ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 24 กรกฎาคม 2557
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคจิต (Psychosis)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- วิตกกังวล: การดูแลตนเอง (Coping with anxiety)
อาการทางจิตเวช เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่อาจเกิดจาก
- ร่างกาย : ร่างกายเกิดความผิดปกติ (เกิดโรค) แล้วส่งผลกระทบต่อสมอง ทำให้สมองสร้างสารสื่อประสาทบางอย่างมากหรือน้อยเกินไป เช่น ใน ตับวาย
- จิตใจ : ความเครียดในชีวิตประจำวัน กระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วย โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มอาการ ดังนี้
- โรคจิต (Schizophrenia)
- ภาวะ/โรควิตกกังวล (Anxiety)
- ภาวะ/โรคซึมเศร้า (Depressive disorder)
- ความผิดปกติทางอารมณ์ (Mood disorder)
ยาทางจิตเวช
ยารักษาอาการทางจิตเวช หรือยารักษาทางจิตเวช หรือยาโรคทางจิตเวช หรือยาทางจิตเวช หรือยาจิตเวช (Psychotropics drugs) แบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้ได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่
- ยาระงับอาการทางจิต (Antipsychotic drugs) ใช้รักษาโรคจิตเภท (Schizophrenia)
- ยาระงับอาการวิตกกังวล (Anti-anxiety drugs) ใช้รักษาโรควิตกกังวล (Anxiety disorder)
- ยาระงับอาการซึมเศร้า (Antidepressant drugs) ใช้รักษาโรคซึมเศร้า (Depressive disorder)
- ยาคงสภาพอารมณ์ (Mood Stabilizers) ใช้รักษาภาวะ/โรคอารมณ์แปรปรวน (Mood disorder)
1. ยาระงับอาการทางจิต (Antipsychotic drugs)
ยาระงับอาการทางจิต ใช้รักษาภาวะ/โรคจิตเภท (Schizophrenia) ที่เป็นความผิดปกติทางความคิดและพฤติกรรม มี 2 แบบ คือ
- อาการโรคจิตเภทชนิดบวก (Positive Schizophrenia): อาการเช่น หลงผิด (Delu sion), ประสาทหลอน (Hallucination), ตื่นตัว อยู่ไม่นิ่ง (Excitation)
- อาการโรคจิตเภทชนิดลบ (Negative Schizophrenia): อาการเช่น เฉยเมย (Blunted ), พูดน้อย (Alogia), ไม่ค่อยสบตาผู้อื่น, วิตกจริต (Dementia)
ก) พยาธิสภาพของโรคจิตเภท: คือ
- มีสารสื่อประสาท Dopamine (เกี่ยวข้องกับการตื่นตัว ความจำ ความรู้สึกทางเพศ ความอยากอาหาร ฯลฯ) เพิ่มขึ้น
- การทำงานของ 5-HT ( 5-Hydroxytryptamine หรือ Serotonin: สารสื่อประสาทอีกชนิดหนึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ หิว โกรธ และขุ่นเคือง ถ้ามีน้อยเกินไป ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า กินไม่ได้ นอนไม่หลับ) บกพร่อง
ข) ข้อบ่งใช้ยาในโรคจิตเภท: ใช้ยาเพื่อรักษาโรคจิตเภท, รักษาอาการหวาดระแวง (Paranoid)
ค) กลไกการออกฤทธิ์ของยาโรคจิตเภท: ยับยั้งการหลั่ง Dopamine
ง) อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง/ผลหรืออาการไม่พึงประสงค์) ของยาโรคจิตเภท: ทำให้เกิดอาการ Extra pyramidal Syndromes (EPS : คือผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาจิตเวช อาทิเช่น คอเอียง อาการเกร็งหลังแอ่น กลอกตาไปมา กระวนกระวาย ตื่นเต้น อยู่ไม่สุข เป็นต้น), ความดันโลหิตต่ำ, ปัสสาวะคั่ง (ปัสสาวะไม่ออก), ท้องผูก, ง่วงนอน, ตาพร่ามัว, สับสน, มึนงง
จ) ประเภทยารักษาจิตเภท: ยาที่ใช้บ่อยในกลุ่มนี้ ได้แก่
a. Chlorpromazine (CPZ):
- ข้อบ่งใช้: ควบคุมอาการคุ้มคลั่งในโรคจิตเภท
- กลไกการออกฤทธิ์: ยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาท Dopamine
- ขนาดการใช้:
เด็ก 0.5 - 1.0 mg/kg/dose (มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง) ทุก 4 - 6 ชม(ชั่วโมง) ทั้งนี้ การใช้ยาในเด็กต้องมีแพทย์เป็นผู้สั่งการใช้เท่านั้น ไม่ควรใช้ยาเอง
ผู้ใหญ่ 400 - 600 mg./kg./dose ทุก 4 - 6 ชม.
- อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง): ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบท, EPS, เต้านมโต, ลดความอยากอาหาร, น้ำหนักลด
b. Haloperidol (Haldol):
- ข้อบ่งใช้: ใช้รักษาโรคจิตเภท ลดอาการหวาดระแวง (Paranoid), สับสน, คลุ่มคลั่ง, กระวนกระ วาย
- กลไกการออกฤทธิ์ : ยับยั้งการหลั่งสาร Dopamine
- ขนาดการใช้:
อาการคุ้มคลั่งในเด็กใช้ยา 0.1 - 0.3 mg/kg/day ให้วันละครั้ง
อาการคุ้มคลั่งในผู้ใหญ่ 5 - 10 mg แบ่งให้วันละ 2 - 3 ครั้ง,
โรคจิตเภทในเด็ก 0.05 - 0.15 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 2 - 3 ครั้ง
โรคจิตเภทในผู้ใหญ่ 0.5 - 5 mg แบ่งให้วันละ 2 - 3 ครั้ง (สูงสุดไม่เกิน 30 mg/day)
ทั้งนี้การใช้ยาในเด็ก ต้องมีแพทย์เป็นผู้สั่งการใช้เท่านั้น ไม่ควรใช้ยาเอง
- อาการไม่พึงประสงค์: หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น มึนงง หลงลืม กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย เลือดออกผิดปกติ
c. Perphenazine:
- ข้อบ่งใช้: ใช้รักษาผู้ป่วยจิตเภท
- กลไกการออกฤทธิ์: ออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับ (Receptor) ของสาร Dopamine (Dopamine D2 receptor), และตัวรับของสาร 5HT (5 HT receptor) ทำให้มีฤทธิ์กดภาวะประสาทหลอนของผู้ ป่วยโรคจิตเภท, และยับยั้งตัวรับของสาร Histamine (Histamine H1 receptor) เป็นผลให้ผู้ป่วยง่วง หิว และรับประทานมากขึ้น
- ขนาดการใช้: 4 - 8 mg วันละ 3 ครั้ง
- อาการไม่พึงประสงค์: กระสับกระส่าย สับสน เคลื่อนไหวผิดปกติ อ่อนเพลีย
d. Fluphenazine:
- ข้อบ่งใช้: รักษาโรคจิตเภท โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการกินยา
- กลไกการออกฤทธิ์: ยับยั้งการหลั่งสาร Dopamine
- ขนาดการใช้: ฉีดเข้ากล้าม (IM: Intramuscular injection) 12.5 - 37.5 mg ทุก 2 สัปดาห์
ระยะเวลาการใช้ยา แพทย์ปรับตามความเหมาะสมกับผู้ป่วย - อาการไม่พึงประสงค์: กลุ่มอาการ EPS เต้านมโต ลดความอยากอาหาร น้าหนักลด
2. ยาระงับอาการวิตกกังวล (Anti-anxiety drugs):
ใช้เป็นยารักษาโรควิตกกังวล (Anxiety disorder)
- ข้อบ่งใช้: รักษาอาการวิตกกังวล เครียด หวาดกลัว ใช้เป็นยานอนหลับ
- กลไกการออกฤทธิ์: กดการทำงานของสมอง (Cerebral cortex) ช่วยคลายเครียดกังวลใจ ช่วยให้นอนหลับ
- อาการข้างเคียง: ง่วงนอน กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน ความดันโลหิตต่ำ เกิดกลุ่มอาการขาดยาถ้าหยุดยาทันที
ยาที่ใช้บ่อยเพื่อระงับอาการวิตกกังวล
a. Lorazepam (Ativan)
- ข้อบ่งใช้: ระงับอาการวิตกกังวล (Anxiolytic) ช่วยให้นอนหลับได้ดี (Sedative) ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว (Muscle relaxant) ระงับอาการชัก (Anticonvulsant)
- กลไกการออกฤทธิ์: กดระบบประสาทส่วนกลาง (CNS: Central nervous system) และออกฤทธิ์กระตุ้นที่ตัวรับ (Receptor) ของ GABA (Gamma aminobutyric acid: สารสื่อประสาทที่ช่วยให้ระบบประสาททำงานเป็นปกติ)
- ขนาดการใช้:
เพื่อคลายกังวลในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก ขนาดยา 0.05 mg/kg/dose ให้ทุกๆ 4 - 8 ชั่วโมง (การใช้ยาในเด็ก ต้องมีแพทย์เป็นผู้สั่งการใช้เท่านั้น ไม่ควรใช้ยาเอง)
เพื่อคลายกังวลในผู้ใหญ่ ขนาด 2 - 6 mg/day แบ่งให้ 2 - 3 ครั้ง
อาการนอนไม่หลับ ผู้ใหญ่ขนาด 2 - 4 mg ก่อนนอน
