ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone replacement medication)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ในร่างกายมนุษย์มีสารเคมีที่เรียกว่าฮอร์โมน(Hormone) ซึ่งมีการผลิตจากต่อมไร้ท่อที่อยู่ตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย ฮอร์โมนแต่ละชนิดจะส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกาย ตลอดจนกระทั่งสภาพทางอารมณ์และจิตใจ อาจสรุปหน้าที่ของฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์อย่างกว้างๆ ดังนี้

  • กระตุ้นหรือยับยั้งการเจริญเติบโต เช่น จากทารกเข้าสู่วัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่และเข้าสู่วัยชรา
  • ส่งผลให้ร่างกายนอนหลับ ตื่นขึ้น อาจกล่าวได้ว่าฮอร์โมนบางตัวจะทำหน้าที่เป็นนาฬิกาชีวภาพ(Circadian rhythm)
  • ทำให้มีอารมณ์เบิกบาน เกิดอารมณ์เหวี่ยง/อารมณ์แปรปรวน ก้าวร้าว ซึมเศร้า
  • ช่วยกระตุ้นหรือกดการฟื้นสภาพของเซลล์ต่างๆในร่างกาย
  • สนับสนุนการสร้างภูมิคุ้มกันหรือไม่ก็กดการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • ควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น การทำลายสารพิษ หรือการสังเคราะห์สารอาหาร
  • ส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น เกิดความรู้สึกชอบเพศตรงกันข้าม เตรียมป้องกันตัวหรือกระตุ้นให้ต่อสู้ มีความหวาดกลัวและเกิดการหนีเอาตัวรอด
  • ควบคุมการมีรอบเดือน(ประจำเดือน)ของสตรี
  • ทำให้รู้สึกหิวอาหาร

การเปลี่ยนแปลงระดับปริมาณฮอร์โมนแต่ละชนิด สามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ความผิดปกติของการมีฮอร์โมนมากเกินไปหรือมีภาวะขาดแคลน/พร่องฮอร์โมนส่วนมากจะก่อให้เกิดผลเสียทั้งสิ้น ภาวะขาดแคลนฮอร์โมนเพศชายเป็นหนึ่งกลุ่มอาการที่เกิดกับบุรุษ ปัจจุบันได้มีการศึกษาทั้ง สาเหตุ อาการ และความรุนแรงที่เกิดขึ้น ตลอดจนกระทั่งการบำบัดรักษาเพื่อให้คุณภาพชีวิตกลับมาดีเหมือนปกติ

 

 

ฮอร์โมนเพศชายคืออะไร?

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชาย

ฮอร์โมนเพศชาย ในทางการแพทย์ที่มักจะกล่าวถึงกันบ่อย คือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ที่ผลิตจากเซลล์ของลูกอัณฑะ เทสโทสเตอโรนสามารถพบได้ในเพศหญิงเช่นกัน โดยรังไข่จะเป็นอวัยวะที่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ธรรมชาติร่างกายสตรีจะผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนน้อยกว่าบุรุษประมาณ 7–8 เท่า หน้าที่สำคัญของเทสโทสเตอโรน จะช่วยทำให้เกิดลักษณะร่างกายของบุรุษ เช่น มีกล้ามเนื้อ เกิดการสะสมมวลกระดูก เร่งการเจริญเติบโตของขนตามร่างกาย และของอวัยวะเพศในชายให้เจริญสมบูรณ์เต็มที่ เสียงแตกเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ตลอดจนกระทั่งส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศ การทำงานของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในมนุษย์เริ่มขึ้นหลังจากมีการปฏิสนธิในครรภ์มารดาได้ประมาณ 4–6 สัปดาห์ ช่วงนี้เทสโทสเตอโรนจะกระตุ้นการสร้างอวัยวะเพศอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการเจริญของท่อปัสสาวะ เกิดถุงอัณฑะ และทำให้อวัยวะเพศชายมีขนาดโตขึ้นอีกด้วย ในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ เทสโทสเตอโรนจะส่งผลต่อการเจริญขององคชาติในเด็กชายอย่างชัดเจน หลังการคลอดและช่วงชีวิตเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายจะมีการสร้างเทสโทสเตอโรนสูงมากขึ้นทั้งเด็กชายและเด็กหญิง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เด็กวัยรุ่นเริ่มมี กลิ่นตัว ผิวมัน มีสิวขึ้นมาก ขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ความสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระดูกเจริญเติบโตมากขึ้น และอายุช่วงวัยรุ่นเพศชาย เทสโทสเตอโรนยังกระตุ้นให้เกิดการสร้างอสุจิ กระตุ้นปุ่มกระสันบริเวณองคชาติให้ทำงานมากขึ้น รูปใบหน้าเริ่มเปลี่ยนแปลงและพัฒนาดูเป็นผู้ใหญ่ เริ่มชอบเพศตรงข้าม เหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทั้งสิ้น

