ยาฉีดคุมกำเนิด (Injectable contraceptive)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 25 มีนาคม 2560
- Tweet
สารบัญ
- ยาฉีดคุมคุมกำเนิดคืออะไร?
- ยาฉีดคุมคุมกำเนิดมีกี่ชนิด?และมีส่วนประกอบอะไรบ้าง?
- ยาฉีดคุมคุมกำเนิดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มีวิธีฉีดยาคุมกำเนิดอย่างไร?
- ยาฉีดคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพอย่างไร?
- สถานที่ให้บริการยาฉีดคุมกำเนิดมีที่ใดบ้าง?
- อะไรคือข้อดีของยาฉีดคุมกำเนิด?
- อะไรคือข้อด้อยของยาฉีดคุมกำเนิด?
- ผลข้างเคียงของยาฉีดคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง?
- ใครเหมาะสำหรับยาฉีดคุมกำเนิด?
- ใครไม่เหมาะสำหรับยาฉีดคุมกำเนิด?
- ดูแลรักษาอย่างไรหากมีประจำเดือนกะปริดกะปรอยหลังจากฉีดยาคุมกำเนิด?
- ภาวะเจริญพันธุ์หลังหยุดยาฉีดคุมกำเนิดเป็นอย่างไร?
- ประโยชน์นอกเหนือจากการคุมกำเนิดของยาฉีดคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง?
- ระหว่างใช้ยาฉีดคุมกำเนิดควรดุแลตนเองอย่างไร?
- ระหว่างใช้ยาฉีดคุมกำเนิดถ้าประจำเดือนผิดปกติควรทำอย่างไร?
- ระหว่างใช้ยาฉีดคุมกำเนิดถ้าประจำเดือนขาดควรทำอย่างไร?
- ระหว่างใช้ยาฉีดคุมกำเนิดถ้าต้องกินยาปฏิชีวนะควรทำอย่างไร?
- ยาฉีดคุมกำเนิดเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งไหม?
- สามารถใช้ยาฉีดคุมกำเนิดติดต่อกันได้นานแค่ไหน?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การคุมกำเนิด (Contraception)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- การวางแผนครอบครัว (Family planning)
- ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant)
- ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง (Birth control patch or contraceptive patch)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- ห่วงอนามัยชนิดมีฮอร์โมน (Levonorgestrel Intrauterine device system)
ยาฉีดคุมกำเนิดคืออะไร?
ยาฉีดคุมกำเนิด (Injectable contraceptive) เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวชนิดหนึ่ง โดยการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อในระยะเวลาที่กำหนด เป็นที่นิยมใช้ในสตรีที่ต้องการเว้นระยะการมีบุตร เพราะประสิทธิภาพดี ราคาถูก
ยาฉีดคุมกำเนิดมีกี่ชนิด?และมีส่วนประกอบอะไรบ้าง?
ยาฉีดคุมกำเนิดที่มีในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ยามีฮอร์โมนชนิดเดียว เป็น ฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) อย่างเดียว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
a. ยา Medroxy progesterone ที่นิยมใช้มากที่สุด คือ Depo medroxy progesterone acetate หรือคำย่อที่รู้จักกันดี คือ DMPA (ดีเอมพีเอ) นั่นเอง
b. ยา Norethisterone enanthate (ชื่อการค้า คือ NET-EN®)
2. ยามีฮอร์โมนรวม คือ มีทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เละ โปรเจสติน ชื่อการค้าคือ Cyclofem ® ประกอบด้วยยา Estradiol cypionate 5 มิลลิกรัม และ Medroxyprogesterone acetate 25 มิลลิกรัม เป็นยาที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อด้อยของยาฉีดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว
ยาฉีดคุมกำเนิดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ฮอร์โมนโปรเจสตินในยาฉีดคุมกำเนิด จะไปยับยั้งการตกไข่ ทำให้ไม่มีไข่มารอปฏิสนธิ จึงสามารถคุมกำเนิดได้ นอกจากนั้นฮอร์โมนโปรเจสตินยังทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวไม่เหมาะแก่การฝังตัวของไข่อีกด้วย และยังทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้ตัวเชื้ออสุจิว่ายผ่านเข้าไปผสมกับไข่ได้ลำบาก
มีวิธีฉีดยาคุมกำเนิดอย่างไร?
