ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี (Antiviral therapy for viral hepatitis C)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 24 มิถุนายน 2561
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
- โรคไวรัสตับอักเสบ ซี (Viral hepatitis C)
- อินเตอร์เฟอรอน (Interferon)
- Pegylated interferon α-2a
- Pegylated interferon α-2b
- ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีหมายความอย่างไร?
- แบ่งยาต้านไวรัสตับอักเสบซีเป็นประเภทใดบ้าง?
- ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีอยู่ในรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไรบ้าง?
- มีข้อบ่งใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีอย่างไร?
- การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีมีอะไรบ้าง?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีหมายความอย่างไร?
ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี (Antiviral therapy for viral hepatitis C) เป็นยาที่ใช้กระตุ้นภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย และต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดยมีเป้าหมายในการรักษา คือ เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสฯให้หายขาดถาวร ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสฯ ชะลอการดำเนินของโรค ลดโอกาสในการแพร่เชื้อไวรัสฯสู่ผู้อื่น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)อื่นๆเมื่อเป็นการติดเชื้อไวรัสฯแบบเรื้อรัง เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ ซึ่งทำอาจให้ต้องเปลี่ยนถ่ายตับ หรือทำให้เสียชีวิต(ตาย)ได้
แบ่งยาต้านไวรัสตับอักเสบซีเป็นประเภทใดบ้าง?
ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีมีดังต่อไปนี้
1. ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอน (Interferon injections) ได้แก่ยา เพกอินเตอร์เฟอรอน (Pegylated interferon) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ เพกอินเตอร์เฟอรอนอัลฟ่า ชนิด 2a (Pegylated interferon α-2a) และเพกอินเตอร์เฟอรอนอัลฟ่า ชนิด 2b (Pegylated interferon α-2b)
2. ยาต้านไวรัส (Antiviral medications) ประกอบด้วยยา 2 กลุ่มต่อไปนี้
2.1ยาที่เป็นอนุพันธ์ของสารนิวคลีโอไซด์ (Nucleoside analogue) ได้แก่ ไรบาวิริน (Ribavirin)
2.2 ยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโดยตรง (Direct-acting antiviral agents: DAAs) ได้แก่ โบเซ็บพรีเวียร์ (Boceprevir), โซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir), ดาคลาทาสเวียร์ (Daclatasvir), ไซมิพรีเวียร์ (Simeprevir), เลดิพาสเวียร์ (Ledipasvir), พาริทาพรีเวียร์ (Paritaprevir), ออมบิทาสเวียร์ (Ombitasvir), ดาซาบูเวียร์ (Dasabuvir)
ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีอยู่ในรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไรบ้าง?
ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีอยู่ในรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาแคปซูล (Capsule)
- ยาน้ำใส (Solution)
- ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อสำหรับฉีด (Solution for injection)
- ยาผงชนิดปราศจากเชื้อสำหรับฉีด (Powder for injection)
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”
มีข้อบ่งใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี เช่น
1. ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี โดยใช้ยา Pegylated interferon ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย ร่วมกับการรับประทานยาต้านไวรัส Ribavirin เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส
2. ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี โดยใช้ยาต้านไวรัสกลุ่ม Direct-acting antiviral agents ร่วมกับ Pegylated interferon + Ribavirin หรือใช้ยาต้านไวรัสกลุ่ม Direct-acting antiviral agents ชนิดอื่นๆ ในกลุ่มร่วมกัน
มีข้อห้ามใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี เช่น
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาชนิดนั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง (Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ
2. ห้ามใช้ Pegylated interferon ในผู้ป่วยโรคตับที่มีอาการรุนแรง (Decompensated liver disease), โรคตับอักเสบจากภูมิต่อต้านตนเอง (Autoimmune hepatitis¬), โรคหัวใจที่มีอาการรุนแรง, โรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรง
3. ห้ามเปลี่ยนชนิดยาระหว่าง Pegylated interferon α ชนิด 2a กับ Pegylated interferon α ชนิด 2b ในการรักษาผู้ป่วยรายเดียวกันและห้ามใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่ระบุไว้บนกล่อง
4. ห้ามใช้ Pegylated interferon ร่วมกับ Telbivudine ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสตับอักเสบบี เพราะอาจทำให้มีอาการปลายประสาทอักเสบ(Peripheral neuropathy)อย่างรุนแรง
มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี เช่น
1. ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่เพิ่ม ลดหรือหยุดยาเอง เพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยา หรือทำให้อาการโรคกำเริบ
2. ควรเข้ารับการตรวจติดตามการรักษาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแพทย์ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ (Liver function test) ตรวจหาภาวะแทรกซ้อน โรคร่วมอื่นๆ และเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่ใช้
3. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
4. ควรระวังการใช้ Pegylated interferon ในผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติ โรคไต โรคภูมิต้านตนเอง สะเก็ดเงิน โรคต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคถุงลมโป่งพอง โรคโลหิตจาง มีภาวะเลือกออกมากผิดปกติ มีอาการโรคหวัด หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
5. ควรระวังการใช้ Pegylated interferon ในผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ตับ ไต เพราะอาจทำให้ร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่/ปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่
6. ควรระวังการใช้ Pegylated interferon ในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์รุนแรง หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานี้ หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
7. ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี และยาต้านไวรัส HIV บางชนิดมีอันตรกิริยาระหว่างกัน ดังนั้นในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือปรับขนาดยาที่มีอันตรกิริยาระหว่างกัน เช่น ห้ามใช้ Didanosine ในระหว่างรักษาด้วย Pegylated interferon + Ribavirin นอกจากนี้หากผู้ป่วยได้รับยา Zidovudine และ Starvudine ควรเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นก่อนการรักษาไวรัสตับอักเสบซี เพื่อลดอันตรกิริยาที่ยา Ribavirin มีต่อยาเหล่านี้
8. ยาต้านไวรัสกลุ่ม Direct-acting antiviral agents เป็นยาที่มีอันตรกิริยากับยาอื่นหลายชนิด ตัวอย่างเช่น การใช้ Boceprevir ร่วมกับยา Rifampin, Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin, หรือสมุนไพร St. John’s Wort อาจทำให้ฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสของยา Boceprevir ลดลง ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ว่ากำลังใช้ ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรใดอยู่เป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอันตรกิริยาและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
9. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Amiodarone ในผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านไวรัส Sofosbuvir, Daclatasvir เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้า (Bradycardia) ชนิดรุนแรง
10. ยา Simeprevir ทำให้เกิดภาวะผื่นผิวหนังไวต่อแสงแดด (Photosensitivity) ดังนั้นควรใช้ครีมกันแดด หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด หรือถูกแสงแดดให้น้อยที่สุดในระหว่างที่ใช้ยานี้
การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
1. ควรระวังการใช้ Pegylated interferon ในหญิงมีครรภ์ โดยเลือกใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อประโยชน์ที่ผู้ป่วยอาจได้รับคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์เท่านั้น
2. Ribavirin เป็นยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ดังนั้นทั้งผู้ป่วย ชายและหญิง ที่ได้รับยานี้ควรมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีคุมกำเนิดอย่างน้อย 2 วิธีร่วมกัน เช่นใช้ทั้ง ถุงยางอนามัยชาย กับ ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น และควรมีบุตรหลังจากหยุดยานี้ไปแล้วอย่างน้อย 6 เดือน
3. ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยการใช้ยาต้านไวรัสกลุ่ม Direct-acting antiviral agents มากพอในหญิงมีครรภ์ จึงยังไม่มียาตัวใดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้
การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น
1. ควรระวังการใช้ Pegylated interferon + Ribavirin ในผู้ป่วยสูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมักมีโรคร่วมที่เป็นอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ซึ่งการใช้ยานี้นอกจากจะทำให้อาการของโรคแย่ลงแล้ว ยังพบอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้มากกว่าวัยอื่น เช่น ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia) ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถทนต่อการใช้ยานี้ได้ ทำให้ได้รับยาไม่ครบตามระยะเวลาการรักษาที่กำหนด
2. ยาต้านไวรัสกลุ่ม Direct-acting antiviral agents เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี ปลอดภัย และผู้สูงอายุสามารถทนต่ออาการไม่พึงประสงค์จากยาได้มากกว่า ตัวอย่างของยากลุ่มดังกล่าวที่ใช้ได้ในผู้ป่วยสูงอายุ เช่น Simeprevir, Paritaprevir, Sofosbuvir, Dasabuvir, Ledipasvir, Ombitasvir
การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
1. Pegylated interferon α-2b + Ribavirin เป็นยาที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ในขณะที่ Pegylated interferon α-2a + Ribavirin สามารถใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
2. การใช้ Pegylated interferon ในเด็กและวัยรุ่นอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา คือ เด็กมีอัตราการเจริญเติบโตและพัฒนาการช้ากว่าปกติ
3. ยาต้านไวรัสที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยเด็ก ได้แก่ยา Sofosburvir และยาสูตรผสมระหว่าง Sofosbuvir + Ledipasvir โดยสามารถใช้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป หรือมีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 35 กิโลกรัม
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีมีอะไรบ้าง?
อาการไม่พึงประสงค์จากยา จากการใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีมีดังนี้ เช่น
1. Pegylated interferon + Ribavirin: เหนื่อยล้า อ่อนแรง มึนงง ง่วงซึม ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ติดเชื้อไวรัสอื่นง่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า ก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด นอนไม่หลับ หายใจลำบาก เจ็บคอ มีไข้ หนาวสั่น ไอ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ โลหิตจาง
2. ยาต้านไวรัสกลุ่ม Direct-acting antiviral agents พบอาการไม่พึงประสงค์ได้น้อยกว่าการใช้ Pegylated interferon + Ribavirin เช่น เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ความผิดปกติทางจิตประสาท เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน คลื่นไส้ และระดับฮีโมโกลบินต่ำ
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาต้านไวรัสตับอักเสบซี) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- Medeiros, T., and others. Adverse effects of direct acting antiviral-based regimens in chronic hepatitis C patients: a Brazilian experience. International Journal of Clinical Pharmacy 6 (December 2017) : 1304-1311.
- แผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ทำไมคนไทยเข้าไม่ถึงยารักษาไวรัสตับอักเสบซี. ยาวิพากษ์ 29 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2559) : 1-22.
- สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรังในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2558 www.thailiverfoundation.org/th/cms/detail.php?id=217 [2018,June2]
- สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 http://www.thasl.org/files/31.Hep%20C%20Guideline%202016.pdf [2018,June2]
- ศิยา นาคะประเวศ. รู้จักโรคไวรัสตับอักเสบ C และการรักษา. R&D NEWSLETTER 2 (เมษายน - มิถุนายน 2559) : 21-24.