ยาช่วยย่อย (Digestive drug)

ยาช่วยย่อย หรือยาช่วยย่อยอาหาร เป็นยาที่ประกอบด้วยเอนไซม์ หรือน้ำย่อยอาหารที่ใช้ในการย่อยอาหารต่างๆ ยากลุ่มนี้นำมาใช้ในกรณีที่ร่างกายขาดเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยอาหาร หรือผลิตเอนไซม์ที่ใช้ย่อยอาหารไม่เพียงพอ เพื่อช่วยทำให้กระบวนการในการย่อยอาหารของร่าง กายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปกติร่างกายผลิตเอนไซม์ต่างๆที่ใช้ในการย่อยอาหารจากอวัยวะต่างๆ ดังนี้

1. ลำไส้เล็ก ลำไส้เล็กสร้างเอนไซม์หลายชนิด ได้แก่

  • เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ที่ใช้ย่อยอาหารพวกแป้งและน้ำตาลต่างๆ
  • เอนไซม์ไลเปส (Lypase) ที่ใช้ย่อยอาหารกลุ่มไขมัน
  • เอนไซม์ทริปซิน (Trypsin) และเอนไซม์ไคโมทริบซิน (Chymotrypsin) ซึ่งทำหน้าที่ย่อยอาหารพวกโปรตีน

2. ตับอ่อน ตับอ่อนสร้างเอนไซม์หลายชนิดได้แก่

  • เอนไซม์แพนคริเอไลเปส (Pancrealipase) ซึ่งใช้ย่อยอาหารพวกไขมัน
  • เอนไซม์โปรติเอส (Protease) ที่ใช้ย่อยโปรตีน และ
  • เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ที่ใช้ย่อยคาร์โบไฮเดรต

เราเรียกกลุ่มเอนไซม์จากตับอ่อนทั้งหมดที่ใช้ในการย่อยอาหารว่า แพนคริเอส (Pan crease) หรือ แพนคริเอติน (Pancreatin)

3. ต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำลายจะสร้างน้ำลายที่มีเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ซึ่งใช้ย่อยแป้งและน้ำตาล ซึ่งเป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่นเดียวกับในลำไส้เล็ก

ทั้งนี้ เอนไซม์หรือน้ำย่อยจากอวัยวะต่างๆเหล่านี้ จะทำหน้าที่ย่อยอาหารที่รับประทานให้เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ซึ่งอาหารที่ต้องผ่านกระบวนการย่อยก่อน จึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน

ในส่วนของไขมัน นอกจากต้องมีเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยแล้ว ยังต้องมีผู้ช่วยในการย่อยด้วย ได้แก่ น้ำดีจากตับ เพื่อมาช่วยทำให้ไลเปส (Lipase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยอาหารพวกไขมัน ย่อยไขมันได้ ถ้าไม่มีน้ำดี แม้จะมีเอนไซม์ไลเปส ก็ไม่สามารถย่อยไขมันได้ น้ำดีจึงจัดเป็นผู้ช่วยที่สำคัญในการย่อยไขมัน

น้ำดี สร้างจากคอเลสเตอรอล อวัยวะที่ใช้สร้างน้ำดี คือ ตับ โดยตับจะนำคอเรสเตอรอลในเลือดมาสร้างน้ำดี เมื่อตับสร้างน้ำดีแล้วจะเก็บไว้ที่ถุงน้ำดีส่วนหนึ่ง เมื่อมีอาหารพวกไขมันมาที่ลำ ไส้เล็ก ถุงน้ำดีจะหลั่งน้ำดีผ่านท่อน้ำดีที่เปิดเข้าสู่ลำไส้เล็กที่จุดใกล้เคียงกับที่ท่อตับอ่อนเปิดเข้าสู่ลำไส้เล็ก น้ำดีรวมกับน้ำย่อยไลเปสที่ตับอ่อนสร้าง ผ่านเข้าสู่ลำไส้เล็ก เพื่อทำหน้าที่ร่วมกันในการย่อยไขมัน

เมื่อไรก็ตามที่มีความบกพร่องของอวัยวะที่สร้างเอนไซม์ที่ใช้ย่อยอาหารต่างๆข้างต้น หรือภาวะที่ทำให้การหลั่งน้ำย่อยลดลง ก็จะเกิดความผิดปกติในการย่อยอาหาร ส่งผลทำให้เรามีอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ไม่สบายท้อง ดังนั้น จึงอาจจำเป็นต้องใช้ยาช่วยย่อยอาหาร ซึ่งประกอบด้วยเอนไซม์หรือน้ำย่อยต่างๆมาช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น

