ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไร?

ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ/ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะ/ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ(Antiarrhythmic drug หรือ Antiarrhythmic agent หรือ Antiarrhythmic medication) หมายถึง ยาที่ใช้ควบคุมอัตราการเต้น(Rate)และจังหวะการเต้นของหัวใจ(Rhythm)ให้ใกล้เคียงระดับปกติ ป้องกันการกลับเป็นซ้ำของอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากอาการ และลดอัตราการตายของผู้ป่วย

ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะมีกี่ประเภท?

ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แบ่งประเภทตามกลุ่มยาได้ดังนี้

ก. ยาที่ออกฤทธิ์ปิดกั้นช่องโซเดียม/ปิดกั้นการทำงานของหัวใจผ่านทางประจุโซเดียม (Sodium channel blockers): เช่นยา ควินิดีน (Quinidine), โพรเคนาไมด์ (Procainamide), ไดโซไพราไมด์ (Disopyramide), ลิโดเคน (Lidocaine), เฟนิโทอิน (Phenytoin), ฟลีเคไนด์ (Flecainide), โพรพาฟีโนน (Propafenone)

ข. ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับเบต้า(Beta blockers): เช่นยา โพรพาโนลอล (Propanolol), เอสโมลอล (Esmolol), เมโทโพรลอล (Metoprolol)

ค. ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นช่องโพแทสเซียม/ปิดกั้นการทำงานของหัวใจผ่านทางประจุโพแทสเซียม(Potassium channel blockers): เช่นยา บรีไทเลียม (Bretylium), อะมิโอดาโรน (Amiodarone), โซทาลอล (Sotalol)

ง. ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นช่องแคลเซียม/ปิดกั้นการทำงานของหัวใจผ่านทางประจุแคลเซียม(Calcium channel blockers): เช่นยา เวอราปามิล (Verapamil), ดิลไทอะเซม (Diltiazem)

จ. ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดอื่นๆ(Miscellaneous Drugs): เช่นยา ดิจ๊อกซิน (Digoxin), อะดีโนซีน (Adenosine), แมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium Sulfate)

ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?

ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะมีรูปแบบจำหน่าย ดังนี้

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาอิลิกเซอร์ (Elixir)
  • ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะมีข้อบ่งใช้ เช่น

1. ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขึ้นบริเวณหัวใจห้องบน (Supraventricular arrhythmia)

2. ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขึ้นบริเวณหัวใจห้องล่าง (Ventricular arrhythmia)

ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะมีข้อห้ามใช้อย่างไร?

ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะมีข้อห้ามใช้ เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแร(Hypersensitivity) ต่อยานั้นๆ

2. ห้ามใช้ยากลุ่ม Sodium channel blocker ในผู้ที่มีโครงสร้างของหัวใจผิดปกติ (Structural Heart Disease) เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ หัวใจห้องล่างซ้ายทำงานผิดปกติ

3. ห้ามใช้ยากลุ่ม Beta blockers ในผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่ในห้องผู้ป่วยหนัก (Intensive care unit, ICU) มีภาวะบวมน้ำ เป็นโรคหืด ภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ หรือ มีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ

มีข้อควรระวังการใช้ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น

1. การใช้ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิด/หลายประเภทรวมกัน อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเองได้ และอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง ดังนั้นควรใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกันก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่า จะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น

2. ยา Phenytoin อาจทำให้เกิดอาการ วิงเวียน มองเห็นภาพซ้อน และง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานใกล้เครื่องจักรขณะใช้ยานี้ เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานยานอนหลับ หรือยาแก้แพ้ ร่วมด้วย เพราะจะยิ่งเพิ่มฤทธิ์ง่วงซึมจากยา Phenytoin

3. ระวังการใช้ยา Amiodarone ในผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมกับโรคต่อมไทรอยด์ เพราะยา Amiodarone มีปริมาณของสารไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ จึงอาจทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้

