ยาพ่นปาก (Mouth spray or Oral spray)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาพ่นปาก

ยาพ่นปากหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอย่างไร?

ยาพ่นปาก หรือยาพ่นทางปาก (Mouth spray หรือ Oral spray) เป็นยาที่ละลายอยู่ในกระสายยาแล้วใช้พ่นเป็นละอองฝอยเข้าในช่องปากและไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำตามหลังจากการใช้ยา เพราะยาถูกพ่นเป็นหยดที่มีขนาดเล็กมากอยู่แล้วทำให้ยาถูกดูดซึมได้ดีทั้งทางกระพุ้งแก้ม (Buccal mucosa) และใต้ลิ้น (Sublingual) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือด/หลอดเลือดอยู่จำนวนมาก ยาพ่นนี้จึงถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทันทีส่งผลให้ยาที่ให้วิธีนี้ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว

ยาพ่นทางปากสามารถออกฤทธิ์ได้เฉพาะที่ (Local effect) และ/หรือออกฤทธิ์ได้ทั่วร่างกาย (Systemic effect) โดยการให้ยาวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะต่อไปนี้เช่น กลืนลําบาก (Dysphagia), นอนติดเตียง (Bed ridden), ผู้ป่วยมีปัญหาทางจิตเวช (Psychic patient), ผู้ที่กลืนยายากเช่นเนื่องจากเม็ดยามีขนาดใหญ่และห้ามการบด/เคี้ยวยา/ต้องกลืนยาทั้งเม็ด

ยาพ่นปากแบ่งเป็นประเภทใดบ้าง?

ยาพ่นปากแบ่งตามประโยชน์ที่ใช้ในการรักษาได้ดังนี้

1. ยาพ่นอินซูลิน (Insulin)

2. ยาพ่นขยายหลอดเลือด (Vasodilator) เช่นยา กลีเซอริล ไตรไนเตร (Glyceryn trinitrate)/ไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin), ไอโซซอร์ไบด์ ไดไนเตรท (Isosorbide dinitrate)

3. ยาพ่นคอสำหรับต้านอาการอักเสบ (Anti-inflammation) เช่นยาเฟลอร์บิโปรเฟน (Flurbiprofen), เบ็นซีดามีน (Benzydamine)

4. ยาพ่นบรรเทาปวด/ยาแก้ปวด (Pain relievers) เป็นสารสกัดจากกัญชา (Cannabi noid) ซึ่งมีสารสำคัญได้แก่ เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (delta-9-tetrahydrocannabinol, THC) และแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD)

5. ยาพ่นเพื่อใช้เป็นน้ำลายเทียม (Artificial saliva)

6. ยาพ่นนิโคติน (Nicotine)

ยาพ่นปากอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?

ยาพ่นปากมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • สเปรย์พ่นคอ (Throat spray)
  • สเปรย์พ่นกระพุ้งแก้ม (Buccal spray)
  • สเปรย์พ่นเข้าใต้ลิ้น (Sublingual spray)

ยาพ่นปากมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยาพ่นปากมีข้อบ่งใช้ดังนี้เช่น

1. ยาพ่นอินซูลิน: ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในระยะรุนแรงหลังจากที่ผู้ป่วยใช้ยาชนิดรับประทานไม่ได้ผล

2. ยาพ่นขยายหลอดเลือด: ใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris) และใช้เป็นยาเพื่อป้องกันอาการเจ็บหน้าอกกำเริบเช่น ใช้ก่อนการออกกำลัง กายประมาณ 5 - 10 นาที

3. ยาพ่นคอสำหรับต้านอาการอักเสบ: ใช้บรรเทาอาการอักเสบบริเวณเยื่อบุช่องปากและ ลำคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ เยื่อบุช่องปาก/ลำคออักเสบจากรังสีรักษา อาการอักเสบหลังจากผ่าตัดเหงือกหรือฟัน