ระยะเวลาในการฉีดยาคุมกำเนิด มีระยะห่าง ตั้งแต่ 1-3 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของยาฉีดคุมกำเนิด
หากเป็น DMPA ขนาด 150 มิลลิกรัม จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 3 เดือน โดยไม่เกี่ยวกับน้ำหนักของสตรีที่มารับการคุมกำเนิด ในต่างประเทศจะมีขนาด 104 มิลลิกรัม ที่ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
Norethisterone enanthate ( NET-EN®) หรือ Noristerat ® ขนาด 200 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ทุก 2 เดือน
Cyclofem ® ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 1 เดือน ซึ่งยากลุ่มนี้ทำให้มีประจำเดือนมาทุกเดือน
ยาฉีดคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพอย่างไร?
ประสิทธิภาพของยาฉีดคุมกำเนิดดีมาก โดยทั่วไปหากไปรับการฉีดยาคุมกำเนิดถูกต้อง ตรงตามเวลานัด โอกาสตั้งครรภ์มีน้อยมาก คือประมาณ 3 คนในสตรี 1000 คนที่ฉีดยา
ทั้งนี้จะต้องเริ่มฉีดยาภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือนเหมือนยา คุมกำเนิดชนิดอื่นๆ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด เมื่อครบกำหนดฉีดยาแล้วแต่ประจำเดือนยังไม่มา ก็ต้องไปฉีดยาตรงตามที่แพทย์กำหนด ห้ามรอจนกว่าจะมีประจำเดือนมาแล้วค่อยไปฉีดยา เพราะอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว
สถานที่ให้บริการยาฉีดคุมกำเนิดมีที่ใดบ้าง?
การฉีดยาคุมกำเนิดยังไม่สามารถฉีดได้ด้วยตนเองเหมือนการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ยังต้องไปรับบริการจากสถานพยาบาล ให้แพทย์ พยาบาล หรือบุคคลากรทางสาธารณสุขฉีดยาให้ สามารถไปฉีดได้ที่
1. โรงพยาบาลทุกแห่ง
2. สถานีอนามัย
3. คลินิกต่างๆ
โดยที่แพทย์หรือพยาบาลจะฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่ต้นแขน หรือ สะโพก หลังฉีดอาจมีอาการปวดตึงๆในบริเวณที่ฉีดยา ประมาณ 1 วัน แล้วจะหายไป ที่สำคัญ คือ หลังฉีดยาอย่าไปคลึงบริเวณที่ฉีดยาเพราะจะทำให้ยาถูกดูดซึมเร็วเกินไป ทำให้ระดับยาเหลือไม่สูงพอที่จะป้องการการตั้งครรภ์จนครบ 3 เดือนได้
อะไรคือข้อดีของยาฉีดคุมกำเนิด?
ข้อดีของยาฉีดคุมกำเนิด คือ
1. ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดดีมาก
2. ราคาถูกเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือ การใส่ห่วงอนามัย
3. สะดวก เนื่องจากฉีดครั้งเดียวสามารถป้องกันได้ 3 เดือน ไม่ต้อง รับประทานยาทุกวัน
อะไรคือข้อด้อยของยาฉีดคุมกำเนิด?