 

ปัจจัยอะไรที่ทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดต่ำลง?

ปกติในบุรุษ การสร้างฮอร์โมนเพศชายจะค่อยๆลดต่ำลงโดยเริ่มที่อายุประมาณ 30 ปีเป็นต้นไป และในชายผู้สูงวัย/ผู้สูงอายุมักจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากฮอร์โมนเพศชาย/เทสโทสเตอโรนต่ำมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ ไม่จำเป็นต้องเกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น มีสาเหตุและปัจจัยอื่นอีกที่สามารถทำให้บุรุษในแต่ละช่วงของอายุเกิดการขาดฮอร์โมนเพศชาย เช่น

  • เกิดภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุงอัณฑะ ซึ่งพบมากในเด็กชายแรกคลอด โดยอาจมีปัจจัยเสี่ยงจากการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวตอนคลอดต่ำเกินไป ครอบครัวมีประวัติเป็นภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุงอัณฑะ มารดาดื่มสุราจัด หรือสูบบุหรี่จัด หรืออยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่มากเป็นเวลานานขณะตั้งครรภ์ หรือมารดา-บิดาเป็นผู้ที่ได้รับยาฆ่าแมลงสะสมในร่างกายมาก
  • เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Klinefelter’s syndrome ทำให้ทารกเพศชายมีโครโมโซมเพศเป็น xxy แทนที่จะเป็น xy ซึ่งเป็นโคโมโซมเพศชายที่ปกติ
  • ได้รับโลหะหนัก เช่น มีธาตุเหล็กในร่างกายมากเกินไปจนทำให้การทำงานของลูกอัณฑะล้มเหลว
  • ลูกอัณฑะได้รับบาดเจ็บ เกิดบาดแผล หรือชายที่ตัดลูกอัณฑะทิ้ง ก็จำทะให้ฮอร์โมนเพศชายขาดหายไป
  • การเกิดโรคคางทูม สามารถส่งผลกระทบต่อการสร้างฮอร์โมนเพศชายของลูกอัณฑะได้เช่นกัน
  • การบำบัดรักษาโรคมะเร็งด้วย ยาเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีรักษาบริเวณอัณฑะหรือบริเวณอุ้งเชิงกรานส่วนที่ใกล้กับอัณฑะ
  • การเกิดเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง สมองส่วนไฮโปธาลามัสทำงานผิดปกติ ป่วยด้วยโรคเอชไอวี(HIV/ AIDS) ป่วยด้วยวัณโรค มีภาวะโรคอ้วน ซึ่งกลุ่มอาการโรคต่างๆดังกล่าวล้วนแล้วทำให้การสร้างฮอร์โมนเพศชายลดลงทั้งสิ้น
  • อายุมากขึ้น เกิดการเสื่อมหรืออัณฑะทำงานได้น้อยลง
  • มีการใช้ยาประเภทโอปิออยด์ หรือสเตียรอยด์ อยู่เป็นประจำ ยาทั้ง 2 กลุ่มสามารถส่งผลต่อการทำงานของต่อมใต้สมองและสมองส่วนไฮโปธาลามัส เป็นเหตุให้การกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชายสะดุดลง/ลดลง
  • มีภาวะเครียดอย่างรุนแรงก็สามารถทำให้การสร้างฮอร์โมนเพศชายหยุดลงได้ชั่วคราว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหมด มีทั้งปัจจัยที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้ แต่ปัจจัยที่มีสาเหตุจากการเกิดโรคหรือเกิดการได้รับบาดเจ็บ ต้องให้แพทย์เป็นผู้ดูแลจะปลอดภัยที่สุด

 

อาการของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายเป็นอย่างไร?

