ยาทีซีเอ ยารักษาโรคซึมเศร้า (TCAs : Tricyclic and tetracyclic antidepressants)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 ธันวาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเออย่างไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเออย่างไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคซึมเศร้า (Depression): สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
บทนำ
ยารักษาโรคซึมเศร้าประเภท Tricyclic and tetracyclic antidepressants ที่ย่อว่า ทีซีเอ (TCAs) ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ.2493) และวางจำหน่ายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะ เดียวกันก็มีการพัฒนายารักษาอาการซึมเศร้ากลุ่มอื่นขึ้นมาทดแทนโดยใช้ผลข้างเคียงที่มีน้อยกว่าของยาเป็นจุดขาย
สำหรับยาในกลุ่ม TCAs อาจแบ่งออกเป็น 3 รุ่นดังนี้
- ยากลุ่ม TCAs รุ่นที่ 1 ประกอบด้วยตัวยา Amitriptyline, Clomipramine, Doxepin, Dosulepin, Imipramine และ Trimipramine,
- ยากลุ่ม TCAs รุ่นที่ 2 ประกอบด้วยตัวยา Desipramine, Nortriptyline และ Protriptyline
- ยากลุ่ม TCAs รุ่นที่ 3 ประกอบด้วยตัวยา Amoxapine และ Maprotiline
นอกจากจะนำยากลุ่ม TCAs มารักษาอาการซึมเศร้าแล้ว ยังมีประโยชน์อื่นของการรักษาที่วง การแพทย์นำมาใช้เช่น ใช้บำบัดอาการจากโรคสมาธิสั้น บำบัดอาการปวดชนิดเรื้อรัง เป็นต้น มียาบางรายการของ TCAs ที่คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่น Amitriptyrine, Nortriptyline, Imipramine และ Clomipramine โดยจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตราย
ยารักษาอาการซึมเศร้ากลุ่ม TCAs มักจะมีผลข้างเคียงมากกว่ายารักษาอาการซึมเศร้ากลุ่มอื่น การเลือกใช้หรือซื้อหามารับประทานเองอาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้บริโภค ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีสรรพคุณดังนี้
- รักษาและบรรเทาอาการซึมเศร้า
- บำบัดอาการสมาธิสั้น
- บำบัดอาการปวดชนิดเรื้อรังเช่น ปวดจากโรคมะเร็ง
ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ชองยากลุ่ม TCAs คือ ตัวยาจะเข้าไปปิดกั้นหรือยับยั้งการดูดซึมของสารเซโรโทนิน (Serotonin, สารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับภาวะทางอารมณ์/จิตใจ) และสารนอร์อีพิเนฟรีน (Norepinephrine, ฮอร์โมนและสารสื่อประสาทชนิดที่เกี่ยวข้องกับการตื่นตัวของร่างกาย) ในสมองทำให้เกิดการแปรผลของระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้บรรเทาอาการซึมเศร้า รวมถึงบรรเทาอาการปวดของร่างกาย จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาเม็ด ขนาด 10 และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น
- Perphenazine 2 mg + amitriptyline HCl 10 mg
- Perphenazine 2 mg + amitriptyline HCl 25 mg
- Perphenazine 4 mg + amitriptyline HCl 10 mg
- Fluphenazine HCl 0.5 mg + nortriptyline 10 mg
ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีขนาดรับประทานอย่างไร?