ข้อด้อยของยาฉีดคุมกำเนิด คือ
1. ต้องเสียเวลาไปสถานที่บริการ
2. ต้องพึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการฉีดยา
3. ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
ผลข้างเคียงของยาฉีดคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงของยาฉีดคุมกำเนิด ได้แก่
ก. ผลข้างเคียงของยาฉีดคุมกำเนิด ในกลุ่ม DMPA และ NET-EN หรือ Noristerat คือ
1. มีเลือดออกกะปริดกะปรอยจากโพรงมดลูก/เลือดออกทางช่องคลอด เป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุด
2. ไม่มีประจำเดือน หรือขาดประจำเดือน
3. น้ำหนักตัวเพิ่ม
4. ภาวะกระดูกบาง เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสตินจะไปยับยังการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง มีผลทำให้มวลกระดูกลดลง ความหนาแน่นกระดูกลดลง (Bone mineral density) แต่พบว่าเป็นแบบชั่วคราว เมื่อหยุดฉีดยาคุม ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะกลับคืนมาเป็นปกติ
5. มึนงง วิงเวียนศีรษะ
6. อารมณ์เปลี่ยนแปลง
ข. ผลข้างเคียงของยาฉีดคุมกำเนิดในกลุ่ม Cyclofem คือ
1. น้ำหนักตัวเพิ่ม
2. เป็นฝ้า
3. หน้าอก/เต้านมคัดตึง
ใครเหมาะสำหรับการฉีดยาคุมกำเนิด?
สตรีที่เหมาะสำหรับการฉีดยาคุมกำเนิด คือ
1. สตรีที่ต้องการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว สะดวก ประหยัด ได้ประสิทธิภาพสูง
2. สตรีที่ไม่ต้องการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดทุกๆวัน
3. สตรีหลังคลอดที่กำลังให้นมบุตร (ใช้ DMPA หรือ NET-EN หรือ Noristerat)
4. สตรีที่มีอาการปวดประจำเดือนเป็นประจำ
5. สตรีที่สูบหรี่
ใครไม่เหมาะสำหรับการฉีดยาคุมกำเนิด?
สตรีที่ไม่เหมาะสำหรับยาฉีดคุมกำเนิด คือ
1. สตรีที่มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
2. สตรีที่สงสัยหรือกำลังตั้งครรภ์
3. สตรีที่โรคเลือดออกง่ายและหยุดยาก
4. สตรีที่มีภาวะกระดูกพรุน
5. สตรีที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง
6. สตรีที่อ้วนมาก
ดูแลรักษาอย่างไรหากมีประจำเดือนกะปริดกะปรอยหลังจากฉีดยาคุมกำเนิด?
การดูแลรักษาหากมีประจำเดือนกะปริดกะปรอยหลังฉีดยาคุมกำเนิด อาจทำได้โดย
1. เปลี่ยนยามาเป็นชนิด ฉีด 1 เดือนต่อเข็ม (ยา Cyclofem) หรือ
2. เปลี่ยนเป็นรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หรือ
3. รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจน
ภาวะเจริญพันธุ์หลังหยุดยาฉีดคุมกำเนิดเป็นอย่างไร?
โดยทั่วไป ระดับยายังคงมีอยู่ในกระแสเลือดแม้ว่าจะหยุดฉีดยาคุมไปแล้ว การกลับมาของประจำเดือนจึงช้ากว่าการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด โดยทั่วไปสามารถตั้งครรภ์ได้ในปีแรกประมาณ70 % และประมาณ 90% ในปีที่ 2 หลังหยุดฉีดยา
ประโยชน์นอกเหนือจากการคุมกำเนิดของยาฉีดคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง?
