอร์) | DKSH |
Farmacef (ฟาร์มาเซฟ) | Farmaline |
Farmalex (ฟาร์มาเล็กซ์) | Farmaline |
Faslex (ฟาสเล็กซ์) | Pharmahof |
Fazolin (ฟาโซลิน) | Siam Bheasach |
Felexin (เฟเลซิน) | Remedica |
Ferome (เฟโรเม) | MacroPhar |
Fortum (ฟอร์ทุม) | GlaxoSmithKline |
Fotax (โฟแท็กซ์) | M & H Manufacturing |
Furoxime (ฟูโรซิเม) | Siam Bheasach |
Gomcephin (กอมเซฟิน) | Daewoong Pharma |
Hofclor/Hofclor Forte (ฮอฟคลอร์/ฮอฟคลอร์ ฟอร์ด) | Pharmahof |
Ibilex (ไอบีเล็กซ์) | Siam Bheasach |
Keflex (เคเฟล็กซ์) | DKSH |
Magnaspor (แม็กนาสปอร์) | Ranbaxy |
Maxipime (แม็กซิพิม) | Bristol-Myers Squibb |
Megapime (เมกะพิม) | Alkem |
Meiact (เมแอ็ค) | Meiji |
Meicelin (เมเซลิน) | Meiji |
Mycef (มายเซฟ) | Unique |
Necaxime (เนกาซิม) | Nectar Lifesciences |
Neurox-250 (นิวร็อกซ์-250) | Nectar Lifesciences |
Oframax (โอฟราแม็กซ์) | Ranbaxy |
Omnicef (ออมนิเซฟ) | Pfizer |
Pime (ไพม์) | MacroPhar |
Rocephin (โรเซฟิน) | Roche |
Samnir (แซมเนีย) | Siam Bheasach |
Sedalin (เซดาลิน) | Chi Sheng |
Sefpime (เซฟพิม) | Shenzhen Zhijun Pharma |
Sefuxim (เซฟูซิม) | Shenzhen Zhijun Pharma |
Sialexin (ซิเอเลซิน) | Siam Bheasach |
Sifaclor (ซิฟาคลอร์) | Siam Bheasach |
Sixime (ซิซิม) | Siam Bheasach |
Sporicef (สปอริเซฟ) | Ranbaxy |
Sporidin (สปอริดิน) | Ranbaxy |
Suphalex (ซูฟาเล็กซ์) | Suphong Bhaesaj |
Tefaclor (เทฟาคลอร์) | T.O. Chemicals |
Teplexin (เทเพล็กซิน) | T P Drug |
Toflex (โทเฟล็กซ์) | T.O. Chemicals |
Trixone (ไทรโซน) | L. B. S. |
Trixophin (ไทรโซฟิน) | Shenzhen Zhijun Pharma |
Ulflex (อัลเฟล็กซ์) | Utopian |
Uto Ceftriaxone (ยูโท เซฟไทรอะโซน) | Utopian |
Vercef (เวอร์เซฟ) | Ranbaxy |
Zedim (เซดิม) | Great Eastern |
Zefa M H (เซฟา เอ็ม เฮช) | M & H Manufacturing |
Zefaxone (เซฟาโซน) | M & H Manufacturing |
Zeftam M H (เซฟแทม เอ็ม เฮช) | M & H Manufacturing |
Zeplex (เซเพล็กซ์) | M & H Manufacturing |
Zinacef (ซินาเซฟ) | GlaxoSmithKine |
Zinnat (ซินแนท) | GlaxoSmithKine |
Zocef (โซเซฟ) | Alkem |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Cephalosporin [2020,Oct17]
2. http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_file/20170503184421.pdf [2020,Oct17]
3. https://www.drugs.com/drug-class/third-generation-cephalosporins.html [2020,Oct17]
4. https://www.drugs.com/cdi/ceftriaxone.html [2020,Oct17]
5. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=cephalosporins&page=0 [2020,Oct17]