ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ (Cardiac glycoside)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ (Cardiac glycoside) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้างทางเคมี ประกอบด้วยหมู่น้ำตาลหรือเรียกว่าหมู่ไกลโคไซด์ (Glycoside) จับอยู่กับหมู่อะไกลโคน (Aglycone, สารน้ำตาลหมู่หนึ่งในหมู่ไกลโคไซด์) สกัดได้จากพืชชั้นสูง เช่น วงศ์ Apocynaceae, Asclepiadaceae, Liliaceae, Ranunculaceae อาจจำแนกสารคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ Cardenolides และ Bufanolides

สำหรับฤทธิ์ทางยา คาร์ดิแอกไกลโคไซด์ เป็นหมวดกลุ่มยาที่นำมารักษาโรค/ภาวะหัวใจล้มเหลว รวมถึงอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากจะออกฤทธิ์ที่หัวใจแล้ว ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ยังออกฤทธิ์ที่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ระบบประสาทของร่างกาย แต่หากจำแนกยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ตามการละลาย สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่ละลายในไขมัน เช่น Digitoxin, Beta-acetyldigitoxin

2. กลุ่มที่ดูดซึมร่วมกับไขมันในระดับกลางๆ เช่น Lanatoside C, Methyldigoxin

3. กลุ่มที่ละลายน้ำ เช่น Ouabain

สำหรับการบริหารยา/ใช้ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ในผู้ป่วย มีทั้งยาฉีดและยารับประทาน หลังการดูดซึมยาจะจับตัวกับโปรตีนในกระแสเลือด โดยทั่วไปจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ระยะเวลาของการกำจัดยาออกจากร่างกายจะขึ้นกับชนิดหรือกลุ่มของคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ซึ่งใช้ระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน

ด้วยยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์เป็นยาที่มีฤทธิ์แรง ใช้ในปริมาณน้อยในการรักษา การใช้ยากลุ่ม นี้จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์อย่างถูกต้องและเหมาะสมเท่านั้น

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการ ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่เรียกว่า Na+-K+-ATPase (Sodium-potassium adenosine triphosphatase) ทำให้เกิดการเพิ่มของเกลือโซเดียมที่อยู่ในเซลล์ และทำให้เกลือแคลเซียมถูกดึงออกมานอกเซลล์ ส่งผลให้เกิดแรงบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และเกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ขนาด 0.0625 และ 0.25 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 100 และ 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาน้ำ ขนาด 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

การให้ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ในผู้ป่วยแต่ละรายบุคคลขึ้นกับ ชนิดของโรค ความรุนแรงของอาการ อายุ และน้ำหนักตัว จึงมีข้อแตกต่างกันออกไปที่รวมถึงขนาดยา ระยะเวลาในการใช้ยา และชนิดของตัวยา ดังนั้นผู้ป่วยควรต้องใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้ซื้อรับประทานเอง ปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยาเอง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) เช่น

  • คลื่นไส้- อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • รู้สึกสับสน
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • ใจสั่น
  • ตาพร่า
  • เต้านมโตขึ้น
  • หากเป็นยาฉีด จะ
    • รู้สึกระคายเคืองบริเวณที่ฉีดยา และ
    • อาจทำให้หลอดเลือดหดตัวและนำไปสู่อาการความดันโลหิตสูงได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย Obstructive Cardiomyopathy (หัวใจโต โดยไม่ทราบสาเหตุ)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มี ภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ, ผู้ป่วยที่มีเกลือแคลเซียมในเลือดสูง, ผู้ป่วยที่มีเกลือแมกนีเซียม(Magnesium)ในเลือดต่ำ
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
  • การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานหรือหยุดรับประทานยาเอง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตพันธ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ในผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณหัวใจ อาจทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ด้อยลง แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาในผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ร่วมกับยาต่อไปนี้ อาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของยา คาร์ดิแอก ไกลโคไซด์ด้อยประสิทธิภาพลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมในผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา Phenytoin, Neomycin, Sulphasalazine, Kaolin pectin, และยาลดกรด
  • การใช้ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ร่วมกับยาต่อไปนี้ อาจส่งผลให้ระดับยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น จนอาจได้รับผลข้างเคียงของยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ตามมา แพทย์จะปรับขนาดรับประทานเพื่อความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา Calcium channel blocker, Spironolactone, Quinidine และเกลือแคลเซียม

ควรเก็บรักษายาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์อย่างไร?

