ยาลอกผิวหนัง หรือสารลอกคีราติน (Keratolytic agent)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาหรือสารลอกเซลล์ผิวหนัง/ยาหรือสารลอกผิวหนัง หรือ ยาหรือสารลอกคีราติน/ยาหรือสารลอกเคอราทิน/Keratin (Keratolytic agent หรือ Keratolytics) เป็นกลุ่มสารประกอบที่ทางการแพทย์นำมากำจัดเซลล์ผิวหนังที่เป็นโรค อย่างเช่น หูด สิว หรือกำจัดเซลล์ผิวหนังที่มีลักษณะหนาตัวอย่าง ตาปลา หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น เพื่อช่วยให้ผิวหนังนุ่มขึ้น

อาจแบ่งกลุ่มยาลอกผิวหนัง ออกเป็นหมวดย่อย/กลุ่มย่อยได้ดังนี้

ก. กลุ่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด: โดยตัวยามีกลไกในการกัดและทำลายเซลล์ผิวหนัง ในทางคลินิกจะต้องเลือกสูตรตำรับยาที่มีความเข้มข้นของกรดที่นำมาเป็นยาลอกเซลล์ผิวหนังอย่างเหมาะสม ห้ามใช้ตัวยาที่มีฤทธิ์เป็นกรดในความเข้มข้นมากเกินไป ด้วยจะทำอันตรายต่อเซลล์ผิวหนังมากกว่าจะรักษา ทั้งนี้ บาดแผลที่เกิดจากผลข้างเคียงของยานี้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด มักต้องอาศัยเวลานานในการรักษา บางครั้งต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี หรืออาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดผิวหนังส่วนเกิดบาดแผล ตัวอย่างของยาในหมวดนี้ที่พบเห็นบ่อย ได้แก่ ยา Salicylic acid, ยา Lactic acid ที่ใช้ในการรักษา หูด ตาปลา สิว และโรคผิวหนังประเภทเกิดจากเชื้อรา

ข. กลุ่มที่เป็นธาตุหรือเป็นสารบริสุทธิ์: สารกลุ่มนี้นอกจากจะมีฤทธิ์ในการลอกเซลล์ผิวหนังแล้ว ยังสามารถทำลายและฆ่าเชื้อแบคทีเรียรวมถึง หิด และปรสิตต่างๆได้อีกด้วย โดยมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ทั้งประเภท ครีม โลชั่น ผง สบู่อาบน้ำ ตัวอย่างธาตุ/สารบริสุทธิ์ที่นำมาใช้ในหมวดนี้ เช่น กำมะถัน(Sulfur)

ค. สารประเภท Oxidizing agent/สารที่ทำปฏิกิริยาเป็นตัวเติมออกซิเจน: เป็นสารอินทรีย์ประเภทมีฤทธิ์กัดเซลล์ผิวหนัง ในทางอุตสาหกรรมจะผลิตออกมาในรูปวัตถุดิบที่มีความเข้มข้นสูง ต้องมีการควบคุมการผลิตและการจัดเก็บเป็นอย่างดี ด้วยสารประเภทนี้อาจระเบิดได้ ในทางคลินิกต้องนำ Oxidizing agent ดังกล่าวมาเจือจางอย่างเหมาะสมเพื่อใช้กับร่างกายของคนเราได้อย่างปลอดภัย ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยา Benzoyl peroxide ซึ่งพบเห็นในสูตรตำรับยารักษาสิว

ง. กลุ่มที่เป็นเอนไซม์จากพืช (Keratolytic enzyme): เอนไซม์บางชนิดที่สกัดจาก พืชประเภท ผัก ผลไม้ อย่าง ฟักทอง สับปะรด มะละกอ ด้วยมีสารสำคัญ อาทิ กรด Glycolic acid และกรด Hyaluronic acid มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังหลุดลอกได้ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเซลล์ผิวหนัง และยังกระตุ้นให้เนื้อเยื่อผิวหนังผลัดเซลล์ผิวหนังขึ้นมาใหม่ การใช้ยาที่เป็น Keratolytic enzyme จะต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังเป็นผู้แนะนำวิธีการใช้อย่างถูกต้องเช่นกัน ผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นในท้องตลาด จะเป็นครีมทาผิวหนังที่มีความสะดวกต่อการใช้ และง่ายในการทำความสะอาด