การรับประทานยากลุ่มทีซีเอต้องตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับ ประทานเองเพราะเป็นตัวยาที่มีผลข้างเคียงสูง
เนื่องจากตัวยาในกลุ่มยาทีซีเอมีมากมายและใช้หลายวัตถุประสงค์ ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานของยาบางรายการที่ใช้บ่อยเฉพาะสำหรับบรรเทาอาการซึมเศร้าเท่านั้นมีดังนี้
- Amitriptyline:
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 50 - 75 มิลลิกรัม/วัน อาจแบ่งรับประทานหรือรับประทานครั้งเดียวก่อนนอน แพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานได้ถึง 150 มิลลิกรัม/วัน หากโรคมีความรุนแรงสามารถรับประทานในขนาดสูงสุดได้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุมากกว่า 16 ปี: รับประทาน 30 - 75 มิลลิกรัม/วัน โดยจะแบ่งรับประทานก็ได้หรือรับ ประทานครั้งเดียวก่อนนอน
- เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี: ไม่มีข้อมูลแนะนำการใช้ยาทีซีเอในเด็กกลุ่มนี้ที่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยาในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- ผู้สูงอายุ: รับประทาน 30 - 75 มิลลิกรัม/วัน โดยจะแบ่งรับประทานก็ได้หรือรับประทานครั้งเดียวก่อนนอน
- Nortriptyline:
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 75 - 100 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานออกเป็น 3 - 4 ครั้ง กรณีที่อาการรุนแรงแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานได้ถึง 150 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุมากกว่า 16 ปี: รับประทาน 30 - 50 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน
- เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี: ไม่มีข้อมูลแนะนำการใช้ยาทีซีเอในเด็กกลุ่มนี้ที่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยาในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- ผู้สูงอายุ: รับประทาน 30 - 50 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน
- Imipramine:
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 75 มิลลิกรัม/วัน สามารถปรับขนาดรับประทานเป็น 150 - 200 มิลลิ กรัม/วัน โดยค่อยๆเฉลี่ยการเพิ่มปริมาณยาตามแพทย์แนะนำ กรณีที่มีอาการป่วยขั้นรุนแรงใช้ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: ไม่มีข้อมูลแนะนำการใช้ยาทีซีเอในเด็กที่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยาในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุล พินิจของแพทย์
- ผู้สูงอายุ: รับประทานเริ่มต้น 10 มิลลิกรัมก่อนนอน และสามารถปรับขนาดรับประทานเป็น 30 - 50 มิลลิกรัม/วัน โดยค่อยๆเพิ่มขนาดรับประทานตามแพทย์แนะนำ
- 4. Clomipramine:
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน สามารถปรับขนาดรับประทานตามแพทย์แนะนำเป็น 30 - 150 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: ไม่มีข้อมูลแนะนำการใช้ยาทีซีเอในเด็กกลุ่มนี้ที่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยาในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- ผู้สูงอายุ: รับประทานเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม แพทย์อาจแนะนำเพิ่มขนาดรับประทานโดยค่อยๆปรับขนาดเพิ่มขึ้นในช่วง 10 วันเป็น 30 - 75 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดของยานี้ควรอยู่ในช่วง 100 - 150 มิลลิกรัม/วัน
*****หมายเหตุสำคัญ:
การเลือกชนิดของยากลุ่มทีซีเอ รวมถึงขนาด การปรับขนาดยา และช่วงเวลาของการรับประ ทานยาที่ปลอดภัยและสามารถฟื้นฟูอาการป่วยให้ดีขึ้น ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น ห้ามใช้ยาเอง
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาในกลุ่มยาทีซีเอ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัช กรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาทีซีเออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากลุ่มทีซีเอสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่ม TCAs สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ปากและจมูกแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะขัด อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น (มีไข้) การมองเห็นไม่ชัดเจน ง่วงนอน วิตกกังวล สับสน กระสับกระส่าย อารมณ์ทางเพศลดลง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
การรับประทานยากลุ่มทีซีเอเกินขนาด สามารถก่อให้เกิดภาวะประสาทหลอนและมีภาวะโคม่าเกิดขึ้นได้
การหยุดรับประทานยากลุ่มทีซีเอทันทีสามารถก่อให้เกิดภาวะการถอนยาได้ โดยมีอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เพื่อป้องกันภาวะถอนยา แพทย์จะเป็นผู้ปรับลดขนาดรับประ ทานและกำหนดเวลาของการหยุดรับประทาน ผู้ป่วยไม่ควรปรับขนาดหรือหยุดรับประทานยาเอง