ยาช่วยย่อยอาหารที่ใช้กันแพร่หลาย ได้แก่

1. แพนคริเอติน และแพนคริเอไลเปส เป็นกลุ่มเอนไซม์ที่สกัดจากตับอ่อนของหมูและวัว ประกอบด้วย

  • เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ที่ใช้ย่อยพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต
  • เอนไซม์ทริปซิน (Trypsin) ที่ใช้ย่อยโปรตีนต่างๆ และ
  • เอนไซม์ไลเปส (Lipase) ที่ใช้ย่อยอาหารพวกไขมัน

แพนคริเอไลเปส จะมีไลเปสมากกว่าแพนคริเอติน จึงมีฤทธิ์ช่วยย่อยไขมันได้ดีกว่าเอน ไซม์แพนคริเอติน เอนไซม์ทั้ง 2 ชนิดใช้ทดแทนการขาดน้ำย่อยจากตับอ่อน ซึ่งพบในโรคตับอ่อนอักเสบ

ตัวอย่างชื่อการค้าของ แพนคริเอติน (Pancreatin) คือ ยาคอมบิซิม (Combizym), ยาคอมบิซิม คอมโพซิตุม (Combizym compositum, ที่มีส่วนประกอบของ Ox bile/น้ำดีจากวัว เพิ่มเข้ามา ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยในกระบวนการย่อยไขมัน และดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน/วิตามิน เอ, ดี, อี, เค จึงเหมาะกับบุคคลที่มีความบกพร่องเกี่ยวกับน้ำดี) และยาเอนไซม์เม็ท (Enzymet)

ตัวอย่างชื่อการค้าของแพนคริเอไลเปส (Pancrealipase) คือ ยาไวโอเคส (Viokase), และยาโคทาซิม (Cotazym)

อนึ่ง ขนาดรับประทานของยากลุ่มแพนคริเอติน และแพนคริเอไลเปส คือ ครั้งละ 1-3 เม็ด หรือแคปซูล ก่อนอาหาร หรือพร้อมอาหาร ขนาดยาสามารถปรับได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน

2. ยาช่วยย่อยอื่นๆ ยากลุ่มนี้ประกอบด้วยเอนไซม์ที่ใช้ย่อยอาหารพวกแป้ง น้ำตาล หรือ คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนเป็นหลัก บางชนิดจะผสมร่วมกับยาลดกรด และยาขับลมต่างๆ นำไปใช้ในกรณีที่มีอาการ ท้องอืดแน่น อาหารไม่ย่อย

ตัวอย่างกลุ่มนี้ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ได้แก่ ยายูนิเอนไซม์ (Unienzyme), และยามาเจสโต (Magesto) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดเป็นกลุ่มยาช่วยย่อย เน้นไปในทางลดกรด และขับลม ทำให้โล่งท้อง เนื่องจากมีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย, และยาเอนไซม์เพล็ก (Enzyplex) ที่มีส่วนประ กอบที่เป็นเอนไซม์ช่วยย่อย และมีเอนไซม์ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของน้ำดี อีกทั้งมีส่วนประกอบของยา Simethicone ที่ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ รวมทั้งมีส่วนประกอบของวิตามินที่ช่วยในกระบวนการเมตาบอลิซึม/การใช้พลังงานของร่างกาย เป็นต้น

ทั้งนี้ ขนาดรับประทานของยาในกลุ่มนี้ คือ ผู้ใหญ่ ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

เด็ก ครั้งละ ครึ่ง-1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

ข้อควรระวังในการใช้ยาช่วยย่อย

  • ผู้สูงอายุหรือเด็กต่ำกว่า 6 ปี ควรใช้ยาตามแพทย์สั่ง เพราะมีโอกาสเกิดการแพ้ยา หรือผลข้างเคียงจากยา (ชีพจรเต้นเร็ว มึนงง ตาพร่า) ได้
  • ห้ามใช้ในโรคต้อหิน (Glaucoma) เพราะอาการทางตาอาจเลวลง
  • หากเกิดอาการชีพจรเต้นเร็ว มึนงง หรือสายตาพร่าหลังกินยา ให้หยุดใช้ยา
  • ส่วนหญิงมีครรภ์ และให้นมบุตร สามารถรับประทานยาช่วยย่อยได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะปลอดภัยกว่า

*****หมายเหตุ

ต้องตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะใน เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ รวมทั้งปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Magesto-F [package insert]. Bangkok, Interthai Pharmaceutical Manufacturing LTD.
  2. คู่มือร้านยา “โรคและยาระบบทางเดินอาหาร”, เล่มที่ 6, จิรัชฌา อุดมชัยสกุล, ภญ., สิงหาคม , 2552