ยาหยอดตา (Eye drops)

บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาหยอดตาเป็นยาที่ใช้ภายนอก มีข้อดีคือมีผลต่อเนื้อเยื่อเฉพาะบริเวณที่ให้ยา/สัมผัสยาเท่านั้น และมีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย จึงไม่ค่อยมีผลข้างเอียงอื่นต่อระบบอวัยวะต่างๆในร่างกาย ส่วนข้อเสียคือใช้ได้ดีกับโรคที่เกิดบริเวณพื้นผิวร่างกายเท่านั้น และฤทธิ์ของยาอยู่ได้ไม่นาน

เนื่องจากลูกตาเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย และเป็นอวัยวะที่ไวต่อความรู้สึก ลูกตาเป็นเนื้อเยื่อที่บอบบางมาก และติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นยาเตรียมทุกประเภทที่ต้องสัมผัสกับลูกตาโดย ตรงจึงต้องปราศจากเชื้อโรค แบคทีเรีย และเชื้อรา

โดยปกติแล้ว ยาหยอดตาจะมีค่าความเป็นกรดด่าง หรือค่า พี เอช (pH) 7.4 และมีค่าสภาพตึงต้ว (Tonicity: ความดันของสารละลาย) ใกล้เคียงกับน้ำตา เพื่อให้เวลาหยอดตาแล้วไม่รู้สึกระคายเคืองต่อตา

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญของการใช้ยาหยอดตาคือ “อายุการใช้งาน” หลายต่อหลายครั้งที่พบ ว่า ปัญหาการติดเชื้อที่ตาเกิดจากการใช้ยาหยอดตาที่หมดอายุ หรือยาหยอดตาที่มีการปน เปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์หลังจากการเปิดใช้

สำหรับยาหยอดตาที่ไม่เคยเปิดใช้ สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานเท่าที่มีระบุวันหมดอายุไว้ข้างขวด หรือให้ใช้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีนับจากวันผลิต ในกรณีที่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุไว้ข้างขวด

โดยทั่วไป ยาหยอดตาชนิดขวด จะมีการเติมสารป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคที เรีย (Preservative) ซึ่งจะมีฤทธิ์เต็มที่ภายใน 1 เดือนหลังจากเปิดใช้งานครั้งแรก จากนั้นก็ค่อยๆเสื่อมประสิทธิภาพลงทีละน้อย ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาหยอดตาเกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้ครั้งแรก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับตาได้

สำหรับยาหยอดตาบางประเภท ที่ไม่มีการผสมสารป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบค ทีเรีย (เช่น น้ำตาเทียมบางยี่ห้อ) ส่วนมากจะมีอายุการใช้งาน 1 วันหลังจากการเปิดใช้ ดังนั้นเมื่อใช้ครบ 24 ชั่วโมงแล้วใช้ไม่หมด ส่วนที่เหลือควรจะต้องทิ้งไป

อนึ่ง ยาหยอดตาไม่มีข้อจำกัดในการใช้ ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในเด็ก เนื่องจากเป็นยาใช้เฉพาะที่

วิธีใช้ยาหยอดตา

วิธีใช้ยาหยอดตา ได้แก่

  1. ล้างมือให้สะอาด
  2. ตรวจดูวันหมดอายุของยา เปิดฝาครอบขวดยาออก
  3. นอนหรือนั่งแหงนหน้าขึ้น
  4. ค่อยๆใช้มือข้างหนึ่งดึงหนังตาล่างลงมาให้เป็นกระพุ้ง และเหลือบตาขึ้นข้างบน
  5. หยดยาตามจำนวนที่แพทย์สั่ง ลงในด้านในของเปลือกตาล่าง (ระวัง! อย่าให้ปลายหลอดหยดถูกตาหรือสิ่งใดๆ)
  6. ปล่อยมือจากการดึงหนังตาล่าง หลับตาอย่างน้อย 1 นาที และอย่าขยี้ตา
  7. ใช้นิ้วกดหัวตาไว้เบาๆ เพื่อไม่ให้ยาไหลลงคอ จะได้ไม่รู้สึกขมคอ และยาจะได้อยู่นานขึ้นในตา
  8. ปิดฝาครอบขวดยาให้สนิท เก็บไว้ในตู้เย็นชั้นธรรมดา ควรจัดไว้เป็นส่วนที่เก็บยาโดย เฉพาะ

อนึ่ง ถ้ามียาหยอดตาหลายชนิด ยาหยอดตาแต่ละชนิดควรหยอดให้ห่างกันอย่างน้อย 5 นาที (มียาบางชนิดอย่าง เช่น ยารักษาต้อหิน แพทย์อาจแนะนำให้หยอดยาแต่ละชนิดห่างกันประมาณ 10 - 15 นาที)

วิธีใช้ยาป้ายตา

วิธีใช้ยาป้ายตา คือ

  1. ล้างมือให้สะอาด
  2. เปิดจุกหลอดยาไว้ โดยวางให้ฝาหลอดหงายขึ้น
  3. นอน หรือ นั่งเงยหน้าขึ้น
  4. ค่อยๆใช้มือข้างหนึ่งดึงหนังตาล่างลงมาให้เป็นกระพุ้ง และเหลือบตาขึ้นข้างบน
  5. ให้ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับหลอดขี้ผึ้งป้ายตา และบีบขี้ผึ้งขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หรือประมาณ 1/2 นิ้ว ลงในด้านในของเปลือกตาล่าง

    !!! ระวัง ! อย่าให้ปลายหลอดขี้ผึ้งถูกตาหรือสิ่งใดๆ !!!

