ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถัน (Sulfur topical)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันอย่างไร?
- ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันอย่างไร?
- ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคหิด (Scabies)
- รังแค ขี้รังแค (Pityriasis sicca หรือ Dandruff หรือ Pityriasis capitis)
- โรคเซบเดิร์ม โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- สิว (Acne)
บทนำ
กำมะถัน(Sulfur หรือ Sulphur) เป็นธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในระดับเซลล์ของร่างกาย กำมะถันจะช่วยทำหน้าที่ในกระบวนการสังเคราะห์สารโปรตีนรวมถึงร่วมทำงานกับปฏิกิริยาของเอนไซม์ต่างๆในร่างกาย นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นนำสารประกอบประเภทกำมะถันมาใช้เป็น ยารักษาโรค ซึ่งยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถัน(ยาทากำมะถัน)ที่เป็นที่เป็นสูตรตำรับประเภท ครีม โลชั่น ขี้ผึ้ง สบู่ เจล แชมพูและสารละลาย ถูกนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังได้หลายโรค ไม่ว่าจะเป็น สิว รังแค ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือโรคหิด สูตรตำรับยานี้ที่มักได้รับความนิยมเพราะเป็นกลุ่มยาที่ผู้บริโภคใช้แล้วทำให้อาการดีขึ้นและก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อย
ปัจจัยสำคัญของการใช้ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด คือการใช้ยาให้ตรงกับสาเหตุของโรคซึ่งต้องอาศัยดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวัง และข้อห้ามใช้ของยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันที่ผู้บริโภคควรทราบในเบื้องต้น ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันกับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้มีผิวแห้ง หรือผู้ที่มีภาวะผิวหนังลอก ด้วยตัวยากลุ่มกำมะถันจะทำให้อาการผิวแห้ง ผิวลอกเกิดมากขึ้น จนถึงขั้นผิวหนังที่สัมผัสยา มีอาการ แสบ คัน ระคายเคือง ตามมาได้
- ห้ามใช้ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันกับ แผลไหม้/แผลไฟไหม้ และกับผิวที่มีการระคายเคืองอยู่แล้ว ผิวที่เป็นลักษณะเป็นแผลฉีกขาด แผลเปิด ด้วยจะทำให้อาการบาดเจ็บ/แผลดังกล่าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันร่วมกับยากลุ่มทารักษาสิวชนิดอื่นๆ โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพราะการใช้ยาร่วมกัน อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาทั้ง 2 กลุ่มมากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามมิให้ยานี้เข้าตา ห้ามรับประทานยานี้ ด้วยผิดต่อวัตถุประสงค์ของสูตรตำรับและจะนำมาซึ่งผลข้างเคียงที่รุนแรง
- หลังการทายาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันที่ผิวหนังแล้ว ไม่ต้องปิดทับบริเวณที่ทายาด้วยผ้าพันแผลหรือด้วยพลาสเตอร์ปิดผิวหนัง นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์เท่านั้น เพราะการปิดทับด้วยผ้าพันแผล/พลาสเตอร์ จะทำให้เกิดการดูดซึมตัวยาเข้าสู่ร่างกายได้ มากขึ้นจนอาจเป็นเหตุให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อระบบอวัยวะต่างๆภายในร่างกายตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้แปรงหรือนำวัสดุใดๆไปขัดผิวหนังบริเวณที่มีการทายากำมะถัน รวมถึงห้ามใช้ เครื่องสำอางประเภทโลชั่นทาผิว สารประเภทน้ำหอม ชโลม/ ทาบริเวณผิวหนังที่มีอาการโรค/ทายากำมะถัน เพราะจะทำให้แผลที่ผิวหนังหายช้าแล้ว อาจเกิดอาการรุนแรงมากกว่าเดิม
- กรณีที่ทายากลุ่มกำมะถันแล้วมีอาการ หายใจขัดข้อง/หายใจลำบาก ริมฝีปากบวม ใบหน้าบวม เกิดผื่นคันเต็มตัว ซึ่งเป็นอ่าการจากการแพ้ยา ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- หากผู้บริโภค/ผู้ป่วยมีการใช้ยารักษาผิวหนังชนิดอื่นๆ รวมถึงการรับประทานยา/ใช้ยาต่างๆทุกชนิด ต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ให้ทราบทุกครั้งเมื่อเข้ารับการรักษา ด้วยยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถัน สามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยารักษาโรคบางประเภทได้
กระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้บรรจุยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันประเภทขี้ผึ้งลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐ-เอกชน และซื้อหาได้จากร้านขายยาได้ทั่วไป
ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษา สิว
- ใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม(Seborrheic dermatitis)
- ใช้รักษารังแค
- ใช้รักษาโรคหิด
ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยากำมะถันสามารถทำให้เซลล์ผิวหนังหลุดร่อนและมีฤทธิ์ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้เล็กน้อย พร้อมกับมีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อหิด ด้วยกลไกเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ
ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาใช้เฉพาะที่/ ยาทาภายนอก/ยาทากำมะถัน มีรูปแบบหลายประเภทเช่น ยาครีม ยาขี้ผึ้ง โลชั่น แชมพู ยาสารละลาย/ยาน้ำ เจล แชมพู และสบู่ก้อน ที่มีขนาดความเข้มข้นของกำมะถันแตกต่างกันไปตามแต่บริษัทผู้ผลิต