ประโยชน์นอกเหนือจากการคุมกำเนิดของยาฉีดคุมกำเนิด คือ
1. ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน เนื่องจากทำให้ไม่มีประจำเดือน
2. ช่วยลดภาวะซีด เนื่องจากทำให้ไม่มีประจำเดือน
3. ลดโอกาสติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เนื่องจากไม่มีประจำเดือน
4. ลดโอกาสเกิดการตั้งครรภ์/ท้องนอกมดลูก เพราะโอกาสติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานน้อยลง
5. ลดโอกาสเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เพราะยาฉีดคุมกำเนิดทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบาง ไม่มีการแบ่งเซลล์
ระหว่างใช้ยาฉีดคุมกำเนิดควรดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองระหว่างการฉีดยาคุมกำเนิดไม่มีอะไรพิเศษ คือ ต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และต้องให้ความสำคัญกับการไปฉีดยาตรงตามกำหนดที่แพทย์นัดในการฉีดเข็มต่อไป ไม่ต้องรอจนกว่าจะมีประจำเดือนจึงค่อยไปฉีดยา
ระหว่างใช้ยาฉีดคุมกำเนิดถ้าประจำเดือนผิดปกติควรทำอย่างไร?
หากฉีดยาไปแล้วมีเลือดประจำเดือนออกไม่มาก เพียงกะปริดกะปรอย ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดได้บ่อย เลือดอาจออก1-2 สัปดาห์แล้วหยุดไป แต่หากมีเลือดออกมาก หรือมีอาการวิงเวียนศีรษะ สมควรจะไปพบแพทย์/สูตินรีแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้ยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อทำให้เลือดหยุด และให้ยาบำรุงเลือด
ระหว่างใช้ยาฉีดคุมกำเนิดถ้าประจำเดือนขาดควรทำอย่างไร?
ระหว่างฉีดยาคุมกำเนิด มักจะไม่มีประจำเดือน ไม่ต้องกังวลใจหากไปรับการฉีดยาตรงตามที่แพทย์นัด ฮอร์โมนในยาฉีดคุมกำเนิดจะไปทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงเรื่อยๆ จนไม่ลอกออกมาเป็นประจำเดือน การกินยาให้มีประจำเดือนมักไม่ค่อยได้ผล แต่หากไม่ได้ไปฉีดยาตรงกำหนด หรือประจำเดือนหยุดเกิน 7 วันแล้วค่อยไปฉีดยา ต้องระวังการตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว หรือ เมื่อมีอาการแปลกๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ก็ต้องไปตรวจปัสสาวะว่าตั้งครรภ์หรือไม่
ระหว่างใช้ยาฉีดคุมกำเนิดถ้าต้องกินยาปฏิชีวนะควรทำอย่างไร?
การใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ ระหว่างฉีดยาคุมกำเนิด มักไม่มีปัญหา ยาฉีดคุมกำเนิดไม่ได้มีปฏิกิริยากับยาปฏิชีวนะ หรือลดประสิทธิ์ภาพของยา ซึ่งจะต่างจากการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
ยาฉีดคุมกำเนิดเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งไหม?
จากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน ไม่พบว่า ยาฉีดคุมกำเนิดเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งเต้านม
สามารถใช้ยาฉีดคุมกำเนิดติดต่อกันได้นานแค่ไหน?
ไม่มีตัวเลขแน่นอนว่าสามารถฉีดยาคุมกำเนิดได้นานเท่าใด สามารถใช้ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าคิดวางแผนจะตั้งครรภ์ หรือฉีดไปจนถึงอายุ 45 ปี แล้วน่าจะเปลี่ยนไปใช้วิธีคุมกำเนิดประเภทอื่นแทน เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย หรือ ปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมกับแต่ละคน
บรรณานุกรม
- Family planning : A global handbook for providers. Evidence-based guidance developed through worldwide collabolation .Revised 2011 update. 2011:59-100.
- Guillebaud J. Contraception: your questions answerd. London: Churchill livingstone. 2010.315-47.
- Stubblefield PG, Carr-EllisS Kapp N. Family planning . In: Berek JS. Ed. Berek& Novak’s gynecology. 14ed . Philladelphia: Lippincott Williams & Wilkins. 2007.
- http://www.fpa.org.uk/contraception-help/contraceptive-injections [2017,March25]
- http://www.familyplanning.org.nz/media/302862/fp_cyc-chart_dec2015.pdf [2017,March25]
- https://www.drugs.com/cg/injectable-contraception.html [2017,March25]
Updated 2017,March25