บุรุษที่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ จะมีอาการที่โดดเด่น ดังนี้ เช่น

  • มีอารมณ์ทางเพศน้อยลง (Low sex drive)
  • การหลั่งน้ำอสุจิทำได้ยาก ด้วยฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนจะไปกระตุ้นตัวรับ(Receptor)ในสมองให้ผลิตสารประกอบไนตริกออกไซด์(Nitric oxide) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการให้สัญญาณต่อกระบวนการหลั่งน้ำอสุจิ
  • ปริมาณน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาแต่ละครั้งน้อยลง
  • เกิดอาการผมร่วงหรือหัวล้าน
  • อ่อนเพลียง่ายขึ้นด้วยระดับพลังงานของร่างกายลดลงจากการขาดฮอร์โมนเพศชาย
  • สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ มัดกล้ามเนื้อมีขนาดเล็กลง
  • มีการสะสมไขมันตามร่างกายมากขึ้นจนดูเป็นคนท้วมหรืออ้วน
  • มีมวลกระดูกต่ำลง
  • มีภาวะทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า การควบคุมอารมณ์ทำได้ยากยิ่งขึ้น

สตรีที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย ก็มีสัญญาณเตือนเช่นเดียวกัน อาทิ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ น้ำหนักตัวเพิ่ม อารมณ์ทางเพศถดถอย ซึมเศร้า กระดูกพรุน วิตกกังวล ประจำเดือนผิดปกติ ผมร่วงเช่นเดียวกับบุรุษ ไม่บรรลุจุดสุดยอดทางเพศ

ตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นสามารถใช้เป็นแนวทางบ่งบอกภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายได้อย่างดี การบำบัดด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและปลอดภัย ผู้บริโภคสามารถขอคำแนะนำและเข้ารับการบำบัดจากสถานพยาบาลต่างๆที่เปิดบริการดูแลในเรื่องฮอร์โมนบำบัดได้ทั่วไป

 

สามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชายได้อย่างไร?

การเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชายมีหลายวิธี อาจเริ่มจากขั้นตอนง่ายๆไปจนกระทั่งการใช้ยาฮอร์โมนเพศชายมาสนับสนุน ดังนี้

  • การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย โดยผู้สูงอายุจะมีอัตราการสร้างฮอร์โมนเพศชายได้ต่ำกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า
  • รับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างฮอร์โมนเพศชาย(Testosterone food) โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุสังกะสีและวิตามินดี มีการศึกษาว่ากระเทียมเป็นอาหารที่ช่วยสนับสนุนการสร้างฮอร์โมนเพศชาย อย่างไรก็ตามผู้บริโภคควร ปรึกษาแพทย์ในเบื้องต้น อาจต้องได้รับการตรวจร่างกายก่อนที่แพทย์จะมีการสั่งจ่าย เกลือแร่ หรือ วิตามิน ดังกล่าว
  • การใช้ “ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชาย หรือ ยาชดเชยฮอร์โมนเพศชาย หรือบางคนเรียกว่า ยาเสริมฮอร์โมนเพศชาย(Testosterone replacement medication หรือ Testosterone replacement therapy ย่อว่า TRT หรือ Androgen replacement therapy ย่อว่า ART )” หรืออาจเรียกสั้นๆว่า Testosterone therapy หรือ Androgen therapy มักจะเป็นทางเลือกท้ายๆ โดยผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และการตรวจร่างกายดูสภาพร่างกายว่าเหมาะสมที่จะใช้ยาฮอร์โมนเพศชายทดแทนหรือไม่

*หมายเหตุ:ในบทความนี้จะมุ่งประเด็นสำคัญที่ “ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชาย”

 

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ
  • ใช้รักษาควบคุมการเกิดมะเร็งเต้านมในหญิงวัยหมดประจำเดือน
  • บำบัดภาวะเกิดความล่าช้าในการเจริญเป็นวัยแรกรุ่น (Delayed Puberty)

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายจะแสดงฤทธิ์/มีกลไกการออกฤทธิ์เป็น “Anabolic-androgenic steroid” คือ ยาที่กระตุ้นให้ร่างกายแสดงลักษณะความเป็นบุรุษออกมา

 

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายที่ถูกสังเคราะห์เลียนแบบเทสโทสเตอโรน มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็น