ควรเก็บยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cardial (คาร์เดียล) T.Man Pharma
Grexin(เกรกซิน) Pharmasant Lab
Lanoxin(ลานอกซิน) Aspen Pharmacare

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cardiac_glycoside [2020,Aug15]
  2. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/2580874/ [2020,Aug15]
  3. https://sso.mims.com/Account/SignIn?ReturnUrl=%2fAuthentication%2fSendAssertion%3freturnURL%3dhttps%253A%252F%252Fwww.mims.com%252FAccount%252FLogin%252F%253FreturnUrl%253Dhttps%25253A%25252F%25252Fwww.mims.com%25252FThailand%25252Fdrug%25252Fsearch%25252F%25253Fq%25253DDIGOXIN%2526dnoa.userSuppliedIdentifier%253Dhttps%25253A%25252F%25252Fsso.mims.com&returnURL=https%3A%2F%2Fwww.mims.com%2FAccount%2FLogin%2F%3FreturnUrl%3Dhttps%253A%252F%252Fwww.mims.com%252FThailand%252Fdrug%252Fsearch%252F%253Fq%253DDIGOXIN%26dnoa.userSuppliedIdentifier%3Dhttps%253A%252F%252Fsso.mims.com [2020,Aug15]
  4. https://sso.mims.com/Account/SignIn?ReturnUrl=%2fAuthentication%2fSendAssertion%3freturnURL%3dhttps%253A%252F%252Fwww.mims.com%252FAccount%252FLogin%252F%253FreturnUrl%253Dhttps%25253A%25252F%25252Fwww.mims.com%25252Fthailand%25252Fdrug%25252Fsearch%25253Fq%25253Ddigoxin%2526dnoa.userSuppliedIdentifier%253Dhttps%25253A%25252F%25252Fsso.mims.com&returnURL=https%3A%2F%2Fwww.mims.com%2FAccount%2FLogin%2F%3FreturnUrl%3Dhttps%253A%252F%252Fwww.mims.com%252Fthailand%252Fdrug%252Fsearch%253Fq%253Ddigoxin%26dnoa.userSuppliedIdentifier%3Dhttps%253A%252F%252Fsso.mims.com [2020,Aug15]
  5. https://www.google.com/search?q=cardiac-glycoside+%3A+drug.com&rlz=1C1CHBF_thTH748TH806&oq=cardiac-glycoside+%3A+drug.com&aqs=chrome..69i57.18276j0j4&sourceid=chrome&ie=UTF-8 [2020,Aug15]
  6. https://medlineplus.gov/ency/article/002581.htm [2020,Aug15]
  7. https://sso.mims.com/Account/SignIn?ReturnUrl=%2fAuthentication%2fSendAssertion%3freturnURL%3dhttps%253A%252F%252Fwww.mims.com%252FAccount%252FLogin%252F%253FreturnUrl%253Dhttps%25253A%25252F%25252Fwww.mims.com%25252Fthailand%25252Fdrug%25252Fsearch%25253Fq%25253Dcardiac%252520glycoside%2526dnoa.userSuppliedIdentifier%253Dhttps%25253A%25252F%25252Fsso.mims.com&returnURL=https%3A%2F%2Fwww.mims.com%2FAccount%2FLogin%2F%3FreturnUrl%3Dhttps%253A%252F%252Fwww.mims.com%252Fthailand%252Fdrug%252Fsearch%253Fq%253Dcardiac%2520glycoside%26dnoa.userSuppliedIdentifier%3Dhttps%253A%252F%252Fsso.mims.com [2020,Aug15]