ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทส: เอไอ (Aromatase inhibitor drugs: AI)
- โดย ภญ. ดร. นิตย์สุภา วัฒนชัย
- 13 สิงหาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีสรรพคุณอย่างไร?
- ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีขนาดการใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสควรทำอย่างไร?
- ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังในการใช้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสอย่างไร?
- ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสอย่างไร?
- ชื่อทางการค้าและบริษัทผู้ผลิตยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสที่ขายในประเทศไทยมีอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน (Conjugated estrogens) หรือ พรีมาริน (Premarin)
- แอนแอสโทรโซล (Anastrozole)
- เลโทรโซล (Letrozole)
- เอ็กซ์เซเมสเทน (Exemestane)
บทนำ
ยายั้บยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทส (Aromatase inhibitor ย่อว่า เอไอ/AI) เป็นยาที่ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายให้มาเป็นฮอร์ โมนเอสโทรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้นจึงมีผลทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกายลดลง โดยยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสเป็นยาที่ใช้รักษาในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับสัญญาณ/ตัวรับ (Receptor) กระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen receptor-positive, ER+) เนื่องจากสตรีวัยหมดประจำเดือนนั้น รังไข่ไม่สามารถทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเอสโทรเจนได้ ดังนั้นฮอร์โมนเอสโทรเจนจึงถูกเปลี่ยนมาจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (สร้างจากต่อมหมวกไต) โดยเอ็นไซม์อะโรมาเทส (Aromatase) ซึ่งหากฮอร์โมนเอสโตรเจนไปกระตุ้นตัวรับสัญญาณในเซลล์มะเร็งฯ จะมีผลทำให้เซลล์มะเร็งฯสามารถแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนและเจริญเติบโต ดังนั้นหากสามารถลดระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนได้ จะทำให้เซลล์มะเร็งถูกกระตุ้นลดลงและหยุดการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนและหยุดการเจริญเติบโตได้ ทั้งนี้ ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสไม่สามารถใช้ลดระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนที่ถูกสร้างจากรังไข่ในผู้หญิงที่ยังมีประ จำเดือนได้
ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีสรรพคุณอย่างไร?
ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้คือ
- ใช้เป็นยาเสริมการรักษา (Adjuvant treatment) ในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะ เร็งเต้านมระยะเริ่มต้น (Early breast cancer) ที่มีตัวรับสัญญาณกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen receptor-positive, ER+)
- ใช้รักษาสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Advanced breast cancer)
โดยยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสสามารถใช้เป็นยาเดี่ยวสำหรับเริ่มการรักษามะเร็งเต้านม ในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือใช้หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษามะเร็งเต้านมโดยออกฤทธิ์ต้านตัวรับฮอร์โมนเอสโทรเจนเช่นกัน ทั้งนี้ การใช้ยาร่วมกันนี้จะใช้ตามข้อบ่งชี้ที่จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสออกฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์อะโรมาเทสซึ่งมีหน้าที่เปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ให้เป็นฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estro gen) ดังนั้นระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกายจึงลดลง ซึ่งทั้งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและฮอร์โมนเอสโทรเจนเป็นฮอร์โมนสเตียรอยด์ โดยยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสแบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์เป็น 2 ชนิดได้แก่
- ชนิดที่ 1: ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสที่มีโครงสร้างเหมือนฮอร์โมนสเตียรอยด์ (Steroidal analog inhibitor) ที่มีผลยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์อะโรมาเทสแบบผันกลับไม่ ได้ (Irriversible steroidal inhibition) ตัวอย่างยาเช่น ยาอีซีเมสเทน (Exemestane)
- ชนิดที่ 2: ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสที่มีโครงสร้างไม่เหมือนฮอร์โมนสเตียรอยด์ (Non-steroidal inhibitors) ซึ่งออกฤทธิ์จับที่เอ็นไซม์อะโรมาเทสแบบผันกลับ/แบบแข่งขัน(Reversibly competitive inhibition) ตัวอย่างยาเช่น ยาอะแนสโทรโซล (Anastrozole) และ ลีโทรโซล (Letrozole)
ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาอะแนสโทรโซล: ยาเม็ดขนาด 1 มิลลิกรัม
- ยาลีโทรโซล: ยาเม็ดขนาด 2.5 มิลลิกรัม
- ยาอีซีเมสเทน: ยาเม็ดขนาด 25 มิลลิกรัม
ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีขนาดการใช้อย่างไร?
ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีขนาดการใช้เช่น
- ขนาดการใช้ยาอะแนสโทรโซล:
- สำหรับเป็นยาเสริมการรักษา (Adjuvant treatment) ในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น (Early breast cancer) ที่มีตัวรับสัญญาณกระตุ้นจากฮอร์โมนเอส โทรเจน (Estrogen receptor-positive, ER+) คือ 1 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้ง สามารถรับประทานยาร่วมกับอาหารหรือหลังอาหารได้
- สำหรับรักษาสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Advanced breast cancer) คือ 1 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้ง สามารถรับประทานยาร่วมกับอา หารหรือหลังอาหารได้
- การปรับขนาดยาในผู้ป่วยไตหรือตับบกพร่อง: ไม่มีความจำเป็นในการปรับขนาดยา ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องหรือผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้สูงอายุหรือในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องแบบเล็กน้อยถึงปานกลาง (Mild to moderate hepatic impairment)
- ขนาดยาลีโทรโซล:
- สำหรับเป็นยาเสริมการรักษา (Adjuvant treatment) ในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น (Early breast cancer) ที่มีตัวรับสัญญาณกระตุ้นจากฮอร์โมนเอส โทรเจน (Estrogen receptor-positive) คือ 2.5 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้ง สามารถรับประทานยาร่วมกับอาหารหรือหลังอาหารได้
- สำหรับรักษาสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Advanced breast cancer) คือ 2.5 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้ง สามารถรับประทานยาร่วมกับอา หารหรือหลังอาหารได้
- การปรับขนาดยาในผู้ป่วยไตหรือตับบกพร่อง: ไม่มีความจำเป็นในการปรับขนาดยา ในผู้ป่วยซึ่งมีความสามารถของไตในการกำจัดครีเอทินีน (Creatinine clearance) มากกว่า 10 มิลลิลิตร/นาที หรือในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องแบบเล็กน้อยถึงปานกลาง (Mild to moderate hepatic impairment)
- ขนาดยาอีซีเมสเทน:
- สำหรับเป็นยาเสริมการรักษา (Adjuvant treatment) ในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น (Early breast cancer) ที่มีตัวรับสัญญาณกระตุ้นจากฮอร์โมนเอส โทรเจน (Estrogen receptor-positive) คือ 25 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้ง หลังอาหาร
- สำหรับรักษาสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Advanced breast cancer) คือ 25 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้งหลังอาหาร
- การปรับขนาดยาเมื่อให้ยาอีซีเมสเทนร่วมกับยาที่มีฤทธิ์แรงในการกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ไซโตโครม พี 450 3A4/เอ็นไซม์ทำลายยา (Strong CYP 3A4 inducers/Cyto chrome P 450 3A4 inducers) เช่น ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin), ฟีนิโตอิน (Phenytoin) คือ ให้เพิ่มขนาดยาอีซีเมสเทนเป็นครั้งละ 50 มิลลิกรัมโดยรับประทานวันละ 1 ครั้งหลังอาหาร เนื่อง จากยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ไซโตโครม พี 450 3A4 จะมีผลเร่งการเปลี่ยนแปลงยาอีซีเมสเทน จึงทำให้ความเข้มข้นของยาอีซีเมสเทนในกระแสเลือดลดลง
*อนึ่ง ระยะเวลาในการใช้ยาแต่ละชนิดจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาโดยประเมินจากการตอบสนองของโรคต่อยาและผลข้างเคียงที่เกิดจากยา
*****หมายเหตุ:
ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึก ษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรเช่น
- สุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ เนื่องจากยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมา เทสอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
- สุภาพสตรีควรแจ้งว่ากำลังให้นมบุตรเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเรื่องการขับถ่ายยานี้ออกทางน้ำนม
- สุภาพสตรีควรแจ้งว่าหมดประจำเดือนหรือยังมีประจำเดือนอยู่เนื่องจากยายับยั้งเอ็น ไซม์อะโรมาเทสใช้ในสตรีวัยหมดประจำเดือนเท่านั้นกเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
- สุภาพสตรีควรแจ้งหากมีโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เนื่องจากยายับยั้งเอ็น ไซม์อะโรมาเทสมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) คือทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้
- หากมีการสั่งจ่ายยาอะแนสโทรโซลหรือยาลีโทรโซล สุภาพสตรีควรแจ้งหากมีระ ดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เนื่องจากยาอะแนสโทรโซลและยาลีโทรโซลอาจทำให้เกิด อาการข้างเคียงคือ ระดับไขมันคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง
- หากมีการสั่งจ่ายยาลีโทรโซล สุภาพสตรีควรแจ้งหากมีโรคตับแข็ง (Cirrhosis) หรือการทำงานของตับบกพร่องอย่างรุนแรง (Severe hepatic impairment)
- ควรแจ้งประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น เมื่อกินยาแล้วเกิดอาการขึ้นผื่น คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
หากลืมรับประทานยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หาก ใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยาครั้งถัดไป ให้รับประทานยาครั้งถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า จากนั้นรับประทานยาครั้งถัดไปในขนาดยาปกติ
ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- อาการข้างเคียงทั่วไปที่พบบ่อยเช่น อาการร้อนวูบวาบ (Hot flush) เหงื่อออกมาก โรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นผลจากการที่ฮอร์โมนเอสโทรเจนลดต่ำลง นอกจากนี้ยังพบอาการคลื่น ไส้ อาเจียน ปวดข้อ (Arthralgia) ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ
- ภาวะไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจากยาอะแนสโทรโซลและยาลีโทรโซล
- อาการข้างเคียงที่รุนแรงสำหรับยาอะแนสโทรโซลเช่น
- อาการทางผิวหนังเช่น ขึ้นผื่นผิวหนังหรือผิวหนังเกิดมีตุ่มน้ำ (Blisters)
- อาการแพ้ยาเช่น มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ ซึ่งอาจทำให้กลืนลำบากและ/หรือหายใจลำบาก ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ควรหยุดใช้ยานี้และรีบไปโรง พยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- มีการเปลี่ยนแปลงค่าผลตรวจเลือดที่บ่งบอกการทำงานของตับผิดปกติรวมถึงมีการอักเสบของตับ/ตับอักเสบ
มีข้อควรระวังในการใช้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสอย่างไร?
มีข้อควรระวังในการใช้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทส เช่น
- ไม่ควรใช้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสในผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ไม่ควรซื้อยาอื่นรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน เนื่องจากยาบางชนิดมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสซึ่งอาจทำให้เพิ่มหรือลดความเข้ม ข้นของยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสในกระแสเลือด จึงอาจทำให้เกิดอาการพิษหรือความเข้ม ข้นไม่ถึงระดับที่ใช้ในการรักษาโรค
- ไม่ควรใช้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยากลุ่มนี้ถูกจัดตามดัชนีความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์อยู่ในกลุ่มเอ็กซ์ (Pregnancy Category X) โดยมีหลัก ฐานว่าสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนสัตว์และทารกในครรภ์ได้และมีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากยา
- ควรใช้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาและตามที่แพทย์ผู้ รักษาสั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกร
- หากมีอาการผิดปกติใดๆเกิดขึ้นระหว่างใช้ยา ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเช่น มีผื่น บวมที่ริมฝีปาก รอบตา หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ถึงยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสจะมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาที่มีฮอร์โมนเอสโทรเจน(Estrogen) เป็นส่วนประกอบเช่น ยาฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน (Conjugated estrogens) ยาเม็ดคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด (ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง) เนื่องจากจะทำให้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสออกฤทธิ์ลดลงดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
- ยาอีซีเมสเทนจะมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาที่มีฤทธิ์แรงในการกระตุ้นการทำงานของ เอ็นไซม์ไซโตโครม พี 450 3A4 (Strong CYP 3A4 inducers) เช่น ยาไรแฟมพิซิน (Rifampi cin), ฟีนิโตอิน (Phenytoin), คาร์บามาซีพีน (Carbamazepine), ฟีโนบาร์บิทอล (Phenobarbi tal) เนื่องจากยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ไซโตโครม พี 450 3A4 จะมีผลเร่งการเปลี่ยนแปลงยาอีซีเมสเทน จึงทำให้มีความเข้มข้นยาอีซีเมสเทนในกระแสเลือดลดลง ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษายายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสอย่างไร?
ควรเก็บรักษายายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสที่อุณหภูมิห้อง 25 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius ) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในที่แห้ง พ้นแสงแดด และควรเก็บรักษายานี้ให้มิดชิด พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ชื่อทางการค้าและบริษัทผู้ผลิตยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสที่ขายในประเทศไทยมีอะไร บ้าง?
ยาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสที่ขายในประเทศไทยเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Arimidex (อาริมิเด็กซ์) ของยาอะแนสโทรโซล | แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) |
Aromasin (อาโรมาซิน) ของยาอีซีเมสเทน ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) | ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) |
Femara (ฟีมารา) ของยาลีโทรโซล | โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) |
บรรณานุกรม
- Brunton LL, Chabner BA, Knollman BC. Chapter 63 Natural Products in Cancer Chemotherapy: Hormones and Related Agents. Goodman & Gilman’s The Pharmacological Basis of Therapeutics. 12th edition. 2011; 1760-1763.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Aromatase_inhibitor [2015,July25]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/020753s015s016lbl.pdf [2015,July25]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/020541s029lbl.pdf [2015,July25]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/020726s024lbl.pdf [2015,July25]