  • ยาฉีด
  • ยาเจลสำหรับทาผิวหนัง
  • พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง
  • ยาชนิดรับประทาน ซึ่งมีตัวยาสำคัญ คือ เทสโทสเตอโรนที่อยู่ในรูปสารประกอบต่างๆ ดังนี้ เช่น Testosterone undecanoate ,Testosterone cypionate , Testosterone enanthate ,Testosterone propionate Testosterone phenylpropionate , Testosterone isocaproate , Testosterone decanoate

การใช้เทสโทสเตอโรนสังเคราะห์ดังกล่าว อาจเป็นลักษณะสูตรตำรับแบบยาเดี่ยว หรือสูตรตำรับผสม โดยแต่ละสูตรตำหรับยามีความแรง(Dose)ที่แตกต่างกันออกไป

 

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทดแทนฮอร์โมนเพศชาย ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

 

หากลืมรับประทานยาหรือไม่ได้มารับการฉีดยาตามนัดหมายควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาทดแทนฮอร์โมนเพศชาย หรือไม่ได้มารับการฉีดยาฯตามนัดหมายควรทำดังนี้

  • หากลืมรับประทานยาทดแทนฮอร์โมนเพศชาย สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
  • กรณีไม่ได้มารับการฉีดยาทดแทนฮอร์โมนเพศชาย ต้องติดต่อ แพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนัดหมายการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว ไม่ควรหยุดการรักษาโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดสิว ผิวแห้ง ผมร่วง ขนดก ลมพิษ เจ็บบริเวณที่ฉีดยา(กรณีใช้ยาฉีด)
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน มีภาวะไวต่ออุณหภูมิที่ร้อนหรือที่เย็น เกิดความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น หน้าอก/เต้านมโต(ภาวะเต้านมโตในผู้ชาย) อาจมีอาการปวดเต้านม
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง มีอาการบวมน้ำทั่วร่างกาย
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอารมณ์แปรปรวน ซึม วิตกกังวล
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ทำให้องคชาติแข็งนานเกินไป การหลั่งน้ำอสุจิมีปริมาณต่ำลง เชื้อ/ตัวอสุจิน้อยลง
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

มีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังการใช้ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายอย่างไร?

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายมีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วย มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม ผู้ที่มีประวัติเนื้องอก ตับชนิดไม่ใช่มะเร็ง
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กเล็ก
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคลมชัก โรคไมเกรน โรคเบาหวาน และผู้ที่มีระบบการไหลเวียนของเลือดล้มเหลว เพราะอาจทำให้อาการโรคดังกล่าวเลวลง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บนาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

 

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายร่วมกับ ยาCorticosteroid ด้วยจะทำให้ร่างกายมีอาการบวมน้ำ

 

ควรเก็บรักษายาทดแทนฮอร์โมนเพศชายอย่างไร?

ควรเก็บยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

 

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชายมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชาย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Androgel (แอนโดรเจล) Besins Healthcare
Depo-Test 250 (ดีโป-เทส 250) Samarth Pharma
Nebido (เนบิโด) Bayer HealthCare Pharma
Test-Comp 250 (เทสท์-คอมป์ 250) Samarth Pharma
Testos (เทสโทส) Nanomed
Testosterone Propionate March (เทสโทสเตอโรน โพรพิโอเนท มาร์ช ) March Pharma
Testoviron Depot (เทสโทไวรอน ดีโป) Bayer HealthCare Pharma

 

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Axiron, Androderm, Testim, Vogelxo, Fortesta

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Hormone#Therapeutic_use [2017,Dec23]
  2. https://www.healthline.com/health/low-testosterone-causes#symptoms2 [2017,Dec23]
  3. https://www.webmd.com/women/guide/normal-testosterone-and-estrogen-levels-in-women#1 [2017,Dec23]
  4. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/undescended-testicle/symptoms-causes/syc-20351995 [2017,Dec23]
  5. https://www.healthline.com/health/low-testosterone-causes#causes3 [2017,Dec23]
  6. http://www.activebeat.com/your-health/women/10-signs-of-low-testosterone-in-women/ [2017,Dec23]
  7. https://www.healthline.com/health/low-testosterone#replacement-therapy5 [2017,Dec23]
  8. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=testosterone [2017,Dec23]
  9. https://www.mims.com/thailand/drug/info/androgel/?type=brief [2017,Dec23]