ยาจุดกันยุง (Mosquito Coil)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 1 พฤษภาคม 2561
- Tweet
- ยาทากันยุง (Mosquito Repellents)
- ไข้ซิกา (Zika fever) โรคติดเชื้อซิกาไวรัส (Zika virus infection)
- ไข้สมองอักเสบ (Infectious encephalitis)
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)
- โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)
- ตุ่มแพ้แมลงกัด (Insect bite reaction)
- ตุ่มยุงกัด (Mosquito bites)
- ไข้เหลือง (Yellow fever)
- โรคเท้าช้าง (Lymphatic filariasis)
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- ยาจุดกันยุงหมายความว่าอย่างไร?
- ยาจุดกันยุงประกอบด้วยอะไร?
- ยาจุดกันยุงมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยาจุดกันยุงอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาจุดกันยุงอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาจุดกันยุงอย่างไร?
- การใช้ยาจุดกันยุงในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาจุดกันยุงในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาจุดกันยุงในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาจุดกันยุงมีอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
ยาจุดกันยุงหมายความว่าอย่างไร?
ยาจุดกันยุง(Mosquito Coil) เป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้ในบ้านเรือนเพราะมีราคาถูก มีวิธีใช้โดยการจุดไฟบริเวณหัวยาจุดกันยุงจนเกิดการเผาไหม้ หลังจากนั้นสารออกฤทธิ์จะระเหยออกมาพร้อมกับควัน โดยสารออกฤทธิ์ดังกล่าวค่อนข้างปลอดภัยในคน แต่มีคุณสมบัติในการไล่ยุงหรือฆ่ายุง หากยุงสัมผัสควันนี้ในปริมาณน้อยจะไม่บินเข้ามาใกล้ หากได้รับควันถึงปริมาณหนึ่งจะรบกวนการทำงานของระบบประสาท ทำให้ยุงเป็นอัมพาตแล้วตกลงมาหงายท้อง(Knock down) และหากได้รับควันปริมาณมากจะทำให้ยุงตายได้
ยาจุดกันยุงประกอบด้วยอะไร?
ยาจุดกันยุงส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสารสำคัญ (Active ingredient) ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) เลียนแบบมาจากสารกลุ่มไพรีทริน (Pyrethirns) ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่พบได้ในดอกเบญจมาศ (Chrysanthemum flower) และมีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง
ตัวอย่างสารกลุ่ม Pyrethroids ได้แก่ อัลเลทริน (Allethrin), ดี-อัลเลทริน (d-Allethrin), ไบโออัลเลทริน (Bioallethrin), เอส-ไบโออัลเลทริน (s-Bioallethrin), พราลเลทริน (Prallethrin), เอสไบโอทริน (Esbiothrin), เมโทฟลูทริน (Metofluthrin), ทรานส์ฟลูทริน (Transfluthrin)
ยาจุดกันยุงมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาจุดกันยุงมีรูปแบบจัดจำหน่าย เช่น
- ยาจุดกันยุงชนิดขด (Coil)
- ยาจุดกันยุงชนิดแท่ง (Stick)
มีข้อบ่งใช้ยาจุดกันยุงอย่างไร?
ข้อบ่งใช้ยาจุดกันยุงได้แก่
- ใช้จุดเพื่อป้องกันยุงกัด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรำคาญ และเพื่อป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคชิคุนกุนยา ไข้ซิกา ไข้เหลือง และไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
มีข้อห้ามใช้ยาจุดกันยุงอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาจุดกันยุง เช่น
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาจุดกันยุงชนิดนั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง/ไวเกิน (Hypersensitivity)ต่อยาจุดกันยุงนั้นๆ
2. ห้ามจุดยาจุดกันยุงในห้องที่มีเด็กอ่อน หรือมีผู้ป่วย หรือในพื้นที่อับไม่มีอากาศถ่ายเท
3. ห้ามให้ยาจุดกันยุงสัมผัสหรือรมถูกอาหาร
4. ห้ามจุดยาจุดกันยุงใกล้วัสดุที่ติดไฟง่าย
มีข้อควรระวังการใช้ยาจุดกันยุงอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาจุดกันยุง เช่น
1. ควรอ่านคำแนะนำบนฉลากและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ใช้ยาจุดกันยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา/จากสารเคมีในยาจุดกันยุง
2. หลังจุดไฟที่หัวยาจุดกันยุงแล้ว ให้วางลงบนภาชนะรองรับที่เป็นโลหะหรือวัสดุที่ไม่ติดไฟ และหลังใช้ควรตรวจดูว่าไฟดับเรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้
3. หลังจากใช้ยาจุดกันยุง ควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหาร
4. เก็บยาจุดกันยุงในที่แห้ง อย่าให้ถูกแสงแดดหรือความร้อน ห่างจากเด็ก อาหาร สัตว์เลี้ยง เครื่องมือเครื่องใช้ภายในครัว และเสื้อผ้า
5. หลีกเลี่ยงการสูดดมควันจากยาจุดกันยุง เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯได้
