ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาคาร์บามาซีปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาคาร์บามาซีปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาคาร์บามาซีปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาคาร์บามาซีปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาคาร์บามาซีปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์บามาซีปีนอย่างไร?
- ยาคาร์บามาซีปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาคาร์บามาซีปีนอย่างไร?
- ยาคาร์บามาซีปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคลมชัก (Epilepsy)
- แอลกอฮอล์และระบบประสาท (Alcohol and Nervous System)
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน (Diabetic Neuropathy)
- โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia)
- ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย (Glossopharyngeal Neuralgia)
บทนำ
ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) เป็นยาที่นำมาบำบัดรักษาโรคลมชัก, รักษาอาการถอนพิษจากสุรา, รักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า, โรคปวดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 (โรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย) ซึ่งมักมีอาการ ปวดกราม ปวดคอ หู ลิ้น และกล่องเสียง, ปวดจากโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน, รักษาโรคเบาจืด, รักษาอาการคลุ้มคลั่ง, ป้องกันภาวะอารมณ์ซึมเศร้า, และโรคอารมณ์แปรปรวน นับว่ามนุษย์ได้ยาที่มีประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิต อีกทั้งราคาไม่แพง เพียงแต่รู้วิธีใช้ที่ถูกต้องและปลอดภัยก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข
หลังจากผู้ป่วยรับประทานยาคาร์บามาซีปีนเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะจับกับโปรตีนถึง 75% อวัยวะตับจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 26 ชั่วโมงในการกำจัดปริมาณยาคาร์บามาซีปีน 50% ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ยาคาร์บามาซีปีนนี้จัดอยู่ในหมวดของยาอันตราย มีผลข้างเคียงและข้อห้ามใช้รวมกันหลายประการ แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้แนะนำและสั่งการใช้ยาที่ปลอดภัยกับผู้ป่วยแต่ละราย
ยาคาร์บามาซีปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาคาร์บามาซีปีน เช่น
- รักษาและบรรเทาอาการของโรคลมชัก
- รักษาอาการถอนพิษจากสุรา (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง แอลกอฮอล์และระบบประสาท)
- บรรเทาอาการโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า, ปวดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 (โรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย)
- บรรเทาอาการปวดปลายประสาทอันมีสาเหตุจากโรคเบาหวาน (โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน)
- รักษาและบำบัดอาการของโรคเบาจืด
- ระงับ อาการคลุ้มคลั่ง, อารมณ์แปรปรวน, อารมณ์ซึมเศร้า
ยาคาร์บามาซีปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคาร์บามาซีปีน คือ ตัวยาจะลดการตอบสนองของปลายประ สาทจากตัวกระตุ้น และทำให้เส้นประสาทหยุดตอบสนองถึงแม้จะถูกกระตุ้นซ้ำๆ นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการปวดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า) และคู่ที่ 9 (โรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย) ซึ่งด้วยกลไกดังกล่าว ยานี้จึงแสดงฤทธิ์ยับยั้งอาการของโรคลม ชัก, ลดอาการปวดจากปลายประสาทบางคู่ที่มาจากสมอง (เช่น คู่ที่ 5, และคู่ที่ 9 ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น) ไม่เพียงเท่านี้ คาร์บามาซีปีนยังมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนชื่อ วาโสเพรสซิน (Vasopressin) จากต่อมใต้สมอง (พิทูอิทารี: Pituitary gland) ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวช่วยทำให้อวัยวะไต ดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย จึงถูกนำมารักษาโรคเบาจืด
ยาคาร์บามาซีปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคาร์บามาซีปีน มีจัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 200 และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำ ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ยาคาร์บามาซีปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาคาร์บามาซีปีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 100 - 1,600 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เช่น ขนาดรับประทานให้คำนวณจากน้ำหนักตัวเด็ก โดยรับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัม /น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
อนึ่ง:
- ขนาดและระยะเวลาของการรับประทานยานี้ของผู้ใหญ่และของเด็กขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาคาร์บามาซิปีน ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร้อมกับน้ำผลไม้ เพราะอาจส่งผลให้ปริมาณยาในเลือดสูงขึ้น จึงอาจเพิ่มผลข้างเคียงจากยานี้ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคาร์บามาซีปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์บามาซีปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาคาร์บามาซีปีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาคาร์บามาซีปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคาร์บามาซีปีน มีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจก่อให้เกิดภาวะโลหิตจาง/ โรคซีดชนิด Aplastic anemia คือ การผลิตเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงลดลง กดการทำงานของไขกระดูก ปริมาณของเกล็ดเลือดลดต่ำกว่าปกติ, หรือเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลมากผิดปกติ, และ/หรือเกิดความผิดปกติของสารฮีโมโกลบินในเม็ดเลือด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ยานี้สามารถทำให้เกิด ผื่นคัน ลมพิษ มีภาวะ Steven Johnson syndrome ผื่นผิวหนังอักเสบ และผื่นแพ้แสงแดง