4. ยาพ่นบรรเทาปวด/ยาแก้ปวด: ใช้เป็นการรักษาเสริมในอาการปวดที่ควบคุมได้ยาก (Intractable Pain) เช่น อาการปวดตามปลายประสาท (Neuropathic pain) อาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis, MS)

5. น้ำลายเทียม: ใช้รักษาภาวะปากแห้งเนื่องจากร่างกายผลิตน้ำลายได้น้อยลงเช่นผู้สูงอายุ, ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภทเช่นยาลดความดันโลหิต ยาแก้แพ้ และภาวะปากแห้งในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ

6. ยาพ่นนิโคติน: ใช้ทดแทนนิโคตินที่มีในบุหรี่เพื่อลดอาการอยากสูบบุหรี่และลดความทรมาน จากอาการถอนยานิโคติน

ยาพ่นปากมีข้อห้ามใช้อย่างไร?

ยาพ่นปากมีข้อห้ามใช้เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาพ่นปากชนิดนั้นๆและ/หรือแพ้ส่วนประกอบอื่นๆในตำรับยาพ่นปากนั้นๆเช่น ห้ามใช้ยา Nitroglycerin และยา Isosorbide dinitrate ในผู้ที่แพ้ยา และ/หรือแพ้อาหารที่มีส่วนประกอบของไนเตรท (Nitrate) และไนไตรท์ (Nitrite) เช่น อาหารหมักดองและอาหารแปรรูปต่างๆ (เช่น ไส้กรอก เป็นต้น)

2. ห้ามใช้ Nitroglycerin และ Isosorbide dinitrate ร่วมกับยาขยายหลอดเลือดในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส/เอนไซม์ที่ช่วยการขยายตัวของหลอดเลือด (Phospho diesterase inhibitor เช่น Pentoxifylline, Theophylline) เพราะยาจะเสริมฤทธิ์กันจนอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิต

3. ห้ามใช้ Nitroglycerin และ Isosorbide dinitrate ในผู้ป่วยที่มีภาวะต่อไปนี้ได้แก่ ความดันในกะโหลกศีรษะสูง โลหิตจางขั้นรุนแรง ต้อหินชนิดมุมปิด กล้ามเนื้อหัวใจตาย ระบบหายใจล้มเหลว หัวใจล้มเหลว

4. ห้ามใช้ Nitroglycerin และ Isosorbide dinitrate มากกว่าขนาดยาที่แพทย์สั่ง และ ห้ามพ่นยาตามขนาดที่แพทย์สั่งมากกว่า 2 ครั้งติดต่อกัน หากอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้นควรรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

5. ห้ามใช้ยาต้านการอักเสบ Flurbiprofen และ Benzydamine ในผู้ที่มีอาการหอบหืด ลมพิษ เยื่อจมูกอักเสบแบบเฉียบพลันจากการแพ้ยากลุ่มแอสไพรินหรือแพ้ยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSIADs) ผู้ป่วยมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร-ลำไส้/เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือมีแผลทะลุในระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคตับโรคไตอย่างรุนแรง เป็นโรคไข้เลือดออก

6. ห้ามใช้ยา Cannabinoid ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ โรคไต โรคหัวใจอย่างรุนแรง ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) หรืออาการผิดปกติทางจิตอื่นๆ

7. ห้ามใช้ยา Nicotine ในขนาดมากกว่า 2 มิลลิกรัมต่อครั้ง และมากกว่า 64 มิลลิกรัมต่อวัน

มีข้อควรระวังการใช้ยาพ่นปากอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพ่นปากดังนี้เช่น

1. ควรใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรเพิ่มขนาดยาหรือลดขนาดยาหรือหยุดยาเองโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์

2. วิธีการใช้ยาพ่นทางปากที่ผลิตโดยบริษัทต่างๆอาจมีความแตกต่างกัน ควรศึกษารายละเอียด และวิธีการใช้ของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดให้เข้าใจจากเอกสารกำกับยา