6. หากควันจากยาจุดกันยุงเข้าตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก จนกว่าอาการระคายเคืองตาจะทุเลา
7. ควรระวังการใช้ยาจุดกันยุงในหญิงมีครรภ์ เด็ก และผู้สูงอายุ เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯขึ้นได้ ดังนั้นอาจใช้วิธีอื่นแทนเพื่อป้องกันยุง เช่น สวมเสื้อผ้าที่มีแขน/ขายาว เสื้อผ้าสีสว่าง หรือนอนในมุ้งแทน
8. สารเคมีกลุ่ม Pyrethroids มีความเป็นพิษอย่างรุนแรงต่อปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ดังนั้นไม่ควรทิ้งยาจุดกันยุงลงในแหล่งน้ำ และควรระวังเมื่อใช้ยาจุดกันยุงใกล้แหล่งน้ำในขณะที่มีฝนตกหรือลมแรง เพราะอาจพัดพาสารเคมีลงไปสู่แหล่งน้ำได้
การใช้ยาจุดกันยุงในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาจุดกันยุงในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
- ควรระวังการใช้ยาจุดกันยุงในหญิงมีครรภ์ เนื่องจากสารเคมีกลุ่ม Pyrethroids มีความเป็นพิษต่อระบบประสาท สารกลุ่มนี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางการหายใจ ผิวหนัง ตา และระบบย่อยอาหาร/ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งถ้าได้รับเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานานหรือมากเกินไป อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางระบบประสาทของทารกในครรภ์
การใช้ยาจุดกันยุงในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาจุดกันยุงในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น
- ควรระวังการใช้ยาจุดกันยุงในผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง ผู้ที่เป็นโรคปอด หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เพราะฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของยาจุดกันยุงอาจทำให้เกิด โรคหืด ปอดอักเสบ หรือมะเร็งปอด ได้ ถ้าใช้เป็นประจำหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
การใช้ยาจุดกันยุงในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาจุดกันยุงในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
- ควรระวังการใช้ยาจุดกันยุงในเด็ก ถ้าใช้เป็นประจำหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไหม้ อาจทำให้เด็กมีอาการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ หรือเกิดเสียงหวีดขณะหายใจ
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาจุดกันยุงมีอะไรบ้าง?
โดยทั่วไป พบว่ายาจุดกันยุงมีความปลอดภัยเมื่อใช้ในขนาดและวิธีใช้ปกติ อย่างไรก็ตาม อาจพบอาการไม่พึงประสงค์จากยาจุดกันยุงได้มีดังต่อไปนี้ เช่น
1. อาการแพ้ทางผิวหนัง เช่น ผื่น คัน ระคายเคือง มีผื่นแดง
2. ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ
3. หากเข้าตา/ควันเข้าตาอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา
4. อาการที่เกิดจากการสูดดมควันในปริมาณมาก หรืออยู่ในพื้นที่แคบ ไม่มีอากาศถ่ายเท เช่น เจ็บคอ กลืนลำบาก มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก เหนื่อยล้า ชัก หรือหมดสติ โดยหากเกิดพิษ/อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากการสูดดม ให้รีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่จุดยากันยุงไปยังพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเท และหากยังมีอาการรุนแรง ให้รีบนำส่งแพทย์/โรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินพร้อมภาชนะบรรจุหรือฉลากของผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นข้อมูลในการวินิจฉัย/รักษาของแพทย์
บรรณานุกรม
- กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ยาจุดกันยุง (MOSQUITO COIL) http://www.fda.moph.go.th/sites/Hazardous/KM_Factsheet/9.%20%20ยาจุดกันยุง.pdf [2018,April14]
- กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ยาจุดกันยุง http://www.fda.moph.go.th/sites/Hazardous/RegionM/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%87.pdf [2018,April14]
- Kasumba, J., and others. Analysis of Pesticides and Toxic Heavy Metals Contained in Mosquito Coils. Bull Environ Contam Toxicol 97 : 614-618.
- Liu, W., and others. Mosquito Coil Emissions and Health Implications. Environmental Health Perspectives 11 (September 2003) : 1454-1460.
- Xue, Z., and others. Effect of Synthetic Pyrethroid Pesticide Exposure During Pregnancy on the Growth and Development of Infants. Asia-Pacific Journal of Public Health 25 (2013) : 72-79.