ยารักษาโรคหิด (Scabies medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยารักษาโรคหิด

ยารักษาโรคหิตมีคุณสมบัติอย่างไร?

ยารักษาโรคหิด หรือยาโรคหิด หรือ ยาหิด (Scabies medications หรือ Anti-scabies) คือยาที่ใช้รักษาโรคหิดซึ่งมีสาเหตุเกิดจากตัวหิด หรืออาจเรียกว่าตัวไร (Scabies mite) ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Sarcoptes scabiei” ซึ่งเป็นปรสิตที่อาศัยอยู่และวางไข่บริเวณใต้ผิวหนังของคนและของสัตว์ เช่น สุนัข ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคัน คันมากในเวลากลางคืน และมีผื่นตามผิวหนัง โรคนี้สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน ผู้ที่สัมผัสผิวหนังของผู้ป่วย และยังเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ยารักษาโรคหิดมีกี่ประเภท?

ยารักษาโรคหิด แบ่งประเภทตามกลุ่มยาได้ดังนี้

ก. ยาฆ่าหิด (Scabicidal agents, Scabicides): ได้แก่

  • ยาฆ่าหิดชนิดทาภายนอก (Topical treatment for scabies): เช่นยา เพอร์เมทริน (Permethrin), ขี้ผึ้งกำมะถัน (Sulfur ointment), เบนซิลเบนโซเอท (Benzyl benzoate), แกมม่าเบนซีนเฮกซะคลอไรด์หรือลินเดน (Gamma benzene hexachloride, Lindane), โครตาไมตอน (Crotamiton)
  • ยาฆ่าหิดชนิดรับประทาน (Oral treatment for scabies): เช่นยา ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin)

ข.ยาบรรเทาอาการคัน: ได้แก่

  • ยาแก้แพ้ (Antihistamine): เช่นยา ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine)
  • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids): เช่นยา เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone), เพรดนิโซโลน (Prednisolone), เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone)
  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics): เช่นยา ไดคลอกซาซิลิน (Dicloxacillin), คลอกซาซิลิน (Cloxacillin)

ยารักษาโรคหิดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารักษาโรคหิดมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาครีม (Cream)
  • ยาอิมัลชั่น (Emulsion)
  • ยาโลชั่น (Lotion)
  • ยาขี้ผึ้ง (Ointment)
  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

ยารักษาโรคหิดมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยารักษาโรคหิดมีข้อบ่งใช้ ดังนี้ เช่น

1. ยาฆ่าหิดชนิดทาภายนอก ออกฤทธิ์โดยการฆ่าตัวหิดและไข่หิด ยาชนิดนี้ต้องให้ผู้ป่วยทายาบางๆ ตั้งแต่คอลงไปจนถึงปลายเท้า โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วมือ ง่ามนิ้วเท้า ซอกเล็บ รักแร้ หัวนม ข้อมือ สะดือ ขาหนีบ อวัยวะเพศภายนอก ไม่ควรเลือกทาเฉพาะบริเวณที่เป็นผื่นเท่านั้น

2. ยาฆ่าหิดชนิดรับประทาน ใช้รักษาโรคหิดชนิดสะเก็ดหนา (Crusted scabies, Norwegian scabies) ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)บกพร่อง ส่งผลให้อาการของโรคมีความรุนแรง ผื่นมีลักษณะเป็นสะเก็ดแห้ง และเป็นขุยหนาทั่วตัว, ใช้รักษาโรคหิดในผู้ที่มีข้อห้ามใช้ของยาฆ่าหิดชนิดทาภายนอก มีความลำบากในการทายา ทนอาการไม่พึงประสงค์จากยาทาไม่ได้ หรือใช้ยาฆ่าหิดชนิดทาภายนอกรักษาแล้วไม่ได้ผล

3. ยาแก้แพ้ และยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ใช้บรรเทาอาการคัน เพราะถึงแม้ผู้ป่วยจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาฆ่าหิดได้ดี อาการคันจากโรคจะคงอยู่อีกหลายสัปดาห์

4. ยาปฏิชีวนะ ใช้ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเมื่อผู้ป่วยมีแผลบริเวณผิวหนังอันเนื่องมาจากการเกาอย่างรุนแรง

ยารักษาโรคหิดมีข้อห้ามใช้อย่างไร?