- ผลต่อหลอดเลือดหัวใจ: เช่น อาจเกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว อาการบวมที่เท้า ความดันโลหิตสูง หรือ ความดันโลหิตต่ำ เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ (เช่น วิงเวียน ง่วงซึม) ใจสั่น หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจทำงานผิดปกติ หลอดเลือดดำอักเสบ เกิดภาวะลิ่มเลือดจับตัวในหลอดเลือด
- ผลต่อตับอ่อน: เช่น เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น อาจทำให้ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่ออกโดยเฉียบพลัน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น สามารถทำให้มีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกกังวล สับสน อ่อนเพลีย การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ประสาทหลอน การพูดไม่ชัดเจน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้- อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปากคอแห้ง รวมถึงกระเพาะอาหารอักเสบ
- ผลต่อระบบการทำงานของกล้ามเนื้อลาย: เช่น ปวดบริเวณกล้ามเนื้อและข้อต่อ เป็นตะคริวที่ขา
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เป็นไข้ และหนาวสั่น
มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์บามาซีปีนอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาคาร์บามาซีปีน เช่น
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยา คาร์บามาซีปีน
- ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยยานี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารก
- ไม่ควรใช้ยากับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยาคาร์บามาซีปีนสามารถขับออกมากับน้ำนมมารดาได้
- ระวังการใช้ยาคาร์บามาซีปีนในผู้ป่วยด้วยโรคตับ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคาร์บามาซีปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาคาร์บามาซีปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคาร์บามาซีปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
ก. การใช้ยาคาร์บามาซีปีนร่วมกับยาบางกลุ่ม จะทำให้ปริมาณความเข้มข้นของยาเหล่านั้นในกระแสเลือดลดต่ำลง ส่งผลถึงประสิทธิภาพของการรักษาด้อยลงไปเช่นกัน ตัวอย่างของยาบางกลุ่มที่กล่าวถึง เช่น
- ยาแก้ปวด: เช่นยา Acetaminophen, Tramadol
- ยาฆ่าพยาธิ: เช่นยา Albendazole
- ยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด: เช่นยา Alprazolam, Clonazepam, Midazolam
- ยาต้านเศร้า: เช่นยา Amitriptyline, Nortriptyline
- ยาสเตียรอยด์: เช่นยา Prednisolone, Dexamethasone
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: เช่นยา Dicumarol, Warfarin
- ยาฮอร์โมนต่างๆ: เช่นยา ยาเม็ดคุมกำเนิด, Levothyroxine
ข. การใช้ยาคาร์บามาซีปีนร่วมกับยาบางกลุ่ม กลับส่งผลให้ปริมาณความเข้มข้นของยาคาร์บามาซีปีนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาคาร์บามาซีปีนติดตามมามากขึ้น ยาบางกลุ่มเหล่านั้น เช่น
- ยาลดกรด: เช่นยา Cimetidine, Omeprazole
- ยาปฏิชีวนะ: เช่นยา Ciprofloxacin, Clarithromycin
- ยาต้านเชื้อรา: เช่นยา Ketoconazole, Fluconazole
- ยาแก้แพ้: เช่นยา Loratadine, Terfenadine
ค. การใช้ยาคาร์บามาซีปีนร่วมกับยาบางตัวที่ใช้รักษาวัณโรค สามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ (ตับอักเสบ)ได้ ยารักษาวัณโรคดังกล่าว เช่นยา Isoniazid
ง. การใช้ยาคาร์บามาซีปีนร่วมกับยาขับปัสสาวะบางตัว สามารถทำให้ปริมาณเกลือโซเดียมในเลือดต่ำกว่าปกติ ยาขับปัสสาวะดังกล่าว เช่นยา Furosemide และ Hydrochlorothiazide
ควรเก็บรักษายาคาร์บามาซีปีนอย่างไร
สามารถเก็บยาคาร์บามาซีปีน เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงสว่าง/ แสงแดด และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ และ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาคาร์บามาซีปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคาร์บามาซีปีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Antafit (แอนตาฟิท) | Polipharm |
Carbazene (คาร์บาซีน) | Medifive |
Carmapine (คาร์มาปีน) | Pharmasant Lab |
Carpine (คาร์ปีน) | Atlantic Lab |
Carzepine (คาร์ซีปีน) | Condrugs |
Mapezine (มาปีซีน) | Siam Bheasach |
Pantol (แพนทอล) | Pharmaland |
Tegretol (ทีเกรทอล) | Novartis |
Zeptol CR (เซพทอล ซีอาร์) | Sun Pharma |
บรรณานุกรม
- https://www.rxlist.com/tegretol-drug.htm [2020,Nov21]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fTegretol%2f%3fq%3dCarbamazepine%2520Tablet%26type%3dbrief [2020,Nov21]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fcarbamazepine%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov21]
- https://academic.oup.com/ndt/article/25/12/3840/1864942 [2020,Nov21]
- https://www.drugs.com/carbamazepine.html [2020,Nov21]