3. เมื่อใช้ยาเสร็จแล้วควรปิดฝาและเก็บให้มิดชิดเพื่อป้องกันเด็กหรือสัตว์นำไปเล่น

4. ไม่ควรกลืนยาหรือสูดหายใจขณะพ่นยา รวมทั้งไม่ควรรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำทันทีหลังจากใช้ยาพ่นทางปาก

5. ควรพ่นยา Insulin และรับประทานอาหารให้ตรงเวลาตามแพทย์สั่งเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

6. ระวังการใช้ยา Nitroglycerin และ Isosorbide dinitrate ร่วมกับยาลดความดันโลหิตในกลุ่มอื่นๆรวมถึงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำลงมากเกินไป

7. ผู้ป่วยที่ใช้ Nitroglycerin และ Isosorbide dinitrate ควรเปลี่ยนอิริยาบถช้าๆเช่น จากท่านอน มาเป็นท่านั่ง จากท่านั่งเป็นท่ายืนก่อนการก้าวเดิน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยไม่มีอาการมึนงง หน้ามืดเป็นลมจากภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน/เปลี่ยนท่า

8. ยา Nitroglycerin, Isosorbide dinitrate และ Cannabinoid อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะหรือมึนงงเมื่อเริ่มใช้ยาในครั้งแรก ดังนั้นควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่ขับขี่ยานยนต์หรือที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลหรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูงเพราะจะเกิดอุบัติเหตุอันตรายได้ง่าย

9. ผู้ป่วยที่ใช้ยา Flurbiprofen หรือ Benzydamine ควรได้รับยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยเมื่อมีอาการเจ็บคอที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

10. ระวังการใช้ยา Flurbiprofen และ Benzydamine ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง

11. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่ใช้ยา Cannabinoid เพราะอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยา Cannabinoid ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

การใช้ยาพ่นปากในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาพ่นปากในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรต้องระมัดระวังดังนี้เช่น

1. ยา Insulin ที่อยู่ในรูปยาพ่นทางปากเป็น Insulin ที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้น (ออกฤทธิ์ภายใน 30 - 60 นาที) สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยตามคำสั่งแพทย์ทั้งในสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบา หวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2

2. ไม่ควรใช้ยา Flurbiprofen และ Benzydamine ในสตรีตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย แต่แพทย์อาจพิจารณาถึงความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับจากยานี้มาประกอบด้วย

3. ยา Nitroglycerin, Isosorbide dinitrate และน้ำลายเทียม ควรใช้เมื่อมีการประเมินจากแพทย์ระหว่างประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์เท่านั้น

4. ผู้ป่วยทั้งชายและหญิงที่ใช้ยา Cannabinoid ควรมีการคุมกำเนิดระหว่างใช้ยานี้และคุมกำเนิดต่ออย่างน้อยอีก 3 เดือนหลังจากหยุดยานี้เพราะอาจเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้

5. หญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ยาพ่นนิโคติน (Nicotine) เพื่อลดอาการอยากสูบบุหรี่ได้ แต่ควรเลิกสูบบุหรี่ด้วยตัวเองก่อน เพราะการสูบบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่ทั้งนี้การใช้ยานิโคตินต้องอยู่ในคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

การใช้ยาพ่นปากในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาพ่นทางปากเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้ยาที่เหมาะกับผู้ป่วยในวัยผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุอาจไม่สามารถเคี้ยวเม็ดยาขนาดใหญ่หรืออาจไม่สามารถเคี้ยวยาในรูปแบบหมากฝรั่ง(Gum) ได้ ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากยาต่างๆมากกว่าวัยอื่นๆรวมถึงจากยาพ่นปาก เนื่องจากมียาอื่นๆที่เป็นยารักษาโรคประจำตัวที่ต้องใช้เป็นประจำหลายชนิดอยู่แล้ว ดังนั้นผู้สูงอายุ/ผู้ดูแลควรใช้ยาต่างๆรวมถึงยาพ่นปากให้ถูกต้องตามที่แพทย์สั่งรวมทั้งเข้ารับการตรวจติดตามอาการ/ไปโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด

การใช้ยาพ่นปากในเด็กควรเป็นอย่างไร?

