ยานูโทรปิก (Nootropic drug)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานูโทรปิก(Nootropic drug) หรือทัวไปเรียกว่า ยาบำรุงสมอง(Smart drugs หรือ Cognitive enhancers) เป็นกลุ่มสารประกอบ อาจจะเป็นยา หรือเป็นอาหารเสริมที่ช่วยกระบวนการรับรู้ของสมอง (Cognitive enhancers) อย่างเช่น ความจำ และความคิดสร้างสรรค์ หรือแรงจูงใจต่างๆ ปกติพบการใช้ยานี้กับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ทั้งๆที่ ทางคลินิกยังไม่มีข้อสรุปว่า ยากลุ่มนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองจริงหรือไม่ กลไกของการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงของกลุ่มยานูโทรปิกย่อมมีความแตกต่างกันออกไป โดยขึ้นอยู่กับธรรมชาติและโครงสร้างของตัวยาแต่ละชนิด อาจแบ่งยานูโทรปิกออกเป็นหมวด/กลุ่มย่อยได้ดังนี้

ก. กลุ่มกระตุ้นประสาท (Stimulants): เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นต่อสมองโดยตรง หรือไม่ก็ช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองภายใต้กระบวนการทำงานของสารสื่อประสาท ในสมองอย่างมีสมดุล ขนาดการใช้ยากลุ่มนี้มักจะเป็นปริมาณที่ต่ำ การใช้ยากลุ่มนี้ขนาดสูงเพื่อกระตุ้นการทำงานของประสาท จะส่งผลตรงกันข้าม ด้วยจะทำให้สมองสูญเสียกระบวนการรับรู้ และไม่สามารถควบคุมระบบประสาทของตนเองได้อีกต่อไป ตัวอย่างของกลุ่มยาในหมวดนี้ เช่น Amphetamine, Methylphenidate, Eugeroics, Xanthines, และ Nicotine

ข. เรสแตมส์ (Racetams): เป็นอีกหมวดหนึ่งของยานูโทรปิกที่มีคุณสมบัติเสริมสร้างกระบวนการรับรู้ของสมอง มีขายตามร้านขายยาทั่วไป หนึ่งในกลไกการออกฤทธิ์ของ ยาหมวดเรสแตมส์คือ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมอง โดยยับยั้งการรวมตัวของ ลิ่มเลือดที่อาจก่อตัวหรืออุดกั้นหลอดเลือด จึงทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองทำได้ไม่ดีพอ จากกลไกดังกล่าว จึงสามารถใช้ช่วยบำบัดอาการความจำเสื่อม อารมณ์ซึมเศร้าและวิตกกังวล อาจพบผลข้างเคียงของการใช้ยาในกลุ่มนี้ได้ เช่น รู้สึกวิตกกังวลมากขึ้น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ตัวสั่น ซึมเศร้ามากขึ้น และอ่อนแรง ตัวอย่างของยาในหมวดนี้ เช่น Piracetam, Etiracetam, Oxiracetam, และ Aniracetam

ค. โภชนเภสัช (Nutraceutical): เป็นกลุ่มสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วยคล้ายกับเป็นยาหรือใช้รักษาโรคนั่นเอง ปกติจะจำหน่ายในลักษณะของอาหารเสริม ซึ่งพบเห็นได้มากมายหลายยี่ห้อในท้องตลาด มีการทำวิจัยและค้นคว้าเกี่ยวกับโภชนเภสัชจนมีข้อสรุปออกมาเป็นจุดขายว่า ช่วยกระบวนการเพิ่มความจดจำของสมอง ทำให้ผ่อนคลาย ลดอาการเหนื่อยเพลีย แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกับนักวิทยาศาสตร์กลุ่มที่มีความเห็นตรงกันข้ามว่า โภชนเภสัชดังกล่าวไม่มีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างมา ตัวอย่างของกลุ่มโภชนเภสัชดังกล่าว เช่น

  • พรมมิ (Bacopa monnieri): เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย
  • โสม (Panax ginseng): เป็นพืชที่ขึ้นในซีกโลกทางเหนือของทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือ
  • แปะก๊วย (Ginkgo biloba): ใช้ใบมาสกัดเป็นยาสมุนไพรแผนปัจจุบัน

ง. กลุ่มอื่นๆ: อย่างเช่น

  • Theanine: เป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างเลียนแบบหรือคล้ายคลึงกับกรดอะมิโน มักใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่มเพื่อปรับกระบวนการรับรู้ของสมอง
  • Tolcapone: เป็นยาที่บำบัดอาการโรคพาร์กินสัน
  • Levodopa: เป็นทั้งยาและอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบางประเภท มีสรรพคุณรักษาอาการโรคพาร์กินสัน
  • Atomoxetin: เป็นยาในกลุ่ม Monoamine reuptake inhibitor (MRI) /กลุ่มยาช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองในด้านความทรงจำ รวมถึงบำบัดอาการสมาธิสั้นได้ด้วย
  • Despiramine: เป็นยาในกลุ่ม Tricyclic antidepressant (TCA) ใช้บำบัดอาการสมาธิสั้นได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนการเลือกใช้ยาในกลุ่มนูโทรปิกตัวใด ผู้บริโภคควรต้องปรึกษาแพทย์/เภสัชกรเพื่อทราบข้อเท็จจริง ข้อมูลด้านความปลอดภัยของตัวผลิตภัณฑ์ ว่ามีความเหมาะสมกับผู้บริโภคหรือไม่

นูโทรปิกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยานูโทรปิก

ยานูโทรปิกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ช่วยบำบัดกระบวนการรับรู้ของสมอง
  • ช่วยบำบัดโรคพาร์กินสัน
  • ช่วยบำบัดอาการสมาธิสั้น

นูโทรปิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ส่วนมากของยานูโทรปิก จะเกิดขึ้นที่สมอง โดยตัวยาจะก่อให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาท หรือเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้สมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น จากกลไกเหล่านี้เอง จึงเป็นที่มาของสรรพคุณของยาในกลุ่มนี้

นูโทรปิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานูโทรปิกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ชนิดรับประทาน
  • ยาฉีด
  • ยาพ่นจมูก
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอาหารเสริม

นูโทรปิกมีขนาดรับประทานอย่างไร?

กรณีที่ใช้เป็นยา ขนาดรับประทานของยานูโทรปิกจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยขึ้นกับชนิดของโรค/อาการ ยาตัวอื่นๆที่ใช้ร่วมอยู่ด้วย เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

กรณีของอาหารเสริม อาหารเสริมกลุ่มนูโทรปิก ควรรับประทานหรือใช้ตามคำแนะนำตามขนาด และวิธีใช้ใน เอกสารกำกับการใช้อาหารเสริมชนิดนั้นๆ ที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์ และ*ข้อสำคัญอย่างยิ่ง ต้องเป็นอาหารเสริมที่ได้การรับรองความปลอดภัยในการบริโภคจาก”สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของกระทรวงสาธารณสุขไทย(อย)”

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากลุ่มนูโทรปิก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหารเสริมทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา/อาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มนูโทรปิก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยานูโทรปิก สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยานูโทรปิกตรงเวลา

นูโทรปิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ท่าที่พบเห็นของยากลุ่มนูโทรปิก อาจเกิดที่ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น วิตกกลางวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ อ่อนแรง ปวดศีรษะ โดยอาการข้างเคียงจากยานี้จะมาก-น้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับขนาดการรับประทาน และ/หรือการใช้ยาในกลุ่มนี้ตรงกับอาการโรคหรือไม่ ซึ่งการใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์ หรือตามคำแนะนำของเภสัชกร สามารถลดความเสี่ยง หรือป้องกันอาการข้างเคียงได้ดีระดับหนึ่ง กรณีที่มีอาการข้างเคียงจากใช้ยากลุ่มนี้จน รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด เพื่อให้แพทย์ได้ปรับแนวทางการรักษาที่รวมถึงการใช้ยาต่างๆ

มีข้อควรระวังการใช้นูโทรปิกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานูโทรปิก เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้อาหารเสริมแต่ละชนิดของกลุ่มยานูโทรปิก
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัด/แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาฌรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานูโทรปิกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นูโทรปิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาของกลุ่มยานูโทรปิกกับยาอื่นๆ ย่อมขึ้นอยู่กับชนิดของยานูโทรปิกแต่ละตัว หากผู้ป่วยมียาอื่นๆที่ใช้อยู่ก่อน จะต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา เพื่อเป็นการป้องกันภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยาเสมอ

ควรเก็บรักษานูโทรปิกอย่างไร?

ควรเก็บยานูโทรปิกตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

นูโทรปิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง

ยานูโทรปิกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Duodopa (ดูโอโดปา)Pond’s Chemical
Levomed (ลีโวเมด)Medochemie
Levomet  (ลีโวเมท)Unison
Sinemet (ซายน์เมท)M & H Manufacturing
Stalevo (สเตลีโว)Novartis
Vopar (โวพาร์)Unison
Embol (เอนโบล)Yung Shin
Mancetam (แมนเซแทม)T.Man Pharma
Mempil (เมมพิล)General Drugs House
Noocetam (นูซีแทม)Central Poly Trading
Nootropil (นูโทรพิล)GlaxoSmithKline
Scarda (สการ์ดา)Pharmaland
Strattera (สเตรทเทรา)Eli Lilly
Concerta (คอนเซอร์ตา)Janssen-Cilag
Methylphenidate Hexal (เมทิลเฟนิเดต เฮ็กซอล)Salutas Pharma
Ritalin (ริทาลิน)Novartis
Rubifen (รูบิเฟน)Lab Rubio

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Piracetam#Medical_uses [2016,Aug13]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Racetam [2016,Aug13]
  3. http://www.mims.com/malaysia/drug/info/piracetam?mtype=generic [2016,Aug13]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Piracetam#Medical_uses [2016,Aug13]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Theanine#Supplement_use [2016,Aug13]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Tolcapone [2016,Aug13]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Desipramine [2016,Aug13]