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”
ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันซึ่งมีอยู่หลายชื่อการค้า มีขนาดและปริมาณการใช้ที่แตกต่างกันไป การใช้ยากลุ่มนี้ได้เหมาะสมและปลอดภัย จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว
ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดการใช้ยากำมะถัน ดังนี้ เช่น
ก.สำหรับรักษาสิว:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่2ปีขึ้นไป: เริ่มต้นใช้ยาประเภท ครีม เจล โลชั่น สบู่ ขนาดความเข้มข้น 1–8% ทา/ฟอกบริเวณที่เป็นสิวเพียงบางๆวันละ 1 ครั้ง หากไม่พบอาการระคายเคืองหรือการแพ้ยา แพทย์อาจให้เพิ่มความถี่ของการใช้ยาเป็นวันละ 2–3 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ข.สำหรับรักษาโรคหิด:
- ผู้ใหญ่: ทายากำมะถันขนาดความเข้มข้น 5–10% ตั้งแต่ต้นคอจนถึงเท้า เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อหิดได้เต็มที่ ห้ามล้างยาออกก่อน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ แพทย์ อาจให้ทายาซ้ำอีกเป็นเวลา 2–3 วัน
- เด็กอายุตั้งแต่2ปีขึ้นไป: จะมีการลดขนาดการใช้ยาลงมาเป็นสัดส่วนตามที่แพทย์แนะนำ
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ค.สำหรับรักษารังแค:
- ผู้ใหญ่: ทายาขนาดความเข้มข้น 2–5% บริเวณผมที่เกิดรังแคจากนั้นให้ล้าง ทำความสะอาด กรณีใช้เป็นรูปแบบแชมพูให้ใช้สระผมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง: ห้ามใช้ยานี้ทาผิวหนังบริเวณที่เป็น แผลเปิด แผลฉีกขาด
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทากำมะถัน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น มีแผลตามผิวหนัง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทากำมะถันอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายากำมะถัน สามารถใช้ยา/ทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็น 2 เท่า
แต่อย่างไรก็ดี การลืมทายากำมะถัน นอกจากจะไม่ทำให้อาการโรคทุเลาลงแล้ว ยังอาจทำให้อาการกำเริบมากยิ่งขึ้น
ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ผิวหนังที่สัมผัสยาเกิด การระคายเคือง ผิวหนังลอก ผิวหนังเป็นรอยแดง
*หากใช้ยากลุ่มนี้เกินขนาด อาจทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อเป็นตะคริว วิงเวียน จากการที่ตัวยานี้ถูกดูดดซึมเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณสูง
มีข้อควรระวังการใช้ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถัน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ด้วยเป็นยาทาประเภทกำมะถันเป็นยาใช้ภายนอก ต้องหลีกเลี่ยงมิให้ตัวยา สัมผัสกับ ตา ปาก หรือตามบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย เช่น อวัยวะเพศ
- ยาทากลุ่มนี้อาจทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำขึ้น
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้นานเกินกว่าคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้ในบริเวณผิวหนังที่มีลักษณะเป็น แผลเปิด ผิวแห้ง หรือขณะที่ผิวหนังมีการระคายเคืองอยู่ก่อน
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันร่วมกับยา Isotretinoin อาจทำให้ผิวหนังที่สัมผัสยา เกิดการระคายเคืองมากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันร่วมกับยาโรคผิวหนัง Alitretinoin, Tazarotene ด้วยจะทำให้ผิวหนังที่สัมผัสยามีอาการ ผิวแห้งมาก ผิวแตก หลุดลอกและเกิดการระคายเคืองตามมา
ควรเก็บรักษายาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันอย่างไร?
ควรเก็บยาทากำมะถันภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และ เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถันมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทากำมะถันที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Liquimat (ลิควิแมท) | Summers Laboratories Inc |
REZAMID (เรซามิด) | Summers Laboratories Inc |
SULPHO-LAC (ซัลโฟแลค) | DOAK |
SAStid (แซสติด) | Manufacturing services & trade corp. |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยากลุ่มนี้ ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Sulfoam, Sulfo-Lo, Sulmasque, Sul-Ray Aloe Vera Acne, Thylox Acne Treatment, Zapzyt Cleansing, Scabisil
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/pro/perrigo-sodium-sulfacetamide-and-sulfur.html [2017,Feb11]
- http://www.healthy.net/scr/article.aspx?ID=2066 [2017,Feb11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sulfur [2017,Feb11]
- https://www.drugs.com/dosage/sulfur-topical.html [2017,Feb11]
- http://www.everydayhealth.com/drugs/sulfur-topical [2017,Feb11]
- http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/sulfur-topical-route/proper-use/drg-20066155 [2017,Feb11]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/185#item-9011 [2017,Feb11]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/sulfur-topical-index.html?filter=2&generic_only= [2017,Feb11]