ยารักษาโรคหิดมีข้อห้ามใช้ เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาที่รุนแรง (Hypersensitivity)

2. ยาฆ่าหิดชนิดทา เป็นยาใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน

3. ห้ามใช้ยา Lindane ในผู้ป่วยลมชักที่ยังควบคุมอาการไม่ได้

4. ห้ามใช้ Ivermectin ในผู้ป่วยที่มี Blood-brain barrier(เยื่อที่ปิดกั้นไม่ให้สารต่างๆในเลือดผ่านเข้าสู่เนื้อเยื่อสมอง) ผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เพราะอาจทำให้ยาผ่านเข้าสู่สมองจนทำให้เกิดความเป็นพิษต่อสมองได้ เช่น สมองอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคหิดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคหิด เช่น

1. โรคหิดเป็นโรคที่สามารถติดต่อถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ ดังนั้นนอกจากรักษาตัวผู้ป่วยเองแล้ว ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น สมาชิกภายในบ้านและคู่นอน ควรเข้ารับการรักษาด้วย เพราะอาจติดโรคแต่ยังไม่มีอาการใดๆ

2. หลังจากรักษาโรคหิดแล้ว ควรป้องกันการกลับเป็นซ้ำด้วยการซักเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว เครื่องนอนของผู้ป่วยที่ใช้ก่อนเข้ารับการรักษา 3 วัน โดยการซักด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิสูงอย่างน้อย 50 องศาเซลเซียส(Celsius) เป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที ส่วนของอย่างอื่นที่ไม่สามารถซักได้ ให้ใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุงทิ้งไว้อย่างน้อย 72 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวหิดและไข่ตายทั้งหมด

3. ไม่ควรทายาฆ่าหิดบริเวณที่มี แผลสด แผลมีหนอง และควรระวังไม่ให้ยานี้เข้า ตา ปาก หรือสัมผัสกับเยื่อเมือกต่างๆ เช่น ช่องจมูก ช่องคลอด เพราะจะทำให้เยื่อเมือกเหล่านี้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย

4. ยาฆ่าหิดชนิดทาที่อยู่ในรูปแบบโลชั่นและอิมัลชั่น ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ ให้ยาผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้ตัวยาสำคัญกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ

5. ยา Lindane เป็นยาทาฆ่าหิดที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากยารุนแรงกว่ายาทาฆ่าหิดชนิดอื่น คือ เป็นพิษต่อระบบประสาท รวมทั้งมีรายงานว่าทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ/ไขกระดูกไม่ทำงาน (Aplastic anemia) จึงถูกถอนทะเบียนไปแล้วในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถทนอาการไม่พึงประสงค์จากยาทาชนิดอื่นได้ หรือใช้ยาทาชนิดอื่นรักษาแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น

6. ระวังการใช้ยา Lindane ในผู้ที่มีแผลถลอกเป็นบริเวณกว้าง มีผื่นผิวหนังอักเสบ เป็นโรคสะเก็ดเงิน ไม่ควรทายานี้ทันทีหลังอาบน้ำ และไม่ควรอาบน้ำอุ่น เพราะจะทำให้ยานี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น ควรทายานี้หลังจากอาบน้ำอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป

การใช้ยารักษาโรคหิดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาโรคหิดในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ยาฆ่าหิดชนิดทาที่ควรเลือกใช้ในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ เช่นยา Permethrin เพราะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี และมีอาการไม่พึงประสงค์จากยาน้อย ยาทาชนิดอื่นๆ ที่สามารถใช้ได้ คือยา Benzyl benzoate และยา Crotamiton ยาทาเหล่านี้ยังไม่พบว่าทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ เพราะใช้รักษาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

2. ระวังการใช้ยา Ivermectin ในหญิงมีครรภ์ เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยามากเพียงพอ

การใช้ยารักษาโรคหิดในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาโรคหิดในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1. โรคหิดในผู้สูงอายุ จะพบรอยโรคได้ทั่วร่างกาย ต่างจากวัยผู้ใหญ่ซึ่งไม่พบรอยโรคบริเวณศีรษะ ดังนั้นการใช้ยาทาฆ่าหิดในผู้สูงอายุ ต้องทาให้ทั่วร่างกายตั้งแต่ ศีรษะ ใบหน้า ใบหู หลังหู ลำคอ ลงไปจนถึงปลายเท้า

2. ยา Ivermectin ค่อนข้างปลอดภัยในผู้สูงอายุ เนื่องจากไม่ต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน (ขนาดยา 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว)

การใช้ยารักษาโรคหิดในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาโรคหิดในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. โรคหิดในเด็ก จะพบรอยโรคได้ทั่วร่างกาย ต่างจากวัยผู้ใหญ่ซึ่งไม่พบรอยโรคบริเวณศีรษะ ดังนั้นการใช้ยาทาฆ่าหิดในเด็กต้องทาให้ทั่วร่างกายตั้งแต่ ศีรษะ ใบหน้า ใบหู หลังหู ลำคอ ลงไปจนถึงปลายเท้า ควรเว้นบริเวณรอบริมฝีปาก เพราะเด็กอาจะเลียบริเวณนั้นทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และเว้นบริเวณรอบตา เพราะอาจทำให้ระคายเคืองตา หากยาเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก

2. ยาฆ่าหิดชนิดทาที่สามารถใช้ได้ในเด็ก ได้แก่ยา Permethrin ใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป และยา Sulfur ointment ใช้ได้ในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 เดือน โดยเจือจางยาให้มีความเข้มข้นเหมาะสมกับผู้ป่วยเด็กแต่ละราย

3. ควรใช้ยา Lindane ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป หากจำเป็นต้องใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่านี้ ต้องเฝ้าระวังการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ เพราะผิวของเด็กมีความชุ่มชื้น ทำให้ยาดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ

4. ระวังการใช้ยา Ivermectin ในเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 15 กิโลกรัม เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอ

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาโรคหิดเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) รักษาโรคหิด เป็นดังนี้ เช่น

1. ยา Permethrin: พบอาการไม่พึงประสงค์ได้น้อย เช่น แสบร้อน ปวด คัน ระคายเคืองบริเวณผิวหนังที่ทายานี้

2. ยา Sulfur: พบอาการไม่พึงประสงค์ได้น้อย เช่น แสบร้อน ปวด คัน ระคายเคืองบริเวณผิวหนังที่ทายานี้ นอกจากนี้ยังมีข้อเสียคือ มีกลิ่นฉุน เหนอะหนะ รวมทั้งมีสีเหลืองติดเสื้อผ้า

3. ยา Benzyl benzoate: ผลไม่พึงประสงค์ เช่น ทำให้ระคายเคืองบริเวณผิวหนังที่ทายานี้ คัน แสบร้อน

4. ยา Lindane: ผลไม่พีงประสงค์ เช่น ทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาท เช่น มึนงง ชักเป็นพิษต่อตับ เช่น ตับอักเสบ และเป็นพิษต่อไต เช่น ไตอักเสบ

5. ยา Crotamiton: พบอาการไม่พึงประสงค์ได้น้อย เช่น คัน ผื่นแพ้ บริเวณผิวหนังที่ทายานี้

6. ยา Ivermectin: ผลไม่พึงประสงค์ เช่น ทำให้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เหนื่อยล้า ท้องผูกหรือท้องเสีย มึนงง ง่วงซึม วิงเวียน ผื่นคันทั่วตัว ปวดหลัง มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว

7. ยาแก้แพ้: ผลไม่พึงประสงค์ เช่น ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม ปวดศีรษะ ปากแห้ง ตาแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด สับสน ใจสั่น

8. ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์(Corticosteroid): ผลไม่พึงประสงค์ เช่น ทำให้ผิวหนังบาง มีรอยแตก รอยช้ำ/ห้อเลือด กระเพาะอาหารทะลุ เลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น ในกระเพาะอาหาร ต้อกระจก ต้อหิน บดบังการแสดงอาการของภาวะติดเชื้อ ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หากใช้ยานี้ขนาดสูงนานกว่า 2 สัปดาห์ อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการ Cushing’s Syndrome

9. ยาปฏิชีวนะ: ผลไม่พึงประสงค์ เช่น ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการแพ้ยา เช่น ขึ้นผื่นเล็กน้อยถึงรุนแรง

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารักษาโรคหิด) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โรคหิด (Scabies). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://parasitology.md.chula.ac.th/th/index.php/8020130329043753/93scabies [2017,March25]
  2. เจนจิต ฉายะจินดา และพเยาว์ อเนกลาภ. โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้: หิด. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/epl/articledetail.asp?id=1095 [2017,March25]
  3. จรัสศรี ฬียาพรรณ, สุมนัส บุณยะรัตเวช และกนกวลัย กุลทนันทน์. หิด (Scabies). http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/epl/articledetail.asp?id=26 [2017,March25]
  4. American Academy of Family Pysicians. Scabies. [Online]. Available from : https://www.aad.org/login/?returnUrl=%2fpublic%2fdiseases%2fcontagious-skin-diseases%2fscabies [2017,March25]
  5. Centers for Disease Control and Prevention. Parasites - Scabies. [Online]. 2010. Available from: https://www.cdc.gov/parasites/scabies/ [2017,March25]
  6. Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.