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเออย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอดังนี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่ม TCAs
- ระวังการใช้ยากลุ่ม TCAs กับผู้สูงอายุด้วยยาหลายตัวจะทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยาค่อนข้างมาก
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
- การรับประทานยากลุ่ม TCAs ควรเริ่มที่ขนาดต่ำก่อนแล้วค่อยๆปรับเพิ่มขนาดรับประทานตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยา
- ไม่ควรหยุดการใช้ยาในกลุ่ม TCAs โดยทันทีด้วยจะก่อให้เกิดการเสี่ยงต่อภาวะการถอนยา
- ผลของการรักษาด้วยยากลุ่ม TCAs อาจเริ่มเห็นผลในสัปดาห์ที่ 4 จนถึงสัปดาห์ที่ 8 ด้วยยา กลุ่มนี้ต้องรักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป
- ไม่แนะนำการใช้ยากลุ่มนี้ในสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม TCAs ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยารักษาโรคซึมเศร้ามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยารักษาโรคซึมเศร้ามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้
- การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม TCAs ร่วมกับกลุ่มยา MAOIs หรือกลุ่ม Sympathomimetic อาจเพิ่มความเป็นพิษต่อร่างกาย การจะใช้ยากลุ่มดังกล่าวร่วมกันต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว ห้ามผู้ป่วยหาซื้อยามารับประทานร่วมเองโดยเด็ดขาด
- การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม TCAs ร่วมกับการดื่มสุราหรือยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วน กลาง (เช่น ยานอนหลับ ยาป้องกันการชัก) สามารถทำให้ร่างกายได้รับพิษจากกลุ่มยาเหล่านี้ ควรหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ร่วมกัน
- การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม TCAs ร่วมกับยาแก้ปวดบางตัวเช่น Tramadol จะก่อให้เกิดความเสี่ยงเกิดโรคลมชัก หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม TCAs ร่วมกับยาต่อไปนี้เช่น Cisapride, Thioridazine, Quinidine, ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine), Erythromycin, Dofetilide และ Pimozide อาจเพิ่มความเสี่ยงให้หัวใจมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ TCAs ร่วมกับยาดังกล่าว
- การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม TCAs ร่วมกับยาลดความดันโลหิตเช่น Clonidine สามารถทำให้ประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตของ Clonidine ด้อยประสิทธิภาพลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษายารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเออย่างไร?
สามารถเก็บยากลุ่มทีซีเอภายใต้อุณหภูมิห้อง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยารักษาโรคซึมเศร้าทีซีเอที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amitec (อะมิเทค) | Utopian |
Amitryn (อะมิทรีน) | T.Man Pharma |
Amitryptyline GPO (อะมิทริปไทลีน) | GPO |
Conmitrip (คอนมิทริป) | Condrugs |
Polybon (โพลีบอน) | Central Poly Trading |
Polytanol (โพลีทานอล) | Central Poly Trading |
Tripsyline (ทริปซีไลน์) | Polipharm |
Tripta (ทริปตา) | Atlantic Lab |
Triptyline (ทริปทีไลน์) | Medifive |
Cetavol (ซีทาโวล) | Central Poly Trading |
Nortyline (นอร์ทีไลน์) | Condrugs |
Ortrip (ออทริป) | Central Poly Trading |
Anafranil (อะนาฟรานิล) | Novartis |
Clofranil (โคลฟรานิล) | Sun Pharma |
Celamine (เซลามีน) | Central Poly Trading |
Inpramine (อินพรามายน์) | Inpac Pharma |
Minapine (มินาปีน) | Medicpharma |
Mipramine (มิพรามีน) | Inpac Pharma |
Sermonil (เซอร์โมนิล) | Pharmaland |
Topramine (โทพรามายน์) | Condrugs |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Tricyclic_antidepressant [2014,Nov22]
2 http://bestpractice.bmj.com/best-practice/monograph/342/basics/classification.html [2014,Nov22]
3 http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/depression/in-depth/antidepressants/art-20046983 [2014,Nov22]
4 http://www.nhs.uk/conditions/antidepressant-drugs/Pages/Cautions.aspx [2014,Nov22]
5 http://web4health.info/en/answers/bipolar-depr-med-tcas-effect.htm [2014,Nov22]
6 http://www.emedicinehealth.com/understanding_antidepressant_medications/page6_em.htm [2014,Nov22]
7 http://www.mims.com/USA/drug/info/amitriptyline/ [2014,Nov22]
8 http://www.mims.com/USA/drug/info/nortriptyline/?type=brief&mtype=generic [2014,Nov22]
9 http://www.mims.com/USA/drug/search/?q=clomipramine [2014,Nov22]
10 http://www.mims.com/USA/drug/info/imipramine/?type=brief&mtype=generic [2014,Nov22]
11 http://www.medindia.net/doctors/drug_information/amitriptyline.htm [2014,Nov22]