- อาการไม่พึงประสงค์: กดการหายใจ, น้าหนักลด, ความดันโลหิตต่ำ, สับสน, มึนงง, ปวดศีรษะ
b. Diazepam (Valium)
- ข้อบ่งใช้: ระงับอาการวิตกกังวล (Anxiolytic) ช่วยให้นอนหลับได้ดี (Sedative) ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว (Muscle relaxant) ระงับอาการชัก (Anticonvulsant)
- กลไกการออกฤทธิ์: กระตุ้น GABA receptor
- ขนาดการใช้: รักษาอาการนอนไม่หลับ/คลายกล้ามเนื้อ/คลายกังวล
ในเด็ก 0.12 - 0.18 mg/kg/day แบ่งให้ทุก 6 - 8 ชั่วโมง (การใช้ยาในเด็ก ต้องมีแพทย์เป็นผู้สั่งการใช้เท่านั้น ไม่ควรใช้ยาเอง)
ในผู้ใหญ่ 2 -10 mg/day แบ่งให้ 2 - 4 ครั้ง/วัน
- อาการไม่พึงประสงค์: ลดอัตราการหายใจ ความดันโลหิตต่ำ สับสน มึนงง ปวดศีรษะ
c. Clorazepate dipotassium
- ข้อบ่งใช้: รักษาอาการวิตกกังวล เครียด และนอนไม่หลับ
- กลไกการออกฤทธิ์: จับกับ 5-HT บน GABA มีผลกระตุ้นที่ตัวรับของ GABA
- ขนาดการใช้: 5 - 20 mg/day แบ่งให้ 2 - 3 เวลา
- อาการไม่พึงประสงค์: ความดันโลหิตต่ำ สับสน ปวดศีรษะ
- หมายเหตุ: Clorazepate เลือกใช้ในผู้ป่วยที่หลับได้เร็ว แต่ตื่นกลางคืนบ่อย จึงเลือกยาที่ออกฤทธิ์ช้าแต่ออกฤทธิ์ได้ยาว เพื่อที่ไม่ให้ผู้ป่วยตื่นมากลางคืนบ่อยๆ
3. ยาระงับอาการซึมเศร้า (Antidepressant drugs)
- ข้อบ่งใช้: ใช้รักษาโรคซึมเศร้า โดยรักษาผู้ป่วยอารมณ์ซึมเศร้า ในผู้ป่วยอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) และในโรควิตกกังวล
- กลไกการออกฤทธิ์: ออกฤทธิ์เพิ่มความเข้มข้นของ สาร Serotonin และ สาร Norepinephrine /Noradrenaline (NE: สารที่ช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อความเครียด) ทำให้อารมณ์ดีขึ้น
- อาการไม่พึงประสงค์: ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยน ปากแห้ง หลงลืม ตาพร่ามัว ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร
- ยาที่ใช้บ่อยในกลุ่มนี้ เช่น
a. Fluoxitine
- ข้อบ่งใช้: รักษาอาการซึมเศร้า
- กลไกการออกฤทธิ์: ต้านการนำสาร Serotoninไปใช้ (Selective serotonin reuptake inhibitor)
- ขนาดการใช้: 20 - 80 mg/day สามารถให้ 1 - 2 ครั้ง/วัน ในตอนเช้า และ/หรือ เที่ยง ควรรับประ ทานหลังอาหาร
- อาการไม่พึงประสงค์: ความอยากอาหารลดลง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย กระวนกระวายใจ
- หมายเหตุ: ยาตัวนี้มีการออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า อาจเริ่มเห็นผลการรักษาในสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 หลังการใช้ยา
b. Amitriptyline
- ข้อบ่งใช้: รักษาอาการซึมเศร้า และภาวะฉี่รดที่นอนในเด็ก (Nocturnal enuresis)
- กลไกการออกฤทธิ์: ยับยั้งไม่ให้เซลล์จับสาร Serotonin และ Norepinephrine ไปใช้งาน
- ขนาดการใช้: 50 - 150 mg/day วันละครั้งก่อนนอน หรือแบ่งหลายครั้งเน้นก่อนนอน
- อาการไม่พึงประสงค์: ปากแห้ง การรับรสชาติผิดปกติ ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก ตาพร่า หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตลด ง่วงนอน น้าหนักเพิ่ม
- หมายเหตุ: หากขณะลดยานี้แล้วเกิดอาการถอนยา เช่น นอนไม่หลับกระสับกระส่าย ให้เพิ่มยากลับไปเท่ากับขนาดก่อนลดยา และจึงค่อยๆปรับลดยาให้ช้าลง
4. ยาคงสภาพอารมณ์ (Mood Stabilizers)
แบ่งยากลุ่มนี้ออกเป็น 2 ประเภท คือ
ก. ยารักษา Bipolar disorder คือ มีอารมณ์แปรปรวนเป็น 2 ขั้ว (คุ้มคลั่งและเศร้าหดหู่) ได้แก่