จ. กลุ่ม Retinoid: เป็นยาประเภทอนุพันธ์ของวิตามินเอ ซึ่งมีสารอนุพันธ์บางตัวที่นำมาใช้เป็นยาทารักษาสิว ช่วยลดริ้วรอย ทำให้ผิวหนังผลัดเซลล์ใหม่ (Keratolytic effect) อย่างเช่น ยาTretinoin ข้อจำกัดในการใช้ยากลุ่ม Retinoid จะมีเรื่องการแพ้ยาในกลุ่ม Retinoid ระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้ แพทย์จะสั่งห้ามการออกแดด เพราะแสงแดดสามารถกระตุ้นให้ผิวหนังที่สัมผัสยานี้ มีอาการแพ้แสงแดดได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามใช้กับสตรี ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงกับเด็ก ทั้งนี้อาจพบเห็นยากลุ่ม Retinoid ได้หลายสูตรตำรับยา ซึ่งมีทั้งยารับประทาน และยาใช้ทาภายนอก(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง Retinoid)

ฉ. กลุ่มน้ำมันดิน(Coal tar): เป็นสารประกอบที่องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคทางผิวหนังได้ อย่างเช่น รังแค และโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น ด้วยมีคุณสมบัติช่วยลอกผิวหนังและเกิดการกระตุ้นให้มีการผลัดเซลล์ผิวหนังขึ้นมาใหม่ มีรูปแบบการใช้เป็นสารประเภทอิมัลชั่น (Emulsion, ของเหลว 2 ชนิดผสมกัน แต่ไม่ละลายเข้ากัน) และแชมพู การใช้น้ำมันดินจะต้องมีความเข้มข้นในตัวผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งแพทย์ที่ดูแลรักษาจะเป็นผู้กำกับวิธีการใช้ได้ถูกต้องและปลอดภัยที่สุด

จะเห็นได้ว่าสาร/ยาลอกคีราติน หรือสาร/ยาที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวหนัง มีอยู่หลายกลุ่ม มีความจำเพาะเจาะจงต่อโรคผิวหนังของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน การจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดใด จึงควรต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเท่านั้น ไม่ควรซื้อหามาใช้เอง

สารลอกคีราติน/ผิวหนังมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาลอกผิวหนัง

สารลอกคีราติน/ผิวหนังมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาอาการโรคผิวหนังบางชนิดที่ทำให้เกิดผิวหนังด้านแข็ง อย่างเช่น หูด ตาปลา โรคสะเก็ดเงิน สิวอุดตัน เป็นต้น

สารลอกคีราติน/ผิวหนังมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ส่วนใหญ่ของสาร/ยาลอกคีราตินจะมีฤทธิ์เป็นกรด ตัวยาจึงมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สามารถกัด/ทำลายเซลล์ผิวหนัง ทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดการหลุดลอก ซึ่งจะช่วยกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ก่อโรค เช่น หูด สิว จากนั้นร่างกายจะเริ่มผลิตเซลล์ผิวหนังขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนเซลล์ผิวหนังที่ถูกกำจัดทิ้ง ด้วยกลไกดังกล่าว จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

สารลอกคีราติน/ผิวหนังมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

สารลอกคีราติน/ผิวหนังมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาทาผิวภายนอก เช่น ยาครีม ขี้ผึ้ง เจล โลชั่น
  • ยาประเภทแชมพูสระผม
  • ยาประเภทสบู่ถูตัว

สารลอกคีราติน/ผิวหนังมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ด้วยยาในกลุ่มสารลอกคีราติน/ผิวหนัง มีหลากหลายรายการ การใช้ยาแต่ละหมวดหมู่/แต่ละรายการ จึงต้องอาศัยข้อมูลชนิดของโรคมาประกอบ อย่างเช่น เป็นโรคอะไร ความรุนแรงของโรคมากหรือน้อย การตอบสนองต่อตัวยาที่ใช้เป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยร่วมด้วย อย่างเช่น อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร หรือมีอายุในช่วงวัยเด็ก รวมถึงมีการใช้ยาอื่นใดอยู่ก่อนหรือไม่ ดังนั้น การใช้ยาประเภทสารลอกคีราตินนี้ จึงควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว ซึ่งชนิดยา ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยากลุ่มนี้ จะแตกต่างกันตามข้อมูลโรคของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป จึงขอไม่กล่าวถึงขนาดการใช้ยากลุ่มนี้ในบทความนี้

อนึ่ง การใช้ยาในกลุ่มนี้ ต้องล้างมือทำความสะอาด ก่อน และหลังใช้ยากลุ่มนี้ทุกครั้ง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลอกคีราติน/ผิวหนัง ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลอกคีราติน/ผิวหนัง อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมใช้ยาลอกคีราติน/ผิวหนัง สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรใช้ยาลอกคีราติน/ผิวหนัง ตรงเวลา

สารลอกคีราติน/ผิวหนังมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยา/สารลอกคีราติน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังได้ง่ายในบริเวณที่สัมผัสยา เช่น แสบ คัน ทำให้ผิวที่สัมผัสยา แห้ง แตก และผิวไวต่อแสงแดด และอาจพบอาการบวมที่ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสยา

*อนึ่ง การใช้ยานี้เกินขนาด อาจส่งผลให้มีอาการ ปวดศีรษะ หน้าแดง วิงเวียน ผื่นคันขึ้นตามร่างกาย ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้หลังใช้ยากลุ่มนี้ ควรหยุดยา และรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด

มีข้อควรระวังการใช้สารลอกคีราติน/ผิวหนังอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้สาร/ยาลอกคีราติน/ผิวหนัง เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มสารลอกคีราติน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ยาใช้ภายนอกอย่างสาร/ยาลอกคีราติน ในทางคลินิก จะระบุถึงข้อห้ามในการรับประทาน ห้ามมิให้เข้าตา และเข้าโพรงจมูก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผิวหนังที่มี แผลเปิด แผลแตก แผลพุพอง แผลถลอก
  • เมื่อใช้ยานี้ ห้ามออกแดด ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง หรือใช้ยานี้นานเกินกว่าคำสั่งแพทย์
  • กรณีพบอาการแพ้ยาหลังจากการใช้ยานี้ เช่น มีหอบหืด หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคันขึ้นเต็มตัว บวมตามร่างกาย ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • หากใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วอาการไม่ดีขึ้น/อาการเลวลง ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • การใช้ยานี้ในช่วงฤดูหนาว อาจทำให้รู้สึกแสบคันผิวหนังส่วนสัมผัสยามากกว่าปกติ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กัดผิวหนัง หรือยาที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังเพิ่มขึ้น โดยไม่มีคำสั่งการใช้ยาจากแพทย์ กลุ่มยาเหล่านั้น เช่น Benzoyl peroxide, Salicylic acid, และ Resorcinol เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการทายานี้เป็นบริเวณกว้างบนพื้นที่ผิวของร่างกาย ให้ทาเฉพาะตรงรอยโรคเท่านั้น
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมสาร/ยาลอกคีราติน/ผิวหนังด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

สารลอกคีราติน/ผิวหนังมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

สารลอกคีราติน/ผิวหนัง มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้สาร/ยาลอกคีราตินร่วมกัน เกินกว่า 1 สูตรตำรับยา สามารถทำให้ผิวหนังของผู้ป่วยมีอาการระคายเคือง หรือแพ้แสงแดดได้ง่ายมากขึ้น หากไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาทาเฉพาะที่ Tretinoin ร่วมกับยาทาผิวที่มีส่วนประกอบของยากำมะถัน จะทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนัง อาจพบอาการผิวแห้ง และผิวหลุดลอกมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาสารลอกคีราติน/ผิวหนังอย่างไร?

ควรเก็บสาร/ยาลอกคีราติน ตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

สารลอกคีราติน/ผิวหนังมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

สาร/ยาลอกคีราตินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Benzo Ointment (เบนโซ ออยเมนท์)Greater Pharma
Beprolic (เบโพรลิก)HOE Pharmaceuticals
Beta-S (เบตา-เอส)Chew Brothers
Betosalic (เบโทซาลิก)T.O. Chemicals
Collomak (คอลโลแมค)Asmeco
Con Con (คอน คอน)B L Hua
Diprosalic (ไดโพรซาลิก)MSD
Duofilm (ดูโอฟิล์ม)Stiefel
Skin Soln Srichand (สกิน โซล ศรีจันทร์)Srichand
Verrumal (เวอร์รูมอล)Bausch & Lomb
Visotone (ไวโซโทน)British Dispensary (L.P.)
Zema Lotion (ซีมา โลชั่น)Union Drug
Renova (เรโนวา)Janssen-Cilag
Retacnyl (เรแท็กนิล)Galderma
Retin-A (เรทิน-เอ)Janssen-Cliag
Roaccutane (โรแอคคิวเทน)Roche
Roacta (โรแอคตา)MacroPhar
Sotret (โซเทรท)Daiichi Sankyo
Stieva-A (สตีวา-เอ)Stiefel
Tina-A (ทีนา-เอ)2M (Med-Maker)


บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Keratolytic [2016,July30]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Lactic_acid#Pharmaceutical_and_cosmetic_applications [2016,July30]
  3. https://www.drugs.com/drug-class/topical-keratolytics.html [2016,July30]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Sulfur#Pharmaceutical_use [2016,July30]
  5. http://www.kaviskin.com/products/keratolytic-enzyme-mask.html [2016,July30]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Tretinoin [2016,July30]
  7. https://www.kaviskin.com/info/retinol.html [2016,July30]
  8. http://www.mims.com/thailand/drug/info/coal%20tar/?type=brief&mtype=generic [2016,July30]