ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ยาเคลือบกระเพาะ (Tip of Stomach-lining protector)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 6 พฤศจิกายน 2557
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน (Antacid Suspension) ยาอลัมมิล (Alum milk)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
ยาเคลือบกระเพาะอาหาร (Stomach-lining protector) หรือเรียกกันย่อๆว่า ‘ยาเคลือบกระเพาะ’ ยากลุ่มนี้คือยาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเยื่อบุทางเดินอาหาร โดยการเคลือบอยู่บนผิวของเยื่อบุฯนั้น จึงลดโอกาสที่เยื่อบุฯจะสัมผัสกรดจากกระเพาะอาหาร จึงช่วยลดอาการจากการอักเสบหรือจากแผลในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนั้นยังช่วยลดโอกาสเกิดการอักเสบและ/หรือการเกิดแผลของเยื่อบุฯที่อาจเกิดจากกรดในกระเพาะอาหารได้
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างยาเคลือบกระเพาะอาหารที่นิยมใช้กันคือ ยาซูคราลเฟต (Sucralfate)
Sucralfate
ยานี้ออกฤทธิ์โดยจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้ที่อักเสบและ/หรือเป็นแผล จึงป้องกันไม่ให้กรดสัมผัสเนื้อเยื่อที่อักเสบและ/หรือที่เป็นแผลนั้น ยานี้แตกต่างจากยาลดกรด ตรงที่ยานี้ไม่มีฤทธิ์ในการลดกรด แต่จะทำหน้าที่เคลือบเยื่อบุฯอย่างเดียวและเกาะติดที่เนื้อเยื่อบุฯได้ดีกว่าและเกาะติดได้เป็นเวลานานกว่ายาลดกรด
ก. รูปแบบยาที่มีจำหน่าย:
ยานี้มีรูปแบบการจำหน่ายเป็นยาน้ำแขวนตะกอนและยาเม็ด ได้แก่ยาชื่อการค้าคือ อัลซานิค (Ulsa nic), อัลซีเฟต (Ulcefate), ซูเครต เจล (Sucrate gel)
ข. ผลข้างเคียงจากการใช้ยา:
ผลข้างเคียงจากยานี้เช่น ท้องผูก ปวดท้อง ซึ่งลดผลข้างเคียงดังกล่าวโดยกินอาหารที่มีกากใย เช่น ผลไม้และดื่มน้ำตามมากๆ
ค. ข้อบ่งใช้:
ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และ/หรือ ลำไส้อักเสบ
ง. ข้อควรระวังในการใช้ยา:
- ยานี้มีส่วนผสมของเกลืออลูมิเนียม (Aluminium salt) จึงควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคไต
- ระวังการใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- ยานี้รบกวนการดูดซึมยากันชัก ยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตร้าซัยคลีน (Tetracycline), ไซโปรฟล๊อคซาซิน (Ciprofloxacin) ดังนั้น ก่อนใช้ยานี้จึงควรแจ้งให้แพทย์และ/หรือเภสัชกรทราบ ว่ากำลังใช้ยาอะไรอยู่
*****หมายเหตุ:
- ยากลุ่มนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป สามารถหาซื้อทานเองได้ แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์และ/หรือเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยา เนื่องจากยานี้มีผลข้างเคียงดังกล่าว
- เมื่อซื้อยานี้มารับประทานเองแล้ว อาการไม่ดีขึ้นหรือไม่ทุเลาในระยะเวลาประมาณ 7 - 10 วัน ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม แต่ถ้าใช้ยานี้แล้วอาการเลวลงก็ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอ
บรรณานุกรม
1. http://www.oknation.net/blog/DIVING/2013/07/21/entry-3 [2014,Oct11]
2. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a681049.html [2014,Oct11]