เนื่องจากระบบย่อยอาหารของเด็กยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่จึงทำให้การดูดซึมและย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์ดี ยาพ่นทางปากจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการใช้ยาในผู้ป่วยเด็ก แต่เนื่องจากยาพ่นทางปากบางชนิดยังมีข้อมูลการใช้ในผู้ป่วยเด็กไม่เพียงพอและอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้ จึงมีข้อแนะนำการใช้ยาพ่นปากในเด็กดังต่อไปนี้เช่น

  • ไม่ควรใช้ยา Nitroglycerin, Isosorbide dinitrate และ Cannabinoid ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 18 ปี
  • ไม่ควรใช้ยา Flurbiprofen และ Benzydamine ในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี
  • ห้ามใช้ยา Nicotine ในผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

*อนึ่งหากเด็กใช้หรือกลืนยาพ่นปากโดยไม่ได้มีคำสั่งใช้ยาพ่นปากจากแพทย์ผู้รักษา ควรนำเด็กไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อาการไม่พึงประสงค์จากยาพ่นปากเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/ผลไม่พึงประสงค์) จากยาพ่นปากอาจพบได้ดังนี้เช่น

1. ยา Insulin ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ทำให้มีอาการเหงื่อออกมาก เวียนศีรษะ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม

2. ยา Nitroglycerin และ Isosorbide dinitrate ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ มึนงง รู้สึกร้อนวูบวาบ หัวใจเต้นผิดปกติ

3. ยา Flurbiprofen และ Benzydamine ทำให้ปาก/ช่องปากมีอาการชา ปวดแสบปวดร้อน ปากแห้ง กระหายน้ำ รู้สึกร้อนในปาก การรับรสเปลี่ยนไป คลื่นไส้ อาเจียน กระเพาะอาหารและลำไส้ผิดปกติ ปวดศีรษะ มึนงง

4. น้ำลายเทียม ยังไม่มีรายงานอาการข้างเคียงใดๆ

5. ยา Cannabinoid มีอาการข้างเคียงเฉพาะที่ในช่องปากเช่น ปากแห้ง แสบร้อนในช่องปาก และอาการอื่นๆเช่น มึนงง สับสน (Disorientation) มีความผิดปกติของความจำ

6. ยา Nicotine ทำให้สะอึก ระคายเคืองช่องปากและลำคอ การรับรสเปลี่ยนไป ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ปากแห้ง/คอแห้ง แสบร้อนในช่องปาก ปวดฟัน

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพ่นปาก/ยาพ่นทางปาก) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Thosar, M.M. Intra oral sprays -An overview. International Journal of Pharmacy & Life Sciences 2 (November 2011) : 1235-1246.
  2. Madhav, N.V.S., and others. Orotransmucosal drug delivery systems: A review. Journal of Controlled Release 140 (2009) : 2-11
  3. Schaefer C., Peters P., and Miller R. K. Drugs During Pregnancy and Lactation. 2nded. California: Elsevier, 2007.
  4. Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th ed. Ohio : Lexi-comp, 2011.
  5. Sanofi Canada. NITROLINGUAL PUMPSPRAY (nitroglycerin) www.products.sanofi.ca/en/nitrolingual-pumpspray.pdf [2016,April 30]
  6. Drugs.com. NICORETTE QUICKMIST 1MG/SPRAY MOUTHSPRAY.http://www.drugs.com/uk/nicorette-quickmist-1mg-spray-mouthspray-spc-10772.html [2016,April 30]
  7. Drugs.com. Artificial saliva spray http://www.drugs.com/cdi/artificial-saliva-spray.html [2016,April 30]