- ยารักษาอาการคลุ้งคลั่ง: กลุ่มยับยั้งสาร Norepinephrine และ ยับยั้งสาร Dopamine
- ยารักษาอาการซึมเศร้าหดหู่: กลุ่มยับยั้งสาร Norepinephrine และยับยั้งสาร Serotonin
ข. ยารักษาโรคซึมเศร้า คือ อารมณ์ซึมเศร้า นอนมาก เฉื่อยชา อาจจะมีความคิดฆ่าตัวตายร่วมด้วย
- ข้อบ่งใช้: ใช้รักษาภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ ( Mood disorder) และ รักษาผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวน (Mood disorder)
- กลไกการออกฤทธิ์: ทำให้การทำงานส่วนที่มีประสิทธิภาพของ Norepinephrine (Active nore pinephrine) ในสมองลดลง
- อาการไม่พึงประสงค์: สับสน ง่วงนอน เบื่ออาหาร กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย
- ยาที่ใช้บ่อย: ได้แก่ Lithium carbonate, Lithium citrate, Carbamazepine
หมายเหตุ ประเภทยา
ยาทางจิตเวช ยังอาจแบ่งได้อีกแบบ โดยเป็น 2 ประเภท คือ
ก. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทในสมอง ที่ใช้บ่อยมีดังนี้
- ยับยั้ง Dopamine: ได้แก่ Chlorpromazine, Haloperidol, Perphenazine, Fluphenazine
- กระตุ้น GABA receptor : ได้แก่ Lorazepam , Diazepam , Clorazepate dipotassium
- ยับยั้งการหลั่ง 5 - HT : ได้แก่ Chlorpromazine , Perphenazine
- ยับยั้งการทำลาย 5 - HT : ได้แก่ Amitriptyline , Fluoxitine
- ยับยั้งการทำงานของ Norepinephrine : ได้แก่ Amitriptyline
ข. ยาประเภทอื่นๆ: ได้แก่
- Typical antipsychotic หรือ Conventional antipsychotic หรือ First generation antipsy chotic คือ ยารุ่นแรกหรือยาหลักที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวช หรือเรียกว่า ยารักษาโรคจิตเวชกลุ่มเก่า เป็นยาที่ทำให้ตัวรับสาร Dopamine ไม่ทำงานเป็นหลัก ได้แก่
- Haloperidol
- Perphenazine
- Chlorpromazine
- Atypical antipsychotic หรือ Second generation antipsychotic คือยารักษาโรคจิตเวชกลุ่มใหม่ เป็นยาในรุ่นที่สองที่ค้นคิดได้ โดยเป็นยาที่ยับยั้งทั้ง ตัวรับของ Serotonin (Serotonin recep tor) และตัวรับของ Dopamine (Dopamine receptor) ได้แก่
- Olanzapine (Zyprexa)
- Risperidone (Risperidal)
- Quetiapine (Seroquel)
- Aripiprazole (Abilify)
สรุป
- ยารักษาทางจิตเวชมีหลากหลายชนิดและเป็นยาอันตราย การใช้ยาต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น และต้องใช้ยาให้ถูกต้องตามแพทย์แนะนำโดยเฉพาะในเด็กและในผู้สูงอายุ ไม่ควรปรับ เปลี่ยนปริมาณยา (Dose) ด้วยตนเอง
- ไม่ใช้ยากลุ่มนี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ยกเว้นเป็นการแนะนำจากแพทย์
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ เพื่อประเมินผลการรักษา เพื่อการปรับเปลี่ยนยา อาจโดยชนิดหรือขนาดรับประทาน และพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อมีอาการผิดไปจากเดิม อาการรุนแรงขึ้น มีอาการแพ้ยา หรือมีผลข้างเคียงจากยามาก และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ
- ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาในกลุ่มยาจิตเวชด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
1. http://www.nimh.nih.gov/health/publications/mental-health-medications/index.shtml#pub5 [2014,June 21].
2. http://kalasin.moph.go.th/ssh/download/Pharmacy/pharmacy_1/pc18.pdf [2014,June 21].