  6. ปล่อยมือจากการดึงหนังตาล่าง
  7. ค่อยๆปิดตาและกลอกลูกตาไปมาทุกทิศทาง ขณะที่ยังปิดตาอยู่สักครู่
  8. ปิดฝาจุกหลอดยาให้สนิท
  9. ถ้าต้องใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตา 2 ชนิดขึ้นไป ควรเว้นระยะห่างในการป้ายยาแต่ละชนิดประมาณ 10 นาที ถ้ายาอีกชนิดเป็นยาหยอดตาให้หยอดยาก่อนและรอประมาณ 10 นาที จึงใช้ขี้ผึ้งป้ายตา

ข้อแนะนำอื่นๆ

  • ห้ามใช้ยาหยอดตาร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจทำให้ติดโรคจากกันและกันได้
  • หลังหยอดตา อาจทำให้ตาพร่า แสบตา หรือเคืองตาหลังจากหยอดตาได้ ดังนั้นไม่ควรขับรถหรือต้องทำงานที่เสี่ยงต่ออันตราย จนกว่าตาจะมองเห็นได้ชัดเจนตามปกติ
  • ห้ามล้างหลอดหยด ห้ามล้างปลายหลอดขี้ผึ้งป้ายตา
  • หากลืมหยอดยา ให้หยอดทันทีในปริมาณยาเท่าเดิม (ไม่ต้องเพิ่มยาเป็น 2 เท่า) และหยอดยานั้นๆครั้งต่อไปในเวลาปกติตามเดิมต่อไป
  • ถ้าลืมหยอดตา ให้หยอดตาทันที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าจวนจะถึงเวลาที่จะหยอดตาครั้งต่อไปให้รอหยอดตาครั้งต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
  • ถ้ายาหยอดตาเป็นชนิดยาน้ำแขวนตะกอน จะต้องเขย่าขวดก่อนใช้
  • ยาหยอดตาขวดที่เปิดใช้แล้ว ห้ามใช้เกิน 1 เดือน ถ้ามียาเหลือควรทิ้งไป
  • ยาหยอดตาบางชนิดควรเก็บในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง ฉะนั้นต้องอ่านฉลากให้เข้าใจ
  • ยาหยอดตาบางชนิดจะทำให้รู้สึกขมได้ เพราะตาและปากมีทางติดต่อถึงกันได้ อาจกดหัวตาเบาๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อ วิธีหยอดตา
  • ผู้ใช้เลนซ์สัมผัส ควรถอดเลนส์ฯออกก่อนหยอดตา หลังจากนั้น โดยทั่วไปแพทย์มักแนะนำรอประมาณ 10 - 15 นาทีจึงใส่เลนส์สัมผัส เพื่อให้ยาสามารถดูดซึมผ่านกระจกตาได้ดีก่อน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาจักษุแพทย์ผู้สั่งใช้ยาหยอดตาก่อนเสมอ จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดกับการใช้ยานั้นๆ
  • ควรเก็บยาหยอดตาไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส หมายถึงเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้ แต่ไม่ควรวางไว้ริมหน้าต่าง หรือบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง เพราะอาจทำให้ยาเสื่อมฤทธิ์ลงได้ ทางที่ดีที่สุดคือเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา (ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง) และเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ยาหยอดตา หยอดเพียง 1 หยด ก็เป็นปริมาณที่เพียงพอ
  • ยาหยอดตาบางชนิด เช่น ยาหยอดตารักษาโรคต้อหิน แพทย์อาจจะแนะนำให้ท่านกดหัวตาหลังหยอดยาลงไปแล้วอย่างน้อย 1 นาที เหตุผลก็เพื่อให้ยาอยู่ในตานานขึ้น เป็นการเพิ่มประ สิทธิภาพของยา และลดการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายส่วนอื่น เป็นการลดผลข้างเคียงจากยา
  • การหยอดตาอย่างสม่ำเสมอ ควรหยอดให้ตรงเวลาทุกวัน ถ้าหยอดตาวันละ 2 ครั้ง ควรหยอดให้ห่างกันในแต่ละครั้งประมาณ 12 ชั่วโมง
  • หากยาหยอดตาหมดก่อนแพทย์นัด โดยเฉพาะยารักษาต้อหิน ที่เป็นยาสำคัญมาก ควรพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด อย่าให้ขาดยา โรคจะกำเริบได้

บรรณานุกรม

1. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=10 [2014,May1].
2. http://mettapharmacy.blogspot.com/2012/11/blog-post_26.html [2014,May1].
3. http://www.drtulaya.com/forum/index.php?topic=911.0;wap2 [2014,May1].
4. http://mettapharmacy.blogspot.com/2012/11/blog-post_7584.html [2014,May1].