4. ยา Amiodarone เป็นยาที่มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ (Enzyme inhibitors) จึงมีผลลดการกำจัดยาชนิดอื่นๆออกจากร่างกาย เช่นยา Warfarin, Thephylline, Quinidine, Digoxin และ Procainamide เป็นต้น การใช้ยาร่วมกันจะทำให้ระดับของยาเหล่านี้ในเลือดสูงเกินไป จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาเหล่านี้ได้ ดังนั้น จึงควรตรวจติดตามระดับยานี้ในเลือด และเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นตามแพทย์ เภสัชกร แนะนำ

5. ไม่ควรหยุดใช้ยากลุ่ม Beta blockers ทันทีหลังจากใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเจ็บหน้าอก/ แน่นหน้าอก และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้ ดังนั้นแพทย์จะค่อยๆลดขนาดยานี้ลงก่อนที่จะหยุดยา

6. ยาPhenytoin และยา Digoxin เป็นยาที่มีช่วง “Therapeutic index” แคบ (ขนาดของยาที่ให้ผลการรักษา และขนาดของยาที่ทำให้เกิดอันตรายใกล้เคียงกัน) ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างเคร่งครัด ไม่ควรเพิ่มขนาดยา หรือลดขนาดยา หรือหยุดยาเอง โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์

7. ยา Digoxin เป็นยาที่ถูกทำลายได้โดยแบคทีเรียในลำไส้ จึงควรระวังการรับประทานยานี้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ เพราะอาจทำให้เพิ่มการสะสมยา Digoxin ในร่างกายจนส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยาDigoxin

8. ระวังการใช้ยา Adenosine ในผู้ป่วยโรคหืด เพราะยานี้จะกระตุ้นให้หลอดลมตีบ/หดตัว อาจทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก

การใช้ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. หญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะควรรับประทานยานี้ให้ครบตามที่แพทย์สั่ง เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)จากหัวใจเต้นผิดจังหวะต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงก่อนและหลังคลอด เช่น ทารกมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยกว่าปกติ และ/หรือทารกมีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ

2. ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในหญิงมีครรภ์ เช่น Flecainide, Lidocaine, Propafenone, Sotalol, Digoxin, Adenosine, ยา กลุ่ม Beta blockers, และยากลุ่ม Calcium channel blockers

3. เนื่องจากยา Amiodarone เป็นยาที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้หลาอาการ ดังนั้น แพทย์จะใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อใช้ยาอื่นไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น และแพทย์จะตรวจเลือดผู้ป่วย/มารดาเป็นระยะๆเพื่อติดตามภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน(Hypothyroidism) ที่อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้

4. ห้ามใช้ยา Phenytoin ในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์(Teratogen)

การใช้ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะในผู้สูงอายุควรเป็น ดังนี้ เช่น

1. เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวและมียาที่ต้องใช้เป็นประจำหลายชนิดอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา เพราะมียารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิด ตัวอย่างเช่น Amiodarone ที่เกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) กับยาอื่นๆได้ง่าย

2. ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา คือ หัวใจเต้นช้า และความดันโลหิตต่ำ ดังนั้นควรติดตามระดับความดันโลหิตของผู้สูงอายุในท่านั่งหรือท่านอน เปรียบเทียบกับท่ายืน เพราะผู้สูงอายุมักมีภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ/ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน จนอาจทำให้หน้ามืด จนอาจหกล้มจนกระดูกหักได้

การใช้ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • เด็กที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถใช้ยากลุ่มนี้เพื่อรักษาโรคได้ทุกชนิด โดยปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเด็กแต่ละราย

อาการไม่พึงประสงค์จากยาหัวใจเต้นผิดจังหวะมีอะไรบ้าง?

อาการไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง)จากยาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น

1. ยา Quinidine: ทำให้เกิดกลุ่มอาการ Cinchonism (ปวดศีรษะ วิงเวียน หูอื้อ) คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ตับอักเสบ ความดันโลหิตต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ

2. ยา Procainamide: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ ท้องเสีย ตับอักเสบ เม็ดเลือดขาวต่ำ ความดันโลหิตต่ำ หากใช้ยาอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการ Lupus Erythematosus (ผื่นที่ใบหน้า ปวดข้อ ข้ออักเสบ)

3. ยา Disopyramide: ทำให้เกิดผล antimuscarinic effect (ความดันในลูกตาเพิ่ม/ความดันตาสูง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า) ความดันโลหิตต่ำ กดการบีบตัวของหัวใจ/หัวใจบีบตัวน้อยลง

4. ยา Lidocaine: ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น ชา กล้ามเนื้อสั่น ตากระตุก การได้ยินผิดปกติ พูดช้าลง อาการชัก มึนงง ง่วงซึม มองเห็นภาพไม่ชัด คลื่นไส้ อาเจียน และทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลวแย่ลง

5. ยา Phenytoin: ทำให้ตากระตุก วิงเวียนเหมือนบ้านหมุน ตาพร่า ซึม เดินเซ คลื่นไส้ อาเจียน เหงือกบวม (Gingival hyperplasia) ขนดก กระดูกบาง น้ำตาลในเลือดสูง

6. ยา Flecainide: ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด แน่นหน้าอก มึนงง ปวดศีรษะ ตัวสั่น คลื่นไส้ และทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง

7. ยา Propafenone: ทำให้ มึนงง เหนื่อยล้า หลอดลมหดเกร็ง/หายใจลำบาก ปวดศีรษะ การรับรสผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นช้า และทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง

8. ยา Bretylium: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง (Postural hypotension)

9. ยา Amiodarone: ทำให้หัวใจเต้นช้า ภาวะหัวใจล้มเหลวแย่ลง ความดันโลหิตต่ำ หลอดเลือดดำอักเสบ (Phlebitis) ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติทั้งภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน/ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) หรือภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) ท้องผูก เป็นพิษต่อตับ/ตับอักเสบ แพ้แสง (Photosensitivity) ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีฟ้า (Blue-gray skin discoloration) ปลายประสาทตาอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ตัวสั่น เดินเซ

10. ยา Sotalol: ทำให้ มึนงง เหนื่อยล้า อ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นช้า ท้องเสีย หลอดลมหดเกร็ง และทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลวแย่ลง

11. ยากลุ่ม Beta blockers: ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยได้รับยานี้ครั้งแรกหรือมีการปรับขนาดยานี้เพิ่ม อาการอื่นๆ เช่น หัวใจเต้นช้า มึนงง เหนื่อยล้า อ่อนแรง ภาวะบวมน้ำ และน้ำตาลในเลือดสูง

12. ยากลุ่ม Calcium channel blockers: ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ บวมที่อวัยวะต่างๆ เช่น ข้อเท้าหรือข้อเท้า การมองเห็นหรือการได้ยินเปลี่ยนแปลงไป

13. ยา Digoxin: ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เหนื่อยล้า มึนงง สับสน ปวดศีรษะ บ้านหมุน การมองเห็นเปลี่ยนไป เช่น เห็นแสงวูบวาบ ภาพพร่ามัว การมองเห็นสีเปลี่ยนไป เช่นเห็นเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว เมื่อยล้า และกล้ามเนื้ออ่อนแรง

14. ยา Adenosine: ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ เจ็บหน้าอก/ แน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจลำบาก/หลอดลมหดตัว ความดันโลหิตต่ำ ทำให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแย่ลง

15. ยา Magnesium Sulfate: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน หน้าแดง หลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตต่ำ กระหายน้ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มึนงง สับสน ง่วงซึม กดการหายใจ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาหัวใจเต้นผิดจังหวะ) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Escudero, C., Carr, R., Sanatani, S. Overview of antiarrhythmic drug therapy for supraventricular tachycardia in children. Progress in Pediatric Cardiology 35 (2013) : 55-63.
  2. Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.
  3. Wells, B. G., and others. Pharmacotherapy Handbook. Eighth Edition. USA : McGraw-Hill., 2012.
  4. กิติยศ ยศสมบัติ. Comprehensive Pharmacy Review. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นานนะภงค์, 2555.
  5. ณัฐวุธ สิบหมู่. เภสัชวิทยา เนื้อหาสำคัญและแบบฝึกหัด. กรุงเทพมหานคร : โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2552.