ยาอัลเบนดาโซล (Albendazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 ธันวาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาอัลเบนดาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอัลเบนดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอัลเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอัลเบนดาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอัลเบนดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอัลเบนดาโซลอย่างไร?
- ยาอัลเบนดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอัลเบนดาโซลอย่างไร?
- ยาอัลเบนดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ตืดวัว พยาธิตืดวัว (Beef Tapeworm infection)
- ยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintic Drugs)
- พยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) โรคติดเชื้อพยาธิตืดหมู (Cysticercosis)
- โรคพยาธิใบไม้ตับ (Liver fluke)
- พยาธิปากขอ (Hookworm infection)
- พยาธิเส้นด้าย (Threadworm) หรือ พยาธิเข็มหมุด (Pinworm)
บทนำ
ยาอัลเบนดาโซล (Albendazole หรือ Albendazolum) ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิ หลายชนิด เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ เป็นต้น องค์การอนามัยโลกจัดให้อัลเบนดาโซลเป็นยาจำเป็นสำหรับสาธารณสุขขั้นมูลฐานของแต่ละประเทศ ประเทศไทยได้บรรจุให้อัลเบน ดาโซลอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากข้อมูลด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic: การศึกษาความเป็นไปเมื่อยาเข้าสู่ร่าง กาย)พบว่า หลังการรับประทานยาอัลเบนดาโซล ยาสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยกว่า 5% เมื่อ ยาผ่านเข้ากระแสเลือดจะจับตัวกับพลาสมาโปรตีน 7% โดยประมาณ และถูกส่งไปเปลี่ยนโครง สร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลา 8 - 12 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกายโดย ผ่านมา กับน้ำปัสสาวะและอุจจาระ
ยาอัลเบนดาโซลจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาที่ถูกต้องและปลอดภัย ควรต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ทุกครั้ง
ยาอัลเบนดาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอัลเบนดาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ เป็นยาสำหรับฆ่า/ถ่ายพยาธิ เช่น
- พยาธิปากขอ
- พยาธิตัวกลม (เช่น พยาธิไส้เดือน)
- พยาธิตัวแบน (เช่น พยาธิตืดหมู, พยาธิตืดวัว)
- พยาธิแส้ม้า
- พยาธิเส้น ด้าย/พยาธิเข็มหมุด
- พยาธิใบไม้ตับ
ยาอัลเบนดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอัลเบนดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเชื่อมต่อโปรตีนทิวบู ลิน (Tubulin: โปรตีนสำคัญที่ใช้ในการทำงานของเซลล์ของพยาธิ) ในตัวพยาธิ อีกทั้งปิดกั้นการ ดูดซึมน้ำตาลกลูโคส ทำให้พยาธิขาดพลังงานในการดำรงชีวิตและตายลง
ยาอัลเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอัลเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 200 มิลลิกรัม/เม็ด
- รูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน ขนาดความแรง 100 และ 200 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร
ยาอัลเบนดาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอัลเบนดาโซลมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับฆ่าพยาธิตัวตืด (Echinococosis): เช่น
- ผู้ใหญ่:
- ที่น้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัม: รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น เป็นเวลา 28 วัน
- หากน้ำหนักน้อยกว่า 60 กิโลกรัม รับประทาน 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 800 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทานขึ้นกับอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก ซึ่งต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เท่านั้น
ข. สำหรับพยาธิตืดหมูในระบบประสาท (Neurodysticercosis): เช่น
- ผู้ใหญ่:
- ที่น้ำหนักมากกว่า 60 กิโลกรัม: รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น เป็นเวลา 8 - 30 วัน
- หากน้ำหนักตัวน้อยกว่า 60 กิโลกรัม รับประทาน 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 800 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: ขนาดรับประทานขึ้นกับอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก ซึ่งต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เท่านั้น
ค. สำหรับฆ่าพยาธิเข็มหมุด (Enterobiasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
- เด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี: รับประทาน 400 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
- เด็กที่อายุ 1 - 2 ปี: รับประทาน 200 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
ง. สำหรับฆ่าพยาธิไส้เดือน (Ascariasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
- เด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี: รับประทาน 400 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
- เด็กที่อายุ 1 - 2 ปี: รับประทาน 200 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
จ. สำหรับฆ่าพยาธิปากขอ (Hookworm infections): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
- เด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี: รับประทาน 400 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
- เด็กที่อายุ 1 - 2 ปี: รับประทาน 200 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
ฉ. สำหรับฆ่าพยาธิเส้นด้าย (Strongyloidiasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละครั้งหรือแบ่งรับประทานเช้า -เย็น เป็นเวลา 3 วัน หากจำเป็น แพทย์อาจให้ยาซ้ำได้อีก หลังจากรับประทานยาไปแล้ว 3 สัปดาห์
- เด็ก: ขนาดที่รับประทาน ขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็กและต้องอยู่ในคำสั่งแพทย์เท่านั้น
*อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กทารกแรกเกิด
- ควรรับประทานยานี้ พร้อมอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอัลเบนดาโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอัลเบนดาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอัลเบนดาโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาอัลเบนดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอัลเบนดาโซลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร
- คลื่นไส้
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- ผื่นคัน
- ตับอักเสบ
- ปากคอแห้ง
- *อาการข้างเคียงขั้นรุนแรง ได้แก่ การกดไขกระดูก
มีข้อควรระวังการใช้ยาอัลเบนดาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอัลเบนดาโซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ใน หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กทารก
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ตับทำงานผิดปกติ
- ระหว่างการใช้ยานี้ ควรต้องคอยตรวจความผิดปกติของระบบเลือด และการทำงานของตับควบคู่กันไป
- ระวังมิให้เกิดการตั้งครรภ์ในเพศหญิงหลังหยุดใช้ยาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอัลเบนดาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาอัลเบนดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอัลเบนดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาอัลเบนดาโซล ร่วมกับยาลดกรด เช่นยา Cimetidine สามารถทำให้ระดับยาอัลเบน ดาโซนด้อยประสิทธิภาพลง หากไม่จำเป็นไม่ควรใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอัลเบนดาโซล ร่วมกับยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น ยา Dexamethazone สามารถเพิ่มระดับ ความเข้มข้นของอัลเบนดาโซลในเลือดได้ จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาอัลเบนดาโซลอย่างไร?
ควรเก็บยาอัลเบนดาโซล เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยา ในห้องน้ำ
ยาอัลเบนดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอัลเบนดาโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Albatel (อัลบาเทล) | T.O. Chemicals |
Albemed (อัลเบเมด) | Medicpharma |
Alben (อัลเบน) | Biolab |
Albenda (อัลเบนดา) | Milano |
Alben-Hero (อัลเบน-ฮีโร) | Heromycin Pharma |
Alben-VC (อัลเบน-วีซี) | Vesco Pharma |
Albenz (อัลเบนซ์) | The Forty-Two |
Albezol (อัลเบนซอล) | Union Drug |
Alda (อัลดา) | Thai Nakorn Patana |
Aldazole (อัลดาโซล) | Utopian |
Alfuca (อัลฟูกา) | Kenyaku |
Alzol (อัลซอล) | Pharmasant Lab |
Benyad (เบนยาด) | Inpac Pharma |
CB-400 (ซีบี-400) | Charoen Bhaesaj Lab |
Falben (ฟอลเบน) | GPO |
Fatel (ฟาเทล) | Pharmahof |
Gendazel (เจนดาเซล) | General Drugs House |
Labenda (ลาเบนดา) | Medicine Products |
Manozide (มาโนไซด์) | March Pharma |
Mesin (เมซิน) | Unison |
Prodazole (โพรดาโซล) | Inpac Pharma |
San-San (แซน-แซน) | T. Man Pharma |
Vermixide (เวอร์มิไซด์) | Polipharm |
Vetoben (วีโทเบน) | Community Pharm PCL |
Zeben (เซเบน) | Siam Bheasach |
Zela/Zela-C (เซลา/เซลา-ซี) | Unison |
Zentel (เซนเทล) | GlaxoSmithKline |
Zenzera (เซนเซรา) | Bangkok Lab & Cosmetic |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Albendazole#Mechanism_of_action [2020,Dec12]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2falbendazole%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Actions [2020,Dec12]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=albendazole [2020,Dec12]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fAlbatel%2f%3ftype%3dbrief [2020,Dec12]
- https://www.drugs.com/mtm/albendazole